Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวสอวนฟิสิกส์+แนะนำหนังสือที่ต้องใช้ ตั้งแต่สอบเข้าจนถึงสอบฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ(TPhO)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีครับน้องๆ พี่เป็นนักเรียนจากค่ายสอวน.ฟิสิกส์คนนึงที่เคยได้ไปแข่งฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ (TPhO) นะครับ วันนี้พี่จะมารีวิวเกี่ยวกับการสอบคัดเข้าสอวน, ค่ายสอวนฟิสิกส์ค่าย1 ค่าย2 และ TPhO รวมถึงหนังสือที่จำเป็นต้องใช้ และเนื้อหาที่ต้องเรียนกันนะครับ เนื่องจากตอนที่พี่เข้าค่ายอยู่ ไม่ค่อยมีกระทู้รีวิวแบบนี้ ตอนนี้พี่เลยถือโอกาสมารีวิวเองซะเลย   heart
กระทู้นี้พี่จะแบ่งเป็น 2 ส่วนนะครับ ส่วนแรกคือรีวิวค่ายสอวนรวมถึงบอกเนื้อหาที่ใช้ในแต่ละค่าย และส่วนที่สองคือแนะนำหนังสือที่จำเป็นต้องใช้     หากมีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

ช่วงที่ 1 : รีวิวค่ายสอวน

1) การสอบคัดเข้าค่ายสอวน.ฟิสิกส์
แน่นอนว่าก่อนที่จะเข้าค่ายสอวนได้ น้องๆก็ต้องสอบคัดเข้าค่ายให้ได้ก่อน เนื้อหาที่ออกข้อสอบเป็นเนื้อหาม.ปลาย ธรรมดาๆ  (แต่พี่ค่อนข้างมั่นใจว่า มันยากกว่าข้อสอบที่โรงเรียนแน่นอน)    ข้อสอบจะแตกต่างกันในแต่ละปี ขึ้นกับอาจารย์ผู้ออกข้อสอบครับ มีบางปีที่ง่ายและมีบางปีที่ยากสลับกันไป ซึ่งเนื้อหาที่สอบก็อาจแตกต่างกันในแต่ละปีเช่นกัน แต่โดยรวมแล้วไม่เกินความรู้ม.ปลายครับ เนื้อหาที่ออกในปี 2562-2563  มีดังนี้


คณิตศาสตร์ที่ใช้ก็ไม่ยากครับ  มีแค่แก้สมการ แก้สมการกำลังสอง ตรีโกณมิติ พีชคณิต ความรู้เรขาคณิตเบื้องต้น เวกเตอร์ ยังไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องแคลคูลัสครับ
คำแนะนำ: อ่านเนื้อหาม.ปลายที่จะออกสอบทั้งหมด และตะลุยทำโจทย์สอวน.ปีเก่าๆ ให้หมดเลยครับ เอาแบบให้เข้าใจทุกข้อ ถ้าจะให้ดีก็จับเวลาทำเสมือนจริง 3 ชั่วโมงเลย ถึงข้อสอบปีเก่าๆจะออกเนื้อหาไม่ตรงกับในปีปัจจุบันก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเป็นการฝึกโจทย์สำหรับค่ายต่อๆไปนะครับ ส่วนหนังสือที่พี่จะแนะนำเดี๋ยวจะบอกในส่วนต่อไป (ในช่วงที่ 2)

2) สอวน.ฟิสิกส์ค่าย 1
การสอนในค่ายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือช่วงเช้าเรียนทฤษฎี (ประมาณ 3 ชั่วโมง) ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นแลป และ tutorial (รวมอีก 3 ชั่วโมง)  มีสอนเลทบ้างเป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นศูนย์กทม.จะเป็นค่ายแบบไป-กลับ แต่ถ้าศูนย์ต่างจังหวัดน่าจะต้องค้างคืนครับ วันสุดท้ายของการเข้าค่ายจะเป็น สอบทฤษฎี (3 ชั่วโมง) และสอบปฏิบัติ (3 ชั่วโมง)
-   เนื้อหาที่สอนภาคทฤษฎี  
น้องๆที่พึ่งเข้าค่ายนี้มาครั้งแรกอาจจะต้องปรับตัวพอสมควรครับ  เพราะเนื้อหาที่สอนจะเป็นฟิสิกส์ม.ปลายผสมกับฟิสิกส์ของมหาลัยปี1 (มีแคลคูลัสมาเกี่ยวข้อง)  เนื้อหาที่ออกมีดังนี้ครับ



