Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

(รีวิว) ประสบการณ์ฝึกงานกับ UN ของเด็ก มธ. ปี 2

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
            ถ้าให้มองย้อนกลับไปตอนสมัยตัวเองอยู่มัธยม เรียนโรงเรียนรัฐบาลธรรมดาแห่งหนึ่งที่ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือติด Top10 ระดับประเทศแต่อย่างใด แถมความสามารถทางวิชาการก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากมาย กล้าพูดได้เลยว่าไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้ตัวเองจะมีโอกาสเข้าไปฝึกงานในองค์กรนานาชาติอย่าง UNESCO ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเอเจนซี่ยักษ์ใหญ่ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ United Nation (UN) ที่เรามักจะคุ้นเคยผ่านหนังสือเรียนวิชาสังคมและประวัติศาสตร์ หรือสื่อต่างประเทศเท่านั้น

            จากวันนั้นจนถึงวันนี้...ภัสจะไม่เรียกว่าเป็น ‘ความโชคดี’ เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากความตั้งใจของภัสเอง และนั่นหมายความว่าน้องๆ ทุกคน ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็สามารถมายืนอยู่ตรงนี้ได้เหมือนกัน ภัสมาฝึกงานที่นี่ได้ยังไง, ทำงานเกี่ยวกับอะไร, ความรู้จากห้องเรียนที่นำมาใช้ และถ้าอยากฝึกงานกับ UNESCO บ้างต้องทำอย่างไร วันนี้เราจะมาคุยถึงเรื่องนี้กันค่ะ




เรียนคณะอะไรมา?

            จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตคือการขออนุญาตที่บ้านสอบเข้า School of Global Studies  Thammasat University หรือ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรโลกคดีศึกษาและการประกอบการสังคม (Global Studies and Social Entrepreneurship(GSSE))  หลักสูตรนานาชาติ 4 ปี จากตอนเข้ามาใหม่ๆ ภาษาอังกฤษงูๆ ปลาๆ ไม่กล้าพูด อาย กลัวพูดผิด จนทุกวันนี้อยู่ปี 3 แล้ว สภาพแวดล้อมบังคับให้ต้องพูดภาษาอังกฤษทุกวัน ตอนนี้เลยคล่องขึ้น และมั่นใจขึ้นอยู่มากโข



 




เข้าไปฝึกงานกับ UNESCO ตั้งแต่ปี 2 ได้ยังไง?

            มีอยู่ 2 ปัจจัยหลักๆ  อย่างแรกคือวิทยาลัยฯที่ภัสเรียนจะมีหลักสูตรบังคับให้นักศึกษาฝึกงานทุกๆ ปีช่วงปิดเทอม พอขึ้นปี 2 ธีมของการฝึกงานคือ International organization (องค์กรนานาชาติ) ก็ลองยื่นไป 2-3 ที่ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ยังไม่ตัดสินใจ ปัจจัยที่สองก็คือวิทยาลัยฯของภัสมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ UN อยู่แล้วตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่เคยทำงานให้กับ UN หรือเนื้อหาที่เรียนก็มีความเกี่ยวข้องกันทำให้ทุกๆ ปี UN agencies จะรับนักศึกษาจากวิทยาลัยฯเข้าไปฝึกงานปีละประมาณ 6 คน ภัสก็ไม่รอช้าลองยื่น resume ไปเลยค่ะ ได้ไม่ได้ไม่สน โอกาสมาแล้วคว้าไว้ก่อน


 


ฝึกงานตำแหน่งอะไร?

            ในการฝึกงานกับ UN ทุกคนจะได้รับมอบหมายให้ดูแลทั้งหมด 2 โปรเจคใหญ่ (งานเดี่ยวและงานกลุ่ม) สำหรับงานเดี่ยวนั้น ภัสเข้าไปทำในตำแหน่ง Social Media Strategy ให้กับ APINY Website Development Team ซึ่ง APINY ย่อมาจาก Asia-Pacific Interagency Network on Youth ค่ะ หน้าที่หลักๆ คือพัฒนาตัวเว็บไซด์, ดูแล Social Media Platforms ต่างๆ ของ APINY, ติดต่อ Youth organizations ในประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์และเผยแพร่เรื่องราวเจ๋งๆ ขององค์กรให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

            ส่วนงานกลุ่มคือเป็นผู้จัดงาน International Youth Day Event ซึ่งเป็นเวิร์คชอปที่รวบรวมเด็กไทยยุคใหม่ที่อยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยมาร่วมพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับ UN ในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ผลตอบรับในปีนี้ดีมากๆ ค่ะ


 

 
 
ทำไมถึงตัดสินใจฝึกงานกับ UNESCO Bangkok?

