Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

งานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 (Science Communication Festival 2023)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

วิวัฒนาการรังสรรค์สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ให้มีความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูลความรู้และเรื่องราวประสบการณ์ให้ญาติพี่น้อง รวมถึงลูกหลานได้ผ่านการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารส่งต่อความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ที่เป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้อำนวยความสะดวกมากมาย ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของสังคมมนุษย์ ให้แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างสิ้นเชิง

นอกเหนือไปจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ จะพบว่ารอบตัวเราล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เราทาน อากาศที่เราหายใจ หรือดาวเคราะห์ดวงที่เราอาศัยอยู่ วิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันจนบางครั้งเราอาจหลงลืมความสำคัญของมันไป การสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่ช่วยเน้นย้ำความสำคัญของศาสตร์ความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกที่รอบตัวเรา

งานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 จึงเป็นการผลักดันหัวข้อ “การสื่อสารวิทยาศาสตร์” อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านการแสดงนิทรรศการ การเสวนา และการจัดแสดงผลงานต่าง ๆ เพื่อสื่อสารเรื่องราววิทยาศาสตร์ จากใจคนที่ชอบวิทยาศาสตร์จริง ๆ โดยในปีนี้มีการร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ที่รวบรวมสื่อด้านวิทยาศาสตร์หลายแขนงที่จับมือร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนเป็นเจ้าภาพร่วมโดยกรุงเทพมหานคร เพื่อให้งานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 ได้เป็นส่วนหนึ่งกับเทศกาล “บางกอกวิทยา” ซึ่งเป็นเทศกาลประจำเดือนสิงหาคม ตามนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงฯ

รูปแบบการนำเสนองานงานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 เป็นไปใต้แนวคิดที่ว่า Science and Art (ศาสตร์และศิลป์) ที่รวมไว้ทั้งวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสงสัย และศิลปะที่ทุกคนหลงใหล ให้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อส่งเสริมการลดกำแพงความแตกต่างของคำว่า “สายวิทย์” กับ “สายศิลป์” ให้รู้สึกใกล้ชิดกันมากกว่าที่เคย และยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับวิทยาศาสตร์ที่ดูเข้าใจยาก ให้เป็นมิตรกับคนทั่วไปมากขึ้นผ่านศิลปะการสื่อสารแบบต่าง ๆ

วัตถุประสงค์ของการจัดงานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 เป็นไปเพื่อส่งเสริมการให้ความรู้และวิธีการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้กับผู้คนผ่านนิทรรศการศิลปะที่มีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ และการบรรยายวิทยาศาสตร์จากผู้ที่เชี่ยวชาญศิลปะการสื่อสาร รวมถึงยังส่งเสริมให้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นวงการที่มีบุคลากรอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ได้มีโอกาสที่จะมาทำความรู้จักกัน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และพัฒนาวงการการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ให้เติบโตไปอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

จุดเด่นของงานในปีนี้คือนิทรรศการทางด้านศิลปะที่มีแรงบันดาลใจจากวิทยาศาสตร์ เช่น ภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์ “วิทย์ติดเลนส์” โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และนิทรรศการภายใต้แสงสีเสียง โดย tomorrow.Lab ศิลปินจากเชียงใหม่ที่ถนัดการสรรสร้างศิลปะ เพื่อตอบโจทย์ประสาทสัมผัสของเรา

อีกจุดเด่น คือ การรวบรวมนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังหลายท่านที่ให้ความร่วมมือมาช่วยเหลืองานในครั้งนี้ เช่น การจัดกิจกรรมสอนพับกระดาษโอริงามิ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ, การจัดกิจกรรมสอนวาดภาพทางชีววิทยา โดย เครือข่ายวิทย์สานศิลป์, การรับหน้าที่วิทยากรเสวนา โดย SPACETH.CO และ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ รวมถึงนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มืออาชีพคนอื่นอีกมากมายหลายสิบชีวิต และยังได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 ครั้งนี้ และมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศานนท์ หวังสร้างบุญ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “กรุงเทพมหานคร สังคมสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่เมืองแห่งการเรียนรู้” อีกด้วย

งานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 26 ถึงวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.00 น. ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ (โรงงานผลิตยาสูบ 5) สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดินทางมาได้ทั้งทางรถประจำทางสาย 45 46 109 115 116 ปอ.22 ปอ.185 ปอ. 507 และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ออกสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ทางออกที่ 3 แล้วเดินต่ออีกประมาณ 10 นาทีจะถึงที่หมาย ส่วนคนที่ขับรถมาเองก็สามารถนำรถมาจอดได้ที่หน้าสถานที่จัดงาน
​​​​​
การสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยพัฒนาวิธีคิดให้กับคนในสังคม และช่วยส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย แม้งานสื่อสารวิทยาศาสตร์เฟสติวัล 2566 จะถูกจัดขึ้นเป็นปีแรก แต่หวังว่ามันจะช่วยจุดประกายความสนใจในวิทยาศาสตร์ให้กับผู้คนได้ต่อไปอีกนานแสนนาน

ฟรีตลอดงาน! ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ : https://forms.gle/cXXPntxNJxT5DvWu5 

มาขับเคลื่อนวงการวิทยาศาสตร์ไทยไปด้วยกันนะ!
 

แสดงความคิดเห็น