Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เส้นทางเตรียมสอบรัฐศาสตร์ ir จุฬา by กัปตันเดวี่

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีค่า กัปตันเดวี่จาก dek-d tcas reality เองค่า  เราสอบติดคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในระบบ tcas รอบ  3   ด้วยคะแนน 28,560 ( gat 300, pat7.2   252)
สำหรับกระทู้นี้เราตั้งใจมาแบ่งปันเกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบจากประสบการณ์ของเราค่ะ

ควรเริ่มเตรียมตัวเมื่อไหร่?
ถ้ารู้ตัวว่ามีเป้าหมายเป็นอะไรและพร้อมที่จะเริ่มต้นเมื่อไหร่ก็เริ่มต้นได้เลยค่ะ   หลายๆคนอาจจะเริ่มช่วง ม.5 เทอม2   บางคนก็เริ่มม.6   สิ่งนี้ไม่มีพ้อยตายตัว ขึ้นอยู่กับตัวเราเลยค่ะ  แต่แน่นอนว่าการเริ่มเตรียมตัวเร็วทำให้มีเวลามากกว่าและอาจจะไม่ต้องเร่งรัดมาก วิชาที่อาศัยการฝึกฝนมากอย่างคณิตศาสตร์หรือภาษาอาจจะเหมาะกับการค่อยๆสะสมความรู้มาแต่เนิ่นๆ ในขณะที่การเก็บเนื้อหาบางวิชาที่เน้นการใช้ความจำรายละเอียดอย่างสังคมอาจเหมาะกับการอ่านในระยะเวลาก่อนสอบที่ไม่นานจนเกินไป 

เริ่มต้นยังไงดี?
เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว สิ่งแรกที่เราควรทำคือการศึกษาระเบียบการรับเข้าของคณะเป้าหมายว่าใช้คะแนนอะไรบ้างและแต่ละวิชาใช้เป็นสัดส่วนเท่าไหร่   สิ่งนี้จะทำให้เรารู้ว่าจะวางแผนการอ่านหนังสือ/เรียนพิเศษยังไง  อย่างเราจะเข้าคณะรัฐศาสตร์  ir   จุฬา  ซึ่งมีระเบียบการรับเข้ารอบที่   3  คือ  gat 70%  และ   pat1 หรือ pat7 30%  นั่นหมายความว่าการเตรียมตัวของเราจะเน้นไปที่วิชาภาษาอังกฤษและเยอรมัน(pat7.2 เป็นวิชาที่เราเลือกใช้) แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าเราควรจะมีแผนสำรองในกรณีที่เราอาจจะไม่สมหวังตามที่ตั้งใจ โดยแผนสำรองของเราหากไม่ติดคณะเป้าหมายคือ  1 .รัฐศาสตร์ จุฬา ภาควิชาสังคมมนุษยวิทยา   2.  รัฐศาสตร์อินเตอร์ มธ (bir)   3. รัฐศาสตร์ ภาคการระหว่างประเทศ มธ.  ดังนั้นการเตรียมตัวของเราต้องคลอบคลุมถึงคณะสำรองเหล่านี้ด้วย ซึ่งแผนสำรองแรกของเรานั้นใช้คะแนนในรูปแบบเดียวกับคณะเป้าหมายจึงไม่ต้องเตรียมอะไรเพิ่ม แต่คณะสำรองลำดับที่   2 และ 3 นั้นมีเกณฑ์รับเข้าในอีกรูปแบบนึง   โดย  bir  ใช้คะแนนวิชาเฉพาะทางรัฐศาสตร์   100%   ส่วนรัฐศาสตร์ มธ. สาขาการระหว่างประเทศ ใช้คะแนนวิชาเฉพาะทางรัฐศาสตร์  20%   และคะแนนonetสังคม20%   ไทย20%   อังกฤษ20%  และวิทย์20% (อ้างอิงเกณฑ์รับเข้ารอบที่ 3 ปี 2563)   นั่นหมายความว่าเราต้องแบ่งเวลาบางส่วนสำหรับการเตรียมตัวสอบวิชาของคณะสำรองแต่แน่นอนว่าเราให้ระดับความเข้มข้นในการเตรียมสำหรับสิ่งเหล่านี้น้อยกว่าวิชาที่ใช้สอบคณะเป้าหมาย

เราเรียนอะไร อ่านอะไรบ้าง เริ่มเมื่อไหร่?

