Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

โครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย – ลาว ครั้งที่ 14 : รากร่วมวัฒนธรรมผ่านความสัมพันธ์ลาว - ไทย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


โครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย – ลาว   ครั้งที่ 14  :  รากร่วมวัฒนธรรมผ่านความสัมพันธ์ลาว - ไทย  

" ทุกการเดินทางมีเรื่องเล่า 
ทุกเรื่องเล่ามีบทเรียน 
ทุกบทเรียนมีการเรียนรู้ 
ทุกการเรียนรู้คือประสบการณ์ชีวิต 
ทุกประสบการณ์ชีวิตคือเบ้าหลอมของความเป็นเรา "

                  กวีไร้ฉันทลักษณ์บทนี้ผุดขึ้นในใจ  เมื่อผู้เขียนนั่งรถกลับมหาวิทยาลัย    เป็นเวลา  4  วันแล้ว  ที่ผู้เขียนมาอยู่เชียงใหม่ในโครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย – ลาว ครั้งที่ 14  จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17 – 20  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2560  มีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ

                 โครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย – ลาว เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิต  ได้มีโอกาสแสดงออกและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของทั้งสองชาติ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมกับภูมิภาคอื่น  ตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน  ที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาอย่างยาวนานและกิจกรรมด้านวิชาการ  อันประกอบด้วยการเสวนา  การจัดนิทรรศการ  และเสนอผลงานทางด้านหลักสูตรและนอกหลักสูตร  (กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2560 : 1 )

                ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าการเดินทางระหว่างมหาสารคาม – เชียงใหม่  เป็นอะไรที่ทรหดมาก   ใช้เวลาเกือบ  14 ชั่วโมง  แต่ทั้งนี้องค์ความรู้ที่ได้รับก็ถือว่าคุ้มค่ามากที่ได้เดินทางมาครั้งนี้   กิจกรรมที่ได้เข้าร่วมทำให้ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชาวล้านนา   ศึกษาโบราณสถานและประวัติความเป็นมาของชาวเชียงใหม่   กิจกรรมของโครงการในวันแรกเริ่มขึ้นที่ห้องประชุม    อุทยานหลวงราชพฤกษ์   เราเริ่มต้นที่กิจกรรมการรวมกลุ่มสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยในไทยและมหาวิทยาลัยจากประเทศลาว  

การเรียนรู้  คู่ภูมิปัญญา

  • ภูมิปัญญาทำโคมล้านนา

                    กิจกรรมในช่วงแรกคือการทำโคมล้านนา  ชาวล้านนาเชื่อว่าการทำโคมห้อย  ถือเป็นพุทธบูชา  ทำกันมากในประเพณียี่เป็ง  โดยครูภูมปัญญาล้านนาเป็นคนสาธิตและคอยแนะนำให้เราก่อนลงมือ

                    ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ หรือประเพณีลอยกระทงของไทย นับได้ว่าเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุรักษ์และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี จนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เทศกาลโคมยี่เป็งจัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สืบทอดมรดกของล้านนา ซึ่ง “โคม” ถือเป็นสัญลักษณ์ของงานประเพณียี่เป็งของล้านนามาช้านาน    การทำโคมครั้งนี้  เราได้ลงมือทำเอง  โดยครูที่ท่านมาสาธิต  ได้จัดเตรียมโครงไม้ไว้ให้กับพวกเราแล้ว   ดังนั้นชิ้นส่วนที่เหลือคือการประกอบโคม   

                 

                      1. เริ่มต้นที่การตัดกระดาษไปตามแนวเหลี่ยมของตัวตัวโคม  ต้องวัดระยะห่างของตัวช่องให้ดี  เพราะถ้าวัดไม่ดีแน่นอนว่ากระดาษจะใหญ่กว่า  หรือน้อยกว่าทำให้สิ้นเปลืองกระดาษสา

 

                 2. เมื่อตัดกระดาษสา   แปะไปตามแนวครบหมดทุกช่องแล้ว  ขั้นตอนต่อมาก็คือการตัดหาง  ซึ่งไม่ได้ยากมากแต่ต้องมีรายละเอียดและลวดลายที่สวยงาม   แค่นี้โคมของเราก็สวยแล้ว

