Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

การเขียนนิยาย และ การวิจารณ์นิยาย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
.

การเขียนนิยาย และ การวิจารณ์นิยาย

 

 

หลายวันก่อนเพื่อนคนหนึ่งได้นำลิงค์บทความวิจารณ์นิยายมาให้อ่าน ทำให้เกิดความคิดอยากที่จะเขียนบทความนี้ขึ้นมา ซึ่งก็ขอแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มลงลึกในเนื้อหาว่า

 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของดิฉัน หลินโหม่ว/ซีเรีย ล้วนๆ ค่ะ

 

การเขียนนิยาย

 

นิยาย จัดเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่ง เมื่อเป็นงานศิลปะ ก็แปลว่า มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบ

ถึงจะบอกว่า “มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบ” แต่ในความเป็นจริงก็ยังคงมีกรอบอยู่ ส่วนตัวแล้วคิดว่า “กรอบ” นี้มาจากการที่มีงานหนึ่งชิ้น หรืออาจจะหลายชิ้น เขียนขึ้นในรูปแบบใดก็แล้วแต่ แล้วเกิดได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคนั้น จนนักเขียนคนอื่นๆ ในยุคเดียวกันถืองานเขียนในลักษณะเป็นแบบอย่างและเขียนตาม งานชิ้นนั้นจึงกลายเป็น “กรอบ” ของงานชิ้นอื่นๆ ที่เกิดตามหลังมาไป ซึ่ง “กรอบ” ในที่นี้หมายความได้ทั้ง

·        รูปแบบการเขียน

·        สำนวน

·        แนวพล็อตเรื่อง

·        วิธีการเล่าเรื่อง

·        ฯลฯ

เมื่อมีงานเขียนชิ้นใดที่สามารถแหวกออกจากกรอบแรก และมีความโดดเด่นเป็นที่นิยมสูงมากโผล่ขึ้นมา กรอบก็จะถูกเปลี่ยนเป็นขยายกว้างขึ้น คือจะเขียนแบบกรอบแรกก็ได้ เขียนแบบกรอบที่สองก็ได้ เขียนแบบรวมทั้งสองกรอบก็ได้

ในปัจจุบัน มีงานเขียนวางขายในท้องตลาดมากกว่าเมื่อก่อนมาก งานเขียนที่แหวกกรอบเดิมกลายเป็นกรอบใหม่ก็มีมาให้เห็นเรื่อยๆ และเนื่องจากงานเขียนเป็นศิลปะ จะบอกว่ากรอบไหนผิด กรอบไหนถูก แบบไหนผิด แบบไหนถูก ก็คงไม่สามารถพูดได้ เพราะศิลปะต้องมีอิสระ ดังนั้นทุกกรอบทุกแบบจึงถูกต้อง

เพียงแต่ เมื่อนักเขียนคนหนึ่งเขียนงานเขียนออกมา มักจะมีจุดประสงค์ต่างๆ กันไป มีทั้ง

·        เขียนไว้อ่านเองคนเดียว (ข้อนี้เห็นว่างานเขียนดังกล่าวไม่ควรนำมาโพสต์ให้ชาวบ้านอ่าน)

·        อยากให้มีคนมาอ่าน (เยอะไม่เยอะก็ช่าง)

·        อยากให้มีคนมาอ่านเยอะๆ

·        อยากให้งานเขียนได้รับการตีพิมพ์

·        อยากให้งานเขียนขายดี

·        อยากให้คนที่ซื้องานเขียนไปอ่านอ่านแล้วชอบ

·        อยากคุยกับคนอ่านที่อ่านงานเขียนของตัวเองแล้วชอบ

·        ฯลฯ

 

