Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เรียนต่อด้านอาหารและเบเกอรี่ที่ญี่ปุ่น ทำไมถึงเลือก “ญี่ปุ่น” แทนที่จะไป “ฝรั่งเศส”

ตั้งกระทู้ใหม่


การไปเรียนทำเบเกอรี่ที่ญี่ปุ่น  เป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่นักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจค่ะ   อ๊ะ…คุณผู้อ่านหลายคนอาจจะสงสัยใช่ไหมคะว่า ทำไมถึงเลือก “ญี่ปุ่น” แทนที่จะไป “ฝรั่งเศส”

จริงๆแล้ว หลักสูตรการทำเบเกอรี่ในโรงเรียนสอนทำขนมที่ญี่ปุ่น  หรือร้านทำขนมดังๆ ในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ก็เอาต้นตำรับมาจากฝรั่งเศสนั่นล่ะค่ะ  อาจารย์ดังๆ ก็ไปจบจากสถาบันทำอาหาร ทำขนมของฝรั่งเศสกันทั้งนั้น  แต่… ญี่ปุ่นก็ช่างสามารถนำสูตรขนมของฝรั่ง  มาดัดแปลงโดยใช้วัตถุดิบคุณภาพและความปราณีตพิถีพิถันตามแบบฉบับของญี่ปุ่น  กลายเป็นเบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่นที่มีความสวยงามและรสชาติที่นุ่มนวล
 

ที่ญี่ปุ่นเอง  อาชีพเชฟทำขนมก็เป็นอาชีพยอดฮิตในยุคปัจจุบันค่ะ   จากหลายผลสำรวจอาชีพในฝันของเด็กประถมญี่ปุ่นหลายโพลปรากฎว่า  อาชีพที่เด็กผู้หญิงอยากจะทำเมื่อโตขึ้นในอนาคต  อันดับหนึ่งคือ อาชีพ パティシエ  ภาษาญี่ปุ่นจะออกเสียงว่า พาทิชิเอ้  มาจาก patissier ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสหมายถึง  เชฟขนม, ของหวาน   ซึ่งเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันของเด็กยุคใหม่พอๆ กับอาชีพแพทย์

เด็กนักเรียนญี่ปุ่น ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟขนม โดยส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย จะมุ่งไปเข้าเรียนในวิทยาลัยที่สอนวิชาชีพเฉพาะทาง ที่เรียกว่า 専門学校 : senmon gakkou  ซึ่งจะใช้เวลาเรียนตั้งแต่ 2 – 4 ปี

ในส่วนของนักเรียนไทยที่ไปเรียนวิทยาลัยวิชาชีพด้านการทำขนมที่ญี่ปุ่น และจบการศึกษากลับมาแล้วมีไม่น้อยค่ะ  ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า  การเรียนทำขนมในญี่ปุ่นเป็นการเรียนที่หนัก และต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก  แต่ทุกคนก็มีความสุขที่ได้เรียนและได้ทำงานในสิ่งที่รัก

 

คุณอุ้ม พนิต ปาละพงศ์

เจ้าของร้านเค้ก  “มองบลังค์” เค้กฝรั่งเศสสไตล์ญี่ปุ่นชื่อดังบนถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่ และขยายแฟรนไชส์ไปอีกหลายสาขา  เริ่มต้นจากการเข้าเรียนในโรงเรียนภาษาญี่ปุ่น Intercultural Institute of Japan ที่โตเกียว  และเข้าเรียนต่อหลักสูตรการทำขนมที่วิทยาลัย Oda Seika College ( 織田製菓専門学校) ในโตเกียว  สถาบันสอนทำขนมชื่อดัง  ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องชั้นเรียนที่นักเรียนต่อคลาสมีจำนวนน้อย  อาจารย์ดูแลเอาใจใส่ได้ทั่วถึง อีกทั้งที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งเดินทางได้สะดวก

คุณนัท สัณหณัฐ จงจิรวิศาล

ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนการทำขนมอยู่ที่ ABC Cooking Studio ที่มาเปิดสาขาในไทย  และทำชีสเค้กแบรนด์ของตัวเองออกมาในชื่อว่า Last days Special   คุณณัฐเริ่มจากการเข้าเรียนภาษาในโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น Interculture Language Academy ที่โกเบ  เมืองแห่งเบเกอรี่และขนมหวาน  จากนั้นเข้าเรียนต่อด้านการทำขนมในวิทยาลัย Kobe College of Patisserie (神戸製菓専門学校) ซึ่งเป็นวิทยาลัยด้านการทำขนมที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น

คุณเชียร์  ปัณฑิตา สุภาพรรณชาติ

เชฟขนมสาวน้อยหน้าหวานแห่งร้าน Muteki by Mugendai  ไปเรียนภาษาที่ Kyoto Institute of Culture and Language เมืองเกียวโต  และเข้าเรียนต่อด้านการทำขนมที่  Ecole Superieure De Patisserie Tsuji , Osaka ( エコール 辻 大阪) ซึ่งเป็นวิทยาลัยวิชาชีพในเครือ  Tsuji Culinary Institute Group ซึ่งไม่ต้องพูดว่าดังขนาดไหนในญี่ปุ่น เรียกว่าถ้าพูดถึงสถาบันด้านอาหารและขนมของญี่ปุ่นล่ะก็  ชื่อของ Tsuji Institute ขึ้นมาอันดับหนึ่งแน่นอน

เรียนทำขนมในเซมมงกักโค เป็นยังไง?

