Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

มามะ ใครอยากเป็นทูต คุณก็ทำใด้

ตั้งกระทู้ใหม่
การสอบบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งนักการทูต
 
การจะสอบเป็นนักการทูต มีอยู่เพียง 2 วิธีเท่านั้น คือ 
1.สอบชิงทุนกระทรวงการต่างประเทศตอนจบมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ( อันนี้คงจะสายไปเสียแล้ว) แต่บางปีก็อาจจะมีทุนสำหรับป.ตรีเพื่อต่อป.โทและ ป.เอกด้วย และ 
2. สอบบรรจุเข้ารับราชการโดยใช้วุฒิปริญญาโดยบันทึกฉบับนี้จะเน้นการสอบในแบบที่ 2 ที่เราสอบเข้ามา

1.) วุฒิการศึกษาที่สามารถสอบได้
การสอบในแบบที่ 2 เป็นการสอบสำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรี หรือ โท สาขาวิชารัฐศาสตร์  รัฐประศาสนศาสตร์ บริหารรัฐกิจ บริหารธุรกิจวิชาการจัดการ นิติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์บัญชี ภาษา วรรณคดี ศิลปะ วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ โบราณคดี ปรัชญา ศาสนา สังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์ ก็สามารถมาสมัครได้ เรียกได้ว่าวิชาสังคมศาสตร์เกือบทั้งหมดก็สามารถมาสมัครได้เป็นการเปิดโอกาสที่กว้างมากๆ ดังนั้นในการเปิดสอบครั้งหนึ่งจึงมีคนมาสมัครจำนวนมากแต่อย่าได้กลัวไป เพราะจำนวนก็เป็นเพียงแค่ตัวเลขขู่ไว้เท่านั้น (วันสอบจริงคนอาจจะสละสิทธิ์ก็เป็นได้555) โดยจะจัดสอบรวมกันไปทั้ง ป.ตรีและโท เลยไม่แยกระดับการศึกษา
 
2.) การสอบทั้ง3 ภาค
การสอบเข้ารับราชการโดยทั่วไปจะมี  3 ภาคหรือ 3 ด่านด้วยกัน นั่นก็คือ ภาค ก. ภาคข. และ ภาค ค

การสอบภาค ก. ความรู้ความสามารถทั่วไป 
กระทรวงการต่างประเทศจะมีลักษณะเฉพาะคือจะมีการเปิดภาค ก. ของตัวเอง ดังนั้นคนที่ผ่านภาค ก. ของก.พ. (ข้อสอบกลางในการรับราชการที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) มาแล้วไม่สามารถยื่นผลการสอบผ่านภาค ก. ของก.พ.เพื่อมาสอบภาค ข.กระทรวงการต่างประเทศเลยได้ โดยผู้สมัครทุกคนจะต้องสอบภาคก.ที่กระทรวงจัดขึ้นเองซึ่งภาค ก. ได้แก่ ความรู้รอบตัว(รอบโลก) 100 ข้อตอนเช้าและความรู้ภาษาอังกฤษอีก 100 ข้อตอนบ่ายโดยข้อสอบจะเป็นแบบ 4ตัวเลือก(Multiple Choices) ทั้งหมดผู้ที่สอบผ่านภาค ก. คือจะต้องมีคะแนน 60% ขึ้นไป(อันนี้น่าจะคิด 60% จากการเอา 2 พาร์ทมารวมกัน) ภาคก.จะประกาศเร็วมากเนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์ตรวจทั้งหมด โดยผู้รอดชีวิตจากการสอบภาคก. คือประมาณ 400 คน
 
 การสอบภาค ข. ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง

ในการสอบภาคนี้นี้ก็จะแบ่งเป็น 2 ตอนเช่นเดียวกันคือ
 
1. การทดสอบทักษะภาษาต่างประเทศ(เวลา 3 ชั่วโมง) โดยแบ่งเป็น4 ข้อดังนี้  
 
1.1  เขียนเรียงความในหัวข้อที่กำหนด (40 คะแนน) :  มักจะเป็นหัวข้อสถานการณ์ปัจจุบันหรือเรื่องที่เป็นประเด็นที่น่าติดตาม
 
1.2  ย่อความภาษาอังกฤษ(30 คะแนน) : อันนี้จะมีบทความให้ประมาณหน้าครึ่งถึงสองหน้าให้ย่อความโดยใช้ภาษาของตัวเอง
 
