Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

Review วิชาในการเรียนรัฐศาสตร์ ม.นเรศวร ฉบับเด็กปี 4 (Part 5 Final)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
          ปี 3 เทอม 2

          วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง
              วิชานี้แม้จะกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่ในชื่อรายวิชา แต่อาจารย์ผู้สอนจะให้ความสำคัญไปที่หลักของกฎหมายปกครองเป็นสำคัญนะครับ เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญอาจารย์ท่านได้ให้ความสำคัญไปในวิชาสถาบันการเมืองพอสมควรแล้ว เลยจะมาเจาะกฎหมายปกครองเลยครับ โดยในคาบแรก ๆ อาจารย์ก็พาเราไปทบทวนหลักการทางกฎหมายเบื้องต้น พวกทฤษฎีทางกฎหมายเสียก่อน เหมือนทวนความจำเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นทางกฎหมายที่เราเรียนไปตอนปี 2 คร่าว ๆ ครับ แต่หลังจากนั้นอาจารย์จะพาไปเจาะกฎหมายที่เป็นตัวบท ตัวมาตรา ในแต่ละฉบับเลยครับ ซึ่งกฎหมายปกครองที่อาจารย์ได้สอน ก็จะประกอบไป พ.ร.บ. บริหารราชการแผ่นดิน 2534 พ.ร.ฎ.บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 2546 และฉบับแก้ไขในปี 2562 พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน 2551 พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิด 2539 พ.ร.บ. การจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง 2542 พ.ร.บ. มาตรฐานจริยธรรม 2562 พ.ร.บ. กระจายอำนาจ 2542 เอาเป็นว่าถ้าตั้งเรียนวิชานี้และไปอ่านเพิ่มเติม ก็พร้อมเอาความรู้สอบภาค ก. ของสำนักงาน ก.พ. ได้เลยครับ ซึ่งการเรียนในวิชานี้จะมีความเป็นอิสระในการเรียนค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นวิชาบรรยาย ไม่ได้เน้นถกเถียง หรือแลกเปลี่ยนความเห็นมากเท่าไหร่ ไม่มีเช็คชื่อ ไม่มีงาน มีแต่....สอบปลายภาค 100 % จะ F ไม่ F ก็วัดที่สอบอย่างเดียวครับ ทำให้เป็นวิชาที่จะต้องอ่านหนังสือและรับผิดชอบตัวเองมาก ๆ ครับ อาจารย์จะมีเอกสารประกอบคำสอนให้ แต่แนะนำให้อ่านพวกประมวลกฎหมายต่าง ๆ ในข้างต้นเป็นสำคัญครับ เพราะข้อสอบจะเป็นข้อเขียน 2 ข้อ เขียนบรรยาย 1 ข้อ และเขียนแบบวินิจฉัยอุทาหรณ์อีก 1 ข้อครับ ถ้าจำกฎหมายได้ วินิจฉัยเป็น ก็มีโอกาสได้คะแนนเยอะ ๆ ได้ครับ อาจารย์ชอบเน้นพวกคำสั่งทางปกครอง การอุธรณ์คำสั่งทางปกครอง กับพวกปัญหากรมาธิปไตยในระบบราชการครับ โดยรวมก็ประมาณนี้ครับ

