Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

มาทำความรู้จัก “ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” กันเถอะ ;)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ทำความรู้จักภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลายๆคนน่าจะมีคำถามเกี่ยวกับภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยาว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร จบไปทำงานอะไร เราจึงขออธิบายง่ายๆเกี่ยวกับภาควิชานี้เพื่อนให้ทุกๆท่านได้เข้าใจกันง่ายขึ้น ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นภาควิชาในคณะสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำเอาศาสตร์วิชาทางสังคมศาสตร์ 2 สาขาเข้ามารวมกันคือ 1. สังคมวิทยา และ 2. มานุษยวิทยา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันเข้ามาใช้สอนควบคู่ในหลักสูตรเดียว โดยทั้งสองศาสตร์นั้นศึกษาเรื่องดังต่อไปนี้
“สังคมวิทยา” วิชานี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ คำถามคือศึกษาอย่างไร? หากยกตัวอย่างวิชาวิทยาศาสตร์ที่มุ่งศึกษาวัตถุชิ้นหนึ่งถึงข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับวัตถุนั้น เช่น ในการศึกษา "แกะ" ตัวหนึ่ง นักชีววิทยาก็จะมีประเด็นต่างๆที่มุ่งสนใจศึกษา เช่น แกะนั้นเกิดมาได้อย่างไร (จากการผสมพันธุ์ของพ่อแม่แกะ) แกะนั้นมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร (การทำงานร่วมกันระหว่างอวัยวะต่างๆโดยใช้พลังงานจากอาหารที่แกะกิน) อะไรที่ทำให้แกะแต่ละตัวมีหน้าตาแตกต่างกันออกไป (เงื่อนไขทางพันธุกรรมของแกะ) 

  ในทำนองเดียวกัน เราอาจเทียบ "แกะ" ของ "นักชีววิทยา" ได้กับ "สังคม" ของ "นักสังคมวิทยา" และมีคำถามที่เกี่ยวกับสังคมมาคอยชี้นำการศึกษา เช่นเดียวกับคำถามเกี่ยวกับแกะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น สังคมเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ดำรงอยู่ได้อย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เป็นต้น 
เนื้อหาที่น้องๆจะได้พบหลังเข้ามาเรียนวิชานี้ ประกอบไปด้วย
1. ศึกษาสังคมในด้านต่างๆ เช่น ความขัดแย้งทางสังคม (อย่างการใช้อำนาจของรัฐบาลทหาร หรือ ความบาดหมางระหว่างพนักงานในองค์กรธุรกิจ) ระบบความคิดในสังคม (ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมการเข้าศึกษาแพทย์ศาสตร์ในสังคมไทย) หรือการสื่อสารกันระหว่างสมาชิกในสังคม
ตัวอย่างวิชาที่จะได้ศึกษา 
- สังคมวิทยาเบื้องต้น
- แนวคิดและทฤษฎีทางสังคมวิทยา
2. ประยุกต์ความรู้ที่ได้มาสะท้อนสภาพสังคมจริงๆ
ตัวอย่างวิชาที่จะได้ศึกษา
- สังคมวิทยาเมือง
- สังคมวิทยาชนบท
3. เรียนวิธีทำการวิจัยสังคม เพื่อใช้หาความรู้เพิ่มเติมนอกจากในบทเรียน
“มานุษยวิทยา” วิชานี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ในด้านต่างๆซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 ด้านใหญ่ๆที่จะได้เจอในเนื้อหาการเรียนการสอน
    1. มานุษยวิทยาวัฒนธรรม มุ่งศึกษาผลผลิตที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่เป็นวัตถุอย่างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ รวมถึงความเชื่อทางศาสนา วิธีหาอาหาร ตลอดจนบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยของผู้คน โดยดูสิ่งเหล่านี้ในแต่ละสังคมมีลักษณะอย่างไร และแตกต่างกันอย่างไร
เช่น ลักษณะนิสัยการบริโภคสินค้าราคาแพง หรือความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติของคนไทย เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? และสิ่งเหล่านี้มีผลต่อวิถีชีวิตของคนไทยอย่างไรบ้าง?
ตัวอย่างวิชาที่จะได้ศึกษา
- มานุษยวิทยาเบื้องต้น
- มานุษยวิทยาวัฒนธรรม
    2. โบราณคดี คล้ายคลึงกับมานุษยวิทยาวัฒนธรรม คือการศึกษาผลผลิตของมนุษย์ด้านต่างๆ เพียงแต่จะศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ในอดีตอันไกลโพ้น เช่น วัฒนธรรมสมัยสุโขทัย
ตัวอย่างวิชาที่จะได้ศึกษา
- โบราณคดีเบื้องต้น ( มีลงพื้นที่ศึกษาแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย )
    3. มานุษยวิทยากายภาพ มุ่งศึกษาลักษณะทางชีวภาพของมนุษย์และอธิบายว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการมาอย่างไรบ้าง โดยมีประเด็นคำถาม เช่น ทำไมเราจึง "ประหลาด" กว่าสัตว์อื่นๆ อะไรทำให้มนุษย์สามารถสร้างสังคมที่ซับซ้อนขณะที่สัตว์อื่นทำไม่ได้ และมีความเฉลียวฉลาดกว่าสัตว์ทั่วไปอย่างเทียบไม่ติด
ตัวอย่างวิชาที่จะได้ศึกษา
- มานุษยวิทยาชีวภาพ
    4. มานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ มุ่งศึกษาระบบภาษาของมนุษย์ ที่จะสะท้อนถึงวิธีคิดของผู้คนและสภาพสังคม
ยังไม่มีวิชาที่เปิดสอน




