Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

“ปัญหามลพิษ” อันตรายกว่าที่คิด ทำร้ายเศรษฐกิจด้วย 3 เหตุผล

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
โดยทั่วไปของประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือน ธ.ค. – ก.พ. ของทุกปี โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมักประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในชั้นบรรยากาศ ซึ่งในมุมมองทางการแพทย์และสุขภาพ เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหามลพิษทำร้ายเราได้อย่างไร แล้วถ้าเป็นมุมมองของเศรษฐศาสตร์บ้าง ปัญหามลพิษสามารถทำร้ายเศรษฐกิจได้อย่างไร Life Elevated มีคำตอบ

จากข้อมูลใน The Economic Consequences of Outdoor Air Pollution ของ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจได้ผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ 1. ผลผลิตทางการเกษตร 2. ประสิทธิภาพแรงงาน และ 3. ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

ผลผลิตทางการเกษตร
ความเข้มข้นของฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทางการเกษตรลดลงโดยตรง เช่น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ปัจจัยดังกล่าวคือมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก คือมลพิษส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรแย่ลง แต่ระดับความรุนแรงแตกต่างออกไปตามภูมิภาค โดยพืชที่ได้รับผลกระทบเยอะๆ จากมลพิษในอากาศ คือ ข้าวสาลี และพืชกลุ่มที่มีน้ำมันในเมล็ดสูง

ประสิทธิภาพแรงงาน
ปัญหามลพิษส่งผลต่อคุณภาพแรงงานโดยตรง โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพแรงงานที่อาจจะเกิดการเจ็บป่วยมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง รวมไปถึงการออกมาตรการหลีกเลี่ยงมลพิษก็ส่งผลกับประสิทธิภาพการทำงานด้วยเช่นกัน ในระยะยาวแล้วปัญหาแรงงานสำคัญมาก เพราะมีแนวโน้มลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับผลกระทบด้านการเกษตรที่ดูจะย่ำแย่ลงอย่างช้าๆ

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอันเป็นผลพวงมาจากปัญหามลพิษ มีตั้งแต่ค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล เช่น ค่ารักษา ค่าพบแพทย์ ค่ายา ค่าใช้จ่ายทางตรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล เช่น ค่ารถที่นั่งไปโรงพยาบาล ค่าเครื่องฟอกอากาศ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ค่าเสียโอกาสในการได้ค่าแรง

ปัจจัยด้านสุขภาพและประสิทธิภาพแรงงานถือว่าเกี่ยวข้องกันโดยตรง โดยประสิทธิภาพแรงงานจะเริ่มต้นลดลงก่อน แล้วจึงตามมาด้วยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ยิ่งเวลาผ่านไป ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มเป็นไปตามประสิทธิภาพแรงงาน

มลพิษและฝุ่น PM2.5 ในอากาศจึงไม่ได้ทำร้ายแต่สุขภาพเรา แต่ยังทำร้ายไปถึงสุขภาพของเศรษฐกิจชาติอีกด้วย

แม้ในขณะนี้สถานการณ์ PM2.5 ยังดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ (Public Policy) จากทางภาครัฐก็ยังเป็นสิ่งสำคัญมีความจำเป็น เพราะนั่นคือ การยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศและการป้องกันมลพิษทางอากาศจากต้นเหตุ อันจะช่วยสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับคนในสังคม เพราะอากาศดีคือรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ที่สำคัญพวกเราก็ต้องร่วมมือร่วมแรงรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น