          วิชาเศรษฐกิจการเมือง
          วิชานี้ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของวิชาปรัชญาการเมือง และวิชาทฤษฎีการเมืองก็ว่าได้ครับ เพราะอาจารย์ผู้สอนคือท่านเดิม สัดส่วนคะแนน การตัดเกรด การสอบคล้ายคลึงกันเลยครับ แต่เนื้อหาจะมีความแปลกใหม่กว่า 2 วิชาก่อนหน้า เพราะ 2 วิชาก่อนหน้าอาจารย์จะเน้นให้เราเห็นในแง่มุมของความคิดทางการเมืองเป็นสำคัญ ในขณะที่วิชานี้อาจารย์จะพาเราไปทำความรู้จักและความเข้าใจกับแง่มุมทางเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองอย่างแยกไม่ขาด โดยจะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับตลาด ว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงอย่างไร หลังจากนั้นอาจารย์จะก็บรรยายเกี่ยวกับนักคิดทางเศรษฐกิจการเมืองคนสำคัญในแต่ละท่าน ว่าเขามีข้อเสนอทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างไร เหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น อดัม สมิธ , คาร์ล มาร์กซ์ , ฟรีดริช เองเกลส์ , ฟรีดริช ฮายเอ็ก , คาร์ล โปลานยี , วอลเตอร์ ร็อดนีย์ , และปิดท้ายด้วย เดวิด ฮาวีย์ ซี่งนักคิดบางคน อาจารย์อาจจะเคยสอนมาบ้างในวิชาก่อนหน้า แต่ในวิชานี้อาจารย์จะเจาะลึกนักคิดคนนั้นในประเด็นทางเศรษฐกิจการเมืองให้เด่นชัดขึ้น รับรองว่าไม่เหมือนเรียนเดิม ๆ ซ้ำ ๆ แน่นอนครับ ในส่วนการสอบกลางภาคและปลายภาค รวมไปถึงกิจกรรมในชั้นเรียนจะไม่ขอพูดถึง เพราะรูปแบบเหมือนวิชาก่อนหน้าที่อาจารย์ท่านสอนเลยครับ แต่จะพูดตรงงานกลุ่มครับ โดยงานกลุ่มจะแบ่งออกเป็น 2 ชิ้น ส่งกลางภาค 1 ชิ้น ปลายภาค 1 ชิ้น ในส่วนงานกลุ่มกลางภาคอาจารย์ให้เราเลือกดูหนัง 2 เรื่องจากที่อาจารย์กำหนดมาให้ 5 เลือกครับ ซึ่งหนังเหล่านี้จะแฝงแง่มุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองเอาไว้ เราจึงต้องดูหนังสือมาวิเคราะห์ในประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองครับ ในส่วนงานกลุ่มปลายภาคก็เช่นเดียวกัน แต่จะเปลี่ยนรูปแบบจากกการดูหนัง มาเป็นการอ่านแทนครับ อาจารย์จะเราอ่านเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ และข้อเสนอวิพากษ์เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี ที่เขียนโดยรัชกาลที่ 7 แล้วให้เรามาเขียนวิเคราะห์และวิพากษ์ผ่านแง่มุมเศรษฐกิจการเมืองเหมือนเดิมครับ โดยรวมก็ประมาณนี้ครับ

          วิชาสัมมนาการเมืองไทยสมัยใหม่ (วิชาเอกเลือกปกครอง)
              วิชานี้จะมีความคล้ายคลึงกับวิชาการเมืองการปกครองไทย แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่ ในขณะที่วิชาการเมืองการปกครองไทยจะเน้นศึกษาผ่านเส้นเวลาทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แต่วิชานี้จะเน้นการถกเถียง และแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ในทางการเมืองไทยเป็นสำคัญ มากกว่าการบรรยายตามเส้นเวลาและไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น (ปีผมมีแบ่งเป็น 2 เซค แต่สอนคนละเทอมครับ) โดยในวิชานี้อาจารย์ผู้สอนก็จะให้เราเสนอมาได้เลยว่าเราอยากจะเรียนประเด็นอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทย ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นกระแสหลักก็ได้ ขอแค่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย และมีประเด็นให้ถกเถียง ปีผมก็เสนอไปอาทิเช่น การสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ รัฐราชการ ปฏิวัติ 2475 กองทัพกับการเมือง ชนชั้นกลาง ชนบทไทย ตุลาการภิวัตน์ ฯลฯ หลังจากที่เราเสนออาจารย์ก็จะไปออกแบบแผนการเรียน และแปะงานให้อ่านก่อนเข้าเรียน (ไม่บังคับอ่าน แต่ก็ควรอ่านมาบ้าง 5555) รูปแบบการสอนก็จะมีทั้งการบรรยาย ผสมไปกับการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นทางการเมืองไทยร่วมด้วย วิชานี้จึงเหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบหรือสนใจในการเมืองไทย แต่ต้องการศึกษาประเด็นใหม่ ๆ ที่นอกเหนือไปจากวิชาการเมืองการปกครองไทยครับ แนะนำครับ (สัดส่วนคะแนนแล้วแต่เราเสนอ เลยไม่ขอพูดถึงครับ)