ชื่อหลักสูตร
ปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หลักสูตรปรับปรุงปี พ.ศ.2560
ภาษาไทย : ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
English: Bachelor of Arts Program in Sociology and Anthropology
ชื่อปริญญา
ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : ศิลปศาสตรบัณฑิต (สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา)
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : ศศ.บ. (สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา)
Full Name: Bachelor of Arts (Sociology and Anthropology)
Short Name: B.A. (Sociology and Anthropology)

วิชาเฉพาะบังคับที่เปิดสอนในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถิติประยุกต์เบื้องต้น (Elementary Applied Statistics)
สังคมวิทยาเบื้องต้น (Introduction to Sociology)
การจัดระเบียบสังคม (Social Organization)
แนวความคิดและทฤษฎีสังคมวิทยา (Sociological Thought and Theory)
สังคมวิทยาชนบท (Rural Sociology) หรือ มานุษยวิทยาชนบท (Rural Sociology)
สังคมวิทยาเมือง (Urban Sociology) หรือ มานุษยวิทยาเมือง (Urban Anthropology)
จิตวิทยาสังคมแนวสังคมวิทยา (Sociological Social Psychology)
หลักประชากรศาสตร์ (Principles of Demography)
ระเบียบวิธีวิจัยพื้นฐานทางสังคมศาสตร์ (Basic Research Methods in Social Science)
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural Change)
ปัญหาสังคม (Social Problems)
การพัฒนาชุมชน (Community Development)
ปฏิบัติการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Social Science Research Practicum)
การเขียนเชิงวิชาการทางสังคมวิทยา (Academic Writing in Sociology) หรือ การเขียนเชิงวิชาการทางมานุษยวิทยา (Academic Writing in Anthropology)
การศึกษาค้นคว้าอิสระ (Independent Study) หรือ การศึกษาค้นคว้าอิสระ (Independent Study)
01460497 สัมมนา (Seminar) หรือ 01461497 สัมมนา (Seminar)
มานุษยวิทยาเบื้องต้น (Introduction to Anthropology)
มานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology)
มานุษยวิทยาชีวภาพ (Biological Anthropology)
โบราณคดีเบื้องต้น (Introduction to Archaeology)
แนวความคิดและทฤษฎีมานุษยวิทยา (Anthropological Thought and Theory)
ชาติพันธุ์ศึกษา (Ethnic studies)
มานุษยวิทยาเศรษฐกิจ (Economic Anthropology)
มานุษยนิเวศน์ (Ecological Anthropology)
วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Methods in Qualitative Research)

**หมายเหตุ : ทั้งนี้นิสิตยังสามารถเลือกเรียนวิชาอื่นๆที่สนใจนอกภาควิชาได้เป็นวิชาโท เช่น จิตวิทยา นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ หรือบริหาร






