Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

(Review) TU-GET : สอบครั้งแรกให้ได้ 800+ (ฉบับไม่เรียนพิเศษ)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกคน เราได้เข้าสอบ TU-GET เป็นครั้งแรก รอบวันที่ 14 ธ.ค. 62 ที่ศูนย์สอบ รร.เซนต์คาเบรียลค่ะ ในกระทู้นี้เราจะเขียนเกี่ยวกับการสอบ TU–GET เพื่อแชร์ประสบการณ์ในการสอบ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้นะคะ
1. รูปแบบการสอบ TU–GET
2. รีวิวการเตรียมตัวสอบ
3. ส่วนประกอบของข้อสอบและเทคนิคการทำ
 
เราสอบ TU-GET เพื่อวัดความรู้เฉยๆค่ะ ไม่ได้นำผลคะแนนไปยื่นนะคะ ปกติสามารถสอบ TU-GET  ได้ทั้ง ที่ศูนย์สอบ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต (เปิดสอบทุกเดือน เดือนละครั้ง) และ รร.เซนต์คาเบรียล (เป็นศูนย์สอบปีละ 2 ครั้ง : ในเดือน ส.ค. และ ธ.ค.)
(ช่วงนี้เกิดสถานการณ์การระบาดของ COVID–19 มีการเลื่อนวันสอบค่ะ)
 
ส่วนตัวเราเองสมัครสอบกับศูนย์สอบ รร.เซนต์คาเบรียล เพราะเดินทางสะดวกกว่า มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าค่ะ
 
1. รูปแบบการสอบ TU–GET
การสอบ TU-GET หรือ Thammasat University General English Test มี 2 รูปแบบ คือ Computer–based Test (CBT) และ Paper–based Test (PBT) ค่ะ
ความแตกต่่างระหว่าง TU–GET (CBT) กับ TU–GET (PBT) (ข้อมูล วันที่ 13 เม.ย.63)
TU–GET (CBT) เป็นการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ คะแนนเต็ม 120 คะแนน ข้อสอบมี 4 พาร์ท คือ Reading, Listening, Speaking และ Writing  โดยคะแนนสอบ TU–GET (CBT) สามารถเทียบเคียงกับคะแนนสอบ TOEFL (iBT) ได้ค่ะ
ค่าสมัครสอบ (ศูนย์รังสิต) : 1,000 หรือ 1,500 บาท (ขึ้นอยู่กับช่วงวันที่สมัคร)
ศูนย์ รร. เซนต์คาเบรียลไม่ได้จัดสอบ CBT
​TU–GET (PBT) เป็นการสอบด้วยข้อสอบกระดาษ คะแนนเต็ม 1,000 คะแนน ข้อสอบมี 3 พาร์ท คือ Structure, Vocab และ Reading 
ค่าสมัครสอบ (ศูนย์รังสิต) 500 หรือ 700 บาท (ขึ้นอยู่กับช่วงวันที่สมัคร)
ส่วนค่าสมัคร (ศูนย์รร.เซนต์คาเบรียล) อยู่ที่ 600 บาทค่ะ
 
ในรีวิวนี้เราขอเน้นไปที่ Paper–based Test (PBT) นะคะ เพราะเป็นรูปแบบที่เราสอบค่ะ
 
2. รีวิวการเตรียมตัวสอบ
การเตรียมตัวสอบคงหนีไม่พ้นการฝึกทำแนวข้อสอบค่ะ ส่วนตัวพื้นฐานเราค่อนข้างโอเคอยู่แล้ว ช่วงก่อนสอบเลยทำแค่แนวข้อสอบในหนังสือ TU–GET Volume 1 เล่มเดียวค่ะ เล่มนี้มี Practice tests 6 ชุด ตอนทำแนะนำให้จับเวลาไปด้วยนะคะ (3 ช.ม.)

 

ย้อนกลับไปตอนที่เราเริ่มปูพื้นฐานไวยากรณ์ (เมื่อนานมาแล้ว) เราทำแบบฝึกในหนังสือ basic grammar และ grammar 1000 ข้อ ของ ดร.ศุภวัฒน์ค่ะ 2 เล่มนี้ช่วยทำให้พื้นฐานไวยากรณ์ดีขึ้น ที่ต้องปูพื้นฐานให้ดีนั้น เพราะไวยากรณ์มีอยู่ทุกส่วนของข้อสอบ หากแม่นไวยากรณ์ก็จะช่วยเพิ่มคะแนนพาร์ท Error Identification, Sentence completion และ Cloze test ได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม ข้อสอบไม่ได้วัดแค่ไวยากรณ์ แต่วัดคำศัพท์และทักษะการอ่านทำความเข้าใจด้วย
เราเลยหาโจทย์ reading มาทำบ้าง ส่วนพาร์ทคำศัพท์ เราชอบจำคำศัพท์เป็นกลุ่ม จำ synonyms (คำที่มีความหมายเหมือน) และจำ antonyms (คำความหมายตรงกันข้าม) ค่ะ เราใช้วิธีดึงคำศัพท์ออกมาจากประโยคมากกว่าการจำคำศัพท์เป็นคำโดดๆ เพราะจะได้เห็นวิธีใช้ศัพท์และบริบทของมันในประโยค
ทั้งนี้ เวลาทำแบบฝึกทุกชุด เราจะอ่านเฉลยทุกครั้งแล้วจดส่วนที่ตัวเองผิดไว้ ว่างๆก็เอามาทวนค่ะ
 
