Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

“คลองโอ่งอ่าง” สร้างสรรค์ต้นแบบวิถีชีวิตริมคลอง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
กลุ่มเด็กนักเรียนแลกเปลี่ยนแอ็กชั่นท่าทางถ่ายภาพกับสตรีทอาร์ตอย่างมีความสุข

กลุ่มผู้ใหญ่สลับสับเปลี่ยนชักภาพพร้อมพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน

เป็นภาพที่ใครเห็นต่างก็ประทับตราตรึงใจเมื่อได้พบเจอ

“คลองโอ่งอ่าง” คือหนึ่งในคลองรอบกรุงที่ขุดตั้งแต่แรกสร้างกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 1 และยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ความสำคัญของคลองแห่งนี้เชื่อมโยงกับพื้นที่ตลาดบกคือ สำเพ็ง พาหุรัด ที่ตั้งอยู่บนฝั่ง ทำให้สมัยก่อนย่านนี้จึงคึกคักทั้งส่วนของตลาดบกและตลาดน้ำ

สองฝั่งซ้าย – ขวา ของคลองโอ่งอ่างคือพื้นที่ย่านค้าขายพาหุรัดและสำเพ็ง ส่วนถนนเรียบริมคลองต่อมาได้กลายเป็นย่านร้านค้าที่แน่นขนัดของชาวสะพานเหล็ก ก่อนจะย้ายไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าพร้อมกับการปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ จากสะพานเหล็กที่ไม่สะอาดตา ขาดความปลอดภัย ไร้ระเบียบ กลับกลายเป็น “ถนนคนเดิน…คลองโอ่งอ่าง” อันสวยงาม สถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่กลางกรุง ที่ใครๆ ต่างก็ยกให้เป็นคลองชองกเยชอน (Cheonggyecheon) โมเดล โปรเจกต์เปลี่ยนคลองน้ำเน่าเสียกลางกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และมีความสวยงามคลับคล้ายเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ทำให้ “คลองโอ่งอ่าง” กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดโรแมนติก น้ำสะอาด สวนสวย เดินเที่ยวได้อย่างเพลิดเพลินเจริญใจและปลอดภัย

“ถนนคนเดิน…คลองโอ่งอ่าง” เริ่มเปิดตัวพร้อมกับการจัดงานเทศกาลลอยกระทง เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

สำหรับการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างแล้วเสร็จไปเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา มีทั้งการปูพื้นอิฐถนนใหม่ตลอดทางเดินร่วม 2 กิโลเมตร (เฉพาะถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง รวมระยะทาง 750 เมตร ช่วงระหว่างสะพานดำรงสถิต – สะพานโอสถานนท์) มีการจัดสวน จัดการน้ำให้ใส กลิ่นดีขึ้นกว่าเดิม ร่มรื่นด้วยต้นไม้ที่ปลูกเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ มีรั้วเหล็กกั้นคลองเพื่อความปลอดภัย พื้นทางเดินปูด้วยอิฐร้อยเรียงสวยงาม ฝาท่อส่วนหนึ่งปรับปรุงแปรเปลี่ยนเป็นฝาท่อลายศิลป์ เช่น ลายสวัสดี, ลายคนแจวเรือ, ลายพาหุรัด, ลายพระนคร และลายสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นย่านที่เชื่อมต่อกัน ส่วนสตรีทอาร์ตมีทั้งรังสรรค์บนกำแพง ผนังอาคาร และบ้านเรือนที่ทอดยาวสองฝั่งคลอง

คลองโอ่งอ่างเปลี่ยน..วิถีชีวิตของชุมชนริมคลองก็เปลี่ยนเช่นกัน จากการสะท้อนมุมมองของ บูม สิทธิกุล และ TOON-JITANU 2 นักดนตรีดูโอเปิดหมวก

โดย TOON-JITANU เล่าว่า “ตั้งแต่ก่อนปรับปรุงเป็นคลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน ตรงนี้ถูกเรียกว่าสะพานเหล็ก เป็นที่รู้กันว่าเป็นแหล่งศูนย์รวมสำหรับบุคคลที่ชื่นชอบเกมส์ ของเล่นเด็ก เมื่อประมาณ 20 – 30 ปีที่แล้ว ตอนหลังทาง กทม. มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่จากที่ไม่มีอะไรเป็นจุดสนใจ ให้คล้ายกับเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ก่อเกิดแลนด์มาร์คใหม่ ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ให้ผู้คนต่างอยากรู้จักสถานที่นี้ ในระยะเดือนกว่าที่เปิดถนนคนเดินมา (วันศุกร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่ 4 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม) ถือว่าเวิร์คมาก คนค่อนข้างเยอะ ช่วง 4 – 5 โมงเย็น คนวัย 50 ปีขึ้นไป จะนิยมมาถ่ายรูปกัน ช่วง 6 โมงเย็น คนวัย 40 ปีขึ้นไป จะนิยมมาจับจ่ายใช้สอย ช่วง 1 – 2 ทุ่มขึ้นไปจะเป็นช่วงเวลาของวัยทีน เพราะเป็นช่วงชิลล์ๆ บรรยากาศแห่งสีสัน นอกจากนั้นสถานที่ตรงนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวช่วงเทศกาล เช่น ลอยกระทง คนทั่วไป นักท่องเที่ยว ก็มาสัมผัสตรงนี้ได้”

