Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รบกวนสอบถามคนที่เรียนทันตแพทย์และผู้รู้หน่อยค่า เป็นสาขาทันตกรรมจัดฟันด้วยจะดีมากๆเลยค่ะ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


พอดีอยากจะเก็บข้อมูลไปเขียนนิยายค่ะ แต่ยังมีข้อมูลไม่มากพอ


เรื่องแรกที่สงสัยเลยคือว่าถ้าเรียนทันตแพทย์ในปี 5-6 ภาคคลินิกนี่จะเรียนยังไงคะ ได้ยินมาว่าเป็นการปฏิบัติกับคนไข้จริงๆเลย แล้วจะใช้เวลาทำในคลินิกนานเท่าไหร่ ทำคนเดียวหรือต้องมีคุณหมอที่เรียนจบแล้วมาคอยช่วยดูด้วย

เรื่องที่ 2 ที่สงสัยคือถ้าหากว่าเรียนจนจบปี 6 แล้วเป็นนักศึกษาทันตแพทย์พร้อมออกปฏิบัติงาน จะมีการฝึกงานกับคุณหมอก่อนไหมคะ

เรื่องที่ 3 คือถ้าหากว่าจะเรียนสาขาทันตกรรมจัดฟัน หรือสาขาอื่นๆต่อจะเรียนยังไง และมีการเข้าไปทำในคลินิกเหมือนตอนปี5-6ไหมคะ

เรื่องสุดท้ายคือผู้ช่วยคุณหมอที่อยู่ในห้องรักษาฟันกับคุณหมอด้วยแปลว่ากำลังฝึกงานอยู่หรืออยู่ในตำแหน่งอะไรคะ พอดีเราจัดฟันอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่งและสงสัย ตอนเข้ามาในห้องรักษาจะมีผู้ช่วยคุณหมอมาช่วยถอดอุปกรณ์เก่าในปากและเช็คเครื่องมือในปากดูคร่าวๆก่อน จากนั้นคุณหมอจึงจะมาทำฟันให้เราต่อ ระหว่างทำฟันคุณหมอก็จะบอกให้ผู้ช่วยเอาอุปกรณ์ต่างๆมาให้ เลยสงสัยว่าความจริงแล้วผู้ช่วยคุณหมอกำลังฝึกงานอยู่หรือเข้ามาเป็นผู้ช่วยจริงๆ แล้วถ้าไม่มีผู้ช่วยคุณหมอสามารถทำคนเดียวได้ไหมคะ

พล็อตเรื่องคืออยากได้เป็นคุณหมอจัดฟันกับคุณผู้ช่วยที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกันแต่ไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่ประมาณนี้ ถ้าได้ข้อมูลเพิ่มเติมจะได้นำมาปรับเปลี่ยนให้พล็อตสมจริงที่สุดค่ะ^^

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น

ฮั่งเซี่ยวอุง 23 มี.ค. 65 เวลา 18:46 น. 1

ตอบนะคะ

1>สำหรับมหาวิทยาลัยในหลักสูตรที่เราจบมา เริ่มปฏิบัติจริงกับคนไข้ตอนปลายปี 4 และปี 5/6 ก็ปฏิบัติกับคนไข้จริงทั้งหมด (มีเรียนเลกเชอร์เพิ่มด้วย) นานเท่าไหร่ก็คือระยะเวลาตามภาคการศึกษาเลยค่ะ ขณะที่เรียนอยู่ ยังถือเป้นนักศึกษา ดังนั้นต้องปฏิบัติงามภายใต้การดูแลของอาจารย์ อาจารย์ก็คือทันตแพทย์ที่จบแล้วค่ะ

2>หากเรียนจบปี 6 เรียบร้อยแล้ว ออกทำงานจริง ก็คือไม่มีคนควบคุมแล้วค่ะ ทำงานด้วยตนเอง หากอยู่ รพ.รัฐก็จะมีรุ่นพี่หมอฟันช่วยดูบ้าง แต่ไม่ใช่การฝึกงานแล้วค่ะ

3>สาขาในการเรียนต่อ แล้วแต่จะเรียนต่อสาขาไหนค่ะ มีการสอบชิงตำแหน่งเข้าไปเรียนเหมือนการสอบเข้าทันตแพทย์ โดยเฉพาะสาขาจัดฟันยิ่งการแข่งขันในการสอบเข้าสูง เรียนทั้งเลกเชอร์และปฏิบัติเหมือนสมัยทันตแพทย์ แต่เนื้อหาลึกกว่า

