Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

สภาการศึกษา เล็งสัญจรทุกภูมิภาคให้ความรู้แก่ ครู พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วประเทศ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สภาการศึกษา เล็งสัญจรทุกภูมิภาคให้ความรู้แก่ ครู พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วประเทศ
เพื่อพัฒนาศักยภาพรอบด้านของเด็กปฐมวัยไทยสู่มาตรฐานอาเซียน
---------------------------------------------------
 
            เมื่อเร็วๆนี้ (30 สิงหาคม 2559)  ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยสู่มาตรฐานอาเซียน ณ อุทยานการ-เรียนรู้ TK park  ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 กรุงเทพฯ
 
การส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัยช่วงอายุระหว่างแรกเกิดถึง 6 ขวบนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กในช่วงวัยนี้มีการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ตลอดจนพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เลี้ยงดูและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558   การเตรียมจัดการศึกษา​โดยยกระดับคุณภาพการศึกษา และพัฒนาสมรรถนะเด็กปฐมวัยของไทยให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ถือเป็นการวางรากฐานให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพพร้อมรับการเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมอาเซียนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงจัดทำโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยสู่มาตรฐานอาเซียนขึ้น โดยจะสัญจรไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ นำนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย ไปให้ความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสมรรถนะของเด็ก แนะนำเทคนิคการสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็ก เพิ่มองค์ความรู้การใช้หนังสือนิทานส่งเสริมการอ่านและพัฒนามาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำของอาเซียนสำหรับเด็ก รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่ในการซักถามแลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย      ซึ่งจะเริ่มสัญจรไปที่จังหวัดเชียงใหม่, ราชบุรี, ขอนแก่น, สงขลา และปิดท้ายที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2559 โดยตั้งเป้าให้ความรู้แก่ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย จำนวน 1,500 คน
 
            ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา   กล่าวถึงสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทยว่า
            “สำหรับสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทยที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาพอสมควร มีโรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กเกิดขึ้นทั่วประเทศ และมีเอกสารสมรรถนะที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วยังคงพบว่ามีอีกหลายส่วนที่เป็นประเด็นที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม ในการประเมินสมรรถนะทั่วประเทศเมื่อเร็วๆนี้ มีผลออกมาเป็นที่น่ากังวลว่า 30% มีพัฒนาการไม่สมวัย ข้อนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่เราจะต้องมาใส่ใจให้มากขึ้นในการพัฒนาสมรรถนะของเขาให้เป็นไปตามพัฒนาการที่สมวัย เดิมประเทศไทยมีมาตรฐานเด็กอยู่หลายส่วนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราได้รวบรวมทุกมาตรฐานนำมาเทียบเคียงกับมาตรฐานของอาเซียน เพื่อจะจัดทำมาตรฐานของประเทศไทยขึ้นสำหรับการเลี้ยงดู หรือดูแล หรือพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นอันเดียวกัน และสามารถเทียบเคียงกับสากลได้”
    
            ด้าน ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัย ได้กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่มาตรฐานอาเซียนไว้อย่างน่าสนใจ
            “ประเทศไทยได้มีการเตรียมการพัฒนาเด็กสู่อาเซียนไว้หลายปีแล้ว โดยมุ่งเน้นหลายคุณลักษณะด้วยกัน แต่จะขอกล่าวถึงคุณสมบัติของเด็กปฐมวัยที่ควรเตรียมสู่อาเซียน เป็น 2C คือ Creative Mind  : เด็กในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มอาเซียน สิ่งสำคัญคือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และ Co-relative Mind การเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็น 
ส่วนมาตรฐานเชิงคุณภาพสำหรับสถานศึกษาปฐมวัย เป็นมาตรฐานที่เป็นข้อกำหนดในคุณลักษณะของ 9 องค์ประกอบด้วยกัน เช่น หลักสูตรเรื่องการเรียนการสอน ความสัมพันธ์ การบริหารเชิงการจัดการ ความเป็นผู้นำ และการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการศึกษาปฐมวัยในอาเซีย ที่เราจะได้มีข้อกำหนดร่วมกันว่า เมื่อเราส่งเด็กไปสถานศึกษาแล้วเราไว้ใจได้ว่ามีคุณภาพสูง ยิ่งได้ทราบว่าการพัฒนาประเด็นมาตรฐานต่างๆ ค้นคว้ามาจากหลายแหล่งองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยกัน อย่างเช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการสมองของเด็ก องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม หลักการ ทฤษฏี และที่สำคัญยังอยู่ในแนวคิดมาตรฐานของต่างประเทศที่เรียกว่า ‘DAP’ (Developmentally Appropriate Practice) เพราะฉะนั้นในส่วนที่พ่อแม่และครูจะต้องเรียนรู้จากมาตรฐานเหล่านี้ สรุปได้เป็น 4C คือ Concern, Co-learner : บทบาทสำคัญ คือ พ่อแม่ และครู คือหุ้นส่วนการเรียนรู้ของลูก เพราะฉะนั้นมาตรฐานเกี่ยวกับการเรียนการสอน การประเมินผลความก้าวหน้าของเด็ก จะต้องเป็นร่วมสนุกในการเรียนรู้, Communication : การสื่อสารในแง่ของเด็กกับเด็กด้วยกัน การพัฒนาทักษะทางภาษาสำคัญมากในปฐมวัย เมื่อพ่อแม่เข้าใจบทบาทก็จะได้ส่งเสริมลูกได้ อ่านนิทานกับลูก เล่นกับลูก ตั้งคำถามให้ลูกคิด มาตรฐานเหล่านี้ก็จะทำให้พ่อแม่กำกับตัวเองได้ด้วย และเมื่อใดที่มีปัญหา การสื่อสารสองทางคือ หัวใจสำคัญ พูดคุยกับบุคลากรทางสถานศึกษาว่า เราต้องการให้ลูกพัฒนาแบบไหน อย่างไร ปัญหาของลูกมียังไง ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันแก้ไข และที่สำคัญที่อยากฝากไว้  คือ Contribution : การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย อย่างมาตรฐานข้อที่ 9 การมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง ครู ทุกคนต้องทำร่วมกัน
            การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำตรงนี้ ถึงแม้ว่าบางประเทศอาจจะมีมาตรฐานที่สูงกว่านี้ แต่อย่างน้อยในอาเซียนถ้าเราช่วยกัน พัฒนาไปด้วยกัน เด็กของเราจะต้องสู้ภูมิภาคอื่นได้แน่นอนค่ะ”
 
            สภาการศึกษา ขอเชิญชวนคุณครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ มาร่วมเตรียมความพร้อมและพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อวางรากฐานเด็กไทยให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมเข้าสู่มาตรฐานอาเซียนกันนะคะ 
 
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.motherandcare.in.th หรือ facebook/motherandcare หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 085-931-0404

แสดงความคิดเห็น

>