  • กระดาษสาคืออะไร 

                             กระดาษสา เป็นกระดาษชนิดหนึ่ง ที่ทำมาจากต้นปอสสา ซึ่งเป็นพืชเส้นใยในตระกูลเดียวกับหม่อนและขนุน มีหลายชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือเรียกปอสา ภาคอีสานเรียก ปอกะสา หรือปอสา ภาคตะวันตกเรียกหมกพี หรือหมอพี ส่วนภาคใต้เรียกปอฝ้าย เส้นใยปอสาส่วนใหญ่ได้จากเปลือกของลำต้น ใช้เป็นวัตถุดิบคุณภาพดี ทนทานไม่เปื่อยยุ่ย เก็บรักษาได้นาน  ที่นำมาทำโคมเพราะกระดาษสามีลักษณ์โปร่งแสง  ให้แสงสว่างได้ดี  คนภาคเหนือจึงนิยมนำมาทำโคม

 
  • อักษรล้านนา

หลังจากได้เรียนรู้การทำโคมแล้ว  ผมก็ไปแอบส่องการเขียนอักษรล้านนา ต้องบอกก่อนเลยว่า  การเขียนอักษรล้านนามีความสำคัญกับชาวล้านนาเป็นอย่างมาก  เพราะแสดงถึงอารยธรรมและความวิจิตรบรรจงของตัวผู้เขียนเอง   อักษรล้านนาดูดี ๆ ก็คล้าย ๆ กันกับอักษรธรรมอีสาน  ที่ใช้บันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า   

 

อ่านประวัติศาสตร์  จากฐานอิฐ

        ผมคิดว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เราต้องลงไปดูสถานที่จริง  เพราะจะทำให้มองเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของเมือง  เช่นกันกับโครงการครั้งนี้  ผมได้ลงไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ผ่าน  วัดต่าง ๆ แม้เวลาจะไม่มาก  แต่ก็ได้ความรู้อย่างมากมายเลยทีเดียว              

  • วัดสะดือเมือง (คำบุญเรือง, 2560)

                                วัดอินทขิล ได้เจริญรุ่งเรืองมีพระสงฆ์จำพรรษาตลอดเรื่อยมา จากเอกสารสำรวจวัดในสมัยครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง พ.ศ.2425 ยังปรากฏชื่อวัดอินทขิลอยู่ สันนิษฐานว่าวัดอินทขิลได้กลายเป็นวัดร้างในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการรวมศูนย์เข้ากับส่วนกลางให้เป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ เจ้านายฝ่ายเหนือถูกลดบทบาทลงอย่างมาก ต้องแบ่งเงินภาษีอากรส่งไปส่วนกลาง วัดจึงขาดการทำนุบำรุง พระสงฆ์ก็ขาดการอุปถัมภ์ วัดอินทขิลหรือวัดสะดือเมืองจึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง

                ในสมัยพญามังรายได้ทรงสร้างวัดสะดือขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมือง หรือเสาอินทขิล ซึ่งตามตำนานพื้นเมืองเหนือกล่าวถึงการบูชาเสาอินทขิลไว้ว่า พระอินทร์ได้ประทานให้ลัวะในสมัยการสร้างเวียงนพบุรี โดยเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล พระฤาษีให้กุมภัณฑ์ 2 ตน เอาเสาอินทขิลใส่สาแหรกหามนำไปประดิษฐานไว้ ณ แท่นกลางเมืองนพบุรี ให้ชาวเมืองของลัวะสักการะบูชาก่อนที่จะกลายเป็นเมืองร้าง

                กระทั่งพญามังราย ได้สุบินนิมิตรไล่ตามกวางเผือกจนมาพบชัยภูมิที่ดี จึงมีดำริจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ พ.ศ.1835 ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ พญามังรายได้มาสำรวจพื้นที่บริเวณเมืองนพบุรีร้าง ได้พบซากเสาอินทขิลและรูปกุมภัณฑ์ ณ ที่กลางเมืองนั้น จึงมีบัญชาให้เสนาชื่อ สรีกรชัย แต่งเครื่องบรรณาการไปหาพญาลัวะบนดอยสุเทพ พญาลัวะจึงแนะนำว่า หากเจ้าพญามังรายจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้อยู่เย็นเป็นสุขก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล เมื่อพญามังรายสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แล้ว จึงโปรดให้ยกรูปกุมภัณฑ์และเสาอินทขิลที่ประดิษฐานในบริเวณสะดือเมืองขึ้นมาเพื่อให้คนสักการะกราบไหว้ตามคำแนะนำของพญาลัวะ

                ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดอินทขิล แต่เนื่องจากว่าวัดนี้ตั้งอยู่บริเวณสะดือเมือง ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดสะดือเมือง ในตลอดรัชสมัยของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายวัดสะดือเมืองได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ก่อนที่จะเป็นวัดร้างภายหลังล้านนาถูกพม่าเข้าปกครอง จนถึงปี พ.ศ.2343 พระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์แรก ได้ขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาและได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้น ได้ย้ายเสาอินทขิลจากวัดอินทขิลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง พร้อมกับบูรณะฟื้นฟูวัดอินทขิล โดยได้สร้างวิหารคล่อมฐานเดิม อัญเชิญพระอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) มาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหาร

                วัดอินทขิล ได้เจริญรุ่งเรืองมีพระสงฆ์จำพรรษาตลอดเรื่อยมา จากเอกสารสำรวจวัดในสมัยครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง พ.ศ.2425 ยังปรากฏชื่อวัดอินทขิลอยู่ สันนิษฐานว่าวัดอินทขิลได้กลายเป็นวัดร้างในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการรวมศูนย์เข้ากับส่วนกลางให้เป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ เจ้านายฝ่ายเหนือถูกลดบทบาทลงอย่างมาก ต้องแบ่งเงินภาษีอากรส่งไปส่วนกลาง วัดจึงขาดการทำนุบำรุง พระสงฆ์ก็ขาดการอุปถัมภ์ วัดอินทขิลหรือวัดสะดือเมืองจึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง

                กระทั่งปัจจุบัน คงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีของวัดอินทขิลปรากฏอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (ศาลากลางหลังเก่า) คือองค์พระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมและวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) วัดอินทขิล หรือ วัดสะดือเมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงต้นของประวัติศาสตร์ล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม พงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่าบริเวณที่สร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมเคยเป็นสถานที่พญามังรายต้องอัสนีบาตสวรรคต ต่อมาพระยาไชยสงคราม ราชโอรสทรงสร้างเจดีย์บรรจุพระอัฐิไว้ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ที่ปรากฏอยู่ภายในบริเวณศาลากลางหลังเก่า เป็นเจดีย์ทรงกลมผสมเรือนธาตุแปดเหลี่ยม องค์ระฆังคว่ำ ซึ่งนิยมสร้างกันมากในสมัยหริภุญไชย ซึ่งพบที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า เจดีย์ดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19

เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ด้านหลังวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง(หลวงพ่อขาว) เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 แต่เจดีย์องค์ในที่ถูกห่อหุ้มเป็นเจดีย์แบบสี่เหลี่ยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากหริภุญไชยคือ เจดีย์เชียงยันในวัดพระธาตุหริภุญไชย

                วิหารพระเจ้าอุ่นเมือง(หลวงพ่อขาว) ตามตำนานเชื่อว่า วัดอินทขิลเป็นสถานที่พญามังรายต้องอัศนีบาตจนสิ้นพระชนม์ สำหรับวิหารของพระเจ้าอุ่นเมืองนั้น คงสร้างขึ้นคล่อมฐานเดิมพร้อม ๆ กับการสร้างเจดีย์องค์นอกที่ห่อหุ้มองค์ในประมาณ พ.ศ.2380 สมัยของพระเจ้ากาวิละ ลักษณะเป็นวิหารโถง ผังเดิมเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีหลวงพ่อขาวประดิษฐานเป็นพระประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

  • วัดเชียงมั่น (ไปด้วยกัน.คอม)

                 วัดเชียงมั่น เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ภายในมี เจดีย์ช้างล้อม สร้างเลียนแบบ เจดีย์ช้างล้อม ของพ่อขุนรามคำแหง พระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์ คือ พระแก้วขาว และ พระศิลาปางทรมานช้างนาฬาคีรี