          วิชาสัมมนารัฐและประชาสังคม (วิชาเอกเลือกปกครอง)
              วิชานี้เหมือนวิชาด้านบนทุกประการ เพราะคนสอนคนเดียวกัน (ปีผมก็มี 2 เซคเหมือนกัน แต่ไม่แน่ใจว่าปีต่อ ๆ ไป อาจารย์ที่ผมสอน ท่านจะเปิดวิชาอยู่มั้ย ยังไงก็เอาเป็นแนวทางได้ครับ) ความต่างจากวิชาด้านบนก็คือ จะไม่ได้โฟกัสเพียงแต่การเมืองไทย แต่ใครจะนำเสนอร่วมไปก็ได้ โดยเนื้อหาอาจารย์ก็จะเราเสนอประเด็นอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ และประชาสังคม เอาเป็นว่าประเด็นกว้างมาก ขึ้นอยู่เราจะนำเสนอเลย จะเป็นประเด็นในเชิงทฤษฎี หรือประเด็นในเชิงกรณีศึกษาก็ได้ครับ ปีผมที่เสนอไปก็มีอาทิ การจัดการงบประมาณของภาคประชาสังคม ประชาสังคมในอเมริกา ฝรั่งเศส ขบวนการแรงงานไทย ศาสนากับการเมือง เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ฯลฯ แต่ในบางหัวข้ออาจารย์ก็จะมีเพิ่มเติมขึ้นมาเอง ก็คือพัฒนาการทางแนวคิดของประชาสังคม เนื่องจากจะเป็นส่วนช่วยให้เราทำความเข้าในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับประชาสังคมเสียก่อน ก่อนที่จะไปเจาะในประเด็นกรณีศึกษาต่าง ๆ โดยรวมก็ประมาณนี้ครับ

          วิชาความคิดทางการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่ (วิชาเอกเลือกปกครอง)
              วิชานี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของวิชาทฤษฎีการเมืองมาร์กซิส ในเทอมก่อนหน้า เพราะปีผมอาจารย์ผู้สอนคือคนเดียวกัน และกรัมชี่ก็เป็นนักคิดสาย Marxism เช่นเดียวกัน โดยวิชานี้เป็นวิชาที่มีเปิดสอนน้อยมากในประเทศไทย ถ้าใครสนใจในกรัมชี่แนะนำให้ลงเรียนเลย เพราะอาจารย์ผู้สอนคือคนที่เขียนหนังสือกรัมชี่ทั้ง 2 เล่ม ของสำนักพิมพ์สมมติ ลองไปหาซื้อกันได้ครับ อิอิ โดยรูปแบบคะแนน และสไตล์การสอนก็จะคล้ายกับวิชามาร์กซิสเลยครับ ในส่วนเนื้อหาแนะนำให้ลองอ่านหนังสือความคิดทางการเมืองของอันโตนิโอกรัมชี่ ที่สำนักพิมพ์สมมติวางขายเลยครับ จะเป็นการปูพื้นฐานก่อนเรียนได้เป็นอย่างดี โดยหัวข้อเกี่ยวกับกรัมชี่ที่ผมได้เรียน ก็อาทิเช่น มุมมองการเมืองของกรัมชี่ มุมมองวัฒนธรรมของกรัมชี่ มุมมองปรัชญาของกรัมชี่ เศรษฐกิจการเมืองของกรัมชี่ อำนาจนำ สภาโรงาน ฯลฯ แล้วก็จะมีการทำโปรเจกกลุ่มท้ายเทอม และสอบปลายภาคแบบ Take home เหมือนวิชามาร์กซิสเลยครับ เป็นอีกวิชาที่เหมาะแก่การเก็บ A เพราะเนื้อไม่ยาก อาจารย์สอนสนุก ๆ ชิว ๆ สบาย ๆ ครับ