            ถ้าให้บอกอย่างตรงไปตรงมาก็เพราะคิดว่าน่าจะได้โปรไฟล์ที่ดีสำหรับการฝึกงานหรือการทำงานกับบริษัทอื่นๆ ในอนาคตด้วยค่ะ หลักๆ คืออยากเข้าไปเห็นสภาพแวดล้อมการทำงาน สังคมเป็นยังไง คนเก่งๆ เขาทำงานกันยังไง มีความคิดความอ่านหรือการมองโลกกันแบบไหน อีกทั้งลักษณะงานที่มีให้ทำก็ค่อนข้างหลากหลายค่ะ

            ฝึกงานที่นี่เราจะไม่มีทางแค่เข้าไปชงกาแฟ ถ่ายเอกสาร หรือคีย์ข้อมูลอยู่หน้าคอมพ์ เป็นหุ่นยนต์ แต่มีโปรเจคใหญ่ๆ มากมายที่ UN Agencies พร้อมเปิดโอกาสให้วัยรุ่นอย่างเราเข้าไปลองทำ ทั้งงานเอกสาร งานวิจัย งานลงพื้นที่ งาน creative หรือสาย IT เรียกได้ว่าในเวลากว่า 3 เดือน ได้ประสบการณ์แน่น รู้สึกโตขึ้น ได้ลิ้มรสชาติของการทำงาน ซึ่งมันทำให้พอกลับมาเรียนอีกครั้งเรารู้สึกว่าจัดการกับเวลา ชีวิต การเรียนและมีทักษะการทำงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตอนเรียนปี 3





 

วิชาในคณะที่ได้ใช้ในการทำงานมีอะไรบ้าง?

            ภัสต้องพูดตรงๆ ว่า GSSE เตรียมพร้อมปูพื้นฐานทั้งความรู้และทักษะการทำงานมาให้ค่อนข้างดี เราเข้าไปทำงานแล้วเราไม่ได้รู้สึกกดดัน เคว้งคว้าง ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองหยิบจับหรือทำอะไรไม่เป็นเลย กลับกันเรามีความรู้สึกว่าเราไม่ได้แค่ไปเรียนรู้ แต่เราได้นำทักษะที่มีเข้าไปช่วยในโปรเจคจริงๆ  มีข้อคิด หรือความรู้ย่อยๆ จากหลายคลาสในวิทยาลัยฯที่ภัสต้องนำมาปรับใช้ในการทำงาน ทั้งการจัดการกับตัวเนื้องาน ความคิด และอารมณ์

     
            แต่ถ้าให้บอกอย่างเจาะจงว่าการเรียน GSSE ใน 2 ปี ได้นำวิชาอะไรมาใช้บ้าง ภัสจะขอหยิบยกขึ้นมา 3 วิชา


                    1. Academic Writing: ได้เรียนตั้งแต่ปี 1 เทอม 1 เป็นการเขียนบทความเชิงวิชาการ ทั้งการเขียนรายงาน เขียนอีเมลล์ เขียนบทความ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นพื้นฐานการเขียน การใช้คำ ใช้ภาษา โทนของเนื้อหา ซึ่งป็นทักษะสำคัญมาก ในการทำงานไม่ใช่แค่กับ UN แต่ในหลายๆ อาชีพก็ต้องใช้ วิชานี้คือช่วยให้ภัสรอดตายจากพวกงานเอกสาร เขียนบทความ การติดต่อระหว่างองค์กร 90% คือติดต่อผ่านทางอีเมลล์ทั้งสิ้น
  ​


                    2.Understanding Human Communication: วิชาโปรดภัสเลย ชอบมากทั้งเนื้อหาและอาจารย์ที่สอน เป็นอีกวิชาที่เรียนตั้งแต่ตอนปี 1 เทอม 1 เป็นคลาสฝึกทักษะการพูด การพรีเซนต์ หรือเรียกได้ว่าเรียน Public Speaking เลย ทักษะนี้จำเป็นที่สุดไม่ว่าจะทำงานอาชีพอะไรก็แล้วแต่ เราจะได้เรียนรู้เทคนิคการพูดทั้งในเชิงโน้มน้าวและให้ความรู้ การเตรียมสคริป ใช้น้ำเสียง ท่าทาง คีย์หลักคือความมั่นใจในการพูด พูดยังไงให้สั้น กระชับ ประทับใจ ภัสใช้ทักษะนี้ในทุกๆ วันที่ไปทำงาน การเจรจา พรีเซนต์งานให้บอสฟัง เสนอไอเดีย สื่อสารงานระหว่างทีม


