Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ปัญหาคนกับช้าง ปัญหาที่ต้องแก้ไขให้อยู่ร่วมกันได้

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

 สำหรับความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในประเทศไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่มีความเจริญเข้าถึงในหมู่บ้านตามชนบท  ซึ่งความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า หมายถึง ปัญหาการสูญเสียทรัพยากรหรือชีวิตจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างป่า สาเหตุของความขัดแย้งเชื่อว่ามาจากพื้นที่หากินที่เหมาะสมของช้างป่าลดน้อยลง บวกกับขอบป่าถูกล้อมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมของพืชเชิงเดี่ยวเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลังหรืออ้อย ทำให้ช้างป่าบางตัวเลือกที่จะออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชนรอบ ๆ ป่าแทน และส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งพืชพรรณ ทรัพย์สินมีค่า ในหลายเหตุการณ์ก็มีทั้งคนบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยเช่นกัน 
ทางด้านสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย พบมากในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีช้างป่าอยู่ 41 แห่ง คิดเป็น 22% ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด โดยพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรงที่สุด คือมีทั้งคนและช้างบาดเจ็บเสียชีวิตมากที่สุดคือ กลุ่มป่าตะวันออก รองลงมาคือ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าเขาหลวง-เขาบรรทัด  กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก และกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำเขียว
เมื่อทบทวนระดับปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในช่วงปี พ.ศ. 2555-2561 มีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เป็นเหตุการณ์ระดับรุนแรง คือ มีคนและช้างป่าบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 107 เหตุการณ์ คนบาดเจ็บ 30 คน เสียชีวิต 45 คน ช้างบาดเจ็บ 7 ตัวและตาย 25 ตัว ซึ่งเมื่อดูแนวโน้มของเหตุการณ์แล้ว คาดการณ์ได้ว่าความรุนแรงมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สาเหตุหลักที่ช้างป่าตายจากความขัดแย้งคือรั้วไฟฟ้า รองลงมาคือ ถูกรถยนต์ชนในเขตชุมชน ใขณะที่สาเหตุของช้างป่าบาดเจ็บสูงที่สุดคือ ถูกรถยนต์ชน และถูกทำร้ายในขณะที่คนกำลังผลักดันช้างออกจากพื้นที่เกษตรกรรม  สาเหตุของคนบาดเจ็บและเสียชีวิตหลัก ๆ มาจากถูกช้างทำร้ายขณะทำการผลักดัน และถูกช้างทำร้ายขณะสัญจร
อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขหรือการลดระดับความรุนแรงของปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างก็ยังคงดำเนินการอยู่ในหลายพื้นที่ โดยมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปขึ้นกับสถานการณ์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของพื้นที่นั้น ๆ ทั้งรัฐบาล เอกชนและชุมชนในพื้นที่ ยกตัวอย่าง การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชมช้างป่าโดยไกด์ท้องถิ่นของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่อาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund, WWF) โครงการในพระราชดำริฯ และชุมชนในพื้นที่ หรือจะเป็นการลดผลกระทบจากช้างป่าทำลายพืชไร่โดยใช้รั้วรังผึ้งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลยร่วมกับชุมชนในพื้นที่
ทางด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ล่าสุดได้ออกมาชี้แจงกรณีเกิดเหตุสลดที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยทางกระทรวงทรัพยฯยังไม่เร่งอนุญาต ใช้พื้นที่ 7 พันไร่ ทำอ่างเก็บน้ำวังโตนด เพราะต้องศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน

โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2565 ที่รัฐสภา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตอบกระทู้ของนายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไท ที่ถามถึงการแก้ปัญหาช้างป่าทำร้ายประชาชน ซึ่งล่าสุด มีคนงานกรีดยาง ถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิต ที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยยืนยัน ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง และผลักดันช้างป่าไว้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่วนการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ยืนยันว่ามีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือตามกรอบกฎหมายอย่างชัดเจน และได้กำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งหารือกับบริษัทประกันภัย ในการทำประกันชีวิตและประกันทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร ให้กับประชาชนในเขตรอยต่อป่าอนุรักษ์ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
ส่วนกรณีที่นายจารึก เสนอให้เร่งอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด เพื่อเป็นที่อยู่และแหล่งอาหารให้ช้าง นายวราวุธ ย้ำว่าการใช้ป่ากว่า 7 พันไร่ กระทรวงทรัพยากรฯ ต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และเป็นห่วงว่าจะมีผลทำให้ช้างป่าย้ายออกไปหากินในพื้นที่อื่นแทน ยืนยันที่ผ่านมาได้เร่งสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ทุ่งหญ้า ปลูกพืชอาหารช้าง และโป่งเทียม ได้ตามเป้าหมาย และมั่นใจว่าจะช่วยลดจำนวนช้างป่าที่ออกไปหากินนอกผืนป่าได้

แสดงความคิดเห็น

>