Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

สำคัญอย่างไร? ทำไมจำเป็นต้องมี “โรงพยาบาลสนาม”

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในบ้านเราขณะนี้ จะเห็นว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสลุกลามรวดเร็ว และแพร่กระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้การระบาดในครั้งนี้ จำเป็นต้องมีการควบคุมให้ได้เร็วที่สุด โดยเครื่องมือการควบคุมที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาใช้สำหรับการระบาดในรอบนี้ก็คือ “โรงพยาบาลสนาม”

โรงพยาบาลสนามคืออะไร?

หากติดตามข่าวสารต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศจีน ช่วงที่มีการระบาดรุนแรงเมื่อต้นปี 2563 จะพบว่าจีนควบคุมการระบาดของโรคได้ค่อนข้างเร็ว สิ่งหนึ่งที่เราจะได้ยินจากข่าวก็คือ การตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” เพื่อใช้สำหรับรักษาผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลสนามนี้ชื่อว่า “หั่วเสินซาน” เป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 1,000 เตียง เป็น 1 ใน 2 โรงพยาบาลฉุกเฉินที่จีนเร่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัส พร้อมเปิดใช้งานหลังใช้เวลาสร้างเพียง 10 วันเท่านั้น

โดยทันทีที่เปิดโรงพยาบาล ก็พร้อมรับผู้ป่วย COVID-19 ในทันที หลังจากโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ตั้งขึ้น ก็มีอีกหลายแห่งในจีนได้เปิดตามมา เพียงแค่ประมาณ 1 เดือน ทางการจีนก็สามารถปิดโรงพยาบาลสนามเหล่านี้ได้ เพราะผู้ป่วย COVID-19 ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นแนวคิดต้นแบบของการสร้างโรงพยาบาลสนามในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่เป็นต้นแบบว่า โรงพยาบาลสนามคือเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการระบาดที่รวดเร็วและรุนแรง

Field Hospital หรือ Cohort Center เป็นการจัดตั้งที่พัก สำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ ในพื้นที่ที่มีการควบคุม ดังนั้น การตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น เป็นการตั้งโรงพยาบาลเฉพาะกิจในสถานการณ์เร่งด่วน ใช้เวลาตั้งให้น้อยที่สุด รับผู้ป่วยให้เร็วที่สุด มีบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์จากโรงพยาบาลเช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลหลัก

ซึ่งโรงพยาบาลสนามนั้นตั้งขึ้นเพราะโรงพยาบาลหลักไม่สามารถรับผู้ป่วยได้เพิ่มอีกแล้ว การที่เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็วทำให้มีผู้ป่วยพร้อมกันหลายคน เกินขีดจำกัดที่โรงพยาบาลหลักจะรับได้

ทำไมโรงพยาบาลสนามจึงสำคัญ?

ในสถานการณ์โรคระบาด โรงพยาบาลสนามนั้นถือว่าค่อนข้างจำเป็นที่ต้องมี และจำเป็นต้องมีอย่างเร่งด่วนด้วย เนื่องจากการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลสนาม จะเป็นการรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ความสำคัญของโรงพยาบาลสนามจึงมีเพื่อใช้กักตัวผู้ป่วยไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อกับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และเพื่อคัดกรองคนที่มีอาการปอดอักเสบ จะได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลหลัก ไม่สามารถให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามได้

ในผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย การที่ไม่นำเข้าสู่ระบบจะทำให้การควบคุมโรคนั้นเป็นไปได้ยาก และติดต่อกันได้ไม่สิ้นสุด เพราะหากผู้ติดเชื้อเดินทางไปไหนมาไหน เช่น ไปตลาด เข้าร้านสะดวกซื้อ เดินสวนกับคนอื่นๆ ตามท้องถนน หรือใช้ของสาธารณะบางอย่างร่วมกับคนอื่นนั้น เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาจะแพร่เชื้อที่ไหนอีกบ้าง ซึ่งน่ากลัวกว่าการกักตัวคนป่วยไว้ในบริเวณเดียวกันจนกว่าจะหาย

หลักเกณฑ์การตั้งโรงพยาบาลสนาม

การเปิดโรงพยาบาลสนาม ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกประเทศทั่วโลก คือ

- ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่
- ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ สามารถดูแลตนเองได้ดีในเบื้องต้น ไม่ก้าวร้าวและไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
- ผู้ป่วยไม่มีไข้หรือโรคประจำตัว
- ผู้ป่วยต้องมียามาจากโรงพยาบาลเดิมครบตามแผนการรักษา โรงพยาบาลต้นทางยินดีรับผู้ป่วยกลับไปรักษา หากอาการเปลี่ยนแปลง

รวมถึงโรงพยาบาลสนาม จะต้องสร้างขึ้นภายใต้ความจำเป็นคือ

- ผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาลจะลดการติดเชื้อ แยกแยะระหว่างผู้ป่วยโรคทั่วไปและผู้ป่วย COVID-19 ไม่ให้ปะปนกัน
- บุคลากรสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ
- โรงพยาบาลหลักจะมีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่ต้องงดรับผู้ป่วยทั่วไปเหมือนช่วงระบาดเมื่อต้นปี 2563
- ชุมชนจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะโรงพยาบาลสนามจะรองรับผู้ป่วย COVID-19 ผู้ติดเชื้อ ผู้กักกันตัวเองที่อยู่ระหว่างรอผลยืนยัน ช่วยแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่เชื้อได้อย่างดี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือมีกระแสการต่อต้านการตั้งโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ ด้วยการตั้งโรงพยาบาลสนามนั้นค่อนข้างอยู่ในชุมชน อีกทั้งยังมีผู้ป่วยรวมกันหลายคน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความกังวลว่าจะทำให้เกิดการระบาดสู่ชุมชนได้ง่าย

“โรงพยาบาลสนาม” ปลอดภัยไร้กังวล

การตั้งโรงพยาบาลสนามมีมาตรการ ระบบความปลอดภัย และได้มาตรฐานตามหลักกระทรวงสาธารณสุข โดยจะต้องไม่เกิดการระบาดสู่ชุมชน ขยะทุกอย่างจะทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อ แล้วส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถออกจากโรงพยาบาลสนามไปในสังคมหรือชุมชนได้ เนื่องจากมีระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้ออย่างดี

ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดการบริหารจัดการในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ในด้านระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ณ โรงพยาบาลสนามจะต้องสำรวจและเตรียมสำรองอุปกรณ์ป้องกันตนเอง (PPE) ให้พร้อมและเพียงพอ เมื่อมีการระบาด และสามารถจัดหามาเพิ่มได้ ต้องมีการฝึกซ้อมการสวมและถอด PPE ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทำกันทั่วโลก และการทำความเข้าใจ หลักการพื้นฐานของการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (Infection prevention and control)

ส่วนการเลือกสถานที่ จะต้องเป็นที่ที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่ตั้งอยู่ในชุมชนแออัด และมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญในการดำเนินงาน เช่น ไฟฟ้า ประปา และอื่นๆ มีแนวทางการจัดการทั้งความปลอดภัย การป้องกันการแพร่เชื้อมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก

หลายคนอาจเป็นกังวล เพราะโรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ที่ใกล้ชุมชน ทั้งยังเป็นแหล่งรวมผู้ป่วยจำนวนมากด้วย แต่การกังวลและไม่เชื่อมั่นในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุข อาจทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก จนเกิดการระบาดในวงกว้างกว่าเดิม นี่จึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ในกรณีนี้

ขณะนี้ COVID-19 คือศัตรูสำคัญของมวลมนุษยชาติ การเชื่อมั่นในบุคลากรสาธารณสุขจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ควรวางใจที่สุด บุคลากรทางการแพทย์มีหน้าที่รักษาโรค “โรงพยาบาลสนาม” คือเครื่องมือควบคุมการระบาดที่ดีที่สุดในขณะนี้ อีกทั้งยังช่วยจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาที่สุดด้วย นั่นหมายความว่าก็ช่วยให้คนไทยปลอดภัยจากโรคระบาดได้มากขึ้น

ต้นฉบับ : https://www.lifeelevated.club/field-hospital-202101067/

แสดงความคิดเห็น