1.3  1.3 แปลไทยเป็นอังกฤษ(15 คะแนน) : อันนี้จะมีเหมือนข่าวหรือบทความภาษาไทย
 
1.4  แปลอังกฤษเป็นไทย(15 คะแนน) : ปีนี้ถือว่าเหวอมากๆกับการแปลคำสดุดีของสุลต่านบรูไนในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯครองราชย์ครบ ๖๐ ปี การแปลคำศัพท์อย่าง Your Majesty นี่ทำให้เราต้องไล่ลำดับจากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทใต้ฝ่าพระบาท ฝ่าพระบาท พระองค์ท่าน ซึ่งตรงนี้เป็นความละเอียดอ่อนของภาษามากต้องดูจากบริบทในบทความให้ดีๆ พาร์ทนี้ใช้เวลาเยอะมาก
 
2. การทดสอบความรู้สำหรับนักการทูต(100 คะแนน)

2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(40 คะแนน)  : เป็นข้อที่เนื้อหากว้างมากๆ และเก็งยากมาก เพราะเราไม่ได้เรียนทางนี้มาอีกต่างหากมันก็มีหลักวิชาที่ต้องยึดเหมือนกันในทางรัฐศาสตร์ แต่ยังดีที่ส่วนมากจะเป็นคำถามปลายเปิด

2.2 องค์การระหว่างประเทศ(30 คะแนน)

2.3 กฎหมายระหว่างประเทศ(30 คะแนน)

การสอบภาค ข.เป็นการสอบทั้งวันที่ดูดพลังเยอะมาก ดังนั้นต้องเตรียมตัวให้ดีๆพักผ่อนให้เพียงพอ ลืมบอกไปว่าตอนที่ 2 ทีเป็นความรู้สำหรับนักการทูตสามารถเขียนตอบได้  7 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ จีน อารบิค สเปน ฝรั่งเศส รัสเซียสำหรับคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในภาษานั้นจริงๆมีคำแนะนำว่าอย่าเขียนตอบโดยใช้ภาษานั้น ใช้ภาษาไทยให้สละสลวยจะดีที่สุดเพราะกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องการคนใช้ภาษาไทยได้ดีเช่นกัน การเขียนภาษาต่างประเทศโดยที่เราไม่ได้เชี่ยวชาญไม่ได้ทำให้เราได้เปรียบแต่อย่างใดการเขียนภาษาอื่นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 หรือคุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศมากกว่า
ในการสอบภาคนี้ถือว่าเป็นภาคที่ตื่นเต้นมากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าเราจะต้องเจออะไร แบบไหน ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการเข้าค่ายที่ต่างจังหวัดเป็นเวลา3 วัน 2 คืน เพื่อดูพฤติกรรมและทดสอบผ่านกิจกรรมต่างๆ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ในปีนี้จึงมีการจัดสอบภาค ค. เพียงแค่ 2 วันที่กระทรวงการต่างประเทศโดยในวันแรก จะมีการทดสอบ 2 อย่างคือสัมภาษณ์เดี่ยว และ การพูดในที่ชุมชน (Public Speaking)
การเหลือการทดสอบแค่2 อย่างจึงทำให้มีการจัดคิวสัมภาษณ์อย่างแน่นมาก โดยจะใช้เวลาเพียงคนละ 10 นาทีเท่านั้น กรรมการคัดเลือกประกอบด้วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมต่างๆ สื่อมวลชน อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ (ในปีนี้มี 22 ท่าน) โดยเพื่อความโปร่งใสในการสอบคัดเลือก กรรมการจะไม่เปิดโอกาสให้เราแนะนำตัวแต่จะรู้จักเราผ่านป้ายหมายเลขที่ติดอยู่ที่หน้าอกเสื้อสูทเท่านั้น