-   เนื้อหาที่สอนภาคปฏิบัติ
ภาคบ่ายจะมีการทำทดลองเป็นคู่ ใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมง  สองวันแรกเขาสอนทฤษฎีต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการทดลองก่อนครับ อ่านมาให้ดีๆนะครับ เพราะการทดลองครั้งถัดๆไป เราต้องใช้ความรู้จากที่เขาสอน (เผลอๆใช้ได้จนถึงค่ายสสวท.เลย) เนื้อหาที่ใช้มีดังนี้

คำแนะนำ :   สำหรับคนที่เคยเข้ามาก่อน ส่วนตัวพี่คิดว่าสามารถผ่านค่ายนี้ได้สบายๆ ด้วยการทำข้อสอบเก่า แต่ถ้าคนไหนไม่เคยเข้ามาก่อนควรตั้งใจเรียนในค่ายดีๆ อ่านชีทที่อาจารย์ให้มาด้วยนะครับ บางครั้งเขาก็ออกคล้ายๆกับในชีท
ปล. สำหรับศูนย์เตรียมอุดม คนที่ออกข้อสอบไม่ใช่คนเดียวกับที่สอนครับ ดังนั้นถ้าเขาจะออกอะไรที่ไม่ค่อยตรงกับที่สอนในค่ายก็ อย่าใส่ใจเลยครับ555

3) สอวน.ฟิสิกส์ค่าย 2
การเรียนการสอนในค่ายคล้ายๆกับในค่าย 1 ครับ คือแบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย และวันสุดท้ายก็สอบปลายค่าย แต่เนื้อหาที่เรียนจะต่างกัน ดังนี้
-   เนื้อหาที่สอนภาคทฤษฎี  
เริ่มลึกกว่าค่าย 1 พอสมควร เนื้อหาที่ออกมีดังนี้ครับ

(ไม่มีข้อ 3. นะ)
-   เนื้อหาที่สอนภาคปฏิบัติ
ทำการทดลองเหมือนๆกับค่าย 1 เลยครับ ต่างกันแค่มันยากขึ้นกว่าเดิม
คำแนะนำ :   ตั้งใจเรียนในค่ายให้มากๆ  ฝึกโจทย์ในชีทที่อาจารย์ให้มา และทำข้อสอบเก่าให้หมดทุกปี ผมเชื่อว่าคนที่ตั้งใจจริงเท่านั้นที่จะผ่านไปค่ายต่อไปได้ ดังนั้นสู้ๆนะครับ
ปล. สำหรับศูนย์เตรียมอุดม วันสุดท้ายที่อาจารย์วุทธิพันธุ์สอนตั้งใจเรียนให้ดีๆเลยนะครับ มีหลายครั้งมากที่อาจารย์เขาออกโจทย์ที่สอนวันสุดท้าย (ผมเจอแบบนี้มาตั้งแต่ค่ายสอวน.ยันค่ายสสวท.เลยครับ) แต่พาร์ทของอาจารย์คนนี้ถ้าเก็บเต็มให้ได้จะดีมากครับ ถึงแม้จะอินทิเกรตโหดไปในบางครั้ง

4) ฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ (TPhO)
ค่ายผู้แทน   TPhO
ก่อนจะสอบ TPhO จะมีการเข้าค่ายเตรียมความพร้อมก่อนไปแข่งประมาณครึ่งเดือน เนื้อหาที่เรียนในค่ายเป็นเนื้อหาเบ็ดเตล็ด ประมาณว่าอาจารย์นึกอะไรขึ้นมาได้เขาก็จะสอน   บางครั้งสอนเลทมากกจนถึงบ่าย เพราะพูดเพลินไปหน่อย ส่วนแลปที่ต้องทำจะเป็นแลป TPhO ปีเก่าๆ เช่น TPhO ตั้งแต่ครั้งที่ 11 ถึงปีล่าสุด แต่สบายใจได้ครับ ไม่มีสอบปลายค่ายอีกแน่นอน แต่อยากให้น้องๆทำแลปด้วยตัวเอง อย่าดูเฉลยก่อนนะ ไม่งั้นเดี๋ยวตอนสอบจริงทำไม่ได้นะครับ (พี่เคยทำแลป TPhO นานถึง 5 ชั่วโมงกว่าๆเลย เพราะคิดไม่ออก ได้กลับเป็นคนสุดท้ายด้วย55)
การสอบฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ (TPhO)
ต้องไปสอบที่มหาลัย (แล้วแต่ว่าปีนั้นมหาลัยไหนจะได้เป็นเจ้าภาพ) ทั้งหมด 5 วัน 
day1 : ปฐมนิเทศนิดๆหน่อยๆ แล้วเขาก็จะปล่อยไปพักที่โรงแรม   แต่!! เขาจะยึดโทรศัพท์ด้วย เพื่อป้องกันการทุจริตซึ่งได้ข่าวว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
day2 : สอบทฤษฎีทั้งหมด 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8 โมงถึงเที่ยง คะแนนภาคทฤษฎีคิดเป็น 60% โดยทั่วไปข้อสอบจะแบ่งเป็น 3 ข้อใหญ่ หลายข้อย่อย แต่ละข้อมักจะเป็นสถานการณ์ต่างๆที่ยาวมากๆ ตั้งใจอ่านโจทย์ดีๆนะ วันแรกนอนให้เยอะๆนะครับ เดี๋ยวไม่มีแรงสอบ พอสอบเสร็จก็กลับโรงแรมเหมือนเดิมเพื่อเตรียมตัวสอบวันต่อไป
day3 : สอบปฏิบัติทั้งหมด 4 ชั่วโมง    ตั้งแต่ 8 โมงถึงเที่ยง   คะแนนภาคปฏิบัติคิดเป็น 40%  พอสอบเสร็จน้องก็จะได้โทรศัพท์คืน หลังจากนี้น้องสามารถไปเที่ยวห้างใกล้ๆมหาลัยได้นะ ไปดูหนังยังได้เลย
day4: วันนี้จะเป็นวันเที่ยวครับ เขาจะพาเด็กแต่ละศูนย์ไปเที่ยวที่ต่างๆในจังหวัดนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีนะ เพราะจะทำให้เราได้รู้จักเพื่อนๆศูนย์อื่นมากขึ้นด้วย
day5: น่าจะเป็นวันที่หลายๆคนเครียดกัน นั่นคือ วันประกาศผลสอบ เขาจะประกาศเรียงตั้งแต่รางวัลเกียรติคุณประกาศ เหรียญทองแดง เหรียญเงิน  จนถึงเหรียญทอง พอประกาศเสร็จแล้วก็กลับบ้านได้เลยครับ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง จะได้เหรียญหรือไม่ได้เหรียญ ก็ไม่ต้องเสียใจนะครับถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว
คำแนะนำ :  ก่อนจะสอบพี่อยากให้น้องๆลองเอาข้อสอบปีเก่าๆมาทำแบบจับเวลาเสมือนจริงดู ทำให้หมดทุกข้อ ให้หมดทุกปีเลยนะครับ เพราะพี่เชื่อว่าน้องหลายๆคนไม่เคยนั่งข้อสอบ 4 ชั่วโมงรวดแบบไม่ลุกไปไหนแบบนี้มาก่อน เนื้อหาที่จะออกอาจจะไม่มีอินทิเกรตถึกๆเท่าค่าย 1 ค่าย 2 แต่ยากสะใจแน่นอนครับ (โจทย์ที่ยากไม่จำเป็นต้องมีอินทิเกรตเสมอไป) และที่สำคัญเลยคือต้องฝึกแลปด้วยนะ ถึงเราจะไม่มีอุปกรณ์ให้ทำจริงๆ ก็ต้องลองฝึกวิเคราะห์แลปอยู่ดี อย่าคิดว่าไม่สำคัญนะครับ เพราะคะแนนมันตัดกันที่จุดทศนิยมเลย