ขอบอกว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

·        ไม่มีนิยายเรื่องไหนหรอกที่คนที่อ่านทุกคนอ่านแล้วชอบ

·        ไม่มีนิยายเรื่องไหนเช่นกันที่คนที่อ่านทุกคนบอกว่าไม่ชอบ

·        นักเขียนหรือนักอยากเขียนส่วนมากอยากให้คนมาอ่าน/ซื้องานของตัวเองเยอะๆ

·        นักเขียนหรือนักอยากเขียนส่วนมากอยากให้คนอ่านบอกว่างานของตัวเองสนุก (แม้จะบอกว่ายินดีรับคำวิจารณ์ แต่ก็เพื่อที่จะปรับปรุงให้งานเขียนสนุกยิ่งขึ้นอยู่ดี และคนที่บอกว่างานเขียนชิ้นนั้นสนุกหรือไม่ก็คือคนอ่าน)

·        นักเขียนทุกคนมีอัตตา มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน

 

เรื่องจะเขียนนิยายยังไงให้ขายดี ไม่ใช่เรื่องยาก ก็แนวอีโรติกนั่นไง เพียงแต่มีนักเขียนมากมายที่แม้จะรู้อย่างนี้ แต่ทำใจเขียนแนวอีโรติกไม่ได้

ทั้งนี้ไม่ใช่ว่านักเขียนที่เขียนแนวอีโรติกไม่มี อาชีพสุจริตทุกอาชีพดีหมดแหละ รวมทั้งอาชีพนักเขียน ปัญหาอยู่ที่การรู้กาลเทศะและความเหมาะสม เช่น

·        ด้วยความรับผิดชอบของผู้เขียน นิยายอีโรติกไม่ควรนำมาลงในเว็บสาธารณะที่มีผู้เยาว์เข้ามาอ่านได้อย่างอิสระ

·        ด้วยความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์ หน้าปกของนิยายอีโรติกไม่ควรสร้างความเข้าใจผิดให้หลงนึกว่าเป็นนิยายวัยรุ่นใสปิ๊ง

·        ด้วยความรับผิดชอบของผู้ปกครอง ต้องคอยสอดส่องดูแลหนังสือที่ลูกคุณอ่านเอาเอง

 

ในเมื่อทำใจเขียนแนวอีโรติกไม่ได้ ก็ต้องเขียนแบบที่ทำให้คนอ่านอ่านแล้วรู้สึกว่า “สนุก” ซึ่งก็เป็นปัญหาโลกแตกมาตลอดว่าต้องเขียนแบบไหน คนอ่านถึงจะอ่านแล้ว “สนุก”?

 

จากความคิดส่วนตัวของตัวเอง เวลาเลือกอ่านนิยาย จะมีเงื่อนไขดังนี้

1.     การเริ่มเรื่อง

2.     สำนวน

3.     การเล่าเรื่อง

4.     การผูกเรื่อง

5.     ปมของเรื่อง

6.     ความสมเหตุสมผล

7.     การคลายปม

 

 

1. การเริ่มเรื่อง

 

เมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ลองเสิร์ชอ่านนิยายเกมออนไลน์ที่เขียนลงเว็บของจีนเป็นครั้งแรก โดยเลือกจากเรื่องที่มีคนอ่านมากๆ แล้วมาคัดโดยดูคำวิจารณ์ + เรื่องย่ออีกต่อ จนได้เรื่องที่ลองคลิกเข้าไปอ่านดูจริงๆ ผลคือ...

 

เรื่องที่ 1 เริ่มด้วยมีเกมใหญ่ยักษ์ทุ่มทุนสร้างข้ามชาติ ทุ่มโฆษณาสุดๆ เพิ่งเปิดตัว พระเอกก็เข้าไปลองเล่น วิธีไปเล่นคือใส่หมวกเชื่อมต่อคลื่นสมอง

เรื่องที่ 2 เริ่มด้วยมีเกมใหญ่ยักษ์ทุ่มทุนสร้างข้ามชาติ ทุ่มโฆษณาสุดๆ เพิ่งเปิดตัว พระเอกก็เข้าไปลองเล่น วิธีไปเล่นคือใส่หมวกเชื่อมต่อคลื่นสมอง...

เรื่องที่ 3 เริ่มด้วยมีเกมใหญ่ยักษ์ทุ่มทุนสร้างข้ามชาติ ทุ่มโฆษณาสุดๆ เพิ่งเปิดตัว พระเอกก็เข้าไปลองเล่น วิธีไปเล่นคือใส่หมวกเชื่อมต่อคลื่นสมอง...

