Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

How to ทำคะแนน Pat 1 160+ ฉบับเด็กศิลป์ภาษา

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

สวัสดีค่ะทุกท่าน ขอออกตัวก่อนว่า นี่เป็นกระทู้แรกของเรา ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อเป็นคำแนะนำให้กับรุ่นน้องต่อไป ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

เราเป็นเด็ก 64 คนหนึ่งที่เมื่อปีที่แล้วก็มาตามหากระทู้ของรุ่นพี่ซึ่งอาจจะมีประสบการณ์คล้าย ๆ กับเราบ้าง แต่เราก็ไม่เจอเลย เป็นเหตุให้เรารู้สึกอยากเขียนขึ้นมาค่ะ ถ้าคุณเป็นเด็กสายภาษา หรือสายใด ๆ ที่อยากสอบเลขแต่พื้นฐานไม่ดี you are not alone!

อันนี้คะแนนของเรา จากเริ่มต้นคือทำได้ไม่ถึงร้อยเลยค่ะ ได้เท่านี้คือดีใจแทบกระโดดcrying



อย่างที่เราได้ตั้งหัวข้อเอาไว้ เราเป็นเด็กสายศิลป์-ภาษา แต่เนื่องด้วยภาษาที่เราเรียนนั้นไม่มีแพทให้สอบ เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกแพทอื่น ๆ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วแพทเลขก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกของเราหรอกค่ะ (55555555) เราสนใจภาษาบาลีก่อน แต่คณะที่เราอยากเข้าไม่รับแพทนี้ค่ะ เราก็เลยต้องเปลี่ยนตัวเลือก

เราเริ่มจากการประเมินตัวเองก่อน เราเป็นคนหัวช้าเรื่องภาษามาก ๆ คิดว่าถ้าเริ่มเรียนภาษาใหม่ ยังไงก็คงสู้คนอื่นไม่ได้แน่นอน แต่คณิตศาสตร์เนี่ยยังพอมีพื้นฐานอยู่บ้าง ถ้าจะต่อยอดคงไม่ยากมาก รวมถึงคณะเป้าหมายเราไม่ใช่คณะสายวิทย์-คณิตด้วย เราเลยคิดว่าตัวเองไหวค่ะ ถือว่าตอนนั้นใช้ความมั่นใจ (หรือมั่นหน้าก็ไม่รู้555555) สูงมากเลย แต่เราก็อยากให้ทุกคนมีความมั่นใจในตัวเองเยอะ ๆ ไว้ก่อนเหมือนกันนะคะ ความคิดของเรามีผลต่อการเตรียมตัวมาก ๆ ถ้าคิดในแง่ร้ายมากไปอาจจะทำให้หมดกำลังใจตั้งแต่ยังไม่เริ่มได้ค่ะ

สิ่งแรกที่เราทำหลังจากตัดสินใจว่าจะใช้คะแนนแพทเลขก็คือ ดูหัวข้อและเนื้อหาที่ออกสอบค่ะ โดยที่เราเองก็เรียนแค่คณิตพื้นฐานมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นคือไม่รู้เรื่องเลยค่ะว่าปกติเขาสอบกันเรื่องอะไร เราก็ขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ 63 ที่ได้สอบแพทเลข ทำให้เรารู้จักกับ rathcenter.com ซึ่งถือเป็นเว็บที่ช่วยชีวิตเราไว้ก็ว่าได้ ในเว็บนี้ก็จะมีเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ทั้งพื้นฐานและเพิ่มเติมเลยค่ะ ที่สำคัญคือมีข้อสอบเก่าเกือบทุกปีเลยค่ะ ปังมาก

