Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือการรู้กว้างอย่างหลากหลาย จะทำให้เราประสบความสำเร็จกันแน่

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือการรู้กว้างอย่างหลากหลาย จะทำให้เราประสบความสำเร็จกันแน่
.
.
คุณคิดว่านักกีฬาระดับโลก นักดนตรี จิตรกรระดับโลกเขามีวิธีฝึกฝนกันอย่างไร เพื่อให้ได้มาถึงความสำเร็จนั้น ?
.
.
     พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตในวัยเรียนเป็นอย่างไร เขาจะเป็น “เด็กหน้าห้อง” ที่เป็นเลิศทางวิชาการ หรือเป็น “เด็กกิจกรรม” ตัวยง ทุก ๆ ครั้งที่โรงเรียนมีกิจกรรมก็มักจะเห็นเด็กเหล่านี้เป็นตัวแทนหรืออยู่แถวหน้าเสมอ หรือในความเป็นจริงแล้วคนเก่งเหล่านั้นไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเด็กประเภทใดเลย แล้วพวกเขาคว้าความสำเร็จเหล่านี้ หรือค้นพบความสามารถพิเศษเฉพาะทางเฉพาะด้านได้อย่างไร
.
.
     การเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสามารถเป็นแรงผลักดันให้ไปถึงเส้นชัย หรือการรู้กว้าง และรู้อย่างหลากหลาย จะทำให้เราประสบความสำเร็จกันแน่
.
.
     คำถามนี้มักเป็นคำถามคลาสสิคที่แผนกบุคคลเฟ้นหาพนักงานเข้าบริษัทให้เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กรว่าเราต้องมองหาคนแบบไหน พ่อแม่ตั้งคำถามกับลูกหลานว่าควรวางแผนชีวิตเขาอย่างไร ครูตั้งคำถามกับลูกศิษย์ว่าควรสนับสนุนเขาในทิศทางใดบ้าง หรือแม้กระทั่งเราตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเราจะหาตัวเองได้อย่างไร เพื่อให้เป็นคนเก่งจนเป็นที่ยอมรับ
.
.
     สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แอดมินได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือ Range ของ “เดวิด เอปสตีน” หนังสือที่บิลล์ เกตส์ แนะนำให้อ่านประจำปี 2020 และยังเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของ New York Times
.
.
     เดวิด เอปสตีน ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ Range เกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านทักษะเฉพาะทางของนักกีฬาระดับโลกอย่าง ไทเกอร์ วูดส์ ที่อายุ 3 ขวบก็หัดตีลูกกอล์ฟออกจากหลุมทราย 4 ขวบฝึกซ้อมกอล์ฟวันละ 8 ชั่วโมง และสามารถแข่งชนะพ่อได้ในวัยเพียง 8 ขวบ
.
.
     ซึ่งถ้าเทียบกับเรา ๆ ตอน 4 ขวบกำลังทำอะไรกันอยู่ อาจจะยังทำได้แค่นั่งร้องไห้เพราะไม่ได้ของเล่นที่อยากได้ หรืออาจจะกำลังคุยกับเพื่อนในจินตนาการอยู่ก็เป็นได้ จึงไม่แปลกใจเลยที่ ไทเกอร์ วูดส์ จะกลายเป็นนักกอล์ฟที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาลคนหนึ่ง เขาได้ทำลายสถิติกีฬากอล์ฟหลายรายการ ครองตำแหน่งนักกอล์ฟอันดับหนึ่งของโลกโดยมีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานที่สุด และมีจำนวนสัปดาห์ที่มากที่สุดมากกว่านักกอล์ฟคนอื่น ๆ
.
.
     มาดูสามพี่น้องโพลการ์กันบ้าง พวกเธอฝึกฝนเล่นหมากรุกตั้งแต่อายุยังน้อย จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ และสามารถเดินทางไปแข่งขันได้ทั่วโลกในปี 1996 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นแชมป์โลกแต่ก็โดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับ จะเห็นได้ว่าการทุ่มเทกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเฉพาะทางดูจะเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลต่ออนาคตของเด็กคนหนึ่ง อย่างมีนัยสำคัญ
.
.
     แต่เราจะต้องพัฒนาทักษะเฉพาะทางแบบเจาะจงจึงจะประสบความสำเร็จอย่างนั้นหรือ ?
ถ้าเรายังเลือกไม่ได้ล่ะ
หรือ อย่าว่าแต่เลือก เราอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าสิ่งนั้นคืออะไร
ถ้าอย่างนั้น คนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จบ้างได้หรือไม่ ?
