Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

หนังสือผียอดนิยม 5 อันดับแรกของโลก

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


เชื่อว่าคนที่เป็นนักอ่าน คงเคยอ่านงานประเภทเขย่าขวัญสั่นประสาทมาบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซีเอ็นเอ็น เครือข่ายข่าวสารยักษ์ใหญ่อเมริกันเขาเชิญชวนนักอ่านทั่วโลกให้โหวตสุดยอดหนังสือเขย่าขวัญในดวงใจนักอ่าน ก็เลยได้ 5 สุดยอดวรรณกรรมเขย่าขวัญนักอ่านแบบอมตะนิรันดร์กาล มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมกับเบื้องหลังงานเขียนเหล่านั้นแถมพกกันพอเป็นกระสาย



1.แดร๊กคูล่า

อันดับแรกของงานเขย่าขวัญที่โหวตกันว่าเป็นสุดยอดก็คือ แดร๊กคูล่า ของ บราม สโตเกอร์ งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1897 ได้รับยกย่องจากทั้งนักอ่านนักวิจารณ์ทั้งหลายว่าเป็นแม่แบบของงานเขย่าขวัญที่เกี่ยวกับแวมไพร์ หรือผีดูดเลือดทั้งหลายทั้งปวงที่ติดตามมาเป็นกระตั้กในภายหลัง ชนิดที่ว่า ถ้าผิดเพี้ยนไปจากรูปแบบของผีดิบดูดเลือดที่ สโตเกอร์ สร้างไว้ถือเป็นของทำเทียมเลียนแบบ...อะไรทำนองนั้น แดร๊กคูล่า เริ่มเรื่องในยุโรปราว คริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อนักกฎหมายหนุ่ม โจนาธอน ฮาร์เกอร์ เดินทางไปยังดินแดนที่เรียกว่า ทรานซิลเวเนีย เพื่อพบกับท่านเคานต์แดร๊กคูล่า ผู้ลึกลับ แต่กลับถูกกักไว้ในปราสาทของท่านเคานต์ ซึ่งเผยโฉมในเวลาต่อมาว่าเป็นผีดิบที่ยังชีพยืนยาวอยู่ได้ด้วยการดื่มเลือด ครึ่งหลังของเรื่องใช้ฉากในประเทศอังกฤษ เมื่อท่านเคานต์มาซื้อคฤหาสน์ คาร์แฟกซ์ และนำเอาตัวละครอีกหลายตัวออกอาละวาดในเมืองผู้ดี ไม่ว่าจะเป็น "ดร.ซีเวิร์ด" "ไมนา" และ "ลูซี่" ที่ตกอยู่ใต้คำสาปของท่านเคานต์หลังถูกดูดเลือด กับที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ "อับบราฮัม แวน เฮลซิงก์" ที่รับบทสำคัญเป็นนักล่าผีดิบ สโตเกอร์ พื้นเพเป็นชาวไอริช ทำงานเขียนเป็นงานรอง เพราะอาชีพหลักของเขาคือ ผู้จัดการธุรกิจให้กับโรงละครไลเซียม ของดารา เฮนรี่ เออร์วิง และอาศัยรายได้จากงานเขียนเป็นรายได้เสริม ว่ากันว่า เขาได้โครงเรื่องแดร๊กคูล่า มาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับค้างคาวดูดเลือดที่เป็นตำนานในยุโรปมานับศตวรรษ มาผสมผสานกับท่านเคานต์ตัวจริง ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยศตวรรษที่ 15 ชื่อ วลัด เดอะ อิมเพเลอร์ ซึ่งไม่ได้ดูดเลือดและเป็นอมตะแม้แต่น้อย




2.ไชน์นิ่ง

งานเมื่อปี 1977 ของ สตีเฟ่น คิง ซึ่งตอนนั้นกำลังขึ้นชื่อโด่งดังจาก "ซาเล็มส ล็อต" และ "แคร์รี่" เป็นเรื่องราวของครอบครัวทอร์เรนซ์ที่เข้าไปรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลโรงแรมเก่าแก่ชื่อ โอเวอร์ลุก ในยามหน้าหนาว "แดนนี่" บุตรชายของ "แจ๊ก เทอร์เรนซ์" ซึ่งมีพลังจิตพิเศษสามารถมองเห็นอดีตสยองขวัญของโรงแรมแห่งนี้ได้ สตีเฟ่น คิง เคยเล่าเอาไว้ว่า เขียนเรื่องขึ้นมาจากแรงบันดาลใจสืบเนื่องจากความร้อนของอากาศ(แต่บรรยากาศในหนังสือ หิมะตกหนักหนาวยะเยียบเลยทีเดียว) ระหว่างเข้าพักในโรงแรม "เดอะ สแตนลีย์" ที่รัฐโคโลราโดพร้อมครอบครัว ซึ่งเล่นเอาเขาต้องตื่นขึ้นมากลางดึก แล้วก็ได้พล็อตนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา



3.ดิ เอ็กซอร์ซิสต์

"ดิ เอ็กซอร์ซิสต์" เป็นหนังสือที่เราไม่ค่อยได้อ่านแต่รู้เรื่องดีจากภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากงานเขียนของ วิลเลี่ยม ปีเตอร์ แบลตตี้ เล่มนี้ ว่ากันว่า ถ้าแดร๊กคูล่าเป็นต้นแบบของแวมไพร์และผีดิบ ดิ เอ็กซอร์ซิสต์ก็คือต้นแบบของงานเขียนและภาพยนตร์ที่เกี่ยวเนื่องการถูกความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงสิงสู่เช่นเดียวกัน (รวมทั้ง "โรสแมรี่ส์ เบบี้" ของ ไอรา เลวินส์ ที่สะท้อนอิทธิพลของแบลตตี้ชัดเจน) ดิ เอ๊กซอร์ซิสต์ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1971 ตัวแบลตตี้เองนั้นเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ประเภทคอมเมอดี้ อยู่ในขณะที่เริ่มเขียนงานชิ้นนี้(งานเขียนบทที่สร้างชื่อให้เขาชิ้นหนึ่งคือ "อะ ช็อต อิน เดอะ ดาร์ก" ภาพยนตร์ชุด พิงก์ แพนเธอร์ ปี 1964) แต่เมื่อหนังตลกไม่โดนใจฮอลลีวู้ดอีกต่อไปก็เลยต้องเปลี่ยนแนว แบลตตี้ได้เค้าโครงมาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับการไล่ผีในแมรี่แลนด์ที่เล่าๆ ต่อๆ กันฟังเมื่อครั้งเป็นนักเรียนมัธยม นอกจากงานเขียนชิ้นนี้จะกลายเป็นเบสต์เซลเลอร์ไปในชั่วพริบตาแล้ว ยังส่งชื่อเขากลับมาโด่งดังในฮอลลีวู้ดอีกครั้ง คราวนี้ในฐานะนักเขียนบทรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่องนี้นี่เอง



4.รวมเรื่องสั้นของเอ๊ดการ์ อัลเลน โป

แม้จะไม่ใช่งานเขย่าขวัญไปเสียทุกเรื่องแต่หลายเรื่องในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ของเขาเป็นเรื่องเขย่าขวัญชั้นยอด อาทิ เดอะ ฟอล ออฟเดอะ เฮาส์ ออฟ อัชเชอร์ เดอะ คาสก์ ออฟ อามอนติลลาโด และ เดอะ เทลล์ เทล ฮาร์ต โป เป็นทั้งกวี เป็นทั้งนักเขียน เขียนเรื่องหลากหลายแนวและได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างแนวทางนวนิยายสืบสวนสอบสวนยุคใหม่ขึ้น แต่เรื่องสั้นๆ ของโปเป็นส่วนของงานเขียนของเขาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ชีวิตส่วนตัวของ เอดการ์ อัลเลน โป ไม่เป็นสุขนัก อาจเป็นเพราะเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่ 3 ขวบ กับพ่อบุญธรรมก็ไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าใดนัก เมื่อแต่งงานก็เสียภริยาไปตั้งแต่อายุแค่ 24 ปี ทำให้ต่อมาเขาติดเหล้าถึงขนาดเป็นพิษสุราเรื้อรัง แถมเป็นนักพนันตัวยง สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่องานเขียนสยองขวัญของเขา



5.เดอะ ฮอนท์ติ้ง ออฟ ฮิลล์ เฮาส์

อันดับสุดท้ายเป็นงานปี 1959 ของ เชอร์ลีย์ แจ๊กสัน นักเขียนเรื่องเขย่าขวัญที่เป็นอมตะผู้หนึ่ง แจ๊กสันเขียนนวนิยายอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 40-50 แต่หลายเล่มยังคงเป็นที่นิยมอ่านและกล่าวขวัญกันถึงมาจนบัดนี้

แสดงความคิดเห็น

>

7 ความคิดเห็น

Fraa 31 พ.ค. 54 เวลา 10:35 น. 1

เราชอบของ egar allan poe
เขาแต่งดีจริง ๆ ค่ะ


PS.  ถ้าไม่รักตัวเองเสียก่อน แล้วใครจะมารักเรา?
0
Archira 31 พ.ค. 54 เวลา 10:35 น. 2

คนส่วนใหญ่ชอบแนวสยองขวัญแฮะ


PS.  คนเราต่างกลัวความผิดหวัง แต่เมื่อผิดหวังแล้ว ก็ไม่มีอะไรให้กลัวอีก (by นิ้วกลม)
0
ชัญญานุช 31 พ.ค. 54 เวลา 19:31 น. 6
เรารู้จักแต่เรื่องที่  1  (ที่บ้านมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วยนะ)   เรื่องที่   3  และเรื่องที่   4 
PS.  เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง คณะมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงสอนให้มนุษย์พัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง
0
OoสาEลมเหนือoO 31 พ.ค. 54 เวลา 21:13 น. 7

 รู้จักเป็นบางเรื่อง แต่จำได้ว่า ดิ เอ็กซอร์ซิสต์นี่ในฉบับภาพยนต์มีคนช็อกตายในโรงด้วยใช่ไหมขอรับ


PS.  Manners maketh man.กิริยามารยาท ทำให้คนเป็นคน
0