4> ผู้ช่วยทันตแพทย์ แม้ปัจจุบันจะมีบางที่เปิดสอนหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์แล้ว(หลักสูตร 1-2 ปีแล้วแต่ที่) แต่ส่วนมากผู้ช่วยมักเป็นคนทั่วๆไป ที่มาฝึกกับหมอในคลินิกจนเป็นงานค่ะ ดังนั้นมีทั้งที่เป็นงานและยังไม่ค่อยเป็นงาน

5>ไม่มีผู้ช่วยทำงานคนเดียวได้ไหม ได้ค่ะ แต่ลำบาก ไม่ถนัด เพราะต้องหยิบข้าวของเอง สายดูดน้ำลายก็ต้องดัดเกี่ยวปากคนไข้ไว้

6> พล็อตเรื่อง อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว อิงจากคนรอบตัวในสังคมทันตแพทย์ที่รู้จักนะคะ หากผู้ช่วยกับหมอไม่ค่อยถูกกัน และไม่สามารถปรับตัวได้ ผลสุดท้ายจะมีฝ่ายหนึ่งไปเสมอค่ะ คือไม่ผู้ช่วยลาออกเอง หมอก็ไล่ออกมา หรือถ้าหมอคนนั้นไม่ใช่เจ้าของคลินิก หมอก็ลาออกเองค่ะ เพราะหมอถือว่า มีที่ทำงานมากมายให้เลือก หมอไม่ต้องทนกับผู้ช่วยที่เข้ากันไม่ได้ค่ะ


และเรื่องโรแมนซ์ระหว่างหมอกับผู้ช่วย อาจจะเป็นไปได้นะคะ แต่คงจะน้อยมาก หมอได้เป็นแฟนกับพยาบาลน่ะเยอะ แต่หมอฟันเป็นแฟนกับผู้ช่วย เรายังไม่เคยได้ยินในชีวิตจริงของเรามาก่อนค่ะ

1
Jesspoppie 23 มี.ค. 65 เวลา 19:55 น. 1-1

ขอบคุณสำหรับข้อมูลและคำแนะนำนะคะ เป็นประโยชน์กับเรามากๆเลยค่ะ

0
Molar Man 23 มี.ค. 65 เวลา 20:58 น. 2

ถ้าอยากรู้ว่านิสิตทันแพทย์มีวิธีการเรียนอย่างไร แนะนำให้อ่านเรื่อง Until You จนกระทั่ง...คุณ ของพี่กัลฐิดานะคะ เพราะเขียนไว้ละเอียดมากตั้งเรียนปี 1 จนถึงปี 6

มีอธิบายวิธีการเรียน การทำคนไข้ ขั้นตอนการปฏิบัติงานของนิสิตทันตแพทย์ แม้ว่าจะเป็นหลักสูตรเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (ปี 2546) แต่การเรียนการสอนของคณะทันตแพทย์ไม่เปลี่ยนแปลงเลย พูดจากใจของคนที่เรียนคนละรุ่นและคนละมหาวิทยาลัยกับพี่กัล เพราะเรียนเหมือนกันเป๊ะ และพี่กัลเคยบอกว่าแฟนนิยายพี่กัลที่อายุมากกว่าพี่กัล 20 ปีก็บอกว่า มันก็เรียนแบบนี้เหมือนกัน


การฝึกงานของนิสิตทันตแพทย์ จริงๆ ก็เริ่มตั้งแต่ปี 4 เพราะเราทำงานกับคนไข้จริงๆ ภายใต้ความดูแลของอาจารย์ คือทำเสร็จแล้ว ให้อาจารย์มาตรวจซ้ำว่าผ่านมาตรฐาน จึงจะถือว่าจบเคส และตอนปี 6 ตอนที่ไปฝึกงานที่โรงพยาบาล ก็จะมีหมอรุ่นพี่เป็นอาจารย์พี่เลี้ยง แต่ส่วนใหญ่เมื่อถึงปี 6 พวกเราจะมีความชำนาญในระดับหนึ่งแล้ว หมอรุ่นพี่ก็จะแค่ให้รายงานเคส และปล่อยเราโซโล่เองเลยจนจบ ไม่มีการตรวจซ้ำ ยกเว้นเราขอให้เขามาช่วยดู


และเมื่อเราเรียนจบ สอบใบประกอบผ่าน ก็จะได้ใบประกอบวิชาชีพ เมื่อออกไปทำงานก็ไม่ต้องให้ใครตรวจอีกค่ะ


การเรียนต่อของทันตแพทย์ก็คือเหมือนกับการเรียนต่อสาขาอื่นๆ คือต้องไปสอบคัดเลือกเข้าสาขานั้นๆ โดยสถานที่เปิดรับมีทั้งในประเทศกับต่างประเทศ โดยมีทั้งที่เป็นภาควิชาสาขานั้นๆ ของมหาวิทยาลัย และสถาบันทันตกรรม ระยะเวลาเรียนขึ้นกับหลักสูตร แต่น้อยที่สุดคือ 2 ปี มากที่สุดก็แล้วแต่ 10 ปีก็มีเพราะเรียนสาขาที่มีความซับซ้อนสูง ต้องจนจบปริญญาเอก


