Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวหลักสูตร E-Learning กรมวิทยาศาสตร์บริการ ฉบับเด็กศิลป์หัวใจวิทย์

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีค่ะทุกคน ก่อนอื่นเลย...บทความนี้ จขกท. จะรีวิวและเน้นไปที่คนที่จบทางสายศิลป์ภาษา แต่ผู้อ่านที่จบสายวิทย์-คณิต ก็มาอ่านรีวิวนี้ได้เหมือนกัน อย่างน้อย จขกท. ก็ถือว่า จขกท. ได้แนะนำแหล่งเรียนรู้ดี ๆ สำหรับผู้อ่านที่ไม่รู้มาก่อนเลยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการก็มีอะไรดี ๆ แบบนี้ด้วย
 
 
จขกท. เชื่อว่า ลึก ๆ ในใจเด็กศิลป์หัวใจวิทย์อย่างเรา ก็อยากจะมีประสบการณ์ทางด้านแล็บเหมือนกับเพื่อน ๆ สายวิทย์บ้างใช่ไหมล่ะ บางคนก็โชคดีหน่อยที่ได้เจอชั่วโมงแล็บ เพราะสอบเข้าหรือซิ่วเข้ามาในคณะวิทย์ได้ แต่บางคนก็ทำได้แค่ถอนหายใจยาว ๆ ด้วยความผิดหวัง
 
 
แต่ตอนนี้...เด็กศิลป์หัวใจวิทย์อย่างเราก็ไม่ต้องผิดหวังอีกต่อไป เพราะโอกาสนั้นมาถึงแล้ว เข้ามาที่เว็บไซต์ www.e-learning.dss.go.th สมัครสมาชิก แล้วลงทะเบียนเรียนกันเลยจ้ะ!



หน้าตาเว็บไซต์ E-Learning ที่ จขกท. จะกล่าวถึงกันต่อไป
(Cr. E-Learning กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ    http://www.e-learning.dss.go.th/)


หลักสูตร E-Learning ในเว็บไซต์นี้เป็นหลักสูตรออนไลน์ ที่ทางกองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ  กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เราสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ แค่ให้อุปกรณ์ที่เราใช้พร้อมใช้งานก็พอ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือก็ตาม ซึ่งเราสามารถตรวจสอบความพร้อมได้จากหน้าเว็บไซต์เลย โดยการกดที่คำว่า “คู่มือการเรียน” ตรงแถบมุมบนขวามือ (หรือจะเลื่อนลงมา จนกว่าจะเจอในส่วนคู่มือการเรียนก็ได้) แล้วคลิกที่ “ตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์” หลังจากที่เราเรียนจบในหลักสูตรนั้นและทำแบบทดสอบผ่านแล้ว (รวมถึงแบบฝึกหัด ถ้าหลักสูตรนั้นมีแบบฝึกหัดให้ทำส่งด้วย) เราก็จะได้รับใบประกาศนียบัตรแบบ e-certificate ด้วยล่ะ
 

 
เรียนหลักสูตรอะไรดี
เราสนใจเรียนทางด้านไหน หลักสูตรไหน ก็สมัครสมาชิกและลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรนั้นเลยจ้ะ หรือจะลองคลิกทดลองเรียนตรงหลักสูตรใหม่ที่อยู่หน้าเว็บไซต์ก่อนก็ได้ แต่ก่อนที่เราจะลงทะเบียน ยังไง ๆ ก็อย่าลืมดูเงื่อนไขตรงคุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรมด้วยนะ ว่ารับประเภท ผู้สนใจทั่วไป ด้วยหรือเปล่า สำหรับผู้เรียนที่จบ ป.ตรี คณะวิทย์และทำงานในห้องแล็บ ก็จะอยู่ในประเภท ผู้ที่ปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชน  แต่เราไม่ต้องเสียใจไปนะจ๊ะ เพราะพี่ ๆ จากทางสำนักฯ ฝ่าย E-Learning แอบกระซิบมาบอกว่า ถึงเราไม่ได้ทำงานในห้องแล็บ แต่ถ้าอยากลงหลักสูตรที่ไว้สำหรับเจ้าหน้าที่แล็บโดยเฉพาะจริง ๆ เราก็ลงได้เหมือนกันจ้ะ! เพราะเรามีสิทธิ์เข้าถึงเนื้อหาได้หมดเลย
 
แต่ถ้าเรายังไม่มีไอเดียว่าจะเรียนหลักสูตรไหนดี จขกท. ก็ขอแนะนำหลักสูตร การตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินจากการทำงานในห้องปฏิบัติการเคมี และหลักสูตร ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เพราะเป็นหลักสูตรที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ และผู้เรียนที่จบสายศิลป์ภาษาอย่างเราก็ลงเรียนได้เหมือนกัน


(Cr. E-Learning กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ   http://www.e-learning.dss.go.th/)
 