ในช่วงแรก (ช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นม.6) เราเริ่มจากการเรียนด้วยตัวเองล้วน ๆ ความสามารถเราในตอนนั้นคือทำได้แค่เลขพื้นฐานจริง ๆ ค่ะ ได้แค่พวกเรื่องเซต ตรรกศาสตร์ จำนวนจริงก็ยังไม่แม่น เรา print เนื้อหาจากเว็บไซต์ที่กล่าวไว้ข้างต้น ไล่ตั้งแต่เนื้อหาของม.4เลยค่ะ เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ จากนั้นพอไปสักพักมันก็เริ่มถึงเรื่องที่ยากขึ้น เราเริ่มรู้สึกว่าการศึกษาด้วยตัวเองอาจจะไม่พอแล้ว ยิ่งเราพื้นฐานไม่แน่นด้วยเนี่ย เราก็เลยไปเสิชคลิปยูทูป ได้เจอคลิปของพี่ปั้น จากสถาบัน smartmathpro ที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินอยู่แล้ว เราได้ฟังคลิปนึงซึ่งมันทำให้เรามีกำลังใจมาก ๆ จำไม่ได้ว่าชื่อคลิปอะไร แต่เป็นคลิปที่พี่เขาจะพูดถึงการทำคะแนนแพทเลขค่ะ จุดนั้นเหมือนเราดวงตาเห็นธรรมหลังจากงมทางเองมานาน  เพราะคลิปนั้นทำให้เราได้รู้ว่าการจะได้คะแนนตามเป้าหมาย (ตอนนั้นตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 120) เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรืิ่องก็ได้ค่ะ ซึ่งมันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เรามาวางแผนการอ่านหนังสือใหม่ จากตอนแรกที่พยายามจะยัดเนื้อหาให้ครบ เปลี่ยนเป็นเอาหัวข้อที่จะสอบมากางดูอีกครั้ง เรื่องไหนยากไป เรื่องไหนเราคิดว่าตัวเองไม่ไหว เราตัดออกเลย เพราะเราคิดว่าการทุ่มเทให้แค่บางเรื่อง แต่เอาเรื่องพวกนั้นให้แม่น ๆ ไปเลย มันน่าจะได้ผลดีกว่าการพยายามเก็บเนื้อหาให้ครบทุกเรื่องค่ะ พาร์ทที่เขาว่ากันว่ายาก พวกตรีโกณ เชิงซ้อน อะไรพวกนี้เราตัดทิ้งหมดเลยค่ะ จากใจเลยนะคะ หลังจากตัดสินใจทิ้งเนื้อหาไปหลายเรื่องก็ฮึบมากกว่าเดิมสุด ๆ เลยค่ะ มีกำลังใจให้ตัวเองขึ้นมาก ๆ เหมือนกับว่าตอนแรกเราพยายามกดดันตัวเองมากเกินไปด้วย


ใครที่กำลังท้อ หรือมีความรู้สึกว่าทุกอย่างมันมากเกินรับไหวแล้ว ลองทำแบบเราดูก็ได้นะคะ เอาหัวข้อมากางเลยค่ะ อันไหนไม่ไหวตัดออกไปเลย เอาที่ไหวให้แม่น หรือพิจารณาจากความสำคัญของเรื่องก็ได้ค่ะ เช่น เรื่องไหนที่ออกน้อย ไม่คุ้มเวลาอ่าน ก็เก็บไว้อ่านเฉพาะถ้าเวลาเหลือจริง ๆ แบบนี้ก็ได้ค่ะ (แต่วิธินี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกวิชา บางวิชาเราก็พูดได้แค่ว่า สู้ ๆ นะคะ T____T) 

หลังจากวางแผนใหม่เรียบร้อย เราก็ถึงตัดใจลงเรียนพิเศษค่ะ (คอร์ส Pat 1 รู้น้อยแต่ร้อยอัพ เล่ม1-2 ของ smartmathpro แบบออนไลน์ เราเริ่มลงประมาณเดือน มิ.ย. 63 เรียนจบตอน พ.ย. แล้วก็เรียนซ้ำช่วง ก.พ. 64 ก่อนสอบ) อยากบอกว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากเรียนพิเศษเลยค่ะ เราตัดสินใจนานมาก ๆ และพยายามหาทางให้ตัวเองเสียเงินเรียนน้อยที่สุด วิธีเซฟเงินของเราอันดับแรกคืออย่าเรียนแค่เพราะตามเพื่อนค่ะ เอาหลักสูตรมาดูก่อน สองคือถ้าเขามีให้ลองเรียนก็ลองเรียนดูก่อน เราชอบการสอนเขาไหม ถ้าเสียเงินเรียนไปแล้ว ความรู้ที่จะได้มันคุ้มไหม สามคือลองเช็คแหล่งเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ตดูค่ะ ตอนนี้มีสอนฟรีเยอะมาก ๆ ลองเปิดหาดูก่อนว่าเรื่องไหนเราสามารถเรียนเองได้ไหม จนสุดท้ายเราเหลือแค่พาร์ทที่เรียนเองไม่ไหวจริง ๆ จึงลงเรียนพิเศษค่ะ 

ขอแอบขายของเร้กน้อยว่าทาง Smartmathpro เองก็มีสอนฟรีในยูทูปเยอะมาก ๆ หลายชั่วโมงเลย ลองไปดูกันได้ค่ะ 