 

ผลข้างเคียงของการเจอ 3 เรื่องแรกเป็นแบบนี้คือ เมื่อเปิดเจอเรื่องไหนที่ขึ้นต้นแบบนี้อีก นิ้วจะคลิกปิดโดยอัตโนมัติ แล้วลบชื่อเรื่องดังกล่าวออกจากลิสต์นิยายที่จะอ่านในบัดดล

แน่นอนว่าย่อมจะมีเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์นี้ และแน่นอนอีกเช่นกันว่าเรื่องที่ไม่อยู่ในเกณฑ์นี้ “ทั้งหมด” (เฉพาะเรื่องที่เป็นที่นิยม) ถูกเซฟไว้เรียบร้อย กะว่าว่างๆ ค่อยอ่าน

เรื่องที่ “ไม่อยู่ในเกณฑ์” นี้ที่ว่า ไม่ใช่ว่าพระเอกไม่ได้เข้าเกมด้วยหมวกหรอก บางเรื่องก็เข้าเกมด้วยหมวก เพียงแต่ มันไม่ได้เริ่มต้นด้วย “มีเกมใหญ่ยักษ์ทุ่มทุนสร้างข้ามชาติ ทุ่มโฆษณาสุดๆ เพิ่งเปิดตัว พระเอกก็เข้าไปลองเล่น” เท่านั้น ส่วนจะเริ่มต้นแบบไหนนั้น ไม่ขอบอก

การเริ่มเรื่องมีสารพัดมากมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เริ่มจากท้ายเรื่อง แล้วค่อยย้อนกลับมาเล่าตอนแรก, เริ่มจากกลางเรื่อง แล้วค่อยย้อนกลับมาเล่าตอนแรก, เริ่มจากเหตุการณ์ที่เหมือนไม่ได้เกี่ยวข้อง แล้วค่อยๆ เล่าบอกความเชื่อมโยง ฯลฯ ซึ่งหากผู้เขียนไม่ได้เก่งกาจเป็นอัจฉริยะถึงขั้นเกิดปัญญารู้แจ้งเป็นเองโดยไม่มีคนสอน ก็คงต้องไปหาอ่านนิยายเรื่องอื่นๆ ที่มีสไตล์การเริ่มเรื่องหลากหลายแบบมาดูเป็นตัวอย่างประกอบการหัดเขียน

ที่พูดมานี้ก็เพื่อจะบอกว่า การเริ่มเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเริ่มไม่ดี คนอ่านก็จะไม่มีความอดทนที่จะอ่านต่อไป ต่อให้กลางเรื่องสนุกมากแค่ไหน ถ้าก่อนจะถึงช่วงที่ “สนุก” มันสุดจะทนอ่านไหว และมีนิยายเรื่องอื่นอีกมายมากที่สนุกมากตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงกลางเรื่องให้เลือกอ่าน นิยายของคุณก็จะกลายเป็นเรื่องที่ถูกคัดทิ้งเลิกอ่านอย่างง่ายดาย

ส่วนการเริ่มเรื่องแบบไหนที่อ่านแล้ว “สนุก” คุณก็ลองอ่านนิยายหลากหลายเรื่องดุนะ การเริ่มเรื่องแบบไหนที่คุณอ่านแล้วชอบ คุณก็สามารถลอก “สไตล์” ของเรื่องนั้นได้ เพราะการลอกสไตล์เป็นเรื่องที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เนื่องจากไม่ใช่การลอกพล็อตหรือลอกเนื้อเรื่อง

 

 

2. สำนวน

 

มีนิยายหลายเรื่องที่ไอเดียดีมาก แต่สำนวนเกินจะทนทำใจอ่านได้ ก็ยังต้องถูกกดปิดทิ้งไป เพราะมีนิยายอีกมากมายที่อะไรๆ ก็ดีไปหมดรวมทั้งสำนวนรอให้อ่านอีกเยอะแยะ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องทนอ่านนิยายเรื่องที่สำนวนไม่ดี

