Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

PKRU เปิดตัว "บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย" Story Telling รางวัลระดับประเทศ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

PKRU (Phuket Rajabhat University)
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพชุมชน สร้างสังคมยั่งยืน คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ

ภูเก็ต (8 ธันวาคม 2564) มูลนิธิกรุงศรีเปิดตัว “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” ของกลุ่มนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศภายใต้โครงการ “กรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา” ประจำปี 2563 เพื่อร่วมอนุรักษ์อาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

“บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” เป็นโครงการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนโดยการผลิตและจำหน่ายข้าวหลามหินรุ่ย ซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ตที่สืบทอดมานานกว่า 100 ปี อีกทั้งยังเน้นการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจผ่านวิสาหกิจชุมชน

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิกรุงศรี กล่าวว่าโครงการ “กรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา” เป็นหนึ่งในพันธกิจด้านการศึกษาที่สำคัญของมูลนิธิฯ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและเสริมสร้างจิตสาธารณะให้กับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา โดยส่งเสริมการนำทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาที่ศึกษาไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมอาสาพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของชุมชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”


“ในปี 2563 มูลนิธิกรุงศรีได้คัดเลือกโครงการกิจกรรมอาสาพัฒนาจำนวน 9 โครงการ จากสถาบันการศึกษา 6 แห่งทั่วประเทศ โดย “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” ของนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิกรุงศรี ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตได้จัดการบันทึกเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของชุมชนหินรุ่ย และอาชีพการผลิตข้าวหลามที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับในชุมชนตลอดมา ผ่านสื่อในรูปแบบ E-Book และ QR Code โดยมุ่งหวังเพื่อส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจไปยังคนรุ่นใหม่ ให้หันมาอนุรักษ์และสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งสืบทอดอาชีพการผลิตข้าวหลามหินรุ่ยให้คงอยู่คู่กับจังหวัดภูเก็ตต่อไป” นายพูนสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติม

นายอารุณ ภาคสมบูรณ์ พร้อมด้วยนางสาวอรอุมา อุ้ยหมุ่น ผู้แทนคณะทำงานโครงการ “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” จากสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า “โครงการนี้นับว่าเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถในสาขาวิชาที่เรียนมาเพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์สำหรับชุมชุน การได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกรุงศรีเป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ความมุ่งมั่นของพวกเราในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้ ยังช่วยปลูกฝังให้นักศึกษาที่ร่วมโครงการให้มีจิตสำนึกด้านงานอาสาและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในผลงานและสร้างประสบการณ์ชีวิตนอกห้องเรียนที่มีความหมาย รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม”

ทั้งนี้ ชุมชนหินรุ่ยประกอบอาชีพผลิตและจำหน่าย “ข้าวหลามหินรุ่ย” ที่สืบทอดมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษ โดยมีกระบวนการผลิตข้าวหลามแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลาในการผลิตนานถึง 10 ชั่วโมง จึงทำให้ได้ข้าวหลามที่มีคุณภาพและรสชาติดีเป็นเอกลักษณ์ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ชุมชุมในจังหวัดภูเก็ตมายาวนาน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบอาชีพผลิตข้าวหลามหินรุ่ยมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ใช้เวลานานและมีขั้นตอนมาก

นายสุภาพ ศรีเพชรพูล ผู้ประกอบอาชีพผลิต “ข้าวหลามหินรุ่ย” ในชุมชนหินรุ่ย หมู่ 1 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า “ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบอาชีพทำข้าวหลามหินรุ่ยเหลือเพียง 5 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หากไม่มีการสืบทอด อาชีพนี้คงจะหมดไปจากชุมชนหินรุ่ยอย่างแน่นอน การที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการทำข้าวหลามหินรุ่ยไปเก็บไว้เป็นคลังความรู้เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาหรือต่อยอดเป็นเรื่องที่น่ายินดี แสดงให้เห็นว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังเห็นความสำคัญในอาชีพนี้ จึงพร้อมให้ความรู้อย่างเต็มที่เพื่อคนรุ่นหลังจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป”

ดร.สุธาสินี นิรัตติมานนท์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการกล่าวว่า สำหรับรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จร่วมของทางคณาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ที่ได้ดูแล สนับสนุน เปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกชั้นปีได้มีการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อสร้างเส้นประสบการณ์ในการทำงานระดับประเทศผ่านโครงการปั้นดินสู่ดาว และการออกแบบหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ที่มุ่งสร้างให้นักนิเทศศาสตร์ที่มีคุณภาพ ต้องเก่งคิด เก่งปฏิบัติ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และก้าวทันนวัตกรรมการสื่อสาร โดยมีคณาจารย์ของทางสาขาวิชาเป็น Facilitator อำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาเพื่อเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ มีจิตอาสา อ่อนน้อม และสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อชุมชน ท้องถิ่นต่อไป ต้องขอขอบคุณหลายภาคส่วนที่ได้เข้ามาสนับสนุนจนโครงการนี้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่คอยมอบความรู้ที่น่าสนใจมาให้นักศึกษาโดยตลอด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านเคียน และโดยเฉพาะชาวบ้านชุมชนข้าวหลามหินรุ่ยที่ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยที่สร้าง “ตัวตน” ในแบบฉบับของคุณ บนเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

แสดงความคิดเห็น