นอกจากการทำแบบฝึกแล้ว เราชอบฟัง audiobook (หนังสือเสียง) ใน Youtube ค่ะ เราฟังก่อนนอนทุกคืน เพลินๆดี audiobook ที่เราฟังอยู่ทุกวันนี้ คือ Rich dad poor dad by Robert Kiyosaki ค่ะ เผื่อใครสนใจไปหาฟังได้ค่ะ แล้วก็อ่านหนังสือนิยายอังกฤษ บางครั้งเราขี้เกียจอ่่าน ก็ไปหาหนังดูค่ะ ช่วยฝึกทักษะการฟัง เพิ่มคลังศัพท์แล้วก็สนุกด้วย ส่วนตัวเราไม่ชอบอ่านพวกข่าวในเว็บสื่อต่างประเทศ เพราะเนื้อหามันวิชาการอะ อ่านแล้วง่วงมาก ทั้งนี้ จะฟังหรืออ่านเนื้อหาแนวไหนขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้อ่านเลยค่ะ
 
3. ส่วนประกอบของข้อสอบและเทคนิคการทำ
เทคนิคในการทำข้อสอบของเราเป็นแค่วิธีที่เราใช้นะคะ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และอาจเหมาะกับคนหนึ่งแต่ไม่เหมาะกับอีกคนหนึ่งก็ได้ค่ะ
 
แนะนำว่าถ้าตอบข้อไหนไม่ได้ให้วงหน้าข้อไว้ แล้วข้ามไปทำข้ออื่นก่อน พอทำข้ออื่นเสร็จหมดแล้ว ค่อยวกกลับมาทำข้อเดิมอีกครั้ง หากตัด choice ได้ ตัดออกก่อนเลยค่ะ สุดท้ายถ้าไม่รู้คำตอบจริงๆก็ใช้ common sense ไม่ก็พึ่งดวงเถอะค่ะ อธิษฐานในใจให้เดาถูก ปิ้วๆ
 
TU-GET (PBT) ประกอบด้วย 3 ส่วน มี 100 ข้อ ข้อละ 10 คะแนน  (ปรนัย) ให้เวลาทำข้อสอบ 3 ช.ม.
ส่วนท่ี่ 1 : Grammar and Structure (25 ข้อ)
-Error Identification (13 ข้อ) เราจะอ่านประโยครวมๆก่อนรอบนึง เช็คไวยากรณ์ของแต่ละ choice ถ้าเจอจุดผิดแล้วเราจะกาเลย รีบทำข้อถัดไป แต่ถ้ายังหาไม่เจอ เราก็จะไปดูที่ความหมายโดยรวมของประโยคต่อ เพราะบางครั้งในประโยคอาจมีคำศัพท์หรือคำเชื่อมที่ผิด ทำให้ความหมายแปลกไปหรือความหมายไม่ make sense ค่ะ
-Sentence Completion (12 ข้อ)   หรือ การเติมประโยคให้สมบูรณ์   พาร์ทนี้จะวัดไวยากรณ์เป็นหลัก   ในแต่ละ choice มักสลับแค่ตำแหน่งของคำ, เปลี่ยน  tense หรือ   ใช้   cohesive devices (คำเชื่อมประโยค) ที่ต่างกัน  
ตอนทำ เราจะกวาดตามองทุก choice ก่อน จากนั้นอ่านโจทย์  ตอบเลย   พาร์ทนี้สามารถตัด   choice  ได้ง่าย เพราะไวยากรณ์ของหลายๆ choices ผิดอย่างเห็นได้ชัดค่ะ 
 
