Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ว่าด้วยเรื่องการเขียนนิยายไทยคำอังกฤษคำ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
*คำเตือน กระทู้นี้ยาวขอรับ*

ตอนแรกกะว่าจะตั้งเฉพาะกระทู้รับอ่านนิยาย หรือถ้าจะตั้งก็เอาแต่ที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องที่ข้าน้อยอาจจะไม่มีเวลาเข้ามาตอบหรือมาร่วมถกกันขอรับ สำหรับหัวข้อกระทู้นี้คิดอยู่นานสองนานว่ามันเรียกได้ว่า "จำเป็น" หรือเปล่า แต่สุดท้ายคิดว่าออกมาตั้งหน่อยก็ดีเพราะไม่เห็นมีใครหยิบเรื่องนี้มาคุยเท่าไร

สำหรับข้าน้อยนับว่าสิ่งนี้เป็น "ปรากฏการณ์ใหม่" เพราะเพิ่งได้พบเห็น แต่อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักอ่านบางท่านเพราะเคยอ่านเคยเห็นมาก่อนอยู่แล้ว

ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการเขียน เอาแค่การพูดก่อน ปกติเรื่องพูดไทยคำอังกฤษคำ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว เกิดจากกลุ่มคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่แค่ภาษาไทยทำให้มีความเคยชินกับภาษานั้นๆ เลยเป็นที่มาของการพูดไทยคำอังกฤษคำ (หรือพูดไทยคำภาษาอื่นๆ คำ แต่ในกระทู้นี้ขอเรียกภาษาเหล่านั้นแบบรวมๆ โดยใช้คำว่า "พูดไทยคำอังกฤษคำ" ไปก่อน มันเข้าใจง่ายดี)

ข้าน้อยเป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในจำพวกข้างบน ซึ่งในช่วงรุ่นของข้าน้อย กลุ่มคนประเภทนี้มีจำกัดอยู่เพราะการศึกษาเรื่องภาษาในตอนนั้นมันไม่ได้แพร่หลายไปทุกหย่อมหญ้า เลยยังไม่ค่อยพบปรากฏการณ์นี้ แต่เมื่อลงไปอีกรุ่นหนึ่งที่มีโอกาสเข้าถึงการเรียนภาษามาก...มากๆด้วย (ข้าน้อยเชื่อว่าคนที่อยู่ในบอร์ดรู้ส่วนมากรู้ภาษาที่สองขึ้นไป) บวกกับเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็วจนสร้างภาษาขึ้นมารองรับไม่ทันจึงใช้ภาษาต่างประเทศนั้นๆเรียกไปเลยเพื่อความสะดวก ข้าน้อยจึงมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของ "ปรากฏการณ์ใหม่" ในมุมมองของข้าน้อย

นั่นคือปรากฏการณ์ที่การพูดไทยคำอังกฤษคำส่งผลให้กลายมาเป็นการเขียนไทยคำอังกฤษคำ

ข้าน้อยอยากจะบอกนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ว่า ถ้าเป็นไปได้ ในการเขียนหนังสือ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาต่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ดีกว่าขอรับ

ออกตัวก่อนเลยว่า เหตุผลที่ข้าน้อยกล่าวเช่นนั้น ไม่ใช่เพราะข้าน้อยจะมารณรงค์เรื่องการใช้ภาษาไทยแล้วต่อต้านภาษาต่างประเทศแต่อย่างใด เพราะบอกไปแล้วว่าข้าน้อยเองก็เป็นคนพูดไทยคำอังกฤษคำเหมือนกัน และค่อนข้างเข้าใจกระบวนการความคิดและที่มาด้วย (เพราะเป็นมาตลอดจนต้องมามองหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น ข้าน้อยเป็นคนพูดช้ามากเพราะในหัวต้องแปลตลอดเวลา ข้าน้อยยังไม่เคยพบคนที่สามารถคุยกับข้าน้อยโดยที่ข้าน้อยไม่ต้องแปลเลย)

ภาษาเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้แทนสิ่งต่างๆ ของบางสิ่งภาษาไทยอาจจะเหมาะที่จะนิยามแต่ในขณะเดียวกันบางสิ่งถ้าใช้คำไทยอาจจะต้องใช้ความพยายามในการอธิบายมากขึ้น สู้ใช้ภาษาอังกฤษไปเลยไม่ได้ หรือบางครั้งเคยชินกับการใช้ภาษาอังกฤษแทนสิ่งนั้นอยู่แล้วเลยเผลอตัวที่จะใช้ออกไป และความเคยชินเหล่านั้นจึงเป็นที่มาของการพูดไทยคำอังกฤษคำ

