Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

หาเสียงแบบนี้ อย่าหาทำนะจ๊ะ !!!

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

แหม๊ ก็ช่วงนี้เป็นช่วงของการหาเสียง และทำคะแนนให้พรรค ส.ส.หลายท่านจึงออกมาชูนโยบาย เพื่อรับใช้และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง แก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ปัญหารถติด สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง เป็นต้น ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการทั้งสิ้น ดังนั้นในช่วงนี้การชี้แจงนโยบายหรือการแสดงความคิดเห็นแต่ละอย่างของพรรค จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเป็นช่วงทำคะแนน

แต่ก็มี ส.ส.ภาคใต้ บางท่านที่ออกมาขายขำว่า “ต้องการปลดล็อกนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช” ซึ่งข้อมูลของชมรมอนุรักษ์และธรรมชาติล้นนา และนักดูนกจากทั่วประเทศร่วมกันสำรวจประชากรนกกรงหัวจุก หรือนกปรอดหัวโขนเป็นเวลาต่อเนื่อง 20 ปี พบว่าประชากรนกดังกล่าวลดลงถึง 90% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สามารถยืนยันสถานภาพของประชากรนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติได้อย่างแน่ชัด และจากการประเมินด้วยการพบเห็นในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่พบการกระจายในบางพื้นที่แล้ว

จากข้อมูล (ร่าง) ทะเบียนชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำหรับกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังปี พ.ศ.2563 กลุ่มนก National Threat Status (ONEP 2020) ถูกจัดอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable; VU) เนื่องจากยังคงถูกลักลอบนำมาจำหน่ายเพื่อการค้า ซึ่งนกปรอดหัวโขนมีความสำคัญในระบบนิเวศ เพราะเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืชป่า สร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติ ซึ่งนกในกรงเลี้ยงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ในระบบนิเวศได้ และมีการรายงานสรุปผลคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าของนกปรอดหัวโขนในช่วง พ.ศ.2549-2551 จำนวน 16,353 ตัว และช่วงปี พ.ศ. 2555–2563 จำนวน 18,096 ตัว นี่คือสิ่งที่บ่งชี้ว่ายังคงมีการลักลอบล่านกปรอดหัวโขนจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่อยู่ในสถานะสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีการอนุญาตให้สามารถเลี้ยงนกปรอดหัวโขนและเพาะพันธุ์ได้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ. จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องปลดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง หากประเด็นที่อยากปลดออกมาจากสาเหตุการขึ้นทะเบียนที่ยุ่งยาก ก็ควรจะพัฒนาระบบเพื่อให้สะดวกแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เอาประเด็นตรงนี้มาเพื่อขอปลดล็อก

ถ้าหากจะแก้ไขปัญหาก็ควรแก้ให้ถูกวิธี และควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และหาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะนำเสนอแนวคิดที่ผิดๆ เพราะหากทำแล้วส่งผลกระทบในแง่ลบไปทั่วก็อย่าหาทำ!

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

Prist 7 พ.ค. 65 เวลา 10:29 น. 1

เป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 (จาก 2535 ถึงปัจจุบันก็ 30 ปีแล้ว)... แล้ว จขกท เคลมว่าจำนวนประชากรลดลงถึง 90% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา....


แปลว่า มีรายชื่อในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ไม่ได้มีประโยชน์อะไรในการช่วยเพิ่มประชากรของนกรึเปล่าครับ

0