Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวจัดเต็ม! การสอบวิชาเฉพาะแพทย์สำหรับ #dek61 โดยเฉพาะ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
[การสอบวิชาเฉพาะแพทย์]

ในการเตรียมสอบเข้าแพทย์ผ่านระบบ กสพท. นั้น คะแนนส่วนหนึ่ง (30%) มาจากการสอบวิชาเฉพาะแพทย์ การเตรียมตัวสอบในส่วนนี้จะแตกต่างจากการเตรียมตัวสอบวิชาสามัญ เพราะเนื้อหาที่ใช้ออกสอบจะไม่ใช่เนื้อหาวิชาการ แต่จะเน้นวัด "ความถนัด" (aptitude) ของผู้เข้าสอบทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ เชาวน์ปัญญา จริยธรรม และ ความคิดเชื่อมโยง คะแนนส่วนนี้ถือเป็นต้นทุนสำคัญที่ถ้าหากน้องทำได้ดีก็จะช่วยลดความกดดันในการสอบวิชาสามัญลงไปได้มาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะทำคะแนนส่วนนี้ได้ไม่ดี ก็ยังสามารถทำคะแนนวิชาสามัญให้ได้ดีจนกระทั่งสอบติดคณะที่ตัวเองต้องการได้ วันนี้พี่ๆทีม WALKTHROUGH จะมารีวิวข้อสอบวิชาเฉพาะแพทย์ให้น้องๆ #dek61 ทุกคนครับ

ข้อสอบแบ่งออกเป็น 3 ฉบับ ให้เวลาทำฉบับละ **75 นาที** ดังนี้

1. เชาว์ปัญญา (10%) มีข้อสอบทั้งหมด 45 ข้อ (อ้างอิงตามปีการศึกษา 2558) ข้อสอบพาร์ทนี้จะมีหลายรูปแบบ เช่น จับคู่คำในภาษาไทยว่าตัวเลือกไหนไม่เข้าพวก/จับคู่ผิด, เรียงลำดับเหตุการณ์ก่อน-หลัง (ex. ให้ clue ต่างๆมา เช่น A เกิดก่อน B แล้วให้เรียงลำดับ), มิติสัมพันธ์ (ex. ให้ภาพสามมิติมาแล้วถามว่าถ้ามองจากด้านบนจะเห็นเป็นภาพไหน), เรียงลำดับภาพ (ex. ให้ภาพเรขาคณิตมา 3-4 ภาพ แล้วถามหาภาพที่หายไป/ภาพต่อไป), การอ่านจับใจความสำคัญจากบทความที่กำหนดให้, ลำดับอนุกรม (เน้นการเชื่อมโยง) ฯลฯ 

ต้องบอกก่อนว่าข้อสอบแต่ละปีจะเน้นไม่เหมือนกันครับ ยกตัวอย่างเช่น ในปีก่อนๆ ลำดับอนุกรมและมิติสัมพันธ์เป็นหัวข้อที่ข้อสอบออกเยอะ แต่ในปี 2558 เรื่องที่ข้อสอบเน้นคือการอ่านจับใจความสำคัญจากบทความ ดังนั้นน้องๆจึงควรหัดทำข้อสอบจากแหล่งต่างๆให้มากและครอบคลุมทุกเรื่องครับ สิ่งสำคัญคือน้องต้องพยายามทำข้อสอบให้เร็วที่สุด ข้อไหนที่มองแวบแรกแล้วไม่น่าจะคิดออกหรือยังไม่มีไอเดียในการคิดก็ให้ข้ามไปก่อนครับ พาร์ทนี้เป็นพาร์ทที่คนทำไม่ทันเยอะในปีที่พวกพี่สอบ (และอีกหลายๆปี) ดังนั้นการทำข้อสอบให้เร็วและสามารถทำได้ครบจะทำให้น้องได้เปรียบครับ 

สำหรับเรื่องของการเตรียมตัว พี่ๆหลายคนก็จะไปกวดวิชาตามสถาบันต่างๆ พี่ๆหลายคนจะเน้นหาโจทย์มาฝึกทำเอง อันนี้ก็แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคนครับ แต่พี่ไม่อยากให้น้องๆยึดติดกับแนวข้อสอบเก่าของตามสถาบันกวดวิชา เพราะข้อสอบสามารถพลิกแพลงได้ตลอดเวลาและมีอะไรใหม่ๆออกมาทุกปีครับ น้องจึงควรเก็บเกี่ยวทักษะในการคิดจากการเรียนกวดวิชา (ถ้าเรียน) และเน้นฝึกทำโจทย์เยอะๆเพื่อให้เห็นแนวทางในการคิดมากกว่าครับ 