ช่วงนี้บังเอิญได้อ่านนิยายของนักเขียนจีนคนหนึ่งซึ่งในเนื้อหานิยายของเธอมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ตัวเองไม่ชอบ จัดเป็นนิยายแนวที่ไม่ถูกโฉลก เห็นปุ๊บกดปิดปั๊บ ได้แก่

 

·        ความรักในวัยเรียน (พระเอก-นางเอกเป็นนักศึกษาทั้งคู่)

·        มี >_<  = =  >o< อยู่ในเนื้อเรื่อง

 

เพราะจากที่พบโดยทั่วไป ผู้เขียนที่ใช้อีโมคอนเหล่านี้ มักจะอ่อนฝีมือในการบรรยาย แต่ผู้เขียนคนนี้กลับตรงข้าม ฝีมือบรรยายของเธอดีมาก สำนวนสามารถสะกดตรึงให้อ่านตั้งแต่เริ่มเรื่องจนจบเรื่องได้ทั้งสามเรื่องรวดแบบไม่หลับไม่นอน (สมกับยอดขาย 300,000 – 500,000 เล่มทุกเรื่อง) ดังนั้นจึงเท่ากับช่วยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้แก่ตัวเราอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ “อีโมคอนเป็นสิ่งที่สามารถให้อภัยได้ หากฝีมือในการปั้นแต่งสำนวนและบรรยายของผู้เขียนคนนั้นแน่มากจริงๆ และใช้อีโมคอนเป็นแค่สิ่งช่วยเสริมในจังหวะที่พอเหมาะ”

แต่ปัญหาที่พบเจอเป็นประจำในการปั้นแต่งสำนวนก็คือ สำนวนแบบไหนถึงจะเรียกว่า “สำนวนดี”?

 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และจากความเห็นส่วนตัว

·        สำนวนที่ดี บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องถูกต้องตามหลักภาษาใน “ปัจจุบัน”

·        ที่บอกว่าไม่จำเป็นต้องถูกต้องตามหลักภาษาใน “ปัจจุบัน” ก็เพราะพบว่าการใส่คำโบราณหรือสำนวนโบราณในจังหวะที่ถูกต้องเหมาะสม จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงฝีมือที่เหนือชั้นของผู้เขียน

·        ไม่ว่าจะสำนวนเน้นพรรณนาหรือเน้นกระชับชัดเจน ก็จัดเป็นสำนวนที่ดีได้ทั้งคู่ เพียงแต่...

·        สำนวนแบบพรรณนา คุณต้องสามารถทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกเลยว่ามันยืดยาดเยิ่นเย้อ และรู้สึกได้แต่ความสวยงามของภาษาในการพรรณนาที่คุณสรรหามาเขียน (แนะนำให้ลองไปหาอ่านนิยายของ พัณณิดา ภูมิวัฒน์ และ ญาณิน ของแจ่มใส)

·        สำนวนแบบกระชับชัดเจน คุณต้องคุณต้องสามารถทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่ามันห้วนสั้นเกินไป

 

แน่นอนว่า “ผู้อ่าน” ในที่นี้ หมายถึงผู้อ่านที่มีความรู้ภาษาไทยในระดับปกติ ไม่ได้เลิศลอยขนาดจบป.ตรีเอกภาษาไทยขึ้นไป และไม่ได้ย่ำแย่ถึงขนาดสอบทีไรคะแนนต่ำกว่า 60 ทุกที (คะแนนต้องเป็นแบบที่ไม่ได้ลอกข้อสอบ, เจ้าตัวไม่ได้ขาดสอบหรือจงใจส่งกระดาษเปล่าประชดวงการศึกษาอย่างแนวมาก หรือครูไม่ได้ลำเอียงเทคะแนนให้มาเพราะกลัวโดนครูใหญ่/ผอ.ไล่ออกฐานทำให้นร.สอบตกจนผู้ปกครองไม่พอใจด้วยนะ)

ส่วนความเห็นหรือคำวิจารณ์ที่ว่า “อ่านไม่รู้เรื่องเลย” ของผู้อ่านที่คะแนนภาษาไทยต่ำกว่า 60 คุณไม่ต้องไปสนใจฟังหรอก เพราะปัญหาอยู่ที่ตัวผู้อ่านคนนั้นเอง ไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณที่เป็นผู้เขียน

ถาม : แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าคำวิจารณ์ของผู้อ่านคนไหนคือแบบคะแนนภาษาไทยไม่ถึง 60?