การเรียนในเซมมง กักโคของญี่ปุ่นเป็นการเรียนอย่างจริงจังค่ะ  หลักสูตรการทำขนม ไม่ได้สอนแค่ วิธีการทำขนม แต่สอนทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้จบออกมาเป็นเชฟมืออาชีพ  แม้ 80% ของการเรียนจะเป็นภาคปฏิบัติ  แต่ต้องเรียนภาคทฤษฏีอย่างละเอียด  ครอบคลุมไปตั้งแต่ ทฤษฏีพื้นฐานการทำขนม  โภชนาการอาหาร  ตารางธาตุอาหาร  ปฏิกริยาเคมีทางวิทยาศาสตร์  กฎหมายผู้บริโภค  ไปจนถึงด้านธุรกิจ  การบริหารจัดการครัว  การสั่งของ  การจัดเก็บสต็อคของ  การคำนวณค่าใช้จ่าย การตั้งราคา ฯลฯ
อีกทั้งกฎหมายสาธารณสุขของญี่ปุ่นที่มีความเข้มงวดอย่างมาก  การจะเป็นผู้ประกอบการด้านอาหาร จะต้องมีการสอบด้านสุขลักษณะต่างๆ มากมาย   ไม่เว้นแม้แต่การทำขนม นักเรียนที่เรียนหลักสูตรการทำขนม จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนและสอบเพื่อรับใบรับรองคุณวุฒิ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขลักษณะการทำขนม  ( 製菓衛生師 : Confectionery Hygiene Master ) โดยเฉพาะ

ด้วยความที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ “ความเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง” คือถ้าชอบอะไร หลงใหลอะไร ควรทุ่มเทกับเรื่องนั้นอย่างเต็มที่ค่ะ   การจะเรียนทำขนมต้องมีค่าใช้จ่ายในการเรียนไม่น้อย   ค่าเล่าเรียนขั้นต่ำปีละประมาณ 1 ล้านกว่าเยน ( 4-5 แสนบาท ) แถมกว่าจะสามารถออกมาเป็นมืออาชีพได้ก็ใช้เวลาไม่น้อย

และการจะเข้าไปเรียนกับคนญี่ปุ่นได้  ก็ต้องมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นอีก  ต้องไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นอีกอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง – 2 ปี

เพื่อไม่ให้เสียเงิน เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ก่อนที่จะคิดตัดสินใจเป็นเชฟทำขนม  มี 5 ข้อสำคัญที่ควรจะสำรวจตัวเองดูก่อน ว่าตรงกับคุณสมบัติดังต่อไปนี้ไหม

  1. รักการทำขนมเป็นชีวิตจิตใจ

ไม่ใช่ “เพราะชอบทานขนมหรือของหวาน”  แต่ชอบที่จะลงมือทำ  มีความสุขกับการทำขนมที่หน้าตาดี มีรสชาติถูกปากผู้คน  หลงใหลการทำขนมอย่างสุดๆ  ที่สำคัญคือมีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นในอาชีพนี้อย่างจริงจัง

  1. ทำงานประจำ ธรรมดาๆ ได้ทุกวันอย่างไม่รู้สึกเบื่อ

แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังดูง่ายๆ เช่น ทักทายผู้คน  ชั่งตวงส่วนผสม เก็บกวาด ล้างภาชนะ ทำความสะอาด เก็บของเข้าที่  แต่เป็นเรื่องที่คนจำนวนไม่น้อยทำไม่ได้

ลองคิดดูว่าตัวเองเป็นแบบไหน

“น้ำตาลน้อยไม่หน่อย…อ๊ะ..ไม่เป็นไรละกัน”

“ถ้าอบนานกว่านี้อีกหน่อยน่าจะออกมาดูดีกว่านี้ แต่… แค่นี้ก็โอล่ะ”

“ล้างภาชนะ แค่นี้ก็สะอาดแล้ว เครล่ะ  วางตรงนี้ก็ได้ จะระเบียบอะไรมากมาย ”

….