 
แต่ถ้าเราอยากเรียนในด้านการใช้อุปกรณ์ในห้องแล็บ และยังไม่มีไอเดียว่าจะเรียนหลักสูตรไหนดี จขกท. ก็ขอแนะนำหลักสูตร เทคนิคการใช้เครื่องแก้ววัดปริมาตร เพราะเป็นหลักสูตรที่นักวิทย์ที่ทำงานในห้องแล็บจะต้องใช้


(Cr. E-Learning กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ   http://www.e-learning.dss.go.th/)
 
 
 
เรียนยากมากไหม
 จขกท. เองก็เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าจะยากมากไหม จะเรียนได้ไหม เพราะเรียนแบบเดียวกับนักวิทย์ที่ทำงานในห้องแล็บเลยนะ ถ้าเป็นผู้อ่านที่จบสายวิทย์ ก็แน่นอนว่าไม่ยากมากเท่าไร เพราะมีพื้นฐานทางด้านวิทย์-คณิตมากกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้อ่านที่จบสายศิลป์ภาษาอย่างเรา อืม...ก็แล้วแต่หลักสูตรนั้น ๆ กับพื้นฐานทางด้านวิทย์-คณิตของเรา บางหลักสูตรก็ต้องอาศัยความเคยชินจากการอ่านทบทวนซ้ำ ๆ บ่อย ๆ โดยเฉพาะในเรื่องชื่อเฉพาะกับคุณสมบัติของอุปกรณ์ สารเคมี และเชื้อจุลินทรีย์นั้น ๆ บางหลักสูตรก็ต้องมีพื้นฐานเลขมาบ้าง ใครพื้นฐานเลขดีหน่อยก็ช่วยได้เยอะ ส่วนใครพื้นฐานเลขแบบฉุดกระชากเกรดวิชาวิทย์ร่วงระนาวได้เลย ก็ควรจะไปปูพื้นฐานเลขมาก่อนจริง ๆ จะให้คนอื่นมาช่วยติว หรือส่งอีเมลไปสอบถามเกี่ยวกับเนื้อหาในจุดที่ตัวเองไม่เข้าใจที่ elearning@dss.go.th ก็ได้ แต่ยังไงก็ใจเย็น ๆ นะ ไม่ต้องรีบ ๆ ไม่ต้องซีเรียสเรื่องใบประกาศนียบัตร ถึงเราอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นหน่อย แต่สักวันเดี๋ยวก็ได้เอง แค่ทบทวนและฝึกฝนตัวเองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะผ่านเกณฑ์
 


ถ้าเรียนหลักสูตรแบบ E-Learning มาขนาดนี้แล้วยังไม่จุใจอีกล่ะก็ เราจบ ป.ตรี แล้วเมื่อไหร่ จขกท. ก็ขอแนะนำให้ไปสมัครอบรมผ่านทางออนไลน์ต่อได้เลยที่เว็บไซต์ blpd.dss.go.th/registeronline/ ซึ่งอันนี้จะเป็นการอบรมที่กรมวิทยาศาสตร์บริการโดยตรง ส่วนในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 บางหลักสูตรก็จะทำการอบรมผ่านทาง ZOOM หลักสูตรที่อบรมที่กรมวิทยาศาสตร์บริการโดยตรงแบบนั้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการอบรม และต้องจบ ป.ตรี มาแล้ว  ผู้เรียนที่จบ ป.ตรี ด้านอื่นที่นอกจากสายวิทย์ก็สามารถเข้าอบรมได้ ถ้าในหลักสูตรนั้น ๆ ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่า ต้องมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์เท่านั้น  แต่เราไม่ต้องเสียใจไปนะจ๊ะ เพราะพี่ ๆ จากทางกองฯ แอบกระซิบมาบอกว่า ถึงเราจะจบ ป.ตรี ด้านอื่นที่นอกจากสายวิทย์มา เราก็ลงได้เกือบทุกหลักสูตรเลยจ้ะ! เพียงแค่ถ้าเรามีพื้นฐานวิทย์มา เพราะทางอาจารย์เขาจะอธิบายแบบคนที่มีพื้นฐานมาแล้ว (ซึ่งเราก็สามารถใช้ความรู้จากที่เรียนใน E-Learning มาทบทวน ก่อนไปอบรมที่กรมวิทยาศาสตร์บริการได้นะ) สำหรับในหลักสูตรที่มีการใช้อุปกรณ์ ทางอาจารย์จะถามก่อนเลยถ้าเรายังไม่เคยใช้จริง ๆ ส่วนวันเปิดรับสมัครก็รอทางเขาประกาศอีกทีจ้ะ



ดูแล้วน่าสนใจมากเลยใช่ไหมล่ะ! งั้นก็สมัครสมาชิกและลงทะเบียนเรียนเลยสิ!
 
 
               
อ้างอิง

1. E-Learning กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ. หลักสูตร E-Learning. แหล่งที่มา: http://www.e-learning.dss.go.th/. สืบค้นเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม 2563.

2. กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ. ระบบลงทะเบียนฝึกอบรมออนไลน์. แหล่งที่มา: http://blpd.dss.go.th/registeronline/. สืบค้นเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม 2563.
 

แสดงความคิดเห็น