รูปแบบการเรียนในห้อง การลงพื้นที่ภาคสนาม และการสอบ
การเรียนของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น เป็นการเรียนแบบฟังบรรยายเป็นส่วนใหญ่ เพราะนิสิตต้องเรียนรู้จากทฤษฎีก่อนแล้วจึงนำความรู้และแนวคิดจากทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในการทำงานภาคสนามหรืออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งทฤษฎีที่นิสิตในภาควิชานี้ต้องเรียนมีหลากหลายเรื่องแตกต่างกันไปตามมุมมองต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสังคม ลักษณะของการเรียนในห้องเรียนจึงไม่เพียงแต่ฟังและจดบันทึกตามบรรยายเท่านั้น แต่ลักษณะการเรียนในห้องของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของที่นี่ นิสิตต้องเรียนอย่างมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับอาจารย์อยู่เสมอ ด้วยเนื้อหาการเรียนทางศาสตร์นี้สอนให้เรามีความกล้าที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และพยายามหาคำตอบที่เป็นเหตุและผลมาตอบหรืออธิบายข้อสงสัยต่างๆเหล่านั้นให้เกิดความกระจ่าง  ซึ่งคำตอบหรือคำอธิบายมักไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดเห็นของเรา น่าจะเรียกได้ว่าบรรยากาศในห้องเรียนของที่นี่มีความตื่นตัวทั้งนิสิตและอาจารย์อยู่เสมอ  ทั้งนี้ศาสตร์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคือการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจผู้คน คนอื่นที่อยู่ในสังคมร่วมกับตัวเรา นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนแล้วยังมีการศึกษาภาคปฏิบัติ หรือในทางสังคมศาสตร์เรียกว่าการศึกษาวิจัยภาคสนาม ซึ่งนิสิตมักเรียกกันว่า ‘ออกฟิลด์’  ‘ลงฟิลด์’ มาจากคำว่า Field Work นั่นเอง ซึ่งการศึกษาวิจัยภาคสนามนี้ถือเป็นหัวใจหลักของการศึกษาทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เนื่องจากนิสิตต้องนำความรู้ที่ได้จากการเรียนในห้อง นำไปประยุกต์ใช้ในการลงพื้นที่จริง เพื่อเก็บข้อมูลจากคนหรือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ตามความสอดคล้องกับเรื่องและประเด็นที่เราต้องการจะศึกษา โดยอาศัยกระบวนวิธีการศึกษาชุดหนึ่งคือ  วิธีแบบ Emic View และ Etic View ที่เป็นวิธีการศึกษาวิจัยภาคสนามผ่านมุมมองของ “คนใน” (Emic: ยูนิตหรือสิ่งที่กำลังศึกษา ซึ่งรวมถึงการเข้าไปสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมของเหล่านักมานุษยวิทยา)  กับ “คนนอก” (Etic: จากมุมมองของคนนอก ทฤษฎี อคติ หรือก็คือตัวผู้ศึกษาเองในฐานะที่เป็น “คนอื่น”)  (อ้างอิงจาก ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข , มองวิชาสิทธิมนุษยชน(และอื่นๆ)ผ่านคำย้ำเตือนในการศึกษาภาคสนามทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ) ซึ่งสิ่งที่เราได้รับจากการศึกษาภาคสนามนอกเหนือจากข้อมูลแล้ว เรายังได้ประสบการณ์การทำงานเป็นทีม และได้ประสบการณ์ที่อาจเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเราอีกด้วย ส่วนนี้จะทำให้เรามีมุมมองต่อปรากฏการณ์ทางสังคมที่กว้างขึ้น และสร้างอัตลักษณ์ติดตัวให้แก่คนเรียนสาขาวิชานี้ให้เป็นที่ช่างคิด ช่างสังเกต รู้จักตั้งคำถามและเปิดกว้างต่อทุกมุมมองเคารพต่อทุกความคิดเห็น 
เมื่อผ่านการเรียนจากการฟังบรรยายในห้องและการศึกษาวิจัยภาคสนามมาแล้ว ต่อไปก็จะเข้าถึงกระบวนการสอบ โดยการสอบของสาขานี้ ข้อสอบเป็นลักษณะอัตนัย (เขียนตอบ) ทั้งสิ้น เพื่อให้เราได้ใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์และสังเคราะห์สิ่งที่เราได้เรียนรู้ ผ่านการเขียนตอบออกมาเป็นคำตอบ ทั้งนี้ยังเป็นการฝึกกระบวนการเรียบเรียงข้อมูล สิ่งที่เราคิดได้ในขณะนั้นว่าจะเขียนออกมาอย่างไรให้อาจารย์อ่านแล้วเกิดความเห็นด้วยหรือเข้าใจในความคิดความเข้าใจของเราที่เราต้องการสื่อถึงเรื่องนั้นๆ  โดยการสอบดังกล่าวแบ่งออกได้เป็น2ช่วง คือช่วงสอบกลางภาค (Midterm Examination ) และช่วงสอบปลายภาค (Final Examination) ซึ่งแต่ละวิชาของสาขานี้มีการกำหนดการสอบไว้ คือ วิชาหนึ่งอาจมีทั้งการสอบทั้งสองช่วง และอีกวิชาหนึ่งอาจมีแค่การสอบปลายภาคเท่านั้น เช่นเดียวกับการตัดเกรด ที่มี 2 รูปแบบ คือ ตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ หมายถึง การตัดเกรดตามคะแนนที่นิสิตทำได้จากคะแนนที่อาจารย์กำหนด ไม่มีคลาดเคลื่อนไปจากลำดับคะแนนที่วางไว้ กับอีกรูปแบบคือ ตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม หมายถึง การตัดเกรดโดยอิงค่าเฉลี่ยของคะแนนที่กลุ่มนิสิตกลุ่มหนึ่งลงเรียนวิชานั้น ส่วนใหญ่แล้วในหลายวิชาของสาขานี้ตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์มากกว่า
มุมมองที่จะได้รับจากการศึกษาในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
การเรียนสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยานั้น ทำให้ผู้เรียนมีทัศนคติในการมองปรากฏการณ์และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยมุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้น รู้จักการอธิบายและการให้ความหมายอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทั้งยังทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของสังคมมนุษย์จนถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัวมนุษย์  เปรียบเสมือนการมองภาพสังคมผ่านเลนส์หลายรูปแบบ  ทัศนคติมุมมองที่เปิดกว้างดังกล่าวจะช่วยลดความนิยมในชาติพันธุ์ของตัวหรือลดความอคติ (Ethnocentrism) ของมนุษย์ในสังคมต่างๆ คือ การมองโลกโดยผ่านเลนส์แคบๆผ่านวัฒนธรรมของตัวเอง หรือผ่านสถานภาพทางสังคมของตัวเอง เปลี่ยนเป็นมองสิ่งที่อยู่นอกจากตัวเราเองมากขึ้น (อ้างอิงจาก บ้านจอมยุทธ, บทความประโยชน์ของมานุษยวิทยา)
ประโยชน์ของสาขาวิชาและการประยุกต์
หลักสูตรประกอบด้วย สาขาวิชาย่อยของทั้งด้านสังคมวิทยาและด้านมานุษยวิทยา เช่น โบราณคดี มานุษยวิทยาวัฒนธรรม การจัดระเบียบสังคม การพัฒนาสังคม สังคมวิทยาชนบท หลักประชากรศาสตร์ และวิชาอื่นๆ อีกทั้งผู้เรียนยังจะได้รับการฝึกทำวิจัยภาคสนาม โดยเป็นการผสมผสานใช้ความรู้ทั้งวิธีการทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมาประกอบกัน  โดยประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกภาคสนาม ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะ ความสามารถในการเตรียมพร้อมสำหรับเข้าสู่วิชาชีพที่ตรงสาขาในอนาคต เช่น การเป็นนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ ที่ปรึกษาในหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน (อ้างอิงจาก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,  ประวัติภาควิชา) 