                    3.Psychology of global organization: เป็นวิชาที่จะได้เรียนตอนปี 2 ซึ่งภัสชอบมากๆ อีกเช่นกัน วิชานี้จะสอนทักษะการทำงานในองค์กร การออกแบบโครงสร้างองค์กร สร้างทีมงานคุณภาพ สร้างวัฒนธรรมองค์กรซึ่งเป็นออกแบบร่วมกัน องค์ประกอบการประชุม จะทำยังไงให้การประชุมทุกครั้งมีประสิทธิภาพ รวมถึงการริเริ่มสร้างโปรเจค สร้างธุรกิจเพื่อสังคมที่จะสอนการกำหนดเป้าหมายและขั้นตอนเป็น step เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายจนออกมาเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในที่สุด ซึ่งพูดได้เลยว่าหยิบความรู้และทักษะจากคลาสนี้มาใช้เต็มๆ โปรเจคเดี่ยวและโปรเจคกลุ่ม ตั้งแต่วางแผนงาน การประชุม ไปถึงลงมือทำจริง ทำให้การทำงานราบรื่นขึ้นเยอะ






ถ้าอยากทำงานกับ UNESCO ต้องทำยังไง?

            สิ่งที่เด็กไทยอาจจะยังไม่ค่อยรู้กันก็คือจริงๆ แล้ว UN agencies มีโอกาสมากมายให้วัยรุ่นยุคใหม่เข้าไปทำงาน ทั้งงาน UN volunteer (งานอาสา), งานที่ทำจากที่บ้านได้ และงานที่ต้องเข้าออกบริษัท มี UN agencies ที่มีสำนักงานอยู่ที่ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องการร่วมงานกับคนไทยโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่

            หลายๆ โปรเจคของ UN agencies มีขึ้นเพื่อต้องการเข้าถึงและช่วยพัฒนาคุณภาพศักยภาพเด็กไทยและประเทศไทย แต่ค่อนข้างเป็นความท้าทายของพวกเขาในการเข้าถึงเด็กไทย เพราะฉะนั้นถ้าน้องๆ คนไหนที่สนใจอยากได้รับโอกาสและประสบการณ์การทำงานกับ UN agencies ติดตามข่าวสารทางเว็บไซด์ ทาง Social Media ของ UN เอเจนซี่ต่างๆ ไว้ให้ดีๆ

            หรือจะเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกับภัสที่ SGS ก็ได้น้า! ยินดีต้อนรับทุกคนค่ะ  ที่นี่เป็นวิทยาลัยที่เตรียมพร้อมเพื่อให้นักศึกษาได้รับโอกาสที่ดีที่สุด อยู่ที่ว่าเราจะคว้าไว้มั้ย
 
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัย เข้าไปดูได้ที่ School of Global Studies Thammasat University
FB: https://www.facebook.com/SGSThammasat/    
Official Website: http://www.sgs.tu.ac.th/
 
หรือตามมาพูดคุยกับภัสได้ที่!
IG: https://www.instagram.com/itspimlapat/
FB: https://www.facebook.com/pimlapat.sukbanjong

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

คนเหี้ยของสังคม 28 พ.ย. 63 เวลา 20:48 น. 1

พอเห็น "ถ้าอาจารย์มีสัมพันธ์อันดีกับ UN ทำงานร่วมกันมาก่อน UN เลยมาเปิดรับนศ.มอนี้" ก็อ่อ มีพรีวิลเลจที่คนอื่นไม่มี แล้วบอกว่าได้ด้วยความสามารถตัวเองทั้งหมด..... ถ้าอาจารย์ไม่มีคอนเนคชั่นจะได้มาสะดวกแบบประเคนโอกาสให้เด็กถึงที่ไหม อ่านจบปุ๊ป เก็ท ความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ได้บอกว่าไม่เก่งนะ ครอบครัวซัพพอร์ต+ขยันเรียน เข้ามอดัง จนมาเจอคอนเนคชั่นใหม่ๆได้ ก็ถือว่าเก่ง


***คนจนที่คนรวยบอกว่าขี้อิจฉา ใช่ อิจฉาที่ตนเองไม่มีอภิสิทธิ์แบบคนอื่น***


ยินดีด้วยนะ

1
murakami99 14 ม.ค. 64 เวลา 09:19 น. 1-1

ผมว่าก็เป็นเรื่องจริงนะครับ อาจจะมองเป็น privilege ก็ได้แต่จะมองว่าเป็นโอกาสก็ได้เหมือนกันครับ ไม่มีที่ไหนที่เราจะได้รับโอกาสเท่ากันหมด แม้ว่ามันควรจะเป็นอย่างงั้นก็ตาม ... ส่วนเรื่องการเข้าไปฝึกงาน แล้วผ่านมาได้ ก็คิดว่าคงไม่ได้เข้าไปเล่น ๆ นะครับ

0