อังกฤษ 

 คณะเป้าหมายเราใช้คะแนนgat70% และด้วยความที่พาร์ทเชื่อมโยงเป็นสิ่งที่คนส่วนมากทำได้เต็ม ดังนั้นพาร์ทอังกฤษจึงเป็นส่วนชี้เป็นชี้ตายของเรา   เราให้ความสำคัญกับการเตรียมวิชานี้มากเป็นพิเศษ   โดยเราเริ่มต้นการเตรียมวิชานี้ครั้งแรกช่วงเปิดเทอมม.6 ด้วยการทำข้อสอบgatปีล่าสุด(62)และลงสอบ dek-d pre ad เพื่อประเมินตนเองว่าได้ประมาณไหนและควรเตรียมตัวในส่วนไหนเป็นพิเศษ   ซึ่งในจุดนั้นเราก็ได้รู้ว่าตัวเองยังทำพาร์ท error  ได้ไม่ดี และยังมีคลังคำศัพท์ไม่มากเท่าที่ควร เราจึงตัดสินใจลงเรียนพิเศษที่สถาบัน English P'Nat   ศูนย์หนังสือจุฬา  โดยเราเรียน 2 คอร์สคือ   Advanced 1,2  และ Advanced 3,4   ส่วนตัวคิดว่าพี่แนทสอนศัพท์และเทคนิคแกรมม่าค่อนข้างตรงจุดและมีเทคนิคการจำที่เอาไปใช้สอบได้จริง   โดยสไตล์การสอนจะเป็นการตะลุยโจทย์และสอนเนื้อหาแทรกไปเรื่อยๆค่ะ   โดยเราเรียนในช่วง July  ถึง September   และหลังจากนั้นเราก็ทบทวนเนื้อหา,ท่องศัพท์ และทำข้อสอบเก่ากับข้อสอบในหนังสือเรื่อยๆด้วยตัวเองค่ะ

นี่คือหนังสือที่เราใช้ค่ะ   
1. แนวข้อสอบ gat ภาษาอังกฤษ เล่มแดง ดร.ศุภวัฒน์ พุกเจริญ
2.intensive gat เล่มน้ำเงิน Mr.Buff & Ms. Aood 
โดยระดับความยากและแนวข้อสอบของสองเล่มแรกนี้จะใกล้เคียงกับข้อสอบจริง  
3. TU-GET volume 1 เล่มเหลือง
   โดยข้อสอบเล่มนี้จะยากกว่า gat  แต่เราจะได้ศัพท์ยากๆที่อาจเจอในข้อสอบได้จากเล่มนี้ค่ะ   แนะนำให้ทำเล่มนี้เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ในช่วงที่เตรียมตัวจากเล่มอื่นๆรวมถึงข้อสอบเก่าจนมีความพร้อมระดับนึงค่ะ
4.สรุปเข้ม vocab  ดร.ศุภวัฒน์ พุกเจริญ
เล่มนี้เราซื้อมาท่องตั้งแต่สมัยสอบเข้าเตรียมอุดมเลยค่่ะ จากที่เอากลับท่องอีกครั้งตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็คิดว่าใช้ได้ค่อนข้างตรงเลยค่ะ  
5. ถอดรหัส error   ดร.ศุภวัฒน์ พุกเจริญ
เล่มนี้เราซื้อมาเพื่อฝึกพาร์ทนี้โดยเฉพาะเพราะตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองยังทำได้ไม่ค่อยดี   หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีทำพาร์ทนี้ได้เข้าใจดีมากๆค่ะ

นอกจากการทำหนังสือแบบฝึกหัดแล้ว  เราแนะนำให้จับเวลาทำข้อสอบเก่าด้วยเพราะนอกจากจะทำให้เราคุ้นเคยกับรูปแบบข้อสอบและสามารถวางแผนบริหารจัดการเวลาให้เหมาะกับตัวเองแล้ว หลายๆครั้งมีการนำศัพท์และแกรมม่าของปีเก่าๆมาใช้ออกวนในปีปัจจุบันด้วยค่ะ โดยข้อสอบเก่าต่างๆสามารถเสิร์ชหาได้ในอินเตอร์เน็ตเลยค่ะ
ส่วนการท่องศัพท์เราใช้วิธีการทำสมุดจดศัพท์ที่เจอทั้งจากที่เรียนพิเศษและการทำข้อสอบเก่ารวมถึงหนังสือแบบฝึกหัดต่างๆ   โดยจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่เพื่อง่ายต่อการค้นหาและการจัดระเบียบคลังศัพท์ในหัว   และจะพยามจดเซ็ทคำศัพท์ที่ความหมายเหมือน-ใกล้เคียง-เกี่ยวข้อง-ตรงข้ามไว้ใกล้ๆกัน   เราพยามพกสมุดเล่มนี้ไว้ตลอดเวลา พอว่างๆก็จะเอาขึ้นมาผ่านตาทบทวนบ่อยๆ   นอกจากนี้เราแนะนำให้ติดตามเพจที่แจกศัพท์อังกฤษบ่อยๆเช่นเพจสถานที่เรียนพิเศษ-เพจสอนภาษาอังกฤษต่างๆ   เวลาเราเล่นโซเชียลจะได้เจอศัพท์ผ่านตาบ่อยๆ   ส่วนเพจที่เราแนะนำก็จะมีเพจ   Gat Eng Thailand   เลยค่ะ   เพจนี้มีแจกทั้งลิสรวมคำศัพท์และข้อสอบจำลองที่ใกล้เคียงกับข้อสอบจริงมากๆค่ะ