และเป็นไปได้ว่าความเคยชินที่ว่า อาจจะทำให้ลามมาใช้ในการเขียนโดยไม่รู้ตัว (พูดยังไงก็เขียนอย่างนั้น ว่างั้นเถอะ)

สำหรับการพูด ถ้าเรารู้ว่าคู่สนทนาของเราเป็นใคร เราจะสามารถประเมินได้ว่าคนรับสารเข้าใจได้มากน้อยเพียงไหน เช่น ถ้าเราสนทนากับคนที่มองแล้วว่าไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ต่อให้เราลืมตัวพูดภาษาอังกฤษออกไปแล้วปฏิกิริยาของคนฟังคือทำหน้าเด๋อใส่ คนพูดจะรู้ตัวและพยายามแปลสิ่งที่ตัวเองพูดให้อีกฝ่ายเข้าใจ

แต่ถ้าเป็นการพูดโดยที่เราไม่รู้ว่าคู่สนทนาของเราเป็นใคร คนพูดไม่มีทางเห็นปฏิกิริยาของคนฟัง ณ ขณะที่พูด ดังนั้นสิ่งที่คนพูดจะทำก็คือ พูดด้วยภาษาที่เป็นกลางเข้าไว้เพื่อให้มั่นใจว่าคนรับสารส่วนมากจะเข้าใจในสิ่งที่เราพูด เพราะฉะนั้น ผู้ประกาศข่าว พิธีกรทั้งหลายมักจะพูดภาษาไทยชัด และจะหลีกเลี่ยงภาษาต่างประเทศเท่าที่จะเป็นไปได้ ยกเว้นแต่ว่าภาษาต่างประเทศนั้นจะใช้บ่อยจนเป็นที่รู้กันและได้รับการยอมรับในวงสังคมไปแล้ว เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สำหรับการเขียนย่อมแตกต่างจากการพูดตรงที่ว่า การเขียนจะไม่มีวันทำให้คนเขียนสามารถรู้ปฏิกิริยา ณ ขณะที่คนอ่านกำลังอ่านเลย (คือเขียนเสร็จแล้วเห็นหน้าคนอ่านว่าไม่เข้าใจก็รีบลบและแก้ไขทันที ถ้าจะทำได้นั่นคือคนเขียนต้องเห็นหน้าคนอ่าน แต่ในความเป็นจริง คนเขียนไม่มีทางเห็นหน้าคนอ่านได้ทุกคนในขณะที่เขาอ่าน) ดังนั้นสิ่งที่คนเขียนพึงจะทำถ้าเป็นไปได้ก็คือ ใช้ภาษาที่จะทำให้คนอ่านหมู่มากสามารถเข้าใจได้ง่ายไม่ว่าเขาจะมีวัยใด มีวุฒิใดก็ตาม

บอกตรงๆ นะขอรับ การเขียนแบบไทยคำอังกฤษคำน่ะ มันง่ายมากสำหรับคนเขียน เพราะตัวเองรู้อยู่แล้ว ถ้าจะต้องเขียนภาษาไทยหมดทุกคำ มันลำบากตัวเองหน่อยตรงที่จะต้องมานั่งแปลให้คนอ่านไง เพราะงั้นคนอ่านก็ไปพยายามเองก็แล้วกันนะ ซึ่งถ้าถามข้าน้อย นี่เป็นเรื่องที่คนเขียนเลือกเองว่าจะเอาตัวเองสบายหรือคนอ่านลำบาก คนอ่านสบายหรือตัวเองลำบาก

ข้าน้อยจะบอกว่า ความลำบากของคนอ่านน่ะ ไม่ใช่เรื่องแค่ว่าเขาไม่รู้ภาษาต่างประเทศ คนอ่านบางคนก็รู้ เข้าใจ แต่มันก็อ่านลำบากอยู่ดี เพราะอะไรรู้ไหมขอรับ? ขอให้ท่านลองอ่านตัวอย่างข้างล่างดู อ่านทุกคำเลยนะขอรับ

