Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ทำไม? การุณยฆาต เป็นเรื่องผิดกฎหมายในไทย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ใครได้ดูตัวอย่างซีรีส์ #การุณยฆาต แล้วบ้าง? เรื่องนี้น่าสนใจมากค่ะ เป็นซีรีส์ที่สร้างจากหนังสือนิยายชื่อดังของ “หมอแซม (SAMMON)” แต่ก่อนจะได้ดูเรื่องราวการสืบสวนคดีฆาตกรรมของหมอกันต์ (พี่ต่อ) กับตำรวจวสันต์ (เจเจ) พี่ซาร่าจะชวนคุยเรื่อง "การุณยฆาต" ในชีวิตจริงกันสักหน่อยค่ะ



หลายคนรู้ดีว่า การุณยฆาต หมายถึงการยุติชีวิต หรือการทำให้เสียชีวิตอย่างสงบโดยมีมนุษยธรรม ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการกระทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) นะคะ 

โดยในบางประเทศ การรุณยฆาตเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเนเธอแลนด์ออกกฎหมายรองรับการุณยฆาต ตั้งแต่ปี  2539 และพบว่าสถิติการตายประมาณ 9.1% ของการตายทั้งหมดเกิดจากการุณยฆาต (2,300 ราย สมัครใจตาย และ 400 รายตายเพราะแพทย์ลงมือเอง และ 1,040 ราย ถูกการุณยฆาต โดยผู้ป่วยไม่มีส่วนรับรู้หรือให้ความยินยอม) นอกจากนี้ กฎหมายยังเปิดกว้างให้ผู้ป่วยอายุ 12-16 ปี มีสิทธิ์ร้องการการุณยฆาตได้ โดยพ่อแม่หรือญาติให้ความยินยอม 

นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ อีก คือ เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, โคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งมีเพียงสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้นที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาขอรับการทำการุณยฆาตได้

สำหรับแนวคิดตะวันตกในการการุณยฆาตนั้น มีข้อพิจารณา 3 ประการ คือ 

1. เมื่ออยู่ในสภาวะเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส
2. สิทธิส่วนบุคคลที่จะยุติชีวิตลง
3. บุคคลไม่ควรจะถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไปในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไร้การรับรู้ทางสมอง

ส่วนในประเทศไทย เคยมีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550 และต่อมาในหลวงได้ลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายดังกล่าว เรียกว่า "พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550" แต่กฎหมายดังกล่าวกลับเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรา 12 อย่างมากในขณะนั้น

ตัวอย่างเช่น การกำหนดว่าผู้ป่วยต้องทำหนังสือขอให้ตายโดยหยุดรับการรักษา แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยอาการโคม่าย่อมไม่มีสติทำหนังสือใช้สิทธิ รวมถึงการที่ผู้ป่วยมีสิทธิการตาย และให้สิทธิการฆ่าแก่แพทย์ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีวิทยาศาสตร์การแพทย์ใดยืนยันได้ว่าผู้ป่วยจะต้องตายแน่นอน จึงไม่ควรให้แพทย์มาตัดสินใจเรื่องนี้

โดยการุณยฆาตสามารถแบ่งประเภทโดยใช้หลัก 2 ประการ คือ

ประการแรก คือ ใช้ความสมัครใจของผู้ป่วยเป็นเกณฑ์ ถ้าผู้ป่วยเป็นฝ่ายร้องขอให้แพทย์ช่วยฉีดยาเพื่อให้ตนเองตาย จะเรียกว่า "การุณยฆาตแบบสมัครใจ" แต่ถ้าแพทย์ทำไปโดยไม่ได้มีการร้องขอจากผู้ป่วย จะเรียกว่า "การุณยฆาตแบบไม่สมัครใจ"

ประการที่ 2 คือ ใช้ลักษณะการตายของผู้ป่วยเป็นเกณฑ์ หากแพทย์ได้ฉีดยาเพื่อให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เรียกว่า "การุณยฆาตทางตรง" แต่ถ้าแพทย์หยุดใช้เครื่องมือช่วยชีวิตผู้ป่วยและปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเอง เรียกว่า "การุณยฆาตทางอ้อม" 

เมื่อนำทั้งสองประการมาประกอบกันจะจัดประเภทการุณยฆาตได้ 4 ประเภท คือ

1. สมัครใจ-ทางตรง หมายถึง แพทย์ลงมือกระทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยที่ผู้ป่วยเป็นฝ่ายร้องขอด้วยตนเอง

2. สมัครใจ-ทางอ้อม หมายถึง ผู้ป่วยขอร้องให้แพทย์หยุดทำการรักษา และปล่อยให้ตัวเองเสียชีวิตไปตามธรรมชาติ

3. ไม่สมัครใจ-ทางตรง หมายถึง แพทย์ลงมือกระทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ให้ความยินยอม

4. ไม่สมัครใจ-ทางอ้อม หมายถึง แพทย์ยุติการรักษาและปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตไปเอง โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้แสดงความยินยอม

ทีนี้เมื่อกลับมาดูมาตรา 12 ของพระราชบัณญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มีข้อโต้แย้งกันนั้น พบว่า ได้ให้สิทธิแก่บุคคลในการแสดงเจตนาไม่ประสงค์ขอรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนได้ โดยแพทย์ที่กระทำตามเจตนาไม่มีความผิด หมายความว่า พรบ.ฉบับนี้ยินยอมให้มีการการุณยฆาตแบบข้อ 2 หรือแบบสมัครใจ-ทางอ้อม นั่นเอง

แต่สำหรับแบบอื่นๆ ที่เหลือ แพทย์ยังถือว่ามีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือแม้แต่เมื่ออ้างหลักกฎหมาย "การกระทำผิดโดยจำเป็น" แล้วก็ตาม แต่การที่แพทย์กระทำการุณยฆาตนี้ แทนที่จะเป็นการป้องกันชีวิตผู้ป่วย กลับเป็นผู้ทำลายชีวิตผู้ป่วยเสียเอง จึงไม่อาจละเว้นความรับผิดได้ 

ดังนั้น การการุณยฆาตที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าคนตายจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการให้คำจำกัดความของคำว่า "ตาย" ให้ชัดเจนแน่นอน แต่กฎหมายไทยปัจจุบันยังไม่มีบัญญัติความหมายของการตายที่แน่ชัด โดยให้ความหมายเพียงว่า
"คนตาย" คือคนสิ้นชีวิต 
"สภาพบุุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย"
ต่างจากเกณฑ์สากลที่นิยมใช้คือเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ถือว่า "การตายของสมองส่วนบนซึ่งควบคุมสติสัมปชัญญะเป็นตัวตัดสินว่าบุคคลตายแล้วหรือไม่"

ดังนั้น ประเทศไทยควรออกกฎหมายที่ระบุเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินการตายให้ชัดเจน เนืองจากเกณฑ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบหรือไม่รับผิดของแพทย์ด้วย

อย่างไรก็ดี การุณยฆาตในประเทศไทยนั้นยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจร่วมกันอีกมาก ทั้งในด้านของกฎหมาย การแพทย์ และหลักศาสนา ต้องรอติดตามกันต่อไปค่ะ

ส่วนใครที่รอดูซีรีส์ การุณยฆาต อย่าลืมติดตามช่อง one31 กันต่อไปค่ะ 



ที่มา 
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/download/article/article_20180220094254.pdf ,   https://www.thaipbs.or.th/news/content/278172

 

แสดงความคิดเห็น

>