ตอบ : ถ้าคุณสามารถอ่านเรื่องนิยายของนักเขียนรุ่นเก่า เช่น ทมยันตี กิ่งฉัตร แก้วเก้า พนมเทียน ฯลฯ เข้าใจได้ คุณก็จะสามารถแยกแยะได้โดยอัตโนมัติเองล่ะนะว่าความเห็นแบบไหนคือความเห็นของผู้อ่านที่คะแนนภาษาไทยไม่ถึง 60

 

 

3. การเล่าเรื่อง

 

ตรงนี้จะต่อเนื่องจากการเริ่มเรื่อง ในบางเรื่อง ถึงจะเริ่มเรื่องไม่ดี แต่ถ้าการเริ่มเรื่องสั้นมาก เช่น แค่บทนำ หรือ 1 ตอน และการเล่าเรื่องทำได้ดี การเริ่มเรื่องก็ไม่ได้สำคัญเลย ขณะที่บางเรื่อง ต่อให้เริ่มเรื่องดีแค่ไหน ถ้าการเล่าเรื่องห่วย คนอ่านก็แป้กอ่านได้แค่ตอนเริ่มเรื่อง อ่านต่อไม่ลงเหมือนกัน แน่นอนว่าถ้าทำได้ดีหมดทั้งการเริ่มเรื่องและการเล่าเรื่องย่อมจะยิ่งดีมาก

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างนิยายที่อาศัยเทคนิคการเล่าเรื่องมาดึงดูดคนอ่าน และไม่เป็นไปตามแบบสไตล์ปกติที่เริ่มเล่าเป็นเส้นตรงจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงตอนจบ ของไทยเท่าที่นึกออกเห็นจะมี แต่ปางก่อน ของแก้วเก้า, ฯพณฯ แห่งกาลเวลา ของพัณณิดา ภูมิวัฒน์ ถ้าเป็นการ์ตูน ก็คือแบบเรื่อง BERSERK และซามูไรพเนจร (พระเอก ฮิมุระ เคนชิน) นั่นคือการเล่าเรื่องเริ่มจากกลางเรื่อง ให้เห็นว่าพระเอกเป็นคนมีอดีต เพื่อกระตุ้นให้คนอ่านอยากจะรู้อดีตนั้น แล้วผ่านไปสักพักก็ค่อยๆ ทยอยแพล็มอดีตที่ว่านั้นออกมา

นักเขียนหรือนักอยากเขียนในเน็ตที่ใช้วิธีนี้ มักจะเจอปัญหาจากนักอ่านที่ไม่มีความอดทนพอ เข้ามาให้ความเห็นทำนองว่า

“ทำไมตรงนั้นตรงนี้ถึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ล่ะ? ไม่เห็นมีบอกที่มาไว้ตรงไหนเลย”

หรือคนอ่านที่ไม่เข้าใจเทคนิคการเขียนแต่นึกว่าตนเก่งกาจรู้ดีเข้ามาให้ความเห็นทำนองว่า

“ตรงนั้นตรงนี้หลุดนะ ทำไมคนนั้นคนนี้อยู่ๆ ก็โผล่มาได้ ฯลฯ”

ซึ่งคนเขียนได้แต่ตอบไปในใจว่า

“ก็จะเฉลยทีหลังยังไงเล่า ตอนนี้ยังเขียนไปไม่ถึง ยังไม่ถึงเวลาเฉลยน่ะเข้าใจมั้ย? ใครมันจะเทพรวดบอกมาหมดตั้งแต่ตอนแรกอย่างไร้ศิลปะในการเขียนสิ้นดีไม่ทราบ เพราะขืนทำตามใจพระเดชพระคุณนิยายเรื่องนี้มีหวังได้กลายเป็นนิยายสุดยอดน่าเบื่อ ไร้ศิลปะในการเขียน คนอ่านหายเกลี้ยงของจริงกันพอดี”