ช่วงที่ 2    : แนะนำหนังสือที่จำเป็นต้องใช้

1) การสอบคัดเข้าค่ายสอวน.ฟิสิกส์
 ในส่วนเนื้อหาพี่ไม่รู้จะแนะนำหนังสืออะไรให้น้องจริงๆ เพราะมันใช้ความรู้ม.ปลายพื้นฐาน น้องสามารถอ่านหนังสือเล่มไหนก็ได้ (ที่เขาเขียนดีๆและถูกต้อง)
ถ้าน้องอ่านเนื้อหามาเรียบร้อยแล้ว พี่มีหนังสือโจทย์มาแนะนำ 2 เล่มคือ
-   How to HACK POSN Physics   ของ นักเรียนเหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ
เล่มนี้แนะนำมากๆ มันเป็นหนังสือเฉลยข้อสอบสอวน.ฟิสิกส์ตั้งแต่ปี 2547-2558 มีทั้งหมด 12+1 ชุด เฉลยค่อนข้างละเอียดเลยทีเดียว หลังจากน้องทำข้อสอบเก่าในนี้หมดแล้ว ก็ทำข้อสอบเพิ่มเติมท้ายเล่มอีกชุดนึงเลย ขอบอกไว้ก่อนว่าชุดนี้โหดใช้ได้ถ้าเทียบกับคนที่ไม่เคยเข้าค่ายมาก่อน เอาง่ายๆ ถ้าน้องทำชุดนี้ได้คะแนนเยอะ พี่ว่าน้องติดแน่นอนครับ55

 แนวข้อสอบฟิสิกส์ 9 วิชาสามัญ (กสพท.)  ของ ณัฐวัชร์ มหายศนันท์
ถึงชื่อมันจะเขียนว่าแนวข้อสอบฟิสิกส์ 9 วิชาสามัญ แต่ความจริงแล้วมันมีหลายข้อในนี้ที่เป็นข้อสอบสอวน.ครับ (ความจริงก็คือคนออกข้อสอบสอวน.ศูนย์กทม.เป็นคนเดียวกับคนออกข้อสอบฟิสิกส์ 9 วิชาสามัญ) ข้อสอบในนี้จะมี 6 ชุด ทำชุดละ 1.5 ชั่วโมงนะ
ทั้งสองเล่มนี้หาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาเลย
-  เพิ่มเติม  ขัอสอบที่เกี่ยวกับฟิสิกส์โอลิมปิกทุกฉบับตั้งแต่การสอบคัดเข้า สอวน TPhO สสวท APhO IPhO  อยู่ในเว็บไซต์   http://mpec.sc.mahidol.ac.th/forums/    ทั้งหมดเลยครับ ซึ่งหนังสือ 2 เล่มที่แนะนำด้านบน ยังไม่มีข้อสอบสอวนระดับชั้นไม่เกินม.5 หรือถ้ามีก็มีไม่ครบ (เมื่อก่อนมีการแบ่งเป็นข้อสอบระดับชั้นไม่เกินม.4 กับไม่เกินม.5 แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว) ดังนั้นน้องสามารถมาหาโจทย์ทำในนี้ได้ แต่ให้ดูดีๆด้วยนะครับ บางข้ออาจจะเฉลยผิดแล้วยังไม่มีคนแก้ เพราะคนที่มาเขียนเฉลยก็เป็นเด็กๆในค่ายสอวนนี่แหละ
ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อนึงในข้อสอบสอวน.ฟิสิกส์ปี 2562
ขอย้ำนะครับ  ว่าควรทำข้อสอบของทั้งระดับชั้นไม่เกินม.4 และระดับชั้นไม่เกินม.5 ให้หมด ไม่ว่าเราจะอยู่มอไหนก็ตาม  ข้อสอบระดับชั้นไม่เกินม.4  บางปีอาจจะยากกว่าของม.5 ก็ได้นะครับ

2) สอวน.ฟิสิกส์ค่าย 1 และค่าย 2
ก่อนอื่นเลย พี่จะแนะนำหนังสือ 2 ชุดที่จำเป็นในค่ายพอสมควร อารมณ์ประมาณหนังสือประจำค่ายอะ
-  ชุดหนังสือฟิสิกส์ระดับอุดมศึกษา (University Physics)   ของ Young&Freedman แปลไทยโดย ดร.ปิยพงษ์ สิทธิคง มีทั้งหมด 3 เล่ม

ในค่าย 1 และค่าย 2 พี่แนะนำให้น้องอ่านเนื้อหาจากในนี้ครับ มันเป็นหนังสือฟิสิกส์พื้นฐานของมหาลัยปี 1 ที่เนื้อหาครอบคลุมสอวนทั้งสองค่ายเลย โจทย์ท้ายบทมีเยอะมาก พี่ขอแนะนำให้น้องเลือกทำเฉพาะโจทย์ปัญหาท้าทายนะ  และโจทย์ที่ดูยากๆนะ (เกรงว่าถ้าน้องทำหมด น้องจะอ่านอย่างอื่นไม่ทัน)
ปล. มีหนังสืออีก 2 เล่มที่น้องสามารถเลือกอ่านได้ คือ Physics for scientists and engineers ของ Serway&Jewett กับ  fundamentals of Physics ของ Halliday&Resnick เป็น textbook มหาลัยเหมือนกับของ Young เลย อยู่ที่ความชอบว่าน้องชอบอ่านเล่มไหน
-   ชุดหนังสือสอวน.    มี 3 เล่ม คือเล่มกลศาสตร์, เทอร์โมไดนามิกส์ และ แม่เหล็กไฟฟ้า