แต่ก็มีหลักสูตรระยะสั้น เรียกว่า 'การเทรน' เป็นการฝีกเฉพาะคลินิกของสาขานั้นๆ เช่น การปักรากฟันเทียม การจัดฟันแบบไม่ต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วย อันนี้เรียน ไม่นาน 1-2 ปี ใช้วิธีเก็บเคส เพื่อจบการฝึก


ผู้ช่วยทันตแพทย์ หรือ ผู้ช่วยข้างเก้าอี้ มีทั้งแบบที่เรียนได้ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์โดยเฉพาะ และจบแค่ใบประกาศผู้ช่วยเหลือคนไข้กว้างๆ และมาฝึกเฉพาะทางทันตกรรม


แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ช่วยข้างเก้าอี้สำหรับหมอจัดฟัน หากไม่ได้จบใบประกาศผู้ช่วยทันตแพทย์โดยตรง ก็มักต้องเป็นผู้ช่วยที่ถูกฝึกเพิ่ม เพราะอุปกรณ์ค่อนข้างเยอะ ไม่เคยฝึกมาก่อนก็จะช่วยข้างเก้าอี้ลำบาก


ที่จขกท.เห็นว่าผู้ช่วยมาช่วยถอดยางหรือเช็คเครื่องมือให้ก่อนที่หมอจะมาตรวจจริง อันนี้ขึ้นอยู่แล้วแต่หมอฟันแต่ละคน หมอบางคนเคสเยอะ ก็จะฝึกผู้ช่วยช่วยให้ทำขั้นตอนนี้ให้ เพื่อประหยัดเวลา และยังช่วยทำให้รู้ก่อนด้วยว่า ต้องเตรียมเครื่องมืออะไรเพิ่ม


เช่น คนไข้คนนั้นทำเครื่องมือหลุด ผู้ช่วยเห็นแล้วก็จะได้เตรียมอุปกรณ์ติดเครื่องมือใหม่ให้หมอสำหรับเคสนี้ จะทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น


ถามว่าหากไม่มีผู้ช่วยสามารถทำคนไข้ได้หรือไม่ คำตอบคือ ขึ้นกับกรณี หากเคสไม่ซับซ้อน ไม่ฉุกเฉินเร่งด่วน หรือต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก หมอสามารถทำคนเดียวได้ค่ะ เพราะตอนเป็นนิสิตทันตแพทย์ พวกเราก็ทำเองคนเดียวหมด ถ้าไม่ใช่เคสผ่าฟันคุด ก็ไม่เคยมีผู้ช่วยอย่างเป็นตัวเป็นตน อย่างมาก็แอบเรียกเพื่อมาช่วย ถ้ามันเกินมือจริงๆ


แต่พอเรียนจบมาแล้ว การมีผู้ช่วยจะทำให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ดังนั้นถ้าเลือกได้ หมอฟันจะทำงานเมื่อมีผู้ช่วยเสมอ ต่อให้ไม่ยืนอยู่ด้วยตลอด ก็ต้องมีเวียนๆ มาช่วยบ้างเพื่อความอุ่นใจ


ส่วนเรื่องพล็อตของจขกท. ต้องถามว่า หมอในนิยายที่จขกท.จะเขียน เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ส่วนใหญ่หมอผู้หญิงจะไม่ค่อยมีแฟนเป็นผู้ช่วย เพราะแน่นอน เราคงไม่ได้อยากได้ผู้ชายที่รายได้น้อยกว่าเรา


แต่ถ้าเป็นหมอผู้ชาย เยอะมากค่ะ ทีมีแฟนเป็นผู้ช่วย ลองสังเกตเจ้าของคลินิกที่เปิดมานานก็ได้ ภรรยาเป็นผู้ช่วยทั้งนั้น เพราะมันทำงานใกล้ชิดกันมาก แถมอาชีพก็ส่งเสริมกัน


จริงอยู่ที่หมอมักจะคบกันเอง แต่พอไปทำงาน ความใกล้ชิดก็ทำให้สปาร์กกันได้ เพราะมันเห็นหน้ากันแค่นี้จริงๆ ยิ่งถ้าหมอผู้ชายโสด ก็เตรียมตัวสละโสดได้เลย เพราะจะเนื้อหอมมาก


หากหมอคนนั้นไม่มีแฟน และผู้ช่วยตรงสเปกตัวเอง ส่วนใหญ้ก็เดินหน้าจีบทุกคน รุ่นพี่ รุ่นน้องของเรา แต่งงานกับผู้ช่วยอย่างน้อย ๆ ก็ 5 คู่แล้ว แต่เสร็จก็ช่วยกันเปิดคลินิก กิจการในครอบครัวไปอีก