เชื่อมโยง     
พาร์ทนี้เป็นส่วนนึงของ   gat   ซึ่งเป็นพาร์ทที่คนส่วนใหญ่ทำได้เต็ม   เพราะงั้นเราจึงตั้งใจว่าจะต้องเก็บพาร์ทนี้ให้ได้เต็มเช่นกัน   จะประมาทไม่ได้เด็ดขาด    เราเริ่มต้นครั้งแรกจากการดูคลิปสอนวิธีการทำแกทเชื่อมโยงของอ.ขลุ่ย  ในยูทูป   Aj   KLUI  
 และทำหนังสือแบบฝึกหัดสองเล่มคือ 
1. พิชิต   150   คะแนนเต็ม   gat   ภาษาไทย   โดย  อ.ขลุ่ย    
2. Mastering Gat   Connect   Test   (ลายหินอ่อน)
ข้อดีของการฝึกทำข้อสอบจากหนังสือคือแบบฝึกหัดในหนังสือจะเริ่มต้นจากบทความที่ง่าย-สั้นก่อนและค่อยๆไต่ระดับความยากไปจนใกล้เคียงข้อสอบจริง   จึงเหมาะกับการฝึกฝนในช่วงแรกๆ

นอกจากนี้เราก็โหลดข้อสอบเก่ามาฝึกฝนร่วมด้วยค่ะ   โดยสำหรับการเตรียมตัวแกทเชื่อมโยง เรามองว่าพ้อยสำคัญคือการที่เราเข้าใจหลักการความสัมพันธ์ต่างๆ, สามารถจับจุดได้ถูกต้อง และคิดให้ถูกต้องตามหลักการของคำชี้แจงไม่คิดมากไปเอง   ซึ่งด้วยระยะเวลาประมาณครึ่งเดือนในช่วง April 2019 (ปิดเทอมขึ้นม.6) เราพยามทำความเข้าใจและฝึกทำข้อสอบเชื่อมโยงจนรู้สึกเข้าใจจึงหยุดทำไปช่วงนึงหลังจากนั้น(เพื่อเอาเวลาไปอ่านอย่างอื่น)   จนถึงช่วง   Oct 2019   เราจึงเริ่มกลับมาทยอยทำข้อสอบเก่ารวมถึงแบบฝึกหัดในหนังสือที่เหลืออีกครั้งโดยพยามทำให้ได้ประมาณ 2-4 ฉบับต่อสัปดาห์   เพื่อให้มั่นใจกับพาร์ทนี้อยู่เสมอ