แน่นอนว่าคำตอบแบบนี้ตอบได้แต่ในใจเท่านั้น ขืนเขียนออกมาตอบจริงๆ นี่มีหวังบอร์ดแตกเกิดมาม่าแหงๆ ส่วนคำตอบจริงๆ ที่ตอบได้ แนะนำให้พิมพ์ตอบไปว่า

^__^

เพราะขืนทำเป็นมองข้าม มองเมิน มองไม่เห็นความเห็นของท่านผู้รู้ที่อยากอวดรู้ทั้งที่ความจริงไม่ได้รู้อะไรเลย เดี๋ยวท่านผู้รู้จะเต้นผางด้วยความไม่พอที่ถูกเมินเอาได้

แต่ก็ใช่ว่าผู้อ่านที่แสดงความเห็นในทำนองนี้ทุกคนจะเป็นผู้อวดรู้ที่ไม่ได้รู้จริง บางคนก็ตาแหลมคมชี้แนะในสิ่งที่คุณได้ลืมที่จะใส่เหตุผลรองรับให้จริงๆ ก็เป็นได้ ซึ่งคุณก็ต้องไปพิจารณาอีกทีว่าสิ่งที่ผู้อ่านแบบนี้ชี้ มีความจำเป็นมากแค่ไหนที่จะแก้ไขเพิ่มเติม และสุดท้าย สิทธิ์ในการตัดสินใจย่อมจะเป็นของคุณ เพราะคุณคือผู้เขียน

หากคุณเห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมจริงตามที่ผู้อ่านดังกล่าวชี้แนะมา ก็อย่าลืมเขียนขอบคุณเขาด้วยนะ ส่วนความเห็นของผู้อ่านที่ไม่ผ่านในความเห็นของคุณ คุณก็ตอบไปแค่ ^__^ นั่นแหละดีแล้ว ให้ท่านผู้รู้ที่อยากอวดรู้ทั้งที่ความจริงไม่ได้รู้อะไรเลยไปแสดงภูมิปัญญาตีความกันเอาเองว่าหน้ายิ้มนี้แฝงปริศนาธรรมไว้ว่าอย่างไร

จากประสบการณ์ของตัวเอง อัตตาในตัวของนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนที่เริ่มมีผู้อ่านมากพอสมควร มักจะทำให้นักเขียนเกิดความไม่พอใจในแวบแรกที่ได้อ่านความเห็นทำนองชี้ข้อบกพร่อง ขอบอกว่ามันเป็นเรื่องปกติมากสำหรับความไม่พอใจแบบนี้ อย่าว่าแต่นักเขียนหรือนักอยากเขียนที่อายุแค่ 10 กว่าหรือ 20 กว่าปีเลย ต่อให้อายุ 30 กว่า 40 กว่าปี ก็เกิดอัตตาในลักษณะนี้ได้

วิธีแก้ไขคือ หลังจากได้เจอความเห็นที่ทำให้ฉุน จงอย่าเพิ่งตอบ ให้มองข้าม อย่าไปดูความเห็นนั้นหรือเหล่านั้นอย่างน้อย 1 วัน เมื่อรู้สึกว่าตัวเองค่อยใจเย็นลงแล้ว ค่อยย้อนกลับไปอ่านความเห็นเหล่านั้นด้วยใจที่เป็นกลางอีกครั้ง และพิจารณาตามว่ามีความจำเป็น เหมาะสม สมควรมากแค่ไหนที่จะแก้ไขตามนั้น เพราะความเห็นที่ดีมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาทักษะการเขียนของคุณ

 

ขอย้ำว่าจงอย่าให้อัตตาและความโกรธของตัวเองมาขัดขวางความก้าวหน้าของทักษะ

 

แต่ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ว่าใครบอกให้แก้ก็แก้ตามไปหมดนะ แบบนั้นคุณจะไม่เหลือเอกลักษณ์ของตัวเอง จงพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าควรแก้หรือไม่แล้วค่อยแก้