ส่วนเรื่องการไม่ถูกกันระหว่างหมอกับคนไข้ โดยธรรมชาติ ผู้ช่วยที่ถูกฝึกมาดี จะพยายามไม่ทะเลาะกับหมอ ถ้าเขาไม่ถูกใจนิสัยหรือไม่ชอบจริง เขาจะทำการหลบเลี่ยงเอง โดยไม่ลงเวรช่วยข้างเก้าอี้กับหมอคนนั้น


แต่ถ้าหลบไม่ได้จริงๆ เขาก็จะทำตามหน้าที่ ไม่พูดคุยเล่นหัวด้วย การทำงานก็จะอึึมครึมหน่อยๆ หรือบางคนทักษะดี ก็จะพูดจาดีๆ แต่ลับหลังจะเอาหมอไปนินทาก็อีกเรื่องนะคะ


แต่ถ้าผู้ช่วยมีอายุและมี power หน่อย และหมอคนนั้นไม่ใช่เจ้าของคลินิก เขาก็จะดุหมอตรงๆ แบบไม่เกรงใจ


ซึ่งหากหมอไม่พอใจ เขาก็จะไปบอกเจ้าของคลินิกให้จัดผู้ช่วยที่เข้ากับตัวเองได้มาทำงานกับเขา และเอาคนที่มีปัญหาไปช่วยหมอคนอื่นคนอื่นแทน


ถ้าเจ้าของคลินิกอยากได้หมอคนนี้ไว้ทำงานต่อเขาก็จะพยายามแก้ไขให้ เพราะเรื่องพวกนี้มันจัดตารางเวรสับหลีกกันได้ ไม่ถึึงกับคอขาดบาดตาย


แต่ถ้าเจ้าของคลินิกไม่ได้อยากจ้างหมอคนนี้ต่อหรือเขามีผู้ช่วยน้อยจำเป็นต้องเก็บผู้ช่วยไว้ เขาก็จะเข้าข้างผู้ช่วย ตัวหมอก็ต้องย้ายไปทำคลินิกอื่นแทน ซึ่งเรื่องมันก็แค่นั้น ไม่มีใครต้องทนทำงานแบบไม่ชอบหน้ากัน


ยกเว้นคลินิกที่ว่าคือโรงพยาบาบรัฐ ที่ผู้ช่วยเขาอยู่มานาน เป็นเจ้าที่ หมอจบใหม่ หรือย้ายไปใหม่ ก็เป็นน้องใหม่ ที่ต้องอดทนไป ถ้าปรับตัวไม่ได้ ซึ่งลงท้ายกรณีนี้ ส่วนใหญ่หมอก็จะลาออก เพราะหมอก็คิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องทนเหมือนกัน


จริงๆ เรื่องรักๆของหมอกับผู้ช่วย มักจะเกิดเพราะหมอฟัน โดยเฉพาะหมอผู้ชาย เรียนจบได้ก็จะมีนิสัยประหลาดบางอย่างแน่นอน อย่างแรกที่เห็นชัดคือ หมอฟันเป็นคนจู้จี้จุกจิก ขี้บ่นเป็นบางเวลา เจ้ากี้เจ้าการ เป๊ะกับอะไรบางอย่างมากๆ


ยิ่งหมอฟันเฉพาะทางมากเท่าไร ถ้าไม่ใช่หมอศัลยศาตร์ จะเป็นคนที่เป๊ะมากๆ ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่รับไม่ค่อยได้ แต่ตรงกันข้ามกับนิสัยผู้ช่วยที่มักจะชอบฟังและยินดีรับคำสั่ง และเข้าใจบริบทของงาน


เพราะเหตุนี้เราก็เลยบอกไงว่า หมอผู้ชายมีแต่งงานกับผู้ช่วยเยอะมาก เพราะผู้ช่วยรับความเป๊ะของเขาได้


หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์ค่ะ

2
Malar Man 23 มี.ค. 65 เวลา 21:03 น. 2-1

ส่วนเรื่องการไม่ถูกกันระหว่างหมอกับ *ผู้ช่วย*


พิมพ์ผิดขออภัย

0
Jesspoppie 24 มี.ค. 65 เวลา 02:23 น. 2-2

ขอบคุณมากๆเลยนะคะ เป็นประโยชน์มากๆค่ะ ตอนนี้ได้แนวคิดใหม่เพิ่มขึ้นเยอะเลย จะลองศึกษาข้อมูลในนิยายของคุณกัลฐิดาเพิ่มเติมดูนะคะ^^

0