Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เน้นย้ำความเป็นไทยด้วย “ทุนทางวัฒนธรรม”

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

สวัสดีค้าาาเพื่อนๆ วันนี้เราได้มาพูดคุยกับน้องเต้ หรือปรวรรธน์  สวัสดีปิติ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เยาวชนคนเก่งจากกิจกรรมการพัฒนานักออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา (Fashion Smart Start Up 2016: Creative Designers Creation) ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศจากการประกวดมูดบอร์ด หรือแบบบอร์ดแสดงแนวคิดในการออกแบบ (Mood Board) จากนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่าพันคน ทั่วประเทศ

น้องเต้ เล่าว่า เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกิจกรรมการพัฒนานักออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา ซึ่งจัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะเคยได้ยินว่านักออกแบบบางส่วนที่มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ แต่พบปัญหา จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ต้นทุนสูงเกินไป หาวัตถุดิบตามแบบไม่ได้ หรือ ไม่ตอบสนองเทรนด์แฟชั่นในช่วงนั้น ๆ ทำให้ไม่สามารถผลิตเป็นสินค้าได้ พอได้มีโอกาสเข้ามาร่วมอบรมในโครงการ ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งด้านการออกแบบ เทรนด์แฟชั่น ควบคู่กับทักษะด้านการบริหารจัดการ ทำให้ผลงานของเรามีโอกาสจะผลิตออกสู่ตลาดได้จริงมากขึ้น




เต้กล่าวเพิ่มเติมว่า  ตอนแรกที่เข้ามาเวิร์คชอปก็ยังไม่รู้ว่าคือกิจกรรมอะไร แต่พอได้เวิร์คชอปไปเรื่อยๆ ยิ่งเหมือนได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น และได้ศึกษาเกี่ยวกับระบบอุตสาหกรรมจริงๆ   และได้มีโอกาสในการสร้างผลงานของตัวเองด้วย ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากโคมยี่เป็งของชาวเชียงใหม่ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามยามค่ำคืน ความสุขและความเป็นมงคล โดยการนำกระดาษมาเป็นเรขาคณิตต่อกันเพื่อให้เกิดผ้าในรูปแบบใหม่ที่มีความแปลกตาและทันสมัย พอรู้ว่าทางโครงการคัดเลือกให้รางวัลชนะเลิศก็รู้สึกดีใจมาก ส่วนสิ่งที่ประทับใจในกิจกรรมอีกเรื่องคือ ทางโครงการจะเก็บไอเดียของเราเป็นแฟ้มผลงานหรือPortfolio  ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมาดูได้ ถ้างานไหนเข้าตาก็อาจจะมีเจรจากันเพื่อไปต่อยอดสร้างสินค้า ขายในตลาดจริงได้ ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก


   
    
 ปิดท้ายด้วยผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สุรพงษ์ เทียกนา  นักออกแบบรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี   จากการเข้าร่วมโครงการทำให้ได้มีโอกาสออกแบบผลงานแฟชั่นของตัวเอง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากลายสานบนกระติ๊บข้าวเหนียวที่เป็นภูมิปัญญาของภาคอีสาน  มาประยุกต์เป็นลวดลายบนรองเท้า โดยใช้โทนสีเขียวของต้นไม้และสีน้ำตาล  ทำให้ได้สินค้าที่มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าโครงการนี้สามารถช่วยส่งเสริมนักศึกษาที่เรียนในด้านการออกแบบ ทำให้นักศึกษามีเวทีให้กล้าแสดงความสามารถและลงมือทำมากกว่าการเรียนอยู่ในห้องเรียน และแนวคิดการออกแบบแฟชั่นกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการอบรมในโครงการ เป็นเรื่องดีที่ทำให้เราได้สินค้าที่มีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ และได้ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมของไทยด้วยครับ สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
 



               เรียกได้ว่ากิจกรรมนี้นอกจากจะสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมสำหรับก้าวสู่อุตสาหกรรมการออกแบบอย่างเต็มตัว และพร้อมเปิดเวทีให้นักออกแบบได้กล้าแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทยจากพื้นที่ต่างๆ ให้ยังคงอยู่แม้ว่าแฟชั่นจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

              สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจแนวคิดและผลงาน ต่าง ๆ ของนักศึกษาในโครงการเพื่อต่อยอดเชิงธุรกิจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (ที่ปรึกษาโครงการ) โทร. 0 2713 5492-9 ต่อ 721, 700  และ ติดตามรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/CreativeF2S/

แสดงความคิดเห็น

>