Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แถลงผลงานกระทรวงทรัพฯ เพิ่มความคุ้มครองสัตว์ป่าและสัตว์สงวนหายาก อีก 7 ชนิด ลงในกฏหมาย พร้อมมีผลบังคับใช้ได้ทันที

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

นายวราวุธ ศิลปอาชา แถลงผลงานปี 64 เตรียมยกระดับความคุ้มครองสัตว์ป่าและสัตว์สงวนหายาก เน้นเพิ่มสัตว์ป่าคุ้มครองอีก 7 ชนิด ลงในกฏหมาย พร้อมมีผลบังคับใช้ได้ทันที
ในอดีตประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ผืนป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลยังไม่ถูกรกราน ชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมาเมื่อมีการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ สัตว์ป่าจึงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏว่า มีการส่งนอ- งาช้าง และของป่าไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมากในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ชีวิตสัตว์ป่าเริ่มถูกรุกรานทำให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนถึงกับต้องออกกฎหมายมาควบคุม โดยกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับแรกเกิดขึ้นในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อบังคับใช้ในการล่าช้างป่า
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราษฎรยังมีการคล้องช้างป่า เพื่อนำช้างมาใช้งานเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาที่ตามมา จึงได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า รศ. 119 (พ.ศ. 2443) ขึ้น เพื่อให้ช้างป่าไม่ถูกทอดทิ้งให้อดอยากหรือได้รับความทรมาน
จนถึงยุคมืดของสัตว์ป่า เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยที่ใช้ในสงคราม ได้ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นอาวุธของผู้ชื่นชอบการล่าสัตว์ป่า ขณะที่การพัฒนาประเทศและการเพิ่มจำนวนประชากร ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้จำนวนของสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นที่สัตว์ป่าบางชนิด เช่น สมัน ต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ พระยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในขณะนั้น ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ขึ้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2503 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศฉบับแรกของไทย ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 และอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทันต่อสมัยและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สัตว์ป่าถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยขึ้นกับกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นประธานคณะนโยบายและยุทธศาสตร์ ของพรรคชาติไทยพัฒนา ได้พิจารณา วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มอบหมายให้ รองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2564 ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยการพิจารณา ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ…..   ตามมาตรา 5 และมาตรา 7 ของ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้มีการปรับสถานะ ดังนี้
เพิ่มรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 7 รายการ ได้แก่
- ค่างตะนาวศรี
- งูหางแฮ่มกาญจน์
- ปลากระเบนปีศาจหางเคียว
- ฉลามหัวค้อนยาว
- ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน
- ฉลามหัวค้อนใหญ่
- ฉลามหัวค้อนเรียบ
ทั้งนี้ ได้ปรับลดรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 20 รายการ เช่น ค้างคาวกินแมลงนิ้วสั้น ค้างคาวปีกขนเหนือ พญากระรอกบินหูขาว นกกระเต็นน้อยหลังแดง ตะพาบพม่า และ ปลาฉนากฟันเล็ก เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำในปัจจุบัน
รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อภาษาไทย และชื่อวิทยาศาสตร์ ในลำดับชั้นสกุล หรือในลำดับชั้นชนิด ในบางรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน ซึ่งร่างกฎกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมฯ มาแล้วระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2564 โดยมีผู้มีส่วนได้เสีย ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน และประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบผลการดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2562 – 2564 จำนวน 245 ฉบับ โดยฝ่ายเลขานุการ จะทำการตรวจสอบและแก้ไขความคืบหน้าร่างกฎหมาย พร้อมรายงานปัญหาอุปสรรคที่พบให้ทราบอีกครั้ง ตลอดจนเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนพัฒนากฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2567 โดยขอให้แต่ละหน่วยงานจัดทำระยะเวลาการดำเนินงานของการพัฒนากฎหมายแต่ละฉบับให้ชัดเจนต่อไป พร้อมกันนี้ยังมีโครงการ
"ส่งสัตว์ป่าคืน​วนา​ เพื่อป่าสมบูรณ์" ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ​ผืนป่าภูเขียว 6​ ชนิด​ 360 ตัว สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ ที่ทุ่งกะมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว​ จังหวัดชัยภูมิ​ ในโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ​ " ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์" เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินธรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว​ เนื่องจากพื้นที่ป่าภูเขียวแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว​ และสมเด็จพระนางเจ้า​สิริกิติ์​ พระบรมราชินีนาถ​ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จมาทรงปล่อยเนื้อทรายคืนสู่ธรรมชาติ​ จนได้สืบต่อสายพันธุ์และอยู่อาศัยกระจายทั่วทั้งผืนป่ามาถึงปัจจุบัน
โดยในครั้งนี้​ มีสัตว์ป่าที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ​ 6 ชนิด​ 360 ตัว​ ได้แก่​ ละองหรือละมั่งพันธุ์​ไทย 7 ตัว​ เนื้อทราย​ 20 ตัว​ เก้ง​ 10 ตัว​ นกยูงไทย​ 23 ตัว​ ไก่ฟ้าพญาลอ​ 200 ตัว​ และไก่ฟ้าหลังขาว​ 200 ตัว​ โดยได้คัดเลือกสัตว์ป่าจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว​ ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่​ ผ่านการเตรียมความพร้อมปรับสภาพให้สัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้​ และได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจโรค​ ติดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมสัตว์ป่าหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วย พร้อมทั้งสั่งเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดูแลสัตว์คุ้มครองที่กล่าวมาทั้งหมดติดตามพฤติกรรมและติดเครื่องหมายที่จะสามารถรู้ได้ว่าสัตว์คุ้มครองที่มีอยู่เหลือจำนวนเท่าไหร่ เพิ่มหรือลดลงหรือขาดตกหล่นชนิดไป และ สัตว์ชนิดไหนควรรีบต้องรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานคนไทยได้รู้จักต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ https://web.facebook.com/TOPVarawut

 

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น