Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เด็กไทยรู้ไหม 1 กันยายน 2565 ร่วมรำลึก 32 ปี "สืบ นาคะเสถียร" นักอนุรักษ์ ผู้รัก ป่าไม้ - ธรรมชาติ อย่างแท้จริง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ทุกวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่นักสิ่งแวดล้อมและคนที่รักธรรมชาติ พื้นป่าไม้ จะไม่มีวันลืมได้ สำหรับวันนี้ ขอเรียกว่าวันสืบนาคะเสถียร เพื่อเป็นวันรำลึกถึง "สืบ นาคะเสถียร" นักอนุรักษ์ไทย ผู้รักป่าไม้และธรรมชาติด้วยกาย วาจา และใจ ผู้ที่แลกชีวิตของตนเอง เรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สำหรับในปีนี้ 2565 ครบรอบการรำลึก 32 ปี "สืบ นาคะเสถียร"อีกครั้ง  ซึ่งตรงกับวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี วันสืบนาคะเสถียร เป็นวันที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึง นักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่รัก ป่าไม้ และ ธรรมชาติ ด้วยกาย วาจา และใจ ผู้ที่แลกชีวิตของตนเอง เพื่อปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้ตื่นขึ้น ให้รับทราบความเป็นไปของสถานการณ์ป่าไม้ และ สัตว์ป่าเมืองไทย "สืบ นาคะเสถียร" ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นจริงจังใน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายหลังการเสียชีวิตของ "สืบ นาคะเสถียร" 18 วัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 วันเดียวกับการครบรอบ 94 ปีของกรมป่าไม้ หน่วยงานต้นสังกัดของนักอนุรักษ์นี้
สำหรับประวัติสืบ นาคะเสถียรนั้น  ท่านได้เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจากการพยายามปกป้อง แก่งเชี่ยวหลาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" มีชื่อเล่นว่า "แดง" เกิดที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของ นายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กับ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน ตนเองเป็นคนโต สมรสกับ นิสา นาคะเสถียร มีบุตรสาวหนึ่งคน
 "สืบ นาคะเสถียร" มีบุคลิกเอกลักษณ์อุดมการณ์คล้ายคลึงเหมือน จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียน เป็นอย่างมาก
ทางด้านการทำงานที่แก่งเชี่ยวหลาน
"สืบ นาคะเสถียร" ได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่มากกว่าหนึ่งแสนไร่ แต่มีงบประมาณเริ่มต้นเพียงแปดแสนบาท ไม่มีการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่า แต่มิได้ย่อท้อคงพยายามทำงานและศึกษาข้อมูลทั้งทางหนังสือและพรานท้องถิ่น และในปี พ.ศ. 2528 "สืบ นาคะเสถียร" ได้ติดตามนักวิจัยชาวต่างชาติซึ่งได้รับทุนจากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก พร้อมด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปสำรวจกวางผา สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในดอยม่อนจอง จังหวัดเชียงใหม่ เวลานั้น ชาวบ้านจุดไฟล่าสัตว์จนเกิดไฟป่า คณะของสืบหนีไฟป่าเป็นโกลาหล และคำนึง ณ สงขลา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตกหน้าผาถึงแก่ความตายส่วน ในปี พ.ศ. 2529 "สืบ นาคะเสถียร" ได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบได้ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่งเพราะปัญหาการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม ช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว ส่วนมากที่เหลือถึงแก่ความตาย จึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้ ในภายหลังจึงได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่าง เช่น คัดค้านรัฐบาลในการที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี สืบยังได้รายงานผลการอพยพสัตว์ต่อสาธารณชนเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักภัยป่า โดยยืนยันว่าการสร้างเขื่อนมีโทษมากกว่าคุณ เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติชนิดที่ชดเชยภายหลังมิได้ แต่ความพยายามของสืบนั้นไร้ผล จนกระทั่งนักอนุรักษ์ได้รวมกลุ่มสนับสนุนสืบ โครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนจึงระงับไป
ระหว่างนั้น "สืบ นาคะเสถียร" ได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานีอีกตำแหน่ง และปี พ.ศ. 2530 ได้ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาสด้วย
ด้านการทำงานที่ห้วยขาแข้ง
ในปี พ.ศ. 2531 "สืบ นาคะเสถียร" กลับเข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า และพยายามเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร
 
ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบ ได้รับทุนศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ[2] และได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วย ครั้นปี พ.ศ. 2533 สืบจึงตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและอพยพสัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ในแก่งเชี่ยวหลาน
ความพยายามของ "สืบ นาคะเสถียร" นั้นประสบผลสำเร็จน้อย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจ ชาวบ้านท้องถิ่นก็สนใจปากท้องมากกว่า จึงรับจ้างผู้มีอิทธิพลเข้ารุกรานป่าเสมอมา สืบเสนอให้สร้างแนวป่ากันชนเพื่อกันชาวบ้านออกนอกแนวกันชน และพัฒนาพื้นที่ในแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน และเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบ ยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง  ในช่วงหัวค่ำของ สืบ ยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกได้ขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้นๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู และพบร่างของ "สืบ นาคะเสถียร" นอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้างๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา "สืบ นาคะเสถียร" ได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบ สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ "สืบ นาคะเสถียร" ได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว
ทางด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมรำลึกถึงในวันนี้ด้วย โดยมีใจความว่า
1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร สดุดีบุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจ ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไทยทั้งประเทศ
“เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่แบกไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา
โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา
ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน
โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน”
บทกลอน ‘สัตว์ป่า’ โดย สืบ นาคะเสถียร
อ่านบทความ สืบ นาคะเสถียร โดย วราวุธ ฉบับเต็ม ได้ที่

 

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น