 สัมภาษณ์เดี่ยว : คำถามที่เราโดนถามในห้องสัมภาษณ์คือ1. มีการเตรียมตัวสอบอย่างไร 2. ด้วยความเป็นนักกฎหมาย คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญมาตรา190  3. กฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในต่างกันอย่างไร 4. นอกจาก MLAT แล้วคุณคิดว่าควรจะมีความร่วมมือด้านกฎหมายอะไรอีกในอาเซียน 5. ทำงานอะไรบ้างที่กระทรวงยุติธรรม6. คิดอย่างไรกับการที่อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมเดินหน้าปฏิรูปกับองค์กรอิสระ7. ปลัดกระทรวงยุติธรรมคนใดเคยเป็นนายกรัฐมนตรี(อันนี้เหวอมากคิดอะไรไม่ออกในห้องสัมภาษณ์ ออกมาค่อยร้องอ๋อ) ถ้าหากไม่ทราบก็ให้ตอบว่าไม่ทราบแต่ก็ควรมีการเสริมอย่างอื่นที่เรารู้ แต่กรณีที่ไม่สามารถไปต่อได้จริงๆ ก็ขออภัยคณะกรรมการไปตามระเบียบในข้อนี้และคำถามสุดท้ายเด็ดที่สุด 8. ภริยาทูตมีบทบาทสำคัญมากในปัจจุบันคุณคิดว่าคุณอยากได้ผู้หญิงแบบใดมาเป็นภริยาในอนาคต (ฮากันทั้งห้อง)

 Public Speaking หรือ การพูดในที่ชุมชน : ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์จะมีการเตรียมตัวประมาณ 5-10 นาที ให้เลือกหัวข้อและร่างในกระดาษแต่ไม่สามารถนำกระดาษที่เราร่างเข้าห้องสัมภาษณ์ได้
 เมื่อโดนถามคำถามเสร็จแล้วเราก็จะลืมในสิ่งที่เราร่างไว้หน้าห้องโดยปริยาย ดังนั้น 3 นาทีสุดท้ายจึงต้องพยายามพูดในสิ่งที่มีอยู่ในหัวออกมาดีๆจำไว้ว่าทุกอย่างอยู่ในหัวเราอยู่แล้ว การเตรียมตัวมาอย่างดีจะทำให้ลดอาการตื่นตระหนกได้ ตอน 1 นาทีสุดท้ายให้หาทางจบให้สวยงาม เท่านั้นแหละเป็นอันจบการสอบในห้องสัมภาษณ์ (อย่างรวดเร็วมากๆ)
ในปีนี้ทางกระทรวงยังได้นัดผู้สมัครทุกคนที่ผ่านเข้ารอบมารับประทานอาหารร่วมกันกับปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมต่างๆ รวมถึงพี่ๆนักการทูตที่กระทรวงการต่างประเทศในตอนเย็นวันถัดมาด้วยซึ่งก็มีการกินบุฟเฟต์และสนทนากันตามปกติตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่มเลิกงาน ถ่ายรูปและแยกย้าย อันเป็นการจบการสอบภาค ค. รอลุ้นผลในอีกไม่กี่วันถัดมา ซึ่งจะมีการเรียงลำดับคะแนนโดยรวมจากคะแนนการสอบทั้ง3 ภาค

การเตรียมตัว

การเตรียมตัวสอบภาค ก.และภาค ข.
เราเตรียมสองภาคนี้รวมกันเลย เนื่องจากว่าถ้าหากเตรียมสอบแต่ภาคก.อย่างเดียว หากผ่านเข้ารอบไปแล้วจะเหลือเวลาเตรียมภาค ข.เพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้นซึ่งไม่ทันควรมีการเตรียมสอบทั้งสองภาคไปพร้อมๆ กันโดยเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่รู้ข่าวที่จะสมัครเลยประมาณเดือนพฤศจิกายนโดยอ่านหนังสือหลายเล่มด้วยกัน
 ในส่วนการหัดทำข้อสอบนั้น เราได้ข้อสอบเก่ามาจากเพื่อนซึ่งมีขายที่กระทรวงการต่างประเทศ กระนั้นแล้วเราก็ตะลุยทำโจทย์เลยโดยความรู้เริ่มจากไม่ถึง5% จริงๆ เจอข้อสอบตอนแรก เหวอมากๆ ทำความรู้รอบตัวแทบจะไม่ได้เลยมีแต่สิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่อย่างที่เรากล่าวไว้ มันเตรียมตัวได้! เราพยายามทำข้อสอบย้อนหลังทุกปีเท่าที่มีแล้วจัดกลุ่มข้อสอบเป็นแต่ละหัวข้อๆ เช่น การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น BIMSTEC, ACMECS, APEC  สถิติที่สำคัญต่างๆ ของประเทศและโลก เช่นส่งออกมากที่สุด นำเข้ามากที่สุด นักท่องเที่ยวประเทศใดเยอะที่สุด วันสำคัญและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ  บุคคลสำคัญของโลก ประวัติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น
ภาค ข.ที่เตรียมไปพร้อมๆกัน นอกจากจะต้องอ่านบทความและข่าวต่างๆ แล้ว หัดเขียนเรียงความทั้งไทยทั้งอังกฤษ แบบแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ หัดแปลบทความทำให้คุ้นเคยกับศัพท์ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้เราจดลิสต์คำศัพท์ที่ต้องเจอบ่อยๆ ใช้บ่อยๆ ไว้เลย เช่น collaboration, tackle, prosperity, enhance cooperation, development gap
เนื่องจากต้องมีการใช้ศัพท์แบบในข้อสอบตลอดเวลา จึงได้ฝึกเตรียมการสอบไปในตัวควบคู่กับการทำงานได้