ทั้ง 3 เล่มนี้แต่งโดยอาจารย์ที่สอนในค่ายครับ ถือว่าค่อนข้างยากทั้ง 3 เล่มเลยเพราะมันมีแคลคูลัสเยอะ โดยเฉพาะเล่มแม่เหล็กไฟฟ้า เล่มนี้มียัน gradient, divergence, curl เลย
เล่มกลศาสตร์: อ่านให้หมดเลย แต่ไม่ต้องอ่านถึงสัมพัทธภาพพิเศษนะ (เรื่องนี้เก็บไว้อ่านตอนเข้าค่ายสสวท)
เล่ม เทอร์โมไดนามิกส์: อ่านให้หมด ยกเว้นบทสุดท้ายเรื่องทฤษฏีของ Boltzmann (เก็บไว้อ่านตอนเข้าค่ายสสวทเช่นกัน)
เล่มแม่เหล็กไฟฟ้า: อ่านให้หมด ยกเว้นบทสุดท้ายเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในสุญญากาศ   (เก็บไว้อ่านตอนเข้าค่ายสสวทอีกแล้ว!!) ความจริงแล้วเรื่อง hysteresis, demagnetization, magnetic circuits ไม่ต้องอ่านก็ได้นะ เพราะมันไม่ออกข้อสอบ
อย่าลืม  ทำข้อสอบท้ายบทให้หมดนะครับ เพราะนี่แหละคือแนวข้อสอบของอาจารย์วุทธิพันธุ์ ป๋าของเรานั่นเอง
-   ทักษะปฎิบัติการฟิสิกส์     ของ นฤมล&ขวัฐ&ธเนศ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล
เล่มนี้ไม่มีอะไรจะพูดเยอะ แต่พี่ว่าควรมีเลยครับ เพราะมันเป็นพื้นฐานแลปทั้งหมดที่ครอบคลุมค่าย 1 ค่าย 2 จนถึงค่ายลึกๆ

 หนังสือ calculus
อาจจะยังไม่จำเป็นต้องอ่าน เพราะแค่เรียนแคลคูลัสในค่าย+อ่านแคลคูลัสตามชีทต่างๆที่อาจารย์แจกมาก็เพียงพอแล้วครับ แต่ถ้าหากมีคนสนใจก็สามารถอ่านเล่ม Thomas' calculus หรือ calculus ของ James Stewart ได้ (แนะนำว่าไม่ต้องอ่านละเอียดมากนะครับ เอาแค่ที่ใช้ในฟิสิกส์ก็พอ)
 ข้อสอบเก่าจากเว็บ mpec 
อันนี้ขาดไม่ได้เลย ถ้าอยากไปค่ายลึกๆก็ทำทุกชุดเลยนะ ไม่ใช่ว่าอ่านเนื้อหามาหมดแล้ว ก็เลยไม่ทำโจทย์ ไม่ได้นะครับ เพราะยิ่งเราเจอโจทย์มามากเท่าไหร่ เราก็จะมีประสบการณ์มากเท่านั้น และโจทย์ยังเป็นตัวบอกว่าเราไม่เข้าใจตรงไหนอีกด้วย
ข้อสอบปลายค่าย 1 ปี 2559-2560  (ข้อพิเศษ)

อย่าดูถูกโจทย์ปลายค่าย 1 นะครับ ข้อนี้ถ้าแก้ตามวิธีที่อาจารย์ให้มา พี่ว่ามันจะยากและยาวมาก 
Hint: ใช้หลักอนุรักษ์พลังงานและหลักอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงเส้นจะดีกว่า ไม่งั้นลองดูเฉลยที่ป๋าทำ
ส่วนอันนี้คือข้อสอบปลายค่าย 2 ปี 2554-2555 ที่ค่อนข้างยากอีกข้อนึง ถ้าน้องทำได้ น้องเก่งมากครับ

3) ฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ (TPhO)
-   ข้อสอบเก่าจากเว็บ mpec 
อย่างที่เคยบอกไปแล้ว ให้ฝึกทำข้อสอบเก่าๆจากในนี้นะครับ ถ้าน้องๆคนไหนทำ TPhO จนหมด ไม่มีอะไรจะทำต่อแล้ว ก็ทำข้อสอบปลายค่าย1 สสวท.ต่อได้เลยนะ แต่พี่คิดว่าไม่น่ามีคนแบบนี้หรอก(มั้ง)
ข้อสอบ TPhO ครั้งที่ 17 สอบที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สังเกตว่าโจทย์จะยาวมากและชอบถามเป็นข้อย่อยไปเรื่อยๆ พี่ว่าตรงนี้น้องต้องระวังดีๆเลย เพราะถ้าน้องทำข้อย่อยแรกผิด ข้อถัดๆไปน้องอาจจะทำผิดหมด


และข้อสังเกตอีกอย่าง คือโจทย์ที่ยากไม่จำเป็นต้องมีแคลคูลัส
มีจุดที่น่าสนใจคือ บางครั้งโจทย์ TPhO ก็มีข้อผิดพลาดได้ เช่น จากรูปด้านบน a+a^2+a^3+... ไม่เท่ากับ 1/(1-a) นะครับ ดังนั้นเวลาทำข้อสอบ ต้องรอบคอบนิดนึง

หนังสือเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจ
 Problems in general Physics  ของ IE Irodov
อันนี้เป็นหนังสือโจทย์ในตำนานของเด็กค่ายฟิสิกส์ มีโจทย์เยอะมากกก เป็น 1000 ข้อเลย เฉลยภาษาอังกฤษน้องสามารถหาตามเว็บต่างๆได้ ส่วนเฉลยภาษาไทย(บางข้อ) มีอยู่ในเว็บ mpec กดเข้าไปตรง "โครงการ Irodov"
-   Introduction to classical mechanics with problems and solutions    ของ David Morin
ส่วนตัวชอบเล่มนี้มากเพราะในค่ายสสวทอ่านมันบ่อย ฝึกทำโจทย์จากในเล่มนี้ได้นะ โจทย์ค่อนข้างยากเลย แต่จะมีโจทย์แค่กลศาสตร์
-   Introduction to Electrodynamics   ของ  David J. Griffiths
เป็นหนังสือเกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้าที่ค่อนข้างยากอีกเล่มนึง ถ้าเป็นระดับสอวน. พี่แนะนำให้อ่านบท Electrostatics,  Magnetostatics กับ Electrodynamics นะ ส่วนเรื่อง vector calculus น้องยังไม่ต้องสนใจในตอนนี้ ข้ามได้ข้ามเลย แต่ถ้าจะอ่านเอามันส์ก็ไม่เป็นไร

ก่อนจะจากกันไปก็ขอให้น้องโชคดีกับการสอบสอวน.นะครับ ในฐานะคนที่มีประสบการณ์ในวงการนี้มาหลายปี ก็ขอบอกเลยว่า  คนที่จะเข้าค่ายลึกๆได้ หรือได้เหรียญรางวัลมากมายต้องเป็นคนที่จริงจังและแบ่งเวลาเป็นครับ เราต้องสอบปลายค่ายหรือเข้าค่ายต่างๆ พร้อมๆกับเรียนที่โรงเรียนไปด้วย บางครั้งอาจจะทำให้น้องๆหลายคนเหนื่อยและละความพยายามไป ซึ่งพี่ขอบอกเลยว่ามันเหนื่อยจริงๆครับ มีอุปสรรคมากมาย เช่น ต้องมาตามการบ้านย้อนหลังเพราะติดค่ายที่สสวท. , ทำโจทย์ไม่ได้จนหมดกำลังใจ หรือการบ้านที่โรงเรียนเยอะจนไม่มีเวลาอ่านฟิสิกส์ แต่เชื่อเถอะครับว่าถ้าน้องจะผ่านมันไปได้ แล้วพอมองย้อนกลับมา น้องจะมีความสุขที่ได้เรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ มีความสุขที่ได้พยายามฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆมา แม้จะไม่เคยได้เหรียญรางวัลอะไรเลยก็ตาม..

แสดงความคิดเห็น

>

8 ความคิดเห็น

WanRatchadawan 13 ก.ค. 64 เวลา 06:47 น. 5

ข้อมูลเนื้อหาสาระบอกได้คำเดียวว่าสุดยอดมากค่ะ เป็นประโยชน์ต่อน้องๆมากค่ะ ขอบคุณมากนะคะ

0