.
.
     คุณคิดว่า โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ มือเทนนิสอันดับ 1 ของโลกจำนวน 237 สัปดาห์ติดต่อกัน เป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ที่มีอายุมากที่สุดคนนี้ เป็นผู้ฝึกฝนทักษะเฉพาะด้านมาอย่างหนักไม่ต่างไทเกอร์ วูดส์ใช่หรือไม่ ? ถ้าใช่คุณคิดผิด
.
.
     โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ คือตัวอย่างของการเดินบนเส้นทางที่หลากหลาย เขาลองเล่นกีฬาทุกอย่างตั้งแต่เด็ก ทั้ง สกี มวยปล้ำ ว่ายน้ำ ฟุตบอล สควอช ปิงปอง เทนนิส แฮนด์บอล แบตมินตัน ซึ่งกว่าเขาจะเริ่มมาสนใจเทนนิสก็นับว่าช้ากว่าคนอื่นไม่น้อย
.
.
     โรเจอร์ เฟเดอเรอร์เอง ได้บอกว่าเขาเป็นคนชอบเล่นกีฬาที่มีลูกบอลเป็นส่วนประกอบ เพราะการได้ลองกีฬาที่หลากหลายนี้เอง ทำให้เขาสามารถหาความเชื่อมโยงของกีฬาประเภทต่าง ๆ ได้
.
.
     โลมาเชนโก นักชกชาวยูเครน เจ้าของเข็มขัดโลกของ WBC, WBA และ WBO เองก็เป็นหนึ่งของคนที่เล่นกีฬาอย่างหลากหลายทั้ง ยิมนาสติก บาสเกตบอล ฟุตบอล เทนนิส เพราะเขาคิดว่ากีฬาทุกอย่างทำให้เขามีฟุตเวิร์กที่แข็งแกร่งสำหรับการต่อยมวย
.
.
     ข้อมูลทางสถิติหลายอย่างจากหนังสือ Range ของ เดวิด เอปสตีน บอกว่า นักกีฬาหรือนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอย่างมากมาย ไม่ได้บอกว่าหนทางเดียวที่จะไปถึงเป้าที่หวังนั้น จำเป็นจะต้องมุ่งความเป็นเลิศเฉพาะด้านเพียงอย่างเดียว หลายคนผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างหลากหลาย เพราะบางครั้งความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาจจะทำให้เรามองโลกเพียงด้านเดียว เพราะเนื่องจากการทำอะไรซ้ำเดิมบ่อย ๆ จะทำให้สามารถพัฒนาสัญชาตญาณให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น แต่ต้องแลกกับความยืดหยุ่นที่อาจจะเสียไป เพื่อให้ได้ทักษะเฉพาะด้านนี้มา นักวิจัยคนหนึ่งได้บอกไว้ว่าเราควร “วางเท้าข้างหนึ่งไว้นอกโลกของตัวเอง” บ้าง
.
.
     แล้วเราจะสอนเด็กอย่างไร ให้วางเท้าข้างหนึ่งไว้นอกโลกของตัวเองบ้าง ?
หากนำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนครูอาจจะสนับสนุนให้เด็กได้ลองทำกิจกรรมในสิ่งที่เขาชอบ และในขณะเดียวกันก็ควรให้เขาลองกิจกรรมอื่นที่เขาไม่ถนัดดูบ้าง เช่น เด็กที่ชอบวิชาการอาจจะให้พวกเขาลองทำงานศิลปะเป็นงานอดิเรก หรือเด็กที่ชอบกีฬาลองฝึกให้พวกเขาใช้ทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์มาผนวกเข้ากับกีฬาดูบ้าง เพื่อให้พวกเขามีทักษะที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย
.
.
     เหมือนที่ สตีฟ จ็อบส์ เคยกล่าวไว้ว่าวิชาอักษรวิจิตรมีผลอย่างมากต่อการออกแบบของเขา เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องแมค หรือโทรศัพท์ไอโฟนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีฟอนต์ที่สวยงามและการจัดวางช่องไฟอย่างได้สัดส่วน
.
.
     ในห้องเรียนครูควรปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ลองผิดลองถูกจากเรื่องที่เขาไม่ถนัด หรือในห้องเรียนบ่อยครั้งที่ครูมักบอกใบ้คำตอบให้เด็กในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เพราะคิดว่าการเข้าหาคำตอบได้ไวภายในคาบชั่วโมงเรียนเป็นเรื่องที่ดี
และสามารถสอนเรื่องอื่น ๆ ได้เพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง
.