                วัดเชียงมั่น พุทธศาสนสถานอีกหนึ่งแห่ง ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง วัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่และถือเป็นวัดแห่งแรกในเขตกำแพงเมือง เมื่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1839 พระองค์ทรงยกพระตําหนักที่ประทับชื่อ ตําหนักเชียงมั่นถวายเป็นพระอารามใหม่ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสําคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่นอกจากวัดเชียงมั่นจะมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองแล้ว เมื่อถึงเทศกาลสลากภัตร หรือ ทานก๋วยสลาก จะมีการทานข้าวสลากที่วัดนี้ก่อนแล้วจึงจะทำที่วัดอื่น ๆ ต่อไป ในสมัยพญามังราย วัดเชียงมั่น ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้ วัดเชียงมั่นเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมาก ซึ่งอาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุของวัดเชียงมั่นประกอบไปด้วย วัดเชียงมั่นมีสถาปัตยกรรมสําคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช่างล้อม พระอุโบสถและหอไตร

สิ่งที่น่าสนใจในวัดวัดเชียงมั่น

                          1.วิหารหลวง

                                 ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดถัดจากหอไตรรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนาด้านหน้าอุโบสถประดิษฐานศิลาจารึก หลักที่76 จารึกเมื่อปี พ.ศ. 2124 อุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นพร้อมกับวิหารและหอไตร กรมศิลปากรประกาศขึ้น ทะเบียนพร้อมกันกับเจดีย์ วิหาร และหอไตร

                          2. เจดีย์ช้างล้อม

                                   เป็นเจดีย์รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนาฐานช้างล้อม องค์เจดีย์ผสมสี่เหลี่ยมและทรงกลมเปิดทองจังโก สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1840ครั้งพญามังรายสถาปนาวัดเชียงมั่น และได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากผู้ครองนคเชียงใหม่สืบมา กรมศลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วเมื่อ พ.ศ. 2478                                     

                             3.พระแก้วขาว

                                    พระแก้วขาว หรือ พระเสตังคมณี เป็นพระพุทธรูปที่นับถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองป้องกัน อันตรายและอำนวยความ สุขสวัสดิ์มงคลแก่ผู้ที่เคารพสักการะ     

                             5. ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น

                                     ตั้งอยู่ที่โถงด้านหน้าของอุโบสถวัดเชียงมั่น เชียงใหม่ จารึกถึง พระนามของกษัตริย์สามพระองค์ คือ พญามังราย พญางำเมือง และพญาร่วง ( พ่อขุนรามคำแหง ) ว่าทั้งสามพระองค์ทรง ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นการจารึก เกี่ยว กับการสร้างเมืองเชียงใหม่ และการสร้างวัดเชียงมั่น ตลอดจนการทำนุบำรุงวัดนี้จากกษัตริย์และพระราชวงศ์ นับเป็นหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า

  • วัดช้างล่าม 

                      เมื่อปี พ.ศ.1835 -1839 พญามังรายได้มาสร้างเมืองเชียงใหม่ ทรงประทับอยู่ ณ เวียงเล็กหรือเวียงเชียงมั่น ซึ่งปัจจุบันคือวัดเชียงมั่น เพื่อเตรียมอุปกรณ์ในการสร้างเมือง พญามังรายได้เชิญพญาร่วงหรือขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แคว้นสุโขทัย และพญางำเมือง กษัตริย์แคว้นพะเยา มาร่วมปรึกษาสร้างเมือง ได้ขนานนามเมืองว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ด้านทิศตะวันออกของเวียงเล็กเป็นป่าไม้ มีหนองน้ำใหญ่ ช้างที่เป็นราชพาหนะของกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ และของข้าราชบริพาร ว่ากันว่า คงมีการเลี้ยงและล่ามไว้ที่บริเวรนี้ เรียกว่า “เวียงเชียงช้าง” ต่อมาได้สร้างวัดขึ้นที่เวียงเชียงช้าง ณ ที่เลี้ยงและล่ามช้างเพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถาน ขนานนามวัดว่า "วัดล่ามช้าง" และปั้นรูปช้างถูกล่ามเลี้ยงไว้เป็นสัญลักษณ์ของวัด