ถ้าเป็นคนที่คิดว่า “แค่นี้ก็พอ หยวนๆ น่ะ จะต้องเป๊ะอะไรขนาดนั้น ฯลฯ”  อาจจะไม่เหมาะกับการทำอาชีพนี้  เพราะการทำขนมเป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง  การทำตามสูตรแบบเป๊ะๆ ในทุกขั้นตอน คือสิ่งที่จะทำให้ได้ผลลัพท์ออกมาคงที่
นอกจากนั้น เทคนิคการทำขนม ไม่ใช่ว่าจะสามารถจำได้จากการลงมือทำเพียงครั้งเดียว ต้องฝึกฝน ฝึกซ้อมทุกวันให้เคยชิน  ทำความเข้าใจในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลา  เมื่อลงมือทำแต่ละขั้นตอนอย่างพิถีพิถันแล้ว  ได้ผลลัพท์โดยรวมออกมาอย่างสมบูรณ์ จึงจะถือว่าเป็นมืออาชีพ

  1. มีพละกำลังและความอึด

เบื้องหน้าดูเหมือนทำขนมสวย ๆ แต่เบื้องหลังแล้วคือ งานที่ต้องอาศัยความถึกอึดล้วน ๆ  ตลอดเวลาของการทำขนมคือ “ยืน” ไม่มีเวลาให้นั่ง  นอกจากนั้น การยกถุงแป้ง ถุงน้ำตาล หรือวัตถุดิบอื่นๆ หนักเป็นสิบโล เป็นเรื่องปรกติที่ต้องเผชิญทุกวัน  อีกทั้ง การทำงานหน้าเตาอบร้อนๆ  เอาขนมปังออกจากแม่พิมพ์  เหงื่อไหลไคลย้อย รอยแผลจากความร้อนหรือฟกช้ำ เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเจอ

  1. มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาคิดค้นสูตรขนมใหม่ๆ

มีความช่างสงสัย อยากรู้ อยากลอง   ถ้าลองใส่…ลงไปจะเป็นยังไงนะ  ถ้าลองเปลี่ยนมาทำแบบนี้จะเป็นยังไงนะ  คนที่มีความสงสัยและอยากลองทำสิ่งใหม่ๆ จะสามารพัฒนาและสร้างเทรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้

  1. มีเซ้นส์ทางศิลปะ

เพราะนอกจากความอร่อยแล้ว  ความสวยงามน่ารับประทานเป็นหัวใจสำคัญของการทำขนมที่จะดึงดูดและสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า

 

การทำขนมเป็นศิลปะ ที่แม้จะเรียนรู้หรือจำสูตรต่างๆ ได้  แต่การคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ง่ายๆ   จึงควรเป็นคนที่มีความสนใจสิ่งอื่นๆ นอกจากขนมด้วย  เช่น ไปดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์  ไปเที่ยวต่างประเทศ ดูสถาปัตยกรรม  วัฒนธรรมของต่างชาติ  ชิมอาหารแปลกๆ  อ่านนิตยสารหรือหนังสือที่ปรกติไม่ค่อยได้อ่าน  เพื่อเปิดหูเปิดตา  ให้ทุกสัมผัสของร่างกายได้ลิ้มลองความแปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

ถ้าคิดว่าสามารถเข้าข่ายตรงกับคุณสมบัติทุกข้อได้  อยากจะเรียนเป็นเชฟทำขนมอย่างจริงจัง  และคิดว่าญี่ปุ่นเป็นทางเลือกหนึ่งของการไปเรียนแล้วล่ะก็   สิ่งที่ต้องเตรียมอันดับแรกเลยคือ  “ ภาษาญี่ปุ่น” ค่ะ

เงื่อนไขพื้นฐานในการเข้าเรียนในวิทยาลัยวิชาชีพของญี่ปุ่นคือ  จบวุฒิขั้นต่ำระดับม. 6  อายุเกิน 18 ปีขึ้นไป  แต่ที่สำคัญที่สุดสำหรับนักเรียนต่างชาติคือ  จะต้องมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นระดับ N2 ขึ้นไป  หรือเรียนในสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่นมาเกิน 6 เดือนขึ้นไป  จึงจะมีสิทธิ์สมัครสอบเข้าเรียนได้  ซึ่งแน่นอนว่าการสอบเข้าเรียน จะใช้ภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ


อ่านมาถึงตรงนี้   ถ้ายังมีความใฝ่ฝันอยากจะเรียนทำขนมที่ญี่ปุ่น  จะเริ่มต้นยังไงดี  เจ๊คงบอกได้อย่างเดียวว่า ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจังเท่านั้นล่ะนะคะ  สู้ๆค่ะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
>>  การเรียนหลักสูตรวิชาชีพที่ญี่ปุ่น 
>>  การเรียนหลักสูตรภาษา ระยะยาวที่ญี่ปุ่น

ภาพประกอบจาก
www.matichon.co.th (ภาพคุณพนิต)
 

แสดงความคิดเห็น

>