สุดท้ายหลังจากการ เรียนเอง+เรียนพิเศษ พาร์ทที่สำคัญพาร์ทหนึ่งในการเตรียมตัวก็คือ ข้อสอบเก่า นั่นเองค่ะ แต่!!!!! ปี 64 เป็นปีที่เขาเปลี่ยนแนวข้อสอบเลข ซึ่งตอนแรกทุกคนก็น่าจะคิดคล้าย ๆ กันว่า มันคงเปลี่ยนแค่บางส่วน แบบปรับ ๆ จากปีก่อนให้มีวิเคราะห์มากขึ้น แต่สุดท้ายเมื่อเข้าห้องสอบก็คือตกใจเลยค่ะ จำได้ว่าเราเปิดดูข้อสอบไปจนหน้าสุดท้ายแล้วก็ปิดมานั่งหัวเราะกับตัวเองเบา ๆ ที่หัวเราะนี่คือช็อกอยู่ค่ะ (555555555) ข้อสอบมันเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ความคิดแรกตอนนั้นคือเสียดายเวลาที่นั่งทำข้อสอบเก่า แต่พอมาทบทวนดูแล้ว การทำข้อสอบเก่ามันก็มีส่วนช่วยทำให้เราไม่ตื่นสนามมากนัก เพราะฉะนั้นถึงแม้แนวข้อสอบมันจะเปลี่ยนไป(มาก) แต่เราก็ยังแนะนำให้ทำข้อสอบก่อนปี 64 ไปบ้างเล็กน้อยนะคะ จับเวลาด้วยจะดีที่สุดค่ะ ทำให้เราชินกับการทำข้อสอบมากขึ้น ส่วนเพิ่มเติมที่เราไม่ได้ทำแต่แนะนำว่าควรทำคือการดูข้อสอบหลังเล่มของสสวท.ไปเยอะ ๆ เลยค่ะ เพราะเขาออกแนววิเคราะห์แบบนั้นเลย น่าจะช่วยทุกคนได้ไม่มากก็น้อย

เพิ่มเติมเทคนิคระหว่างสอบที่สำคัญ สำหรับข้อสอบแนวใหม่นี้ เวลาเจอข้อที่ทำไม่ได้ สำหรับปรนัยคือแทนค่าเข้าไปเลยอย่าได้กลัวค่ะ แทนมันทุกช้อยส์เลยก็ได้ถ้าทันเวลา พยายามตั้งสติอย่าตื่นตูม เรามีเพื่อนสายภาษาคนหนึ่งที่เข้าไปสอบแบบไม่ได้ตั้งใจ (แต่มีพื้นฐานมาบ้าง) เพื่อนใช้วิธีแทนค่าเป็นหลัก คะแนนยังออกมาประมาณ 90 เลยค่ะ หรือบางทีเราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้วิธีตรง ๆ ตามที่โจทย์ต้องการ ในห้องสอบคิดสูตรไหนออก ลองทำไปให้หมดเลยค่ะ ตอนนั้นเราคิดแค่ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ต้องเทให้หมดหน้าตัก ส่วนข้อเขียนทำไม่ได้ก็มั่วเลขไป อย่างน้อยก็ได้ตอบ แต่ก็อย่าลืมดูเงื่อนไขด้วยนะคะ เช่น ต้องเป็นจำนวนเต็มหรือเปล่า

สรุปการเตรียมตัวของเราไว้เป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ค่ะ

1. ประเมินตัวเอง - ข้อนี้สำคัญตรงที่ต้องคิดตามความเป็นจริง ไม่ยอตัวเองมากเกินไป แต่ก็อย่าดูถูกตัวเองเด็ดขาดเลยค่ะ ประเมินตามความจริงว่าเราถนัดอะไร มีวิชาไหนที่เราทำได้ดีกว่าวิชาอื่น ๆ ก็คือถือเป็นช่วงตัดสินใจเลือกวิชาที่จะใช้สอบค่ะ

2. ตั้งเป้าหมายคะแนน - หลังจากนั้นให้เราดูเกณฑ์ของคณะที่อยากเข้า ดูสถิติคะแนนปีเก่า ๆ และตั้งเป้าหมายว่าเราต้องทำคะแนนประมาณไหนถึงจะติด ถ้ามีหลายวิชาก็หาร ๆ เฉลี่ยกันไปเลยค่ะ อาจจะไม่ต้องตั้งเป้าสูงมากทุกวิชา ยึดตัวเองเป็นหลัก เช่น ถ้าถนัดภาษามากกว่า อาจจะตั้งเป้าหมายวิชาภาษาให้สูง วิชาอื่น ๆ ก็ลดลงมา

3. ดูหัวข้อที่จะสอบ - เมื่อเรามีวิชาและเป้าหมายคะแนนเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงการพิจารณาเนื้อหาที่ต้องใช้สอบค่ะ อาจจะดูจากข้อสอบเก่า หรือข้อมูลที่มีคนเคยวิเคราะห์เอาไว้ว่าเขาออกอะไรกันบ้าง เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรู้ว่าเราจะไปเจอกับอะไร (อารมณ์เหมือนออกรบ55555 รู้เขารู้เราค่ะ)

