Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เรียนเมืองนอก สบายจริงหรอ?

ตั้งกระทู้ใหม่

เจ้าของกระทู้เพิ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศหลังจากเดินทางไปๆมาๆ เป็นเวลา 7 ปีและกำลังรอเริ่มงาน ช่วงโควิดระบาดไม่มีอะไรทำมากนักจึงอยากเขียนแบ่งปันประสบการณ์ก่อนที่จะลืมไปเสียก่อนค่ะ ถ้าถูกใจฝากติดตามเพจ "ไปเรียนอะไรมา?" (@paireanarai) ทาง Facebook ด้วยนะคะ ^^

ผู้เขียนได้ยินประโยคนี้บ่อยมากตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลอยู่ที่ประเทศไทย ตอนนั้นก็เกือบจะเชื่อว่าจริงไปแล้ว เพราะรู้สึกว่าชีวิตนักเรียนไทยช่างยากลำบากเหลือเกิน ต้องวิ่งเรียนพิเศษเสาร์-อาทิตย์ นอนก็ดึก ตื่นก็เช้า ส่วนเด็กฝรั่งนั้นดูมีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน น่าจะมีความสุขมากกว่านักเรียนไทยอย่างเราหลายเท่า
เมื่อได้ไปเป็นนักเรียนที่นั่นแล้ว ดิฉันก็อยากจะเขียนป้ายใหญ่ๆ เท่าป้ายโฆษณาบนทางด่วนให้คนทั้งประเทศรู้ว่า "ไม่จริงงงงงงงผิดมาก ผิดถนัด ขึ้นชื่อว่านักเรียนแล้ว ประสบความยากลำบากโดยทั่วกันค่ะ
คำกล่าวที่ว่า "เรียนเมืองนอกสบายตีความได้หลายมุม จึงขอแยกตอบเป็นประเด็นให้ผู้อ่านเห็นชัดๆกันไปเลยว่าสบายอย่างไร ลำบากอย่างไร แบบแฟร์ๆไม่จกตา


"สบาย = เรียนง่าย การบ้านน้อย"
ประเด็นนี้ขอเถียงหัวชนฝาค่ะว่าเรียนไม่ง่าย ถึงการบ้านปริมาณอาจจะน้อยแต่ต้องคิดเยอะค่ะ ปวดสมองแน่ๆสำหรับนักเรียนจากระบบการศึกษาไทยอย่างเราที่ไม่ค่อยชินกับวิธีการสอนแบบกระตุ้นให้คิดเชิงวิพากษ์ (Socratic Method) ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนทั้งระดับมัธยมปลาย (ในโรงเรียนเอกชนและระดับมหาวิทยาลัย พบว่าการศึกษาแบบอเมริกันนั้นต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิงหลายข้อด้วยกัน คร่าวๆคือ ในระบบการศึกษาอเมริกันนักเรียนต้องใช้เวลากับการเรียนรู้ด้วยตัวเองเยอะมาก เช่นอ่านหนังสือเอง (อย่างน้อยวิชาละ 20 หน้า/วัน สำหรับวิชาสายศิลปศาสตร์หรือสังคมศาสตร์หรือเตรียมตัวเพื่อตอบคำถาม/แสดงความคิดเห็นในห้องเรียน (class participation) ซึ่งนับเป็นคะแนนและเก็บคะแนนนี้กันทุกวัน นอกจากนี้อาจารย์มักไม่ชี้บอกว่าตรงไหนสำคัญหรือให้จำตรงไหน นักเรียนต้องตัดสินใจเองว่าจะอ่านส่วนใดมากน้อยเท่าไหร่ หากมีการบ้านประเภทอ่าน (reading assignment) มากเกินไป (90 หน้าขึ้นไป/วัน ถือว่าเยอะสำหรับตัวผู้เขียนกรณีนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยค่ะ 5555 สกิลการเอาตัวรอด และความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางรอดต้องมี โอกาสหน้าผู้เขียนจะเล่าให้ฟังขำๆค่ะว่ามีสกิลอะไรบ้าง   ปริมาณการบ้านและการเคี่ยวเข็นของอาจารย์ไม่ใช่ตัววัดค่ะว่าเรียนสบายหรือไม่สบาย ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จในระบบการศึกษาลักษณะนี้ เราจะต้องปรับตัวเข้าหาวิธีการเรียนแบบใหม่และต้องมีวินัยในตนเองสูง ที่สำคัญคือต้องไม่ท้อจนเทไปซะก่อนนะคะ