เนื่องจากข้อสอบเป็นการวัดความถนัด พี่ๆขอเน้นว่าการเรียน/ไม่เรียนกวดวิชาไม่ได้ทำให้น้องได้คะแนนต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ การที่น้องได้คะแนนดี/ไม่ดีนั้นมาจาก 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. ทักษะของตัวน้องเอง ซึ่งบางคนมีทักษะในด้านนี้ดีก็จะได้เปรียบเพื่อนคนอื่น เช่น ทักษะด้านภาษา มิติสัมพันธ์ เป็นต้น และ 2. การฝึกฝนทำโจทย์จนคล่อง ทำให้สามารถบริหารเวลาในห้องสอบได้ดี

2. จริยธรรม (10%) ข้อสอบมีทั้งหมด 80 ข้อ ลักษณะข้อสอบจะเป็นการยกตัวอย่างสถานการณ์ต่างๆมาให้แล้วให้น้องเลือกคำตอบ/ความคิดเห็น/วิธีแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่โจทย์กำหนดมากที่สุดครับ เช่น โจทย์อาจจะถามว่าข้อใดเป็นลักษณะสำคัญที่สุดของการเป็นแพทย์ ซึ่งในตัวเลือกที่ให้มาก็จะมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ 2-3 ตัวเลือก แต่จะมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงตัวเลือกเดียวเท่านั้นครับ คำแนะนำในการทำข้อสอบฉบับนี้คือพยายามอ่านโจทย์ให้เข้าใจว่าโจทย์ต้องการถามอะไรและเลือกตัวเลือกที่ตอบตรงคำถาม, อยู่ในความเป็นจริง, แสดงออกถึงความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบบไม่"โลกสวย"จนเกินไปครับ ในหลายๆข้อจะมีบางตัวเลือกที่ดูดึ มีเหตุผล แต่ตอบไม่ตรงคำถาม ซึ่งน้องๆสามารถตัดตัวเลือกเหล่านั้นทิ้งไปได้ครับถ้าเราอ่านโจทย์ให้ดีและเคลียร์ การทำข้อสอบฉบับนี้พี่แนะนำให้ใช้ sense เป็นหลักครับ อย่าพยายามนั่งงมหรือนั่งเดาใจคนออกเพราะเวลามีจำกัด ข้อสอบออกแบบมาเพื่อให้เราสามารถทำได้ครั้งเดียวอยู่แล้วครับ ดังนั้นไม่ต้องเผื่อเวลาตรวจทานคำตอบ (แต่อย่าลืมตรวจสอบความเรียบร้อย เช่น ฝนครบทุกข้อ ฝนรหัสประจำตัว ฯลฯ ก่อนส่ง) อีกเหตุผลที่พี่แนะนำให้น้องทำครั้งเดียวเพราะจากประสบการณ์ของพี่ๆแล้ว ยิ่งน้องกลับมาตรวจทานน้องจะยิ่งลังเลครับ

หลังออกมาจากห้องสอบ ให้รีบตั้งสติเตรียมความพร้อมสำหรับฉบับถัดไปครับ ไม่ต้องห่วงว่าคำตอบของเราไม่เหมือนกับของเพื่อน เพราะจริงๆแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าคำตอบที่ดีที่สุดของแต่ละข้อคืออะไร 

สำหรับการเตรียมตัวในพาร์ทนี้ พี่แนะนำให้น้องเอาแนวข้อสอบเก่าๆมาฝึกทำเพื่อให้เห็นแนวทางก็พอครับ เพราะการที่น้องจะได้คะแนนมาก/น้อย (ไม่นับกรณีทำข้อสอบไม่ทัน) ขึ้นกับตัวน้องเองล้วนๆครับ พี่คิดว่าการเรียนพิเศษไม่ค่อยมีผลอะไรเท่าไหร่ แต่ที่สำคัญคือต้อง **อ่านให้เร็ว จับใจความให้ได้ แล้วหมั่นดูเวลาระหว่างทำข้อสอบอยู่เสมอครับ**

3. ความคิดเชื่อมโยง (10%) ข้อสอบจะเป็นลักษณะของบทความ 1 บทความ มีคำที่กำหนดให้จากบทความ 20 คำ แล้วให้น้องๆฝนรหัสคำตอบแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำต่างๆในบทความที่กำหนดให้ รหัสคำตอบจะมีทั้งหมด 4 แบบ คือ A D F และ 99H เหมือนกับข้อสอบ GAT เชื่อมโยง >>แต่ในบทความจะไม่มีการทำตัวหนาตรงคำที่กำหนดให้ น้องต้องไปหาคำเหล่านั้นเองในบทความ<< สิ่งที่พี่แนะนำคือก่อนเริ่มทำข้อสอบ ให้น้องขีดเส้นใต้/ทำเครื่องหมายคำโจทย์ที่กำหนดให้ในบทความให้*ครบทุกที่* เน้น! คำ 1 คำอาจปรากฏมากกว่า 1 ครั้งในบทความ