 

                         พระวิหารมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างใหม่ ไม่ใช่ของเก่าแก่มาแต่เดิม หน้าบันประดับด้วยลวดลายพรรณพฤกษาสีทองอ่อนช้อยมาก ความพิเศษของพระวิหารวัดล่ามช้างคือมีมุขยื่นออกมาด้านข้างพระวิหาร เพื่อใช้เป็นทางขึ้นลงสำหรับพระสงฆ์ ตามธรรมเนียมล้านนาดั้งเดิมนั้นมักนิยมแยกทางเข้าออกของสงฆ์กับฆราวาสไว้อย่างชัดเจน ด้านหลังพระวิหารมีพระเจดีย์ประธานตั้งอยู่ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมย่อเก็จ ที่ฐานมีรูปปั้นช้างประดับอยู่ทั้งสี่ทิศ บริเวณฐานทรงกลมรองรับองค์ระฆังมีปูนปั้นเทพพนมประดับอยู่อย่างสวยงาม ถัดไปเป็นองค์ระฆังประดับด้วยกระจกสีสวยงามจนถึงส่วนปลียอด ฐานประดับด้วยลวดลายกลีบบัว ยอดเจดีย์ยกฉัตรสีทอง

                        วัดแห่งนี้ที่มีพระมากเนื่องด้วย  วัดหลาย ๆ ที่ในเชียงใหม่ร้างไป  และตกเป็นเมืองขึ้นของสยามและพม่า  ดังนั้นจึงนำพระมาไว้ที่นี่เพราะเชื่อว่าจะมั่น  ไม่มีใครเอาไปได้   จึงนำพระพุทธรูปมาไว้ที่นี่มาก

แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม  เชื่อมสัมพันธ์ลาวไทย

 

                กลับจากการทัศนศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์    มหาวิทยาลัยมหาสารคามของเราก็มาแต่งตัวกัน    เรามาพร้อมกับชุดการแสดงที่มีชื่อว่า  “เฉลิมราชย์ราชาพระมหาวชิราลงกรณ์” ผมรู้สึกภูมใจอยู่นะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแต่งกลอนลำ  ในครั้งนี้  ชุดการแสดงของเราอยู่ในลำดับที่  8  ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ได้มีโอกาสดูเพื่อน ๆ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สิ่งที่ผมเห็นคือ  วัฒนธรรมของลาว - ภาคเหนือและ ภาคอีสานของไทย   มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก  ถือว่าโครงการนี้ทำให้เรามาเปิดโลกทัศน์ของวัฒนธรรมมากขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

 

สะท้อนการเรียนรู้               

  • ตนเอง
    • ตอบข้อสงสัยทางภาษาศาสตร์   ในเรื่องสำเนียงของจำปาศักดิ์และภาคอีสาน
    • ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์  จังหวัดเชียงใหม่
    • เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้  จากเพื่อนต่างภูมิภาคและต่างประเทศ
    • ได้มีโอกาสแต่งกลอนลำร่วมแสดงความจงรักภักดี   ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    • มีโอกาสทบทวนจุดด้อย  และพัฒนาการของตนเอง
  • ส่วนรวม
    • ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง  ได้ชุดการแสดงใหม่
    • ได้มีโอกาสนำศิลปวัฒนธรรมอีสาน ไปแสดงให้กับพี่น้องต่างถิ่นได้เห็น

บรรณานุกรม

กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สูจิบัตรโครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย - ลาว ครั้งที่ 14 [หนังสือ]. - เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2560.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง วัดสะดือเมือง วัดโบราณเมืองเชียงใหม่ [ออนไลน์] // เชียงใหม่ นิวส์. - 3 เมษายน 2560. - 21 พฤศจิกายน 2560. - http://www.chiangmainews.co.th...595936.

ไปด้วยกัน.คอม วัดเชียงมั่น [ออนไลน์] // paiduaykan.com. - 21 พฤศจิกายน 2560. - http://www.paiduaykan.com/province/north/chiangmai/watchiangman.html.

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น