เยอรมัน    
ถ้าใครติดตามเรามาจากรายการน่าจะพอรู้มาแล้วว่าจริงๆแล้วเราเรียนสายศิลป์คำนวณ   แต่เราตัดสินใจใช้ภาษาเยอรมันในการสอบเข้าเพราะคณะเป้าหมายเราใช้การพิจารณาคะแนน   pat1(คณิต)   และ   pat7(ภาษาต่างๆ)ร่วมกัน   และด้วยความที่เรารู้ว่าตัวเองไม่ถนัดเลขถึงขั้นที่จะทำคะแนนได้ดีจนสู้   patภาษาได้   บวกกับการที่เรารู้ตัวว่าถนัดด้านภาษาและมีพื้นฐานภาษาดัตช์จากการไปแลกเปลี่ยนเบลเยี่ยม (ภาษาดัตช์มีความคล้ายเยอรมันพอสมควร   สามารถนำมาต่อยอดเพื่อเรียนเยอรมันต่อได้ง่าย) จึงนำไปสู่การตัดสินใจที่จะใช้pat7.2หรือแพทเยอรมัน
โดยเราได้มีโอกาสเรียนเยอรมันเบื้องต้นครั้งแรกจากคลาสเรียนม.4ที่เบลเยี่ยมเพราะเป็นวิชาบังคับ   และเมื่อกลับมาไทยในระดับชั้นม.5(เราไม่ซ้ำชั้นค่ะ) เราได้เรียนที่สถาบัน   Goethe   โดยเริ่มต้นในช่วง   Oct 2018  และเรียนยาวๆจนจบระดับ A2 ช่วงสิ้นปี 2019   อย่างไรก็ตามการสอนในสถาบันนี้ไม่ได้เจาะจงเพื่อการสอบpat โดยตรง  เราจึงไปเรียนเพิ่มเติมกับพี่นิสิต ( twitter :   @germanwithjoose)   โดยเริ่มเรียนตั้งแต่ช่วง  April  2019   และเรียนสัปดาห์ละครั้งมาเรื่อยๆจนถึงอาทิตย์สอบเลยค่ะ
นอกจากนี้เราก็ทำโจทย์จากหนังสือ จับแพทเยอรแก้ผ้า +   ท่องลิสศัพท์ของb1(ของ Goethe หาได้ในเน็ตเลย) + ทำข้อสอบเก่าแล้วก็ทบทวนแกรมม่าบ่อยๆ
 สำหรับหนังสือแกรมม่าที่เคยอ่าน
1. Grammatik lernen und üben ของศรีนันทา ศิลป์สวัสดิ์ เล่มเหลืองๆ 
เราว่าอันนี้เข้าใจง่ายละสรุปแยกเป็นเรื่องๆดี
2. German grammar you really need to know(Jenny Russ) 
เล่มนี้ซื้อที่คิโนะ อันนี้เราเปิดอ่านเป็นเรื่องๆช่วงที่เรียนเยอรมันแรกๆ

วิชาอื่นๆ     ที่เหลือจะเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ใช้ในการสอบเข้าสำหรับคณะเป้าหมาย  แต่เตรียมเพื่อคณะสำรอง   
- เราเรียน ไทย/สังคม   คอร์ส   Intensive   ของดาว้อง   โดยเริ่มเรียนช่วง   April  2019   และทยอยเรียนไปเรื่อยๆ
-   สำหรับวิชาเฉพาะทางรัฐศาสตร์ของมธ.   เราอ่านหนังสือเปิดถ้ำสิงห์    และ  Bir the future ซึ่งเป็นหนังสือจากค่ายติวของคณะค่ะ  (ใครจะสอบเราแนะนำให้ไปค่ายติวของคณะนะคะมีทั้งของภาคไทยและภาคอินเตอร์เลยค่ะ   รุ่นพี่ช่วยสอนสรุปเนื้อหาดีมากๆ ค่ายจัดช่วงต้นปีก่อนสอบค่ะ)
-สำหรับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับการสอบ ONET   เราใช้วิธีการทำข้อสอบเก่าค่ะ   
*****สำหรับวิชา ONET  ทุกวิชา  เราแนะนำให้ทำข้อสอบเก่านะคะเพราะข้อสอบแต่ละปีมีแนวค่อนข้างใกล้เคียงกัน

สำหรับวันสอบ!!!!
เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมที่สุด   วันก่อนสอบถ้าจะอ่านก็อย่าหักโหมเกินไป พยามทำจิตใจให้สบาย อย่านอนดึก   อย่ากินของแสลง   อะไรรู้ว่ากินแล้วง่วงอย่ากิน   อะไรรู้ว่ากินแล้วมีแรงก็กินซะ   อย่าลืมพกนาฬิกา   และที่สำคัญที่สุดคือมีสติอยู่เสมอ และรอบคอบ   ทำให้เต็มที่ที่สุดและไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไงจงขอบคุณและภาคภูมิใจกับความพยามของตนเอง  

---เราขอจบเพียงเท่านี้สำหรับกระทู้แนะนำแนวทางการเตรียมสอบของเรา   หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆที่กำลังเตรียมตัวสอบ  และขอให้น้องๆทุกคนประสบความสำเร็จสอบติดคณะที่ตั้งใจ  ได้ทำตามความใฝ่ฝันของตนเองนะคะ---

ถ้าน้องๆมีอะไรอยากปรึกษาหรือสอบถามเราเพิ่มเติมสามารถพูดคุยกันได้ที่  ig:   dewiranc นะค้าบ><

แสดงความคิดเห็น

4 ความคิดเห็น