คำแนะนำจากรุ่นพี่
สวัสดีครับ พี่เป็นนิสิตสัง-มา รุ่น 46 นะครับ (ปีการศึกษา 2557) เข้าเรื่องเลยนะครับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้นสำหรับการอ่าน พี่จะขอแยกประเด็นเป็นหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้นะครับ
 1) สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่างกับที่อื่นอย่างไร
ต้องขอบอกก่อนเลยว่า ที่นี่เป็นเพียงภาควิชาเท่านั้น ซึ่งอยู่ในคณะสังคมศาสตร์ ดังนั้น วุฒิที่จบมาจึงเป็นเพียง ศิลปศาสตรบัณฑิตเท่านั้น ในการเรียน 4 ปี น้องๆจะต้องเรียนหลักสูตรทั้งสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาควบคู่กันไป ไม่มีการแยกสายเรียน แต่บางวิชาสามารถเลือกได้ว่า จะเรียนทางสังคมหรือมานุษ Ex. สังคมวิทยาเมือง และมานุษยวิทยาเมือง ซึ่งเป็นวิชาที่ให้น้องเลือกเรียนตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากมธ.ที่เปิดเป็นคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเลย อีกทั้งในชั้นปีที่สูงขึ้น น้องๆสามารถเลือกได้เลยว่าจะเรียนทางด้านไหนระหว่างสังคมวิทยา กับ มานุษยวิทยา 