สำหรับพอยท์ออฟวิวสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 'ออมนิเชียน' 'ลิมิเตด ออมนิเชียน' 'เฟิร์สเพอร์ซัน' และสุดท้าย 'ออบเจ็คทีฟ' ซึ่งแต่ละพอยท์ออฟวิวมีแอดแวนเทจ และดิสแอดแวนเทจที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้เขียนจะนำไปใช้อย่างไร

ถ้าเป็น 'ออมนิเชียน' จะสามารถมองเห็นได้หมดไม่ว่าจะเป็นเซ็ตติ้ง คาแรคเตอร์ รวมทั้งสิ่งที่อยู่ภายในใจของคาแรคเตอร์ต่างๆ ในขณะที่ 'ลิมิเตด ออมนิเชียน' ชื่อได้บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นพอยท์ออฟวิวที่ถูกจำกัด ทำให้อินฟอร์เมชั่นบางอย่างไม่ครบถ้วนเท่ากับ 'ออมนิเชียน' แต่แอดแวนเทจของพอยท์ออฟวิวนี้ก็คือทำให้เล่นกับความรู้สึกนึกคิดของคาแรคเตอร์ได้ดีกว่า ทว่าอาจจะยังไม่เท่ากับ 'เฟิร์สเพอร์ซัน' ที่สามารถสร้างอิลลูชั่นคนอ่านได้ง่ายกว่ามากเพราะบลายด์พอยท์ออฟวิวของคนอ่านสบายๆ ส่วน 'ออบเจ็คทีฟ' เป็นพอยท์ออฟวิวแบบที่ทำให้คนอ่านมองเห็นและได้ยินอินฟอร์เมชั่นที่คาแรคเตอร์พูดหรือกระทำออกมาเท่านั้น จะไม่รู้ว่าคิดอย่างไร คนอ่านจะต้องอิมพลายกับสิ่งที่พวกเขาทำเอง


และในเรื่องเดียวกัน แต่แปลงสารให้เป็นภาษาไทยเรียบร้อย

สำหรับเรื่องมุมมองสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 'มุมมองพระเจ้า' มุมมองจำกัดสายตา' 'มุมมองบุรุษที่หนึ่ง' และสุดท้าย 'มุมมองกล้อง' ซึ่งแต่ละมุมมองมีข้อดี และข้อเสียที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้เขียนจะนำไปใช้อย่างไร

ถ้าเป็น 'มุมมองพระเจ้า' จะสามารถมองเห็นได้หมดไม่ว่าจะเป็นฉาก ตัวละคร รวมทั้งสิ่งที่อยู่ภายในใจของตัวละครต่างๆ ในขณะที่ 'มุมมองจำกัดสายตา' ชื่อได้บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นมุมมองที่ถูกจำกัด ทำให้ข้อมูลบางอย่างไม่ครบถ้วนเท่ากับ 'มุมมองพระเจ้า' แต่จุดดีของมุมมองนี้ก็คือทำให้เล่นกับความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้ดีกว่า ทว่าอาจจะยังไม่เท่ากับ 'มุมมองบุรุษที่หนึ่ง' ที่สามารถสร้างมายาภาพให้คนอ่านได้ง่ายกว่ามากเพราะปิดกั้นสายตาของคนอ่านสบายๆ ส่วน 'มุมมองกล้อง' เป็นมุมมองแบบที่ทำให้คนอ่านมองเห็นและได้ยินข้อมูลที่ตัวละครพูดหรือกระทำออกมาเท่านั้น จะไม่รู้ว่าคิดอย่างไร คนอ่านจะต้องตีความกับสิ่งที่พวกเขาทำเอง


ใช้เวลาอ่านต่างกันไหมขอรับสำหรับ 2 บทความข้างบนในเนื้อหาเดียวกันเป๊ะ? ลองตอบคำถามนี้กับตัวเอง และลองอ่านบทความในภาพนี้ดู



ท่านพอจะอ่านได้ไหมขอรับ?