ขอให้ตระหนักไว้ว่า นิยายเป็นของคุณ คุณเป็นคนเขียน ไม่มีใครรู้ลึกในนิยายเรื่องนั้นมากเท่ากับคุณได้ ส่วนผู้อ่านที่ให้ความเห็นคนไหนมาโวยวายในกรณีที่คุณไม่แก้ตามที่เขาแนะ ให้บอกเขาไปอย่างสุภาพได้ว่า นิยายเรื่องนี้เป็นของคุณ คุณเป็นคนเขียน หากผู้อ่านท่านนั้นอยากให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ กรุณาไปเขียนนิยายขึ้นมาใหม่เอาเองแล้วเชิญแก้ตามใจตัวเองให้พอใจ

 

หมดโควตาจำนวนตัวอักษรแล้ว ต่อกระทู้ 2 นะคะ = ="

http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2278467

 



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 29 กันยายน 2554 / 06:59
แก้ไขครั้งที่ 2 เมื่อ 29 กันยายน 2554 / 07:00
แก้ไขครั้งที่ 3 เมื่อ 30 กันยายน 2554 / 03:50
แก้ไขครั้งที่ 4 เมื่อ 30 กันยายน 2554 / 04:57
แก้ไขครั้งที่ 5 เมื่อ 30 กันยายน 2554 / 06:44
แก้ไขครั้งที่ 6 เมื่อ 1 ตุลาคม 2554 / 06:13

PS.  นิยายที่กำลังแปล : ม่านม่านชิงหลัว / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไป : แปล "BOSS" / นิยายที่ต้องสะสางเรื่องถัดไปอีก : แปลหย่งเยี่ย ตามด้วย รีไรท์ "ศึกจอมขมังเวทเล่ม 4-เล่มจบ"

แสดงความคิดเห็น

>

44 ความคิดเห็น

เขียนเท่าไหร่ก็ม่ายจบ 28 ก.ย. 54 เวลา 11:34 น. 2

 เข้ามาปาดดดๆๆ...อ่านไม่จบ...เพราะถ้าอ่านจนจบ คงเวียนหัวไม่มีแรงแต่งนิยายต่อแน่ๆ หากต้องคำนึงถึงกระบวนการ จะแต่งนิยายสักเรื่อง ขั้นตอนจะมากมายขนาดนั้น......มิน่านิยายของผมคนถึงมีคนเข้าไปอ่านน้อยเป็นเช่นนี้เอง ...ก็แค่อยากเขียน รักที่จะเขียน ขั้นตอนสั้นๆ แค่นี้ก่อนก็น่าจะพอมังครับ...เริ่มจะก่อมาม่าฮิๆๆ


0
- บุษรา - 28 ก.ย. 54 เวลา 11:50 น. 3

สุดยอดดดด!!  เหมือนมีคนมาพูดแทนสิ่งที่คิดอยู่ในใจ

ขอบคุณที่ร่วมแบ่งปันค่า


PS.  "อักษรา...จันทรา" แฟนตาซี ไทยในมิติใหม่ http://writer.dek-d.com/iambutsara/writer/view.php?id=746791
0
ณ พิชา 28 ก.ย. 54 เวลา 12:23 น. 5

เอ๊ะ..คุณซีเรีย พี่หลินโหม่ว ป่าวคะ
นานๆ จะได้เจอตัวสักที ขอคารวะสักทีค่ะ
หลังไม่ค่อยได้เข้าบ้านเจเจ แล้วไม่ค่อยได้พบกันเลยนะคะ

(ทักทายดิบดี ..จำ ณ พิชา ได้รึเปล่าเนี่ย ถ้านึกไม่ออกขอโทษด้วยนะค้า)


PS.  I think, therefore, I am
0
Sb.kit กวีผู้นอบน้อม 28 ก.ย. 54 เวลา 12:35 น. 6

เป็นบทความที่ประเทืองปัญญายิ่ง มิน่านิยายเราถึงได้ไม่ค่อยมีคนเข้ามาอ่าน
ทั้งที่เนื้อเรื่อง เราเองลองรีไรท์ หลายรอบ ก็รู้สึกว่าสนุกดี แต่ทำไมไม่ค่อยบูม
นักวิจารณ์เค้าบอกว่า เริ่มเรื่องไม่น่าติดตาม สงสัยจะจริง
ก็ตัวละครหลักเล่นออกตอนที่ 10 ปาดแล้วจะแก้ยังไงละเนี่ย
            


