Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เมื่อความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ทำไมการโกหกจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จากซีรีส์ Analog Squad ทีมรักนักหลอก

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

Analog Squad ทีมรักนักหลอก เผยให้เห็นบรรยกาศในปี 1999 ก่อนเข้าสู่ศตวรรษใหม่ในปี 2000 หรือ Y2K

แฝงไปด้วยบรรยกาศยุคแอนะล็อกและความอบอุ่นหัวใจของความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งการสื่อสารของคนที่อยู่ไกลกัน การรอคอยใครสักคนกลับบ้านช่วงปีใหม่และเราจะได้รู้จักใครสักคนในวันที่เราพบเขาแล้ว

เรื่องราวของการโกหกเริ่มต้นจากวันที่ ปอนด์ ชายวัยกลางคนผู้มีเบื้องหลังลึกลับ รับบทโดยเจ้า ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม ได้รับข้อความจากแม่ของเขาให้กลับมาเยี่ยมพ่อที่กำลังป่วยหนัก เขาจึงต้องขอร้องลิลลี่ สาวโสดที่ต้องมารับบท แหม่ม ผู้เป็นทั้งภรรยาและแม่ แสดงโดย น้ำฝน กุลณัฐ ร่วมด้วย เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม รับบท เก๊ก เด็กหนุ่มวัยรุ่นจอมทะเล้น พนักงานบริษัทเพจเจอร์แห่งหนึ่งที่ต้องสวมบท ม่อน นักศึกษาแพทย์ปี 6 น้องชายของ แม็ก แอร์โฮสเตสสาวลุคเรียบร้อย แต่แท้จริงแล้วเธอคือ บุ้ง สาวลุคทอมบอยเจ้าของร้านเช่าวิดีโอ รับบทโดย ปริมมี่-วิพาวีร์​ พัทธ์ณศิริ เพื่อมารวมตัวกันเป็นครอบครัวตัวปลอม ผสานรอยร้าวในครอบครัวตัวจริง

กำกับซีรีส์โดยต้น นิธิวัฒน์ ธราธร ผู้ฝากผลงานไว้กับวงการภาพยนตร์ไทยมากมาย อาทิ คิดถึงวิทยา (2557) ซีซันส์เชนจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2559) แฟนฉัน (2546) และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยซีรีส์ analog squad ทีมรักนักหลอกใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวสามารถไต่ขึ้นไปเป็นซีรีส์ที่ผู้ชมดูมากที่สุดอันดับ 1 ใน Netflix ประเทศไทย

ซีรีส์นี้ดำเนินเนื้อเรื่องไปอย่างครบรส ที่เผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว มิตรภาพจากเพื่อน หรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้า และการเผยความลับของตัวละครให้ผู้ชมค่อย ๆ รู้ไปพร้อมกัน ทำให้เกิดความตื่นเต้นและคอยเอาใจช่วยตัวละครอยู่เสมอ แม้ว่าภูมิหลังของตัวละครบางคนอาจจะดูสนุกสนาน ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ความจริงแล้วกลับต้องเจอเรื่องลำบากยาก ๆ เรียกน้ำตาของผู้ชมไปไม่น้อย เรียกได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นมิติของทั้งการเป็นคนโกหกและเป็นคนที่จำยอมต้องโกหกคนอื่น


"สมมตินะคะปู่ ระหว่างยาเม็ดสีฟ้าที่พอปู่กินไปแล้วจะทำให้มีความสุขกับโลกที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นแค่ภาพลวงตา กับยาเม็ดสีแดงที่พอปู่กินไป จะทำให้ปู่เห็นความจริงทุกย่างแต่มันอาจจะเป็นความจริงที่เจ็บปวด ปู่จะเลือกกินยาเม็ดไหนคะ"



ประเด็นหนึ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจหลักในการดำเนินซีรีส์เรื่องนี้คงไม่พ้นการโกหก แม้เราจะถูกสอนกันมาอย่างยาวนานว่าความจริงเป็นสิ่งที่ดีเพราะแสดงถึงความจริงใจและความซื่อสัตย์จากผู้พูด ฝังรากลึกไปยังพระพุทธศาสนาที่ระบุในศีลข้อ 4 และศาสนาคริสต์เป็นหนึ่งในบัญญัติ 10 ประการ เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามการโกหกก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว และไม่ว่าจะเป็นการโกหกเพื่อสถานการณ์ใดก็ย่อมมีผลกระทบตามมาเสมอ

นักจิตวิทยาต่างประเทศได้สรุปผลการวิเคราะห์ออกมาว่าคนทั่วไปมักพูกโกหกเฉลี่ยวันละ 1-2 ครั้ง โดยเรื่องที่คนเราพูดโกหกบ่อยที่สุด คือ เรื่องความรู้สึก ความชอบ เจตคติ ความคิดเห็น รองลงมาคือเรื่องการกระทำที่ได้ทำไปแล้ว หรือแผนการว่าจะทำอะไร รวมไปถึงความสำเร็จและล้มเหลวของตนเอง

ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงจุดประสงค์ในการโกหกซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ผลกระทบของการโกหกและแนวทางการแก้ไขที่จะทำให้เราไม่ต้องโกหก

 

การโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ

การโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจเป็นเรื่องที่มักจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างคน โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญอย่างมาก การโกหกในกรณีนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อปกปิดความจริงหรือความผิดปกติที่อาจทำให้ผู้ฟังมีความเสียหายใจและไม่สบายใจ ตัวอย่างเช่น เมื่อคนรักสามารถโกหกเกี่ยวกับความสัมพันธ์เพื่อให้คู่รักไม่ต้องเสียใจหรือมีความเครียดบางอย่าง การโกหกว่าสบายดีทั้งที่ความจริงกำลังรู้สึกเจ็บป่วย เพื่อไม่ให้คนรอบข้างเป็นห่วง

สิ่งนี้เรียกว่า White Lies หรือ ‘การโกหกเพื่อความสบายใจ’ พจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) บรรจุคำว่า ‘White Lie’ ไว้ในพจนานุกรมเมื่อปี 1567 โดยมีความหมายแฝง หมายถึงการโกหกที่น้อยกว่า ไม่ผิดศีลธรรม และไม่ถูกประณาม

แต่ถึงอย่างนั้นการโกหกเพียงเล็กน้อย หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจกลายเป็นชนวนของการโกหกคำโต (Big Lies) ได้ ดังนั้นการถือสัจจะพูดความจริงก้ไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าการรักษาน้ำใจของผู้ฟัง



 

“ไม่มีแผลเป็นไหนที่จะร้ายแรงและเจ็บปวดได้เท่าคนที่ไว้ใจ กำลังโกหก หักหลังและกำลังหลอกลวง”



 

เราสบายดี

แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่เร็วร้ายที่สุด แต่เมื่อถูกพ่อแม่ พี่น้อง คนรักหรือบุคคลที่เราให้ความสำคัญถามว่า “ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง” เราก็จะตอบอออกไปว่าสบายดีแม้จะไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ การโกหกเช่นนี้มีข้อเท็จจริงอยู่สองประการ ประการแรกคือมนุษย์เรามักจะไม่อยากแสดงออกในด้านที่อ่อนแอให้ใครเห็น ประการที่สองคือเราเองก็มีความเกรงใจและเป็นห่วงในความรู้สึกของผู้ฟัง ไม่อยากให้เขาต้องมาคอยกังวลเพียงเพราะว่าเรากำลังรู้สึกไม่ดีนัก

กำลังจะถึง

คำพูดที่มักใช้ขณะออกจากบ้านหรือแม้กำลังแต่งตัวอยู่ด้วยซ้ำ คำ ๆ นี้ ไม่มีนิยามบอกว่ากำลังจะถึงนั้น ใกล้ถึงมากแค่ไหน 5 นาที 10 นาที หรือนานหลายชั่วโมง คนส่วนใหญ่อาจพูดด้วยความเคยชินเมื่อมีการนัดหมายเวลาบางอย่างและเป็นการซื้อเวลาให้ผู้ฟังอีกฟากที่จะได้รู้สึกว่ารออีกไม่นาน ในทางที่ดีอาจจะสามารถรักษาภาพพจน์ให้เป็นคนดูมีความกระตือรือล้นและไม่มาสายมากกว่าเวลานัดมากนัก แต่ผลร้ายอาจใหญ่กว่าที่คิด หากกำลังจะถึงของผู้พูด นั้นนานเกินกว่าผู้ฟังจะรอ อาจทำให้เราพลาดโอกาสได้หลายอย่าง เช่น พลาดนัดเดท เข้าห้องสอบไม่ทันหรือมาไม่ทันเวลาเช็คอินที่สนามบิน


White lies วายร้ายในความสัมพันธ์

ลองนึกดูว่าหากเรามารู้ความจริงทีหลัง ว่าคำชมหรือคำพูดที่ได้รับจากคนรอบข้างเป็นสิ่งโกหก แม้เราจะเข้าใจว่าคนรอบข้างเป็นห่วงความรู้สึกแต่ถึงอย่างนั้นก็เกิดควารู้สึกน้อยใจหรือเสียใจได้เสมอ หรือแม้แต่หากเราต้องเป็นคนที่โกหก เราก็ต้องคอยรักษาความลับนี้ไว้ไม่ให้หลุดออกไป อีกทั้งรู้สึกอึดอัดที่ความคิดที่แท้จริงของตนเองก็ไม่ได้เป็นดั่งเช่นคำพูดและกลัวว่าถ้าอีกฝ่ายรู้ความจริง อาจจะโกรธจนนำไปสู่การยุติความสัมพันธ์ต่อกัน เพราะฉะนั้นการสื่อสารคือหัวใจของความสัมพันธ์ การพูดความจริงด้วยเจตนาดี นำไปสู่การสื่อสารเชิงบวกและจริงใจต่อความรู้สึกของตนเอง จึงจะเป็นทางอออกที่ดีที่สุด