ในระหว่างทำข้อสอบ พี่แนะนำให้น้องทำไปทีละ paragraph ครับ ให้อ่านรอบแรกเพื่อดูใจความสำคัญก่อน แล้วเริ่มอ่านเจาะทีละประโยคเพื่อหาความเชื่อมโยงครับ ให้น้องอ่าน keyword ที่แสดงความเชื่อมโยงให้ดีๆครับ เช่น "ทำให้", "มีผลยับยั้ง", "เป็นส่วนหนึ่งของ" ฯลฯ และที่สำคัญให้น้องดูให้ดีครับว่าคำที่เค้ากำหนดให้คือคำว่าอะไร เช่น ถ้าในบทความเขียนว่า "ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการจราจร" เราอาจเขียนความสัมพันธ์ได้แตกต่างกันตามการกำหนดคำของข้อสอบ ดังนี้

แบบที่ 1: ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น ---> ปัญหาการจราจร
แบบที่ 2: สาเหตุของปัญหาการจราจร --- ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น

น้องจะเห็นได้ว่าการกำหนดคำเป็น "สาเหตุของปัญหาการจราจร" และ "ปัญหาการจราจร" จะทำให้คำตอบที่ได้แตกต่างกันครับ

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรระวังในการทำข้อสอบฉบับนี้คือ ให้ตอบตามสิ่งที่ปรากฏในบทความเท่านั้น อย่าคิดเองเออเองเพราะจะทำให้ผิดและเสียคะแนนไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ (อย่าลืมว่าถ้าตอบผิด นอกจากจะไม่ได้คะแนนแล้วยังติดลบอีกด้วย)

การเตรียมตัวสำหรับข้อสอบฉบับนี้ที่ดีที่สุดคือการฝึกทำเยอะๆครับ ลองหาหนังสือโจทย์ที่รวบรวมบทความต่างๆจากข้อสอบเก่ามาฝึกทำแล้วตรวจกับเฉลยครับ ยิ่งทำเยอะน้องจะยิ่งคล่องและแม่นยำขึ้น สามารถหาความเชื่อมโยงได้เร็วขึ้นและจะทำให้น้องทำข้อสอบทันครับ ในระหว่างทำช้อสอบฉบับนี้ให้น้องตั้งสติตลอดเวลาครับ เพราะเป็นฉบับที่ต้องอาศัยสมาธิในการทำค่อนข้างมาก พยายามอ่านแล้วคิดตาม อย่าหลุด หมั่นดูเวลาอยู่เสมอ พี่เชื่อว่าถ้าน้องฝึกมามากพอ น้องทำทันอย่างแน่นอนครับ

ข้อสอบฉบับนี้เป็นข้อสอบที่สามารถทำให้ได้คะแนนเต็มได้ พี่จึงคิดว่ามันคุ้มแน่นอนครับถ้าน้องจะให้เวลากับการฝึกทำข้อสอบฉบับนี้ให้ได้คะแนนเต็ม คนส่วนมากที่ได้ฉบับนี้เต็มก็มักจะได้คะแนนความถนัดสูงเกิน 20 คะแนน

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่พี่อยากจะเน้นคือ การสอบวิชาเฉพาะเป็นการสอบที่เคร่งครัดมาก เมื่อหมดเวลาแล้วน้องต้องวางดินสอ**ทันที** มิฉะนั้นจะถูกกาหัวกระดาษและถือว่าทุจริต ในปีหลังๆมานี้จะไม่อนุญาตให้นำเครื่องเขียนเข้าห้อง ก่อนเข้าห้องสอบให้น้องตรวจเช็คตัวเองให้ดีว่าลืมอะไรไว้ในกระเป๋ากางเกงหรือไม่ และนำเฉพาะสิ่งที่ได้รับอนุญาตเข้าห้องสอบเท่านั้น ในช่วงเวลาพักระหว่างการสอบแต่ละฉบับให้น้องทำใจให้สบาย ไม่ต้องนึกถึงการสอบที่ผ่านมา แล้วตั้งสติเพื่อทำฉบับถัดไปให้ดีที่สุดครับ

ขอให้น้อง #dek61 ทุกคนโชคดีในการสอบนะครับ

ติดตามข่าวสารดีๆและเทคนิคการเตรียมตัวสอบ ได้ที่
FB: Walkthrough
IG: walkthrough_simulator
Line: Walkthrough (@Ihw2075i)


แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น