Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ราชบัณฑิตยสภาชี้แจงการใช้ถ้อยคำถวายพระพร ๑๒ สิงหาคม นี้

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน...
นอกจากวันที่ ๑๒ สิงหาคม นี้เป็นวันแม่แห่งชาติแล้ว
ยังเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
(*หากราชาศัพท์ตรงไหนผิดพลาดสามารถท้วงติงได้)
ก่อนอื่น ผู้อ่านได้สังเกตเห็นการขานพระอิสริยยศตัวสีฟ้าขีดเส้นใต้แล้ว
เนื่องจากแผ่นดินเราดำรงอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ แล้ว
ณ รัชสมัยปัจจุบันนี้ การขานถึงพระองค์ จำเป็นต้องขานพระนามาภิไธย เป็น
"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ซึ่ง
สามารถละพระนามาภิไธยและแทรกไปยาลน้อย เป็น
"สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ"
หรือ ขานพระอิสริยยศ เป็น "สมเด็จพระบรมราชินีนาถ"
แต่เมื่อเป็นกรณีสองอย่างหลังแล้ว จะต้องเติมคำว่า "ในรัชกาลที่ ๙" หรือ
"ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร"
เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า หมายถึง พระองค์ท่าน
-----------------------------------------------------------------------------
พูดถึงหัวข้อกระทู้ที่กล่าวถึง วันนี้ (๑๐ ส.ค.) ราชบัณฑิตยสภาออกมาชี้แจง
กรณีมีคนอ้างว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชสมัยเก่า จึงมิให้ถวายพระพร เช่น การใช้คำ “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” 
จขกท.ขออนุญาตกล่าวใจความประกาศนี้โดยรวมว่า
"อย่างไรพระองค์ก็ดำรงเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ มิใช่หรือ ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่จะงดการถวายพระพรแด่พระองค์ท่านเลย"
ประเด็นอื่นที่มาในประกาศนี้ ได้แก่
- การใช้ถ้อยคำที่อาศัยบริบทเพื่อให้ชัดเจนขึ้น การออกแบบป้ายหรือหน้าเว็บถวายพระพร จึงต้องมีองค์ประกอบทั้งพระฉายาลักษณ์ ถ้อยคำราชาศัพท์ที่ถูกต้องเหมาะสม
- การระบุคำว่า “ในรัชกาลที่ ๙” หรือ “ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร”
(ดังที่กล่าวมาในต้นกระทู้)
- ตัวอย่างการเขียนถ้อยคำถวายพระพรที่ถูกต้องเหมาะสม

จากเพจ Facebook ราชบัณฑิตยสภา
-----------------------------------------------------------------------------
แต่ในวันเดียวกันนี้ (๘ ชม. หลังการเผยแพร่ประกาศฉบับแรกในเพจ Facebook)
ราชบัณฑิตยสภาได้สอบถามกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในการใช้ถ้อยคำถวายพระพรแด่พระองค์ท่านให้เหมาะสมในกาลเวลาปัจจุบัน
จขกท.ขออนุญาตกล่าวใจความประกาศนี้โดยรวมว่า
"ในกาลปัจจุบันนี้ หากประสงค์จะใช้ถ้อยคำเป็นภาษาบาลี ควรใช้ว่า
ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี (นา-ถะ-ปะ-ระ-มะ-รา-ชิ-นี)

"ส่วนคำภาษาไทย เช่น 'ทรงพระเจริญ' 'ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน' ยังคงใช้ได้ตามที่เคยใช้กันมา"
ประเด็นอื่นที่ชี้แจงเพิ่มเติมมาในประกาศนี้ ได้แก่
- คำอธิบายดังกล่าวมาจากการสอบถาม 
คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ 
ตำแหน่งประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ ๙
กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
- คำว่า “นาถปรมราชินี” นั้น คุณหญิงอุไรวรรณ ได้ขอความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาบาลีทั้งพระภิกษุและอาจารย์ผู้สอน แล้วเห็นว่าเหมาะสมที่จะใช้เพื่อให้หมายถึง “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ”
- กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้เห็นสมควรพร้อมกันว่าควรใช้คำดังกล่าวนี้
จึงชี้แจงมาเพื่อการจัดทำคำถวายพระพรในภายภาคหน้า
- ส่วนคำภาษาไทยนั้น ขอให้พิจารณาเลือกสรรถ้อยคำให้ถูกต้องและเหมาะสมแก่พระเกียรติยศ ในการเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์ท่าน

จากเพจ Facebook ราชบัณฑิตยสภา
-----------------------------------------------------------------------------
- อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนหลายท่านมิเข้าใจในการทำงานของสำนักราชบัณฑิตสภา
ด้วยมองเห็นถึงปัจจัยหลายประการ เช่น การประกาศที่ล่าช้า และกระชั้นชิด

- การชี้แจงที่ดูไม่ชัดแจ้งเสียทีเดียว เพราะฉบับก่อนหน้ามีตัวอย่างการใช้ถ้อยคำถวายพระพรในภาษาบาลีคำว่า "มหาราชินี" แต่ฉบับต่อมา ได้ชี้แจงว่า ควรใช้คำว่า "นาถปรมราชินี"
จึงอาจต้องรอให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้นว่า สุดท้ายแล้ว ตัวอย่างที่ถูกต้องควรใช้อย่างไร

- ถึงกระนั้นแล้ว ข้อความวรรคอื่น ยังยึดหลักเดิม เช่น ใช้คำว่า เนื่องในโอกาส มิใช่ วโรกาส,
คำว่า วันเฉลิมพระชนมพรรษา, การขานพระองค์ที่ถูกต้องและเหมาะสม (ดังที่ชี้แจงข้างต้น),
ใช้คำลงท้ายว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ" (ต้องเคาะวรรคด้วย)

(ซึ่งหากเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะใช้เพียงว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" จะต่อท้ายคำว่า ขอเดชะ ได้ ก็ต่อเมื่อ พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว)

และลงนามผู้ถวายพระพรคำว่า "ข้าพระพุทธเจ้า..."

ในนามเจ้าของกระทู้เอง ก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านปรับความเข้าใจกันและกัน
หากตัวเราพร้อมรับฟังเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง การใช้ถ้อยคำให้ถูกต้อง
เราก็จะมีความสุขกับการใช้ภาษาในทางสร้างสรรค์ที่สวยงามนี้ได้ตลอดไป
-----------------------------------------------------------------------------
โอกาสมหามงคล ร่วมใช้ภาษาให้ถูกต้องกันครับ
"ผ่านกี่ยุคสมัย ภาษาไทยยังอนุรักษ์ไว้เสมอ"
หวังว่ากระทู้นี้จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจยิ่งขึ้นครับ
สุขสันต์วันแม่แห่งชาติครับ ^____^
ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านและสวัสดีครับ

แสดงความคิดเห็น

>