          วิชาการก่อการร้ายและการศึกษาความมั่นคงในระดับโลก
              วิชานี้เป็นวิชาเอกเลือกของเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปี 3 นะครับ แต่ผมยื่น NU 6 ไปเรียนเป็นวิชาเลือกเสรี เหมือนวิชาเอเชียตะวันออกร่วมสมัยเลยครับ โดยวิชานี้อาจารย์ผู้สอนก็สอนชิว ๆ สนุก ๆ แค่ส่วนตัวผมแอบง่วงเล็กน้อย เพราะเนื้อหาค่อนข้างเปิดโลกผม 5555 อาจารย์สอนตามสไลด์เลยครับ ซึ่งเนื้อหาวิชานี้ก็จะแบ่งเป็น 2 พาร์ทใหญ่ ๆ คือ การก่อการร้าย และความมั่นคงศึกษา โดยก่อการร้ายจะเรียนในครึ่งเทอมแรก เนื้อหาที่เรียนก็จะมีอาทิเช่น ก่อการร้ายคืออะไร ต่างจากอาชญากรรมอย่างไร มีบทบาทอย่างไรในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีสาเหตุและผลกระทบอย่างไร มีกี่ประเภท แล้วอาจารย์ก็จะพาเราไปดูกรณีศึกษาการก่อการร้ายในประเทศต่าง ๆ ส่วนมากจะโฟกัสในประเทศตะวันออกกลาง มียุโรปกับเอเชียมาเล็กน้อย เนื้อหาค่อนข้างสนุกครับ ถ้าเรียนเสร็จแล้วไปดูหนังแนวก่อการร้ายน่าจะอินมากขึ้น ในส่วนพาร์ทความมั่นคงศึกษาในครึ่งเทอมหลัง ก็จะเน้นความสำคัญในประเด็นความมั่นคงในมิติต่าง ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ไม่ใช่แค่ความมั่นคงในเรื่องการทหาร และดินแดน แต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงของสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ และยังพาเราไปศึกษาพวกทฤษฎีและแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับความมั่นคงศึกษา รวมไปถึงพาไปดูกรณีศึกษาต่าง ๆ ในแง่มุมของความมั่นคงอีกด้วย ใครที่ชอบการรบ ทหาร อยากเป็นหน่วยข่าวกรอง อยากทำงานด้านความมั่นคง น่าจะชอบและน่าจะเป็นประโยชน์พอสมควรครับ ในส่วนของการเก็บคะแนนก็มีการ Quiz แล้วแต่ว่าจะกี่ครั้ง (ปีผม 2 ครั้ง) มีสอบกลางภาค และปลายภาคในห้อง เป็นข้อเขียน ไม่ยากมากครับ ขอแค่เข้าใจในหลักคิดและทฤษฎีของการก่อการร้ายและความั่นคงศึกษา และสามารถนำไปวิเคราะห์ในกรณีศึกษาต่าง ๆ ได้ ก็ทำข้อสอบได้แน่นอนครับ และท้ายสุดก็จะมีการเขียน Paper เดี่ยว หัวข้ออะไรก็ได้ขอแค่เกี่ยวกับการก่อการร้ายและความมั่นคงศึกษา ไม่เกิน 10 หน้า แล้วมานำเสนอกับอาจารย์ครัย โดยรวม วิชานี้ก็ค่อนข้างสนุกดีครับ ผมที่ไม่ใช่คนที่รู้ในประเด็นเหล่านี้มาก่อน ก็สามารถเก็บ A มาได้ ขอแค่ขยัน มีความรับผิดชอบ และเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ครับ เป็นกำลังใจให้ทุก ๆ คนครับ

**ใครสงสัยอะไรเพิ่มเติม สามารถคอมเม้นท์ไว้ได้เลยนะครับ**

**ปี 4 ผมมีแค่ทำวิทยานิพนธ์ กับลงวิชาของ IR เพิ่มไป 2 ตัว ไว้สิ้นเทอมจะมารีวิวนะครับ**

**หากพิมพ์ตกหล่น หรือข้อมูลผิดพลาดประการใด ผมขออภัยมา ณ ที่นี้นะครับ**

**ไว้กระทู้หน้า ๆ ถ้าว่าง ๆ จะมาแชร์เทคนิคการเรียนให้เกรด 4 หรือเกรดสูง ๆ กับแชร์หนังสือเบื้องต้นกับหนังสือที่อ่านประกอบการเรียนรัฐศาสตร์นะครับ ติดตามกันไว้ได้ครับ**


#รัฐศาสตร์มน #รัฐศาสตร์ #สิงห์ม่วง #สิงห์นเรศวร #มอนเรศวร

 

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น

platoojsm_n 24 มิ.ย. 66 เวลา 17:06 น. 1

รอรีวิววิชานิพนธ์นะคะ แล้วก็ ๆ อยากให้พี่รีวิวเกี่ยวกับตอนฝึกงานด้วยค่ะ กระทู้(s) นี้มีประโยชน์มาก ๆ เลยค่ะ ขอบคุณนะคะ

1
Cherpound 24 มิ.ย. 66 เวลา 20:14 น. 1-1

ได้เลยครับ ตอนนี้พี่พึ่งผ่านบทแรกไปเอง ไว้ปิดเล่มจะมารีวิวให้ครับ ในเรื่องฝึกงานก็เช่นกัน ถ้าพี่ฝึกเสร็จก็จะมาแชร์ประสบการณ์ให้ครับ ขอบคุณที่มาอ่านนะครับ

0