PS.  เราจะถมทะเลให้เต็มได้อย่างไร เราจะเติมเต็มชีวิตได้อย่างไร ในเมื่อไร้รัก
0
K.W.E. 28 ก.ย. 54 เวลา 13:00 น. 7

อ่านแล้วเพลินดีครับ

/me รออ่านตอนต่อ


PS.  Ragnarok Fiction - The legend of descendant - เรื่องราวของตำนานรบตำนานรักบทใหม่ มีอา-มังกรน้อยปาฏิหาริย์ - (Master And The Little Dragon) - รักพี่จ๋าที่สุดในโลกเลย !!
0
GoddessBell 28 ก.ย. 54 เวลา 16:35 น. 11

 รู้สึกเหมือนเพิ่งพบสาระ ก็วันนี้เอง(ฮา)


PS.  บทเพลงที่ข้าบรรเลงอาจไม่ไพเราะ...แต่ข้านั้นบรรเลงด้วยหัวใจ นิยายที่สรรค์สร้างอาจไม่สนุก...แต่ข้าก็เขียนด้วยหัวใจ
0
มนต์อลัมพราย 28 ก.ย. 54 เวลา 16:51 น. 12

อยากให้คนอ่านได้อะไรมากกว่า สนุก ถูกใจ
ที่คนวิจารณ์นิยายส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยนำออกมาพูดถึง

หรือ นิยายยุคปัจจุบัน มีแต่ตัวหนังสือให้อ่าน!!!

0
จรวดขวดน้ำปลา 28 ก.ย. 54 เวลา 17:34 น. 14

 ในที่สุดก็มีคนออกมาพูดเรื่องนี้เสียที....ซึ่ง~
 นิยายไทยจะได้พัฒนาไปอีกก้าว..


 อ่านรวดเดียวจบ ถูกใจมากค่ะ โฮะๆ
 


PS.  ทุกสิ่งคือจิต จักรวาลก็คือจิต ....งงว่ะ
0
27149 28 ก.ย. 54 เวลา 18:00 น. 15

เข้ามาลงชื่ออ่านครับ  ชอบตรงที่เขียนในเชิงให้ทำความเข้าใจตัวเองและคนอื่น  ทั้งในมุมนักเขียนและนักอ่านนี่แหละ = v =

0
อาริงกิ๊งกิ๊ง 28 ก.ย. 54 เวลา 18:29 น. 16

ลงชื่ออ่านเช่นกัน
แต่ขอบอกเลยว่า พออ่านจบแล้ว เกิดปิ๊กไอเดียและกำลังจะแก้การเปิดเรื่องของบทที่ 1 ของนิยายเรื่องใหม่ทันทีเลย
ขอบคุณจริงๆ จขกท. ที่ทำให้นึกไอดีได้ ^/\^ 

0
กะรัต/กะรัตตา 28 ก.ย. 54 เวลา 19:02 น. 17

เป็นบทความที่ดีมากค่ะ ขอบคุณคุณหลินค่ะ


PS.  อย่าเรียกร้องจากใคร จงก้าวออกไป...ไปให้ถึงฝั่งฝัน ด้วยตัวของเราเอง
0
Deta 29 ก.ย. 54 เวลา 00:36 น. 19

><!!!!

สาระค่าาาา!!!


PS.  [สถานะ:: มันเป็นเรื่องของโชคชะตา...]// กฎหมาย...ถ้าคนไม่เคารพ มันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ // It's our "Destiny" // อ๊างงงค์~~~
0
Дdiemuś 29 ก.ย. 54 เวลา 00:50 น. 20

รอส่วนที่เหลือครับ เป็นประโยชน์มาก


PS.  ข้าให้คำสัตย์จะภักดีต่อหน้าที่ แม้นว่าอุปสรรคที่ขวางนั้นคือหัวใจข้าก็ตามที ทางออกมีแต่ต้องขยี้ให้สิ้นไป
0