4. เทียบความสามารถตัวเองกับข้อสอบ - เราต้องรู้ว่าพาร์ทไหนเราอ่อน เนื้อหาไหนได้แล้ว เราไม่ถนัดอะไร ตรงไหนเรียนเองได้ ตรงไหนควรเรียนพิเศษ

5. วางแผนการอ่านหนังสือ - ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการแพลนว่าจะใช้เวลาอ่านกี่ชั่วโมงต่อวันอะไรแบบนั้นนะคะ แต่เราหมายถึง ให้แพลนว่าเราจะต้องรู้เนื้อหาอะไรบ้างเพื่อทำคะแนนให้ได้ตามเป้า พิจารณาว่าจะใช้หนังสือเล่มไหนบ้าง หาคลิปติวสำหรับหัวข้อไหนไหม จะเรียนพิเศษส่วนไหนหรือเปล่า หรือวิชานั้นแค่ทำข้อสอบเก่าก็พอ 

6. ทำตามที่ตัวเองได้วางแผนเอาไว้ค่ะ - แน่นอนว่าส่วนนี้ยากที่สุด ต้องใช้แรงกาย แรงใจ และความอดทนเป็นอย่างมาก แต่เราเชื่อว่าทุกคนทำได้นะคะ หาวิธีเรียนที่เหมาะกับตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองบ่อย ๆ แล้วถ้าเหนื่อยมาก ๆ ก็ต้องพักนะคะ อย่าหักโหมจนเกินไปไม่งั้นจะกลายเป็นว่าไม่มีสมาธิอ่านในระยะยาวไปแทน

เรื่องเพิ่มเติมที่สำคัญคือ อย่าดูถูกตัวเอง เวลาที่ทำข้อสอบเก่าแล้วได้คะแนนน้อย เวลาเจอโจทย์ที่แก้ไม่ออก ขอให้เราตั้งสติให้ดี ข้ามไปก่อนก็ได้ หรือจะเปิดเฉลยเลยก็ได้ค่ะ อย่ากดดันว่าเราต้องทำให้ได้หมด ไม่ต้องรู้สึกแย่เวลาต้องดูเฉลย เวลาที่เราลองทำข้อสอบมันจะมีข้อที่เราทำไม่ได้ อยากให้คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ ขนาดตอนสอบจริง ๆ บางทีเป็นเรื่องที่เรารู้ด้วยซ้ำแต่ดันตื่นเต้นจนทำผิดไปก็เป็นเรื่องปกติมาก ๆ นะคะ ไม่ต้องโกรธตัวเอง เราเองก็ผิดค่ะ แต่ก็ยังติดคณะเป้าหมายนะ! หรือถ้ามันท้อมาก ๆๆ รู้สึกแย่จนอยากร้องไห้ก็ให้ร้องออกมาเลย บางทีร้องแล้วก็จะรู้สึกดีขึ้นเหมือนได้ปลดปล่อย สุขภาพจิตเราก็สำคัญค่ะ ดูแลตัวเองมาก ๆ นะคะheart

อีกเรื่องสุดท้ายที่สำคัญก็คือเพื่อน เวลาที่เรารู้ว่ามีเพื่อนร่วมทำอะไรไปด้วยกันก็จะช่วยให้มีกำลังใจขึ้นได้ เราอยากขอบคุณเพื่อนเราสองสามคนเป็นพิเศษที่คอยตอบคำถามเราตลอดเลย เพราะเรามีคำถามยิบย่อยเยอะมาก บางทีไม่กล้าถามติวเตอร์ก็ถามเพื่อนนี่แหละค่ะ เราถามเลขเพื่อน เพื่อนก็ถามวิชาอื่นกับเรา ยิ่งทำให้รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียว

ขอขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะคะ อยากให้กำลังทุกคนเลยที่กำลังผ่านอีกช่วงที่ยากลำบากแล้วก็น่าจะท้อมาก ๆ แต่เราเชื่อมั่นว่าทุกคนทำได้ค่ะ พวกเราไม่มีทางรู้ว่าผลจะเป็นยังไงจนกว่ามันจะจบ เพราะฉะนั้นลองทำให้เต็มที่ ทำให้สุดความสามารถ แล้วอย่างน้อย ๆ จะได้ไม่เสียดายว่าในตอนนั้นเราควรทำมากกว่านี้ค่ะ

ใครมีคำถามเพิ่มเติมสามารถคอมเมนท์ไว้ได้นะคะ จะพยายามเข้ามาตอบเรื่อย ๆ ค่ะ!

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น

SPYKDbeat 19 ส.ค. 64 เวลา 20:55 น. 2-1

เราอ่านเนื้อหา+ข้อสอบจากเว็บ rathcenter ล้วน ๆ เลยค่ะ แล้วก็ใช้แค่หนังสือในคอร์สเรียนพิเศษค่า

0