 

"โทษที่ร้ายแรงที่สุดที่คนโกหกที่ควรได้รับคือ เขาจะไม่ได้รับการให้โอกาสเป็นครั้งที่สองและไม่สามารถเรียกความน่าเชื่อถือกลับมาได้อีก”

การสื่อสารเชิงบวกนำไปสู่การแก้ปัญหา

การเปลี่ยนคำพูดให้เป็นคำพูดในเชิงบวกสามารถช่วยส่งเสริมบรรยากาศในความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ เพราะการสื่อสารมีความสำคัญ ถ้าเราเปลี่ยนการสื่อสาร เปลี่ยนคำพูดให้เป็นเชิงบวกจะทำให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์เชิงบวกและส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ผู้อ่านได้ โดยมีแนวทางดังนี้

1.หยุดคิดก่อนวิจารณ์

ใช้เวลาสักครู่หนึ่งก่อนที่จะแสดงความคิดเห็น บางครั้งเมื่อเราเห็นเพื่อนแต่งตัวแปลกไป เราอาจเผลอพูดว่า “อ้าว ทำไมวันนี้แต่งตัวแปลกจัง” ทั้งที่มันก็เป็นเพียงสไตล์การแต่งตัวใหม่ของเพื่อน คำพูดสั้น ๆ อาจทำให้เราทำร้ายความรู้สึกของผู้ฟังได้อย่างไม่รู้ตัว แต่จะให้บอกว่ามันสวยก็ไม่ใช่ ให้เราลองหยุดคิดครู่หนึ่งว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ว่าต้องพูดออกไปและหากจำเป็นต้องพูด พิจารณาเสียก่อนว่าสิ่งที่กำลังจะพูดเป็นติชม ชี้แนะ หรือสั่งสอนหรือเปล่า ทั้งนี้ควรคำนึงถึงบทบาทและสถานะระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง

2.เน้นที่ “อย่างไร”

ผู้ฟังจะยอมรับคำวิจารณ์ก็ต่อเมื่อต้องรู้สึกเชื่อใจเราก่อน เมื่ออีกฝ่ายรู้ว่าเราถือประโยชน์สูงสุดของเขาเป็นสำคัญ ก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากที่ผู้ฟังจะเข้าใจถึงความห่วงใยที่เรากล่าวออกไป

3.คำวิจารณ์ของเราต้องจำเพาะเจาะจง

ควรระบุอย่างชัดเจนว่ามีอะไรที่ทำได้ดีอยู่แล้ว รวมถึงผู้ฟังเปลี่ยนไปอย่างไตั้งแต่การให้คำวิจารณ์คราวที่แล้ว ให้ข้อมูลที่อีกฝ่ายย้อนคิดได้

4.เน้นที่การกระทำมากกว่าบุคลิกภาพ

ให้เริ่มจากสถานการณ์ เวลาและสถานที่ที่เกิดพฤติกรรม ตามด้วยพฤติกรรมที่คุณได้เห็นหรือสังเกต และบอกปัญหาที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่กระทบต่อความคิด ความรู้สึก การกระทำของคุณอย่างไร

5.ทำตัวอย่างให้เห็น

เมื่อคุณอยากให้อีกฝ่ายเป็นอย่างไร คุณควรทำสิ่งนั้นให้เขาเห็น โดยอาจตั้งคำถามกับอีกฝ่ายว่าสิ่งที่คุณทำคิดว่าเป็นยังไง หรือ คราวหน้าจะทำอะไรเพื่อปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้บ้าง เพื่อสร้างการสะท้อนกลับให้สิ่งที่อีกฝ่ายพูดส่งผลต่อการกระทำของตนเอง
 


เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการโกหกในเรื่องใดก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี การโกหกเป็นกระบวนการที่มีผลกระทบทางจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เราอาจทำให้คนฟังต้องผิดหวังและสูญเสียความไว้วางใจ และการโกหกไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป หากเราหาวิธีการอื่น ๆ ที่มีความจริงใจและสามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมา




“แม้ว่าชั่วขณะหนึ่ง การโกหกทำให้เราหลีกหนีจากปัญหาได้ แต่เราต้องยอมรับว่าการโกหกเองก็เป็นปัญหาใหม่ที่เราเพิ่งสร้างขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว”








อ้างอิงจาก

netflix.com
theprachakorn.com
psy.chula.ac.th
plus.thairath.co.th
childimpact.co
starfishlabz.com

แสดงความคิดเห็น

>