หลังจากฟังมือกลองไปแล้ว ลองมาฟังมือกีตาร์และนักร้องกันบ้าง โดย บูม สิทธิกุล เล่าว่า “ผมเห็นคลองโอ่งอ่างตั้งแต่เป็นสะพานเหล็กเก่า แหล่งขายของเล่น วิดีโอเกมส์ ตอนก่อสร้าง ตอนขุดคลอง จนปรับปรุงภูมิทัศน์แล้วเสร็จ กลายเป็นสถานที่ที่สร้างสีสัน เป็นแลนมาร์ค มีการเล่นดนตรี ขายของ เป็นสถานที่ให้แสดงออกได้โชว์ทักษะ สามารถสร้างรายได้ ปกติมีงานประจำคือประกอบธุรกิจกับครอบครัว แต่ว่าชอบดนตรีเลยมาเล่นที่นี่ ได้ฝึกทักษะ ซึ่งปกติมีเล่นที่ร้านอาหาร แต่ว่าไม่สนุกเท่ากับมาเล่นที่นี่ เพราะได้เพื่อนใหม่ ได้รู้จักคนเยอะ ผู้คนสามารถมาพูดคุยกับเราได้แบบอันลิมิเต็ด ถ้าเล่นที่ร้านต้องเล่นตามลิสต์เพลง ไม่เป็นกันเองขนาดนี้ ที่นี่เราจะเล่นอะไรก็ได้ คนที่สนใจดนตรีเวลาที่เค้าสนใจเค้าจะสนใจจริงๆ อยากร่วมแสดงออกไม่ว่าจะขับร้องหรือเล่นดนตรีไปด้วยกัน”

กิจกรรมถนนคนเดินทำให้คลองโอ่งอ่างเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น ผู้คนหลั่งไหลมาจับจ่ายซื้อของ ยอมสละเวลาเดินทางมาชมความสวยงามของคลองโอ่งอ่างในเวลาค่ำคืน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะยุคโควิด-19 กำลังระบาด เศรษฐกิจทั่วโลกต่างถดถอย แลนมาร์คแห่งใหม่นี้ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ พ่อค้า – แม่ค้าที่มาตั้งร้านขายของริมคลองโอ่งอ่าง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำหรืออาชีพประจำ

“คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ “ความสำเร็จ” ที่น่านำไปเป็นต้นแบบ

ด้วยปัจจุบันวิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยน คนในเมืองไม่ใช่เกษตรกรหรือชาวสวนแล้ว จึงมีการปรับเปลี่ยนบ้านเรือนจากเดิมที่หันหน้าหาคลองอยู่ตามชายฝั่งเป็นที่ตั้งถิ่นฐาน อยู่ร่วมกับน้ำก็เปลี่ยนเป็นหันหลังให้คลอง หันหน้าเข้าหาถนนแทน

เมื่อชีวิตไม่ได้ผูกพันกับสายน้ำ คลองที่เคยมีความสำคัญจึงอาจถูกละเลย

“ถนนคนเดิน…คลองโอ่งอ่าง” คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ ในการร่วมใจกันพลิกฟื้นพื้นที่ริมคลองในชุมชนให้สวยงาม น้ำสะอาดขึ้น ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนย่านนั้นได้

เฉพาะคลองในกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 1,161 คลอง และคูลำกระโดง จำนวน 521 คู รวมเป็น 1,682 คูคลอง ความยาว 2,604 กม. ยังไม่นับพื้นที่ริมคลอง – แม่น้ำต่างจังหวัด ทั่วประเทศซึ่งมีอย่างมากมาย หากแต่ละชุมชนนำแนวคิด “คลองโอ่งอ่าง” มาปรับใช้ต่อยอดกับชุมชนตนเอง “ใช้ประโยชน์จากคลอง” สร้างโอกาสสร้างรายได้ เปลี่ยนริมคลองเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชน ชาวบ้านก็จะมีโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ๆ เป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน คนทั่วไปได้สัมผัสบรรยากาศที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติในวันหยุดพักผ่อน และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเพียงใด ขอเพียงเราพร้อมใจร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อชุมชน วิถีชีวิตติดสายน้ำจักยังมีชีวิตชีวาคงอยู่ตลอดไป


ต้นฉบับ : https://www.lifeelevated.club/khlong-ong-ang-202012049/

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น