ประเด็นที่หยิบบทความนี้มาให้ลองอ่านก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า คนอ่านไม่ได้อ่านหนังสือทุกตัวอักษรขอรับ เราจะใช้ความเคยชินในการเห็นภาพการเรียงตัวกันของตัวอักษรแล้วสามารถประมวลได้เลยว่าคำที่เราเห็นคืออะไร ถ้าเรามองปราดเดียวแล้วเห็นคำว่า

"ข้อมูล"

เราจะเข้าใจได้ทันทีว่ามันหมายถึง "ข้อมูล"

หรือถ้าเรามองปราดคำว่า

"information"

ถ้าคนที่อ่านภาษาอังกฤษคำนี้บ่อย เราก็จะเข้าใจทันทีว่ามันหมายถึง "ข้อมูล"

แต่ถ้าเรามองปราดเดียวเห็นคำว่า

"อินฟอร์เมชั่น"

เราคงไม่สามารถเชื่อมโยงกับความหมายว่า "ข้อมูล" ได้อย่างรวดเร็วเหมือนคำว่า "ข้อมูล" หรือ "information" ถูกต้องไหมขอรับ?

ทั้งนี้เพราะเมื่อเทียบกับคำว่า "ข้อมูล" หรือ "information" เราเห็นคำว่า "อินฟอร์เมชั่น" น้อยกว่ามากๆ นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะคิดได้ว่ามันมีความหมายว่าอย่างไร

นี่เป็นแค่คำเดียว แล้วถ้าสมมติว่าใน 1 ย่อหน้าปรากฏคำที่คนอ่านจะต้องมานั่งแกะเสียงอ่านแบบคำว่า "อินฟอร์เมชั่น" เป็นสิบๆคำ แบบตัวอย่างนรกที่ข้าน้อยลองเขียนขึ้นเล่นๆ ข้างบนนั่น (ไม่ต้องพูดถึงหนึ่งตอน หรือหนึ่งเรื่อง) คิดว่าคนอ่านจะสามารถทนทานกับการรับสารประเภทนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมันคือการฝืนธรรมชาติของการอ่านอย่างยิ่งยวดขอรับ

ข้าน้อยเชื่อว่าคนเขียนหลายๆคนไม่ได้เป็นแบบนี้ อาจจะด้วยเนื้อเรื่องไม่เอื้อให้ต้องใช้ภาษาต่างประเทศขนาดนั้น (ส่วนมากจะเกิดกับเรื่องที่ต้องสร้างโลกขึ้นมาใหม่ จึงต้องมีภาษาต่างประเทศเข้ามาเกี่ยว) หรือจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม และข้าน้อยก็เชื่อว่าคงไม่มีคนเขียนคนไหนตั้งใจจะทำให้เรื่องของตัวเองเป็นแบบนี้ เชื่อว่าต่อให้อ่านบทความนี้ ท่านอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ว่าเรื่องของตัวเองเป็นแบบนั้นอยู่ เพราะมันเกิดจากความเคยชิน ไม่ได้จงใจหรือตั้งใจที่จะเป็น ด้วยเหตุนี้ข้าน้อยเลยคิดว่าเขียนกระทู้พูดถึงหน่อยก็ดี เผื่องานเขียนของท่านอาจจะอยู่ในภาวะแบบนี้อยู่ แต่ไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

ขอย้ำอีกครั้งขอรับ ข้าน้อยไม่ได้ต่อต้านการใช้ไทยคำอังกฤษคำ และไม่ได้ห้ามไม่ให้มีภาษาต่างประเทศ จะมีก็มีได้แหละขอรับ แต่ขอให้คำนั้นผ่านการใคร่ครวญของคนเขียนแล้วถึงค่อยใช้ ไม่อยากให้ใช้ความเคยชินเข้าว่า และสิ่งที่ข้าน้อยมานำเสนอ เป็นแค่เสียงหนึ่งของคนที่พบปรากฏการณ์นี้และต้องการนำมาบอกต่อเผื่อท่านที่ผ่านมาเห็นกระทู้นี้โดยบังเอิญจะได้ลองพิจารณาดูว่างานเขียนของตัวเองอาจทำให้คนอ่านไม่ถูกใจและจากไปด้วยสาเหตุนี้หรือไม่ (คิดว่าคนอ่านบางคนอาจจะไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าไม่ชอบด้วยเหตุผลนี้เลยไม่ได้เตือนคนเขียน)

สุดท้ายและท้ายสุด นี่เป็นความคิดเห็นของคนอ่านคนหนึ่งเท่านั้นขอรับ (ตอนนี้ข้าน้อยสวมหมวกคนอ่าน) คนเขียนจะซื้อคำแนะนำของข้าน้อยหรือไม่ก็สุดแต่ท่านจะตัดสินใจ