2. การเตรียมตัวสอบภาคค.  
การเตรียมตัวสอบภาคนี้กว้างมากๆ  โดยหลังจากประกาศผลสอบภาค ข. ก็มีเวลาประมาณ 1 เดือนในการเตรียมตัวสอบภาค ค.อย่างแรกเลยคือขอคำแนะนำจากพี่ๆนักการทูตว่าจะต้องเจออะไรบ้างในการสอบภาคสุดท้ายนี้โดยเมื่อได้ข้อมูลและคำแนะนำมาแล้ว สิ่งที่เราทำทุกวันคือ 1. อ่านบทความภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการต่างประเทศและสถานการณ์ปัจจุบันโดยอ่านจาก The Diplomat, The Economist, National Interest, Foreign Policy, Council of Foreign Relations เป็นต้น 2. ตั้งคำถามกับตัวเองในสิ่งที่กรรมการน่าจะถามและฝึกตอบเองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 3. ฟังข่าวภาษาอังกฤษ BBC, CNN, NPR
ที่ทำประจำสัปดาห์คือเขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษ โดยครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ โดยอาจจะดูจาก Speech เก่าๆที่มีอยู่ในเว็บกระทรวงมาเป็นตัวอย่างด้วย พอเขียนเสร็จก็หัดพูดจากที่เขียนนั่นแหละ โดยอาจจะอ่านก่อนให้เข้าปาก คุ้นกับเสียงคุ้นกับคำศัพท์ เสร็จแล้วก็พยายามไม่ดู และพยายามพูดให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น (ราวกับเป็นเอกอัครราชทูตแล้วจริงๆ ) จะเห็นว่าการฝึกแบบนี้จะทำให้เราพัฒนาได้ทุกทักษะจริงๆทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน
การสอบบรรจุเข้ารับราชการเป็นนักการทูต กระทรวงการต่างประเทศครั้งนี้กินเวลานานถึง6 เดือนตั้งแต่เปิดรับสมัคร (ธันวาคม ถึงพฤษภาคม) ตอนที่เปิดรับสมัครยังคิดอยู่เลยว่าไม่น่าจะเปิดตอนนี้ เพราะตัวเองยังไม่พร้อม ภาษาก็ยังไม่ได้เก่งถึงขั้น แต่อย่างไรก็ตามการเอาชนะความไม่พร้อมต่างๆ ทำได้โดยการเตรียมตัวและความตั้งใจ  อย่าคิดว่าทำไม่ได้จนกว่าจะลองทำมัน เวลาเตรียมตัวมีน้อยนิดจึงต้องใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่ามากที่สุดมีความอดทน และทุ่มเทกับมัน หากมีความฝันแล้วเราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ เพียงแต่อย่าย่อท้อต่อสิ่งต่างๆ ส่วนอาชีพนักการทูต
ป.ล. หาก กน. หรือ ค่าย กศป.หรือ พรี-ป์จะมีการแนะแนวอาชีพที่ใช้กฎหมายระหว่างประเทศ หรืออาชีพทางด้านการต่างประเทศก็สามารถติดต่อได้นะครับ (Hard Sale มากก) นักการทูตก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้อาชีพอื่นๆ เลย

อ้างอิงจาก  https://web.facebook.com/notes/jutha-saovabha/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C/10152217156868371/?_rdc=1&_rdr

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

O-o DerBraun o-O 28 ส.ค. 60 เวลา 20:26 น. 1-1

เเอาวุฒิป.ตรีไปยื่นก็สอบได้ครับสมัครตามวันเวลาที่เค้าเปิดรับสมัครครับ

0