Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รร. ลงโทษนักเรียนได้แค่ไหน ยึดตามกฎระเบียบอะไรบ้าง มาดูกันเลย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
มีน้องๆ  สอบถามเข้ามาเรื่องระเบียบการลงโทษนักเรียน   จากที่ไปค้นข้อมูลมาก็พบว่ายังยึดตาม   ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548    นะคะ   

ส่วนที่มีการปรับกฎเพิ่มเติมนั้นเป็นส่วนของกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ลงนามโดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   

โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ฉบับใหม่นั้นนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและนักศึกษา   

เดี๋ยวเราไปไล่ดูเนื้อหาของกฎระเบียบต่างๆ กันค่ะ
โดยสรุปคร่าวๆ สำหรับคนขี้เกียจอ่าน คือ
1.   ระเบียบการลงโทษนักเรียน  มี 4 สถาน ประกาศตั้งแต่ปี 2548
2.  โทษสถานแรงสุดคือทำทัณฑ์บน
3.   การทำทัณฑ์บน   ใช้ในกรณีประพฤติตนไม่เหมาะสม ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ฯลฯ  ซึ่งเป็นกฎที่ประกาศตั้งแต่ปี 2548  เช่นกัน 
4.  แต่ล่าสุด ปี 2562 มีกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562  โดยมีการยกเลิกความฉบับเดิมบางส่วนของปี 2548 และปรับใช้ข้อความใหม่ 

เอาล่ะ ไปดูรายละเอียดกัน

_______________________________

1.   ระเบียบการลงโทษนักเรียน  มี 4 สถาน ประกาศตั้งแต่ปี 2548
​_______________________________

ระเบียบการลงโทษนักเรียน ย้ำว่ายังใช้   ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548   
การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี สถาน คือ
1. ว่ากล่าวตักเตือน
2. ทำทัณฑ์บน
3.  ตัดคะแนนความประพฤติ
4.  ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
โดยแต่ละข้อนั้นก็มีรายละเอียดชี้แจงไว้เพิ่มเติมตามภาพเลยค่ะ
 (ที่มา   http://kormor.obec.go.th/)



​_______________________________
2.  โทษสถานแรงสุดคือทำทัณฑ์บน
​_______________________________

อย่างที่เห็นในส่วนของข้อ 5 นะคะว่า   การลงโทษนั้นมี 4 สถาน  คือ 

1.  ว่ากล่าวตักเตือน
2. ทำทัณฑ์บน
3.  ตัดคะแนนความประพฤติ
4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 


โดยแต่ละข้อมีกฎเกณฑ์ต่างกัน เช่น การตัดคะแนนความประพฤติ  ให้ใช้ระเบียบปฏิบัติตามที่สถานศึกษากำหนด   แต่การลงโทษที่ร้ายแรงสุดคือ   การทำทัณฑ์บน        ทั้งนี้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548   ได้ขยายความเรื่อง "การทำทัณฑ์บน" ไว้ดังนี้
 

"การทำทัณฑ์บน ใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา  ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา  หรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ


การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ  และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บนไว้ด้วย"

 

​_______________________________
3.   การทำทัณฑ์บน   ใช้ในกรณีประพฤติตนไม่เหมาะสม ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ฯลฯ  ซึ่งเป็นกฎที่ประกาศตั้งแต่ปี 2548  เช่นกัน
​_______________________________

อย่างที่เห็นจากการขยายความเรื่องการทำทัณฑ์บนว่า ใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา  การจะบอกได้ว่า "ประพฤติตนไม่เหมาะสม" ก็ให้ไปดูที่     กฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ซึ่งปัจจุบันยังยึดตาม   กฎกระทรวง   กำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา   พ.ศ. 2548    ที่มีรายละเอียดดังนี้   (ที่มา  ratchakitcha.soc.go.th)




​_______________________________
4.  แต่ล่าสุด ปี 2562 มีกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562  โดยมีการยกเลิกความฉบับเดิมบางส่วนของปี 2548 และปรับใช้ข้อความใหม่
​_______________________________

แต่ล่าสุด   ได้มีราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562  โดยมีการยกเลิกความใน (6) (7) และ (9) ของข้อ ในกฎกระทรวงฉบับเดิม และปรับใช้ข้อความใหม่ ดังนี้   (ที่มา  moe360.blog )
 
ข้อ (6) ข้อความเดิม
ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใดๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

ข้อ (6) ข้อความใหม่ 
ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรวมกลุ่มหรือมั่วสุม เพื่อกระทำการดังกล่าว

ข้อ (7) ข้อความเดิม
แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ

ข้อ (7) ข้อความใหม่ 
แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม กระทำการลามกอนาจาร แต่งกายล่อแหลม หรือไม่เรียบร้อยในโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือแต่งเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาไม่เรียบร้อย

ข้อ (9) ข้อความเดิม  
ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืน เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น

ข้อ (9) ข้อความใหม่
เที่ยวเตร่นอกสถานที่พัก รวมกลุ่ม หรือมั่วสุม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อน ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น



สรุปอีกที  
-   การลงโทษนักเรียน  มี 4 สถาน   ยึดแนวปฏิบัติตาม   ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548   
- การลงโทษสถานเบา เช่น การตัดคะแนนความประพฤติ ยึดตามระเบียบปฏิบัติของสถานศึกษา
-  การลงโ่ทษสถานหนัก เช่น การทำทัณฑ์บน   ต้องพิจารณา   กฎกระทรวง   กำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา   พ.ศ. 2548   ร่วมกับ   กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 
-  การลงโทษไม่มีระบุเรื่อง "การพักการเรียน" และยังไม่มีประกาศอื่นเพิ่มเติม





 

แสดงความคิดเห็น

>