หวังว่ากระทู้นี้จะมีประโยชน์ต่อท่านนักเขียนทั้งหลายนะขอรับ

*ภาพเป็นบทความจาก Cambridge University Study*
http://twilightsaga.wikia.com/wiki/User_blog:VampiresAndWerewolfsareAwesomeAsHell23/See_if_you_can_read_this_2

แสดงความคิดเห็น

>

26 ความคิดเห็น

อควารอยด์ 20 ธ.ค. 57 เวลา 23:53 น. 1
เห็นด้วยเต็มๆ เลยครับ
โดยเฉพาะคำไหนที่สามารถใช้เป็นชื่อไทยได้ก็ควรที่จะใช้ชื่อภาษาไทยไปเลย อย่างการใช้คำว่า <เครื่องปรับอากาศ> แทนคำว่า <แอร์> ที่มีคำแปลสองทาง แล้วยังเป็นการตัดปัญหาเวลาเรียกชื่อสองอย่างนี้ในประโยคสนทนาเดียวกันไปในตัวอีกด้วย


แล้วนี่ก็คือ ศัพท์ภาษาไทยฉบับเต็มที่ผมใช้เรียกซอมบี้ในนิยายครับ (ยาวหน่อยนะ)
“แล้วบางครั้งคำศัพท์ที่เลื่อนลอยอย่าง <ซอมบี้> ก็น่าจะบัญญัติศัพท์ใหม่เป็น <ซากศพมีชีวิตที่ถูกปลุกเสกขึ้นมาโดยหมอผีมืออาชีพ> หรือไม่ก็น่าจะใช้เป็น <ผู้เคราะห์ร้ายที่ได้รับเชื้อจุลินทรีย์ไม่ทราบสายพันธุ์ที่แน่นอนซึ่งออกฤทธิ์เข้าไปทำลายสัญชาตญาณและความต้องการปัจจัยสี่พื้นฐานทั้งหมดโดยเหลือเอาไว้เฉพาะความต้องการสารอาหาร ซึ่งก็บังเอิญว่าเซลล์ร่างกายในส่วนที่จำเป็นต้องใช้ในการจับและกินสารอาหารที่จำเป็นถูกเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวฝังตัวอยู่ ทำให้เชื้อโรคเหล่านั้นสามารถแพร่ขยายเข้าไปในร่างกายของผู้ที่ถูกทำร้าย ทั้งทางน้ำลายและเซลล์ผิวหนังที่หลุดรอดเข้าไปตามบาดแผล แล้วก็แพร่พันธุ์อยู่ในร่างกายของผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วจนเขาหรือเธอคนนั้นกลายเป็นผู้ป่วยโรคติดต่อรายต่อไป> เอาเป็นแบบนี้ก็ไม่เลวใช่ไหม”
แต่โดยปกติแล้ว ผมมักจะใช้ชื่อเรียกสั้นๆ ว่า <ซากศพมีชีวิต> ล่ะนะ
0
เด็กน้อยในกองหิมะ 21 ธ.ค. 57 เวลา 00:11 น. 2

ชอบอ่ะ โดยเฉพาะบทความภาษาอังกฤษสั้นๆนั่น อ่านสนุกมากก

ผมเป็นครหนึ่งที่พยายามเลี่ยงมากไทยคำอังกฤษคำเวลาแต่งนิยาย แล้วลำบากมากที่พยายามนึกคำภาษาไทยจนต้องเปิดพจนานุกรม อ่านนิยายหลายเรื่องโอ้โห มาเต็มบางคำนี่ขอเถอะอย่าทับศัพท์ได้ไหม 5555555


เป็นกระทู้ที่มีประโยชน์มากครับ

0
จิ้ง 21 ธ.ค. 57 เวลา 00:21 น. 3

ไทยคำอังกฤษคำนี่ผมยังพอไหวครับ เคยอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง มาทั้งประโยค โต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษยาวๆ เลย พอมีคนทักท้วงว่าน่าจะบรรยายว่าเขาพูดภาษาอังกฤษ แต่เวลาเขียนก็เขียนบทสนทนาไทยก็ได้ แต่เหมือนจะมีแฟนนักเขียนเขามาแก้ต่างว่า เพราะคนเขียนอยู่ต่างประเทศ เขียนเป็นภาษาอังกฤษไม่เห็นแปลก