.
     แต่การเรียนที่ดีนั้น นักจิตวิทยาอย่าง เนต คอร์เนลล์ ได้บอกไว้ว่า “สิ่งสำคัญคือเราต้องทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก” หมายถึงการทำเรื่องที่เรียนรู้อยู่ให้เป็นเรื่องท้าทาย เป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งอาจจะส่งผลดีกว่าในระยะยาว เพราะว่ากระบวนการหาคำตอบนี้เอง จะช่วยเพิ่มพูนการเรียนรู้ได้ภายหลัง และสามารถจดจำได้ดีกว่าและเกิดการเรียนรู้แบบถาวร
.
.
     สอนอย่างไรให้เรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก ? มันน่าจะเป็นเรื่องง่ายและประหยัดเวลาถ้าเราบอกเด็ก ๆ ว่า แสงอาทิตย์นั้นจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช พืชใช้การสังเคราะห์แสงเพื่อปรุงอาหารและสร้างการเจริญเติบโต แต่สิ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้นั้นอาจขาดการเชื่อมต่อหรือไม่สามารถนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง แต่ถ้าเราลองปรับวิธีการเรียนรู้ ให้เด็ก ๆ ได้ลองค้นหาคำตอบและสืบค้นด้วยตัวของเขาเอง อาจทำการทดลองปลูกต้นไม้แล้วนำมาเปรียบเทียบกันจำนวน 2 ต้น ต้นแรกให้ได้รับแสงอาทิตย์เป็นเวลา ในขณะที่อีกต้นไม่ให้ถูกแสงอาทิตย์เลย โดยให้เด็ก ๆ เฝ้าดูอย่างระมัดระวังเป็นเวลา 2 อาทิตย์ จากนั้นให้เด็ก ๆ มาดูผลการทดลอง สังเกต แล้วจดบันทึก
การสอนนี้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ใช้ทั้งเวลา มีทั้งอุปกรณ์ และยังต้องเฝ้าดูสังเกตอย่างระมัดระวัง จากเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก (ขึ้น) แต่สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้เขาจะใช้ทั้งสมองและร่างกาย ในการเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมที่จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี เป็นการฝึกฝนการแก้ปัญหาตรงหน้าอย่างเป็นระบบ หน้าที่ของครูคือต้องเชื่อมโยงให้เด็ก ๆ เห็นว่า สิ่งที่เรียนรู้นี้ถึงแม้จะยังไม่ได้เป็นความรู้ที่ใช้ได้ในทันทีแต่มันจะมีประโยชน์กับเขาในอนาคตอย่างแน่นอน
.
.
     สมัยเด็ก ๆ เรามักชอบข้อสอบแบบปรนัย แน่นอนเพราะง่ายกว่าที่จะหาคำตอบที่ถูกต้อง
เป็นข้อสอบที่ทำคะแนนให้เราได้มากกว่าอัตนัยมากมายนัก ส่วนใหญ่มักสนใจเพียงคำตอบที่ถูก
จนเราชำนาญในการหาคำตอบแบบเดิม ๆ และแน่นอนส่วนใหญ่เกิดจากการท่องจำ
แต่ในโลกความเป็นจริงคำตอบที่ถูกต้องที่สุดอาจไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว หรือแม้กระทั่งอาจไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด การสร้างวิธีการหาคำตอบที่ให้ความสำคัญถึงที่มา ที่ไป จะสามารถกลายเป็นทักษะบางอย่าง และนำติดตัวไปใช้ได้กับทุกศาสตร์ ทุกสาขา รวมถึงในโลกของการทำงานเมื่อเด็ก ๆ ของเราโตขึ้น
.
.
เดวิด เอปสตีน ยังบอกไว้เพิ่มเติมอีกว่า
     เครื่องมือแบบเดียว ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในโลกอันซับซ้อน โยงใย และเปลี่ยนแปลงไปในทุกวัน
เราสามารถสร้างเด็กให้รับมือกับความไม่แน่นอนนั้นได้ ผ่านการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น
สร้างสรรค์ และกว้างขึ้น
.
.
อ่านบทความการศึกษาอื่น ๆ ได้ที่ :  https://www.facebook.com/attanai.aksorn
.
.
อ้างอิงจาก : David Epstein.(2564).Rangeวิชารู้รอบ.กรุงเทพฯ : ซอลท์ พับลิชชิ่ง

แสดงความคิดเห็น