ส่วนที่ 2 : Vocabulary (25 ข้อ)
-Cloze / fill in the blanks (13 ข้อ) เป็นพาร์ทที่วัดการใช้คำศัพท์ให้ตรงบริบท ในข้อสอบ TU–GET ให้ choices ที่มี part of speech เหมือนกัน และแต่ละข้อให้ choice ที่มี tense เดียวกันทั้งหมด ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพาร์ทนี้ต้องการวัดคำศัพท์เป็นหลัก
ส่วนวิธีการทำ เราจะอ่านประโยคที่อยู่ก่อนหน้า blank (ช่องว่าง) และ ประโยคที่อยู่หลัง blank แล้วเลือก choice ตอบเลย เผื่อมองไม่เห็นภาพ เราขอเขียนตัวอย่างแบบนี้นะคะ
ประโยคหน้า  ____ ประโยคหลัง
 คือ อ่านประโยคหน้า–หลังที่ครอบ blank อยู่ หมายความว่า ก่อนจะตอบ 1 ข้อ เราจะอ่านให้ครบอย่างน้อย 3 ประโยคก่อน เพื่อให้เห็นภาพรวมของประโยคว่าอยู่ในสถานการณ์ไหน ควรเติมศัพท์คำไหน ขณะที่อ่านก็แปลและทำความเข้าใจไปด้วยนะคะ
 
-Synonyms / context clues (12 ข้อ) 
​พาร์ทนี้ให้เลือก choice ที่มีความหมายคล้าย/เหมือนกับคำที่ขีดเส้นใต้ไว้
พาร์ทนี้ต้องรู้ศัพท์ค่ะ แต่ถ้าไม่รู้ศัพท์จริงๆ สามารถเดาจาก prefix หรือ suffix ของคำศัพท์และบริบทรอบข้างได้ค่ะ ส่วนวิธีการจำศัพท์ เราเขียนไว้ด้านบนแล้วนะคะ ในส่วนรีวิวการเตรียมตัวสอบ
 
ส่วนที่ 3 : Reading Comprehension (50 ข้อ), 6 บทความ
ให้อ่านคำถามก่อนค่ะ   ช่วยประหยัดเวลาได้ เหมือนเรากำลังกางแผนที่อยู่ เราต้องรู้จุดหมายก่อน จะได้ไปถูกทางและถึงที่หมายไวใช่ไหมคะ เช่นเดียวกันกับการทำข้อสอบ Reading เราควรรู้ว่าต้องไปหาคำตอบอะไรใน passage จะได้ไปอ่าน passage แล้วตอบได้ไว ซึ่งรู้ได้จากการอ่านคำถามนั่นเองค่ะ   
อ่านแบบ skimming คือ ให้อ่านเนื้อหาคร่าวๆ กวาดสายตาจับประเด็นสำคัญ/เนื้อหารวมๆของบทความ
ส่วนคำถามประเภทที่ถาม main idea/purpose/tone of the passage ให้เก็บไว้ตอบท้ายสุดค่ะ
สามารถสังเกต main idea (ใจความสำคัญ) ได้จากย่อหน้าแรก ประโยคแรก ประโยคสุดท้ายหรือสิ่งที่พูดซ้ำๆ (ที่ยังแสดงความคิดหลักของเรื่อง) 

 ฮาวทูตัด choice (พาร์ท Reading)
choice ที่ผิด มักเป็น choice ที่กล่าวเกินจริง (พวก only, no, all) มันดูสุดโต่งเกินไปค่ะ หรือเป็น choice ที่กว้างเกินไป, ไม่ได้กล่าวถึงในบทความ หรือกล่าวถึงแต่ผิดไปจากบทความค่ะ

ผู้เข้าสอบสามารถตรวจสอบคะแนนได้ทาง website หลังจากวันสอบ 1 สัปดาห์
ส่วนนี่ผลคะแนนเราค่ะ  
 

 
กระทู้นี้เป็นกระทู้แรกของเรา หากมีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ หวังว่าการแชร์ประสบการณ์การเตรียมตัวและเทคนิคการทำข้อสอบในครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อยนะคะ สำหรับผู้ที่จะสอบ TU–GET หรือภาษาอังกฤษสนามอื่น ก็ขอให้โชคดีกับการสอบค่ะ  ถ้ามีคำติชม คำแนะนำหรือคำถาม คอมเมนท์ไว้ที่ด้านล่างได้เลยค่ะ
หรืออีกช่องทางนึงที่
FB : Nadia Chanita

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

marisaa 13 เม.ย. 63 เวลา 20:11 น. 1

ขอถามหน่่อยครับ หนังสือเล่มเหลืองเอาไปปรับใช้กับพวกสอบ 9 วิชาสามัญเวิคไหมครับ หรือสอบอื่นๆ

1
nadiach 13 เม.ย. 63 เวลา 22:09 น. 1-1

ปรับใช้ได้ค่ะ เพราะข้อสอบบางพาร์ทมี pattern คล้ายกัน อย่างสนาม 9 วิชาสามัญ ก็มีพาร์ท Reading และ Cloze test อย่างที่เล่มสีเหลืองมี 

ส่วนสอบอื่นๆก็ปรับใช้ได้เหมือนกันนะคะ พวก GAT, O-NET

0
Bac 8 มี.ค. 65 เวลา 14:03 น. 2-1

สอบได้ทั้งก่อนเข้าเเละเข้าไปแล้วค่ะ

0