อะคับคนที่อยู่ร้อยเอ็ด แถมภาษาอังกฤษยังห่วย ก็อ่านไม่รู้เรื่องต่อไป =_=

0
Miscela 21 ธ.ค. 57 เวลา 02:33 น. 4
แปลให้นะ เผื่อใครอ่านมึน
ใครอ่านหนังสือรอบแรกแบบskimming methodจนชินจะไม่มึน
แต่ใครอ่านหนังสือรอบแรกแบบscanning methodจนชินจะอ่านมึนแน่
ไม่ต้องเก่งอังกฤษหรอก แต่ถ้าเป็นคนอ่านแบบskimจนชินจะอ่านได้
ซึ่งเด็กไทยส่วนใหญ่อ่านหนังสือเรียนหรืออังกฤษแบบscanจนชิน
...
มี1คำที่เราอ่านไม่ออก
มีบางคำยาวขี้เกียจพิมพ์...ประมาณสองสามคำ...มั้ง?
If you can read this, you have a strange mind too.
Can you read this? Only 55 people out of 100 can..
I couldn't believe that I could aulaclty* understand what I was reading. 
The phenomenal power of the human mind, according to a research at Cambridge U.,
it doesn't matter in what order the letters in a word are,
 the only important  thing is that the first and last letter be in the right place.
The rest can be a total msg and you can still read it w/o a pb.
This is b'cuz the human mind does not read every letter by itself, but the word as a whole.
Amazing huh? Yeah and I always throughout spelling was important!
If you can read this fwd it.

ปล. copyหรือตัดต่อไปให้เครดิตด้วย
ปล2. จขกท.ใส่เครดิตว่าเอามาจากเว็บไหนด้วยจะดีมากค่ะ

edited 02.46am, portion:
ปัญหาเด็กไทยคือ เรียนมากไป จนคิดว่าสำคัญทุกอย่าง
แต่มึนว่าอะไรสำคัญสุด
ถ้าใครอยู่ม.6แล้ว อ่านที่Miscelaแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงตัวให้แล้วไม่เข้าใจ
ต้องพยายามอังกฤษหน่อย เพราะ การแข่งขันเดี๋ยวนี้สูงมาก
ไม่ต้องแปลได้ทุกประโยคได้แบบเป๊ะๆ เหมือนที่Miscelaแปลการเขียนอักษรแบบที่ฝรั่งทับศัพท์เหมือน เปรียบการเขียนเป็นไทยก็...
ก็>ก้, ไม่>มะ, เอา>อาว แบบที่ต้นแบบที่จขกท.ยกมา
แต่อ่านแล้วเข้าใจแบบ อ๋ออ อ่านเข้าใจ
0
I_am_Kuslin 21 ธ.ค. 57 เวลา 07:56 น. 6

เรามั่นใจตัวเองค่ะว่าเป็นคนหนึ่งที่มีพื้นฐานอังกฤษดีมาก ฟัง พูด อ่าน เขียนได้หมด (ชอบคุยกับชาวต่างชาติค่ะ เห็นไม่ได้ต้องวิ่งเข้าหา) แต่เวลาเขียนนิยายจะใช้คำไทย 'ทั้งหมด' ไม่มีอังกฤษปนเลย หรือถ้ามีก็จะใส่เชิงอรรถไว้ค่ะว่ามันคืออะไร เพราะคำบางคำใช้ทับศัพท์เอา แต่บางคนก็ไม่รู้ความหมายค่ะ

0
k!much! 21 ธ.ค. 57 เวลา 11:42 น. 7

คำบางคำที่ไม่มีชื่อไทยจะทับศัพท์บ้างก็ได้นะครับ ... ไม่ทับไว้เดี๋ยวมันวิ่งหนีหายไป #ไม่ใช่แระ
อย่างซอมบี้ก็ใช้ซอมบี้ก็ได้ (มั้ง) ไม่งั้นก็เรียกไปเลยว่า ผีดิบ อ่ะ (ผีพวกนี้ดีนะ ไม่ห่าม เพราะยังดิบอยู่ )

0
Mr.Saka 21 ธ.ค. 57 เวลา 11:44 น. 8

ที่จริงก็เป็นเรื่องแปลกเหมือนกันแฮะ ภาษาอังกฤษคำหนึ่งถ้าเห็นอักษรตัวแรกกับตัวสุดท้ายตรงกันตัวอื่นจะสลับกันไปบ้างก็พอเดาความหมายได้

แต่คงได้เฉพาะภาษาอังกฤษมั้งครับ ภาษาไทยนี่สะกดผิดนิดเดียวนี่แปลไม่ออกกันเลยทีเดียว

อังกฤษ <=> อักงฤษ
ประเทศไทย <=> ประทเศไทย

แค่คำง่าย ๆ สลับนิดเดียวยังงงเลยครับ

0
k!much! 21 ธ.ค. 57 เวลา 12:04 น. 9

เป็นคำ ๆ ยังพอเดาได้บ้าง (ไม่ได้บ้าง) แต่ภาษาไทยต่างกับภาษาอังกฤษตรงที่ไม่มีเว้นวรรคระหว่างคำ ทำให้ถ้าเป็นประโยคจะแปลไม่ออกครับ

นท่าพัอยิยานด้ไว้แลบัรค = ท่านอัพนิยายได้แล้วครับ

ขำ

0
Quantum 21 ธ.ค. 57 เวลา 12:23 น. 10

อันที่จริง ผมว่ามันอยู่ที่เนื้อเรื่องเขาด้วยแหละครับว่าเหมาะหรือเปล่าที่จะใช้ไทยคำอังกฤษคำ ยกตัวอย่างเช่น

1.เป็นชื่อเฉพาะ เช่นชื่อบริษัท เคย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มันก็จำเป็นต้องใช้คำอังกฤษ

2.ตัวละครเป็นคนสมัยใหม่ที่นิยมพูดไทยคำอังกฤษคำอยู่แล้ว เช่น "เฮ้นาย เรามาแชร์ข้อมูลกันเถอะ" "ออกจากบ้านอย่าลืมล็อกประตูด้วยนะ"

3.แนวนิยายเรื่องนั้นจำเป็นต้องใช้ศัพท์เฉพาะทางจริงๆ เช่นแนวเกมออนไลน์ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ทั้งล็อกอิน เอ็นพีซี หรือมานา หรือเขียนแนวไซไฟมันก็จำเป็นต้องใช้ เช่น แอนดรอยส์ โคลนนิ่ง โฮโลแกรม ฯลฯ

ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไปครับว่าเหมาะที่จะใช้คำเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าเหมาะแล้วมันส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของนักอ่านหรือไม่

0
pink_phoenix 21 ธ.ค. 57 เวลา 13:06 น. 11

แต่ส่วนตัวเราเฉยๆ เพราะเดิมที คำไทยก็ไม่ใช่ของไทยแท้ทั้งหมด ส่วนใหญ่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ เช่น บาลี-สันสกฤต เขมร จีน อังกฤษ

ถ้าเป็นทับศัพท์ภาษาอังกฤษเราคิดว่าไม่จำเป็นต้องแปล เช่น คอมพิวเตอร์ แครอท เฟสบุ๊ก ทวีตเตอร์ ของฟรี ชอล์ก(เขียนกระดาน) กอล์ฟ บอล ฟุตบอล บาสเกตบอล ทีวี กัปตัน การ์ตูน กีต้าร์ การ์ด เค้ก เบียร์ แยม ลิตร เมตร กิโล ลิฟต์ วิตามิน ฟิสิกส์ ฟิลม์ เป็นต้น


แต่ถ้าเป็นคำที่มีคำแปลก็แปล เพื่อความเข้าใจง่ายดีกว่าค่ะ หากเขาไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลาย อย่างคำว่า "อินฟอเมชั่น" หรือ "พ้อยท์วิว" ที่ท่านยกมาก็เกินไปจริงๆ 5555 มันไม่ใช่คำทับศัพท์

หรือแม้แต่คำว่า "ปรากฏการณ์" "พิจรณา" "สาเหตุ" "การ" หรือแม้แต่คำว่า "ประเทศ" ก็ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำที่ยืมมากภาษาต่างประเทศอยู่ดี

แต่เห็นด้วยค่ะ ต้องดูความเหมาะ เล่นใช้คำที่ไม่ใช่ทับศัพท์ หรือยืมมาปนเวลาอ่านแล้วมันทำให้เกิดความมึนงง และ ไม่รู้สึกลื่นไหลเวลาอ่าน
รู้สึกสะดุดเลยแหละ จะใช้อังกฤษก็ เขียนภาษาไทยแล้ววงเล็บภาษาอังกฤษข้างหลังยังดูดีกว่า
เช่น 

สำหรับมุมมอง (point of view) สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 
1.มุมมองแบบพระเจ้
า (omniscient)
2.มุมมองจำกัดสายตา (limited omniscient)
3.มุมมองบุรุษที่หนึ่ง (first person)

4.มุมมองกล้อง (objective)
ซึ่งแต่ละมุมมองมีข้อดีและข้อเสีย
(อันนี้เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องวงเล็บ)ที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้เขียนจะนำไปใช้อย่างไร

0
peiNing Zheng 21 ธ.ค. 57 เวลา 13:48 น. 12

ที่จริงประเด็นของข้าน้อยก็มีแค่ว่า อยากให้คนเขียนใคร่ครวญคำที่จะใช้ก่อนจรดปากกาเท่านั้นเอง แล้วแต่วิจารณญาณของผู้เขียน แต่ถ้ามันเลยเถิดเกินไป เดี๋ยวคนอ่านก็ท้วงเราเองแหละขอรับ

0
peiNing Zheng 21 ธ.ค. 57 เวลา 13:50 น. 13

เห็นด้วยขอรับ ลำบากในการนึกคำไทยเนี่ย ข้าน้อยใช้พจนานุกรมในการเขียนเยอะเหมือนกันเพราะในหัวจะเด้งคำที่เราเคยชินขึ้นมาก่อน บางทีเราไม่สามารถแปลออกมาได้ทันควัน ก็ต้องใช้ตัวช่วยนี่แหละ

0
peiNing Zheng 21 ธ.ค. 57 เวลา 13:53 น. 14

นั่นเป็นเรื่องที่คนเขียนเลือกขอรับ ว่าจะให้สบายตัวเองและลำบากคนอ่าน หรือคนอ่านสบายและคนเขียนลำบาก ถ้าเป็นประการแรก คนอ่านอาจจะเข้าถึงงานเขียนของเขาน้อยกว่าแบบหลังเท่านั้นเอง

ถ้าเราอ่านแล้วลำบากนัก เราก็แค่โบกมือบ๊ายบายเท่านั้นเองขอรับ (แต่ถ้ามันสนุกและยังอยากอ่านต่อ ก็เป็นกรรมของคนอ่านแทนอ่ะ T^T)

0
peiNing Zheng 21 ธ.ค. 57 เวลา 13:57 น. 15

ที่จริงตอนที่เอาบทความนี้มา ไม่ได้หวังว่าจะให้คนอ่านอ่านมันได้ทุกย่อหน้าหรอกขอรับ กะว่าแค่อ่านคำสองคำหรือย่อหน้าแรกเพื่อให้เห็นเฉยๆว่าธรรมชาติเวลาคนอ่านหนังสือเป็นยังไง ขอบคุณท่าน Miscela มากที่ช่วยพิมพ์ออกมาให้ ช่วยคนอ่านท่านอื่นๆ ได้มากเลยขอรับ

0
peiNing Zheng 21 ธ.ค. 57 เวลา 14:00 น. 16

ที่จริงข้าน้อยก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องไม่มีภาษาอื่นปนเลยแบบนั้นหรอกขอรับ แค่อยากให้คนเขียนฉุกคิดในเรื่องนี้ให้มากขึ้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าท่านพิจารณาแล้วว่าสิ่งใดเหมาะสมต่อเรื่องของท่าน นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วขอรับ

0
peiNing Zheng 21 ธ.ค. 57 เวลา 14:03 น. 17

ท่านพูดถึงหัวข้อที่น่าสนใจดีขอรับ สำหรับเรื่องการสลับคำในภาษาไทย ข้าน้อยไม่เคยใคร่ครวญเรื่องนี้โดยละเอียด แต่เป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการไปคิดต่อขอรับ ขอบคุณท่านมาก

0
peiNing Zheng 21 ธ.ค. 57 เวลา 14:12 น. 18

ที่จริงส่วนมากประเด็นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า อยากให้คนเขียนฉุกคิดและใคร่ครวญสิ่งที่จะเขียนลงก่อนที่คนอ่านจะได้เห็นน่ะขอรับ

เทคโนโลยีเร็วมากจนไม่สามารถผลิตคำไทยออกมาได้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ บนโลกใบนี้ ดังนั้น นิยายเกี่ยวกับเกมออนไลน์นี่ คงเป็นหนึ่งในประเภทนิยายที่น่าจะต้องพบกับเรื่องไทยคำอังกฤษคำเยอะที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น ข้าน้อยก็มองว่