 2) เรียนภาคนี้จบมาทำอะไร
ภาควิชานี้มีลักษณะของสาย “วิชาการ” ซึ่งก็คือ ไม่ได้จบมาแล้วทำงานเฉพาะทางโดยตรงเลย ต่างจากสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นสาย “วิชาชีพ” มากกว่า การเรียนภาคสัง-มา คือการเรียนวัฒนธรรม สังคม และมนุษย์ ดังนั้นเมื่อจบมาสามารถทำงานได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าเราจะ Adapt ไปทางไหน เช่น เป็นฝ่าย HR แม้กระทั่งจบแล้วเป็นแอร์โฮสเตสก็มี เป็นไกด์ก็ได้ หรือถ้าตรงสายหน่อย ก็ทำด้านพัฒนาสังคม เป็นนักวิจัย หรือหากเรียนต่อสูงๆหน่อยก็เป็นนักวิเคราะห์สังคมได้

 3) เข้ามาแล้วจะมีเพื่อนมั้ย มีพี่น้องมั้ย แล้วมีระบบ SOTUS อยู่อีกไหม
ในคณะสังคมศาสตร์มักมีการทำกิจกรรมระหว่างกันอยู่เสมอ ทำให้เราจะพบหน้ากันบ่อยมาก ยิ่งคนในภาคไม่ต้องพูดถึง เพราะได้เจอหน้ากันเกือบทุกวัน เวลาเรียนเสร็จ เรามักจะไปรวมตัวกันที่ซุ้มสัง-มาเพื่อนนั่งคุยเล่นระหว่างเพื่อน พี่ และน้องๆกันเสมอๆ (ในคณะสังคมจะมีซุ้มของแต่ละภาคไว้นั่งพักผ่อนตามอัธยาศัยกัน ซุ้มเราอยู่ใต้อาคาร2 มีพัดลม มีล็อคเกอร์ให้ใช้ ดีจะตาย 555) อีกทั้งเรายังมีกิจกรรม เช่น การจับสายรหัส การออกค่ายเพื่อพัฒนาโรงเรียนและฝึกลงพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งทำให้พวกเราสนิทกันมากทั้งพี่ น้อง และเพื่อนๆ สำหรับพี่การเรียนที่นี่เหมือนไม่ได้แค่มาเรียนอย่างเดียว แต่มาเพื่อเจอกับเพื่อนๆ น้องๆ ด้วย ส่วนเรื่อง SOTUS นั้น เป็นเรื่องที่ล้าหลัง ในปัจจุบันระบบการรับน้องรูปแบบนี้มันจางหายไปเยอะมากแล้ว ยิ่งในภาควิชาไม่ได้มีระบบนี้แล้ว ภาคเรารู้สึกว่าการทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องมีการว๊าก แต่เน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นสิ่งที่ทำให้เราสนิทกันมากขึ้นโดยไม่ต้องว้าก

 4) เรียนยากไหม
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะแต่ละคนก็มีความถนัด และความชอบไม่เหมือนกัน พี่ว่าถ้าเราตั้งใจเรียน อะไรๆก็ไม่ยาก รู้จักแบ่งเวลา เรียนก็ตั้งใจ ตั้งแต่เนิ่นๆ เกรดที่ออกมาจะไม่แย่เลย 
 
5) เรียนภาคนี้ต้องลงภาคสนามจริงไหม แล้วหนักมากไหม
การเรียนสัง-มา ก็คือการเรียนสังคมที่มีความหลากหลาย ดังนั้นการเก็บข้อมูลได้ก็ต้องมีการลงพื้นที่จริง ซึ่งจริงๆแล้วมันก็ไม่ได้หนักอะไร เหมือนฝึกเรารู้จักเข้าหาคนให้มากขึ้น ฝึกไหวพริบในการตั้งคำถาม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งป็นสิ่งที่ควรมีในทุกๆคนนะ 
สำหรับพี่ก็ไม่มีอะไรแนะนำเพิ่มเติม มากไปกว่าขอให้น้องค้นหาตัวเองให้เจอ และขอให้น้องๆเลือกเรียนจากภาคเป็นหลัก อย่าเลือกเรียนเพียงเพราะชื่อมหาลัยฯ แต่พี่อยากให้น้องได้อยู่กับสิ่งที่น้องๆรัก ถ้าน้องรู้จักพัฒนาศักยภาพตัวเอง ไม่ว่าน้องจะอยู่ที่ไหน สภาพแวดล้อมอย่างไร พี่คิดว่าน้องสามารถผ่านไปได้ด้วยความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่เพียงเพราะชื่อมหาลัยฯ ขอให้ประสบความสำเร็จในการหนทางที่เลือกนะครับ ^^



แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น