"สบาย = ไม่มีลำดับที่ ไม่แข่งกันเรียน ไม่เกิดความกดดัน"
ถ้าคุณเป็นนักเรียนที่กลุ้มใจเรื่องลำดับที่ การถูกเพื่อนถามคะแนน หรือเพื่อนตั้งตนเป็นคู่แข่งกับคุณ ก็ถือว่าการไปเรียนเมืองนอกจะทำให้คุณสบายขึ้นในเรื่องนี้จริงค่ะ เพราะโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาหรือฝรั่งเศส (จากประสบการณ์ของผู้เขียนจะถือว่าเกรดหรือคะแนนเป็นเรื่องส่วนบุคคลและการถามเกรดเพื่อนหรือการประกาศคะแนนหน้าชั้นอาจจะถึงขั้นถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นนักเรียนแต่ละคนจะ focus ที่ผลการศึกษาของตัวเอง ทำให้แบกรับความกดดันจากสังคมน้อยกว่าในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามนักเรียนอเมริกันก็มีรูปแบบการแข่งขันในระบบการศึกษาของเขา (ซึ่งน่ากลัวมากด้วยคือการแข่งกันสร้างโปรไฟล์เริ่ดๆค่ะ เช่นฉันเรียน 2-3 เอกพร้อมกันนะ ฉันเป็นประธานชมรมนี้ ฉันไปแข่งอันนี้ ในขณะเดียวกันฉันก็เป็นนักกีฬาทีมโรงเรียนด้วย และฉันได้ที่ฝึกงานที่เจ๋งมากเลยล่ะสำหรับปิดเทอมหน้า เรียกอีกอย่างคือการแข่งกันเป็นยอดมนุษย์ busy ชนิดที่ว่าใครตารางแน่นที่สุดชนะ คนที่ตารางไม่แน่นต้องมานั่งพิจารณาตัวเองว่า นี่ฉันไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร (ไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนหรือฉันไม่เก่งพอที่จะได้รับโอกาสให้ทำอะไรอย่างอื่นกันแน่ (นอกจากเรียนหนังสือการแข่งขันในลักษณะนี้มักพบในการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่าระดับปริญญาโทค่ะ เนื่องจากเป้าหมายในการสร้างโปรไฟล์ ก็คือการได้งานดีๆหลังจบการศึกษานั่นเอง คนอเมริกันส่วนใหญ่นิยมทำงานสักระยะหนึ่ง (อาจยาวนาน 2-6 ปีก่อนเรียนปริญญาโท หรืออาจจะไม่เรียนเลยหากเห็นว่าไม่จำเป็นสำหรับการทำงานค่ะ สรุปได้ว่าการแข่งขันอาจไม่ชัดเจนชนิดวัดกันด้วยตัวเลขได้แต่มีแน่นอน ขึ้นอยู่กับเราจะใช้สภาพแวดล้อมเช่นนี้เป็นแรงผลักดันตนเองหรือเป็นเครื่องบั่นทอนเท่านั้นเองค่ะ


"สบาย = ใช้ชีวิตสะดวกสบาย"
พักเรื่องเรียนกันสักครู่ สลับไปที่เรื่องการใช้ชีวิตกันบ้าง ส่วนนี้ผู้เขียนเห็นด้วยนะคะว่าการไปเรียนเมืองนอก ชีวิตสะดวกสบายจริงๆ ในแง่การใช้ชีวิตในประเทศที่พัฒนาแล้วเรื่องการเดินทาง การขนส่งและการบริการต่างๆ สมัยที่ online shopping ยังไม่บูมในเมืองไทย ผู้เขียนรู้สึกว่าการซื้อของ online ที่อเมริกาแล้วเราสามารถติดตามเส้นทางการส่งพัสดุได้ มาถึงตรงเวลา และส่งคืนได้เมื่อไม่พอใจสินค้า ช่างเป็นบริการที่ทำให้ชีวิตง่ายเสียจริง การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่รถไม่ติด สามารถกะเวลาในการเดินทางได้อย่างแม่นยำทำให้เราการจัดการตารางชีวิตมีประสิทธิภาพขึ้นมาก การอยู่เมืองที่มีอากาศสะอาด มีพื้นที่สีเขียว ทำให้เราได้ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ได้ดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้เราดูแลตัวเองได้ดีขึ้น รักตัวเองมากขึ้นจริงๆค่ะ ถ้าไม่นับเรื่องที่ต้องเข้าครัวเอง ทำงานบ้านเอง ชีวิตก็สะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจริงๆค่ะ การได้ลองใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ยังทำให้เราได้ทักษะใหม่ๆ ความคิดความอ่านใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วยค่ะ


"สบาย = กลับไทยมาแล้วหางานง่าย ได้งานดี"
มาถึงสบายสุดท้าย "เรียนเมืองนอกหรอ...สบายแล้วววทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำว่าสบายในบริบทนี้มาบ้างนะคะ ความคิดที่ว่าการได้จบการศึกษาจากต่างประเทศจะทำให้คุณได้เปรียบคนที่ไม่ได้ไปเรียน อย่างน้อยก็เรื่องภาษา น่าจะเป็นเหตุผลที่หลายครอบครัวตัดสินใจส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ ข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าจริงแต่ก็ไม่จริงเสียทีเดียวค่ะ ข้อได้เปรียบนั้นมีอยู่จริงค่ะ จะได้เปรียบมากได้เปรียบน้อยขึ้นอยู่กับเมื่อเดินทางไปแล้ว ใช้โอกาสหาความรู้ใส่ตัวมากแค่ไหน หรืออยากไปใช้ชีวิตดีๆ เที่ยวเล่นถ่ายรูปเฉยๆ ที่สำคัญคือผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นว่าการไปเรียนต่างประเทศมีข้อเสียเปรียบในการหางานในประเทศไทยเหมือนกัน นั่นคือหากคุณไปเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีหรือเด็กกว่านั้น คุณจะขาดสังคมเพื่อนหรือเครือข่ายในประเทศไทยไปค่ะ ธรรมดาการหางาน การแนะนำงานผ่านเครือข่ายคนรู้จักหรือเครือข่ายสถาบันการศึกษา สมาคมศิษย์เก่า มีความสำคัญต่อการเข้าถึงข้อมูลประกาศหางานหรือคำแนะนำในการเตรียมตัวสมัครงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศไทยหรือสหรัฐอเมริกา เมื่อเข้างานไปแล้วเพื่อนร่วมงานที่จบจากสถาบันการศึกษาเดียวกันก็อาจสนิทสนมกันได้รวดเร็วกว่าตามธรรมชาติของคนที่มี background ใกล้เคียงกัน คุยกันรู้เรื่อง ดังนั้นคนที่จากบ้านไปเรียนต่างประเทศแต่เด็กหลายๆคนจะประสบปัญหาตกที่นั่งคนหัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่มีกลุ่มก้อนกับเขาได้เหมือนกันค่ะ ผู้ใหญ่ท่านนึงที่คุณแม่ของดิฉันคุ้นเคยเคยบอกว่า ท่านเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็กเพราะต้องย้ายประเทศตามคุณพ่อ แต่เมื่อท่านมีลูกท่านเลือกให้ลูกเรียนที่ประเทศไทยจนถึงระดับปริญญาตรี เพราะท่านบอกว่าสังคมเพื่อนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อนที่สนิทกันแบบไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงและไว้ใจกันได้ คือเพื่อนวัยเด็ก ถ้าลูกท่านจะใช้ชีวิตที่เมืองไทย ควรมีเพื่อนที่โตมาด้วยกันที่เมืองไทย มีอะไรจะได้ไว้ใจช่วยเหลือไหว้วานกันได้ค่ะ

.

.

.

สรุปแล้วเรียนเมืองนอกสบายจริงไหม ผู้เขียนได้แตกเป็นประเด็นๆไว้สุดเท่าที่สมองน้อยๆของผู้เขียนจะนึกออก หากผู้อ่านกำลังตัดสินใจไปเรียน อยากวางแผนอนาคต หรืออยากเข้าใจคนที่เรียนอยู่ต่างประเทศมากขึ้น ลองคิดพิจารณาดูนะคะ

Question? Comment? Concern?
มีคำถาม ความเห็น หรือมีอะไรฝากถึงผู้เขียนไหมคะ...
Comment 
ด้านล่างเลยค่ะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ :))

****ถ้าถูกใจเรื่องราวของเจ้าของกระทู้ หรืออยากติดตามเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับการศึกษาต่อต่างประเทศ การใช้ชีวิตในต่างแดน

     เชิญกด Like กด Follow ---> ไปเรียนอะไรมา? ใน Facebook นะคะ จะพยายามเขียนเรื่องใหม่ๆ ทุกวันเลยค่ะ
   https://www.facebook.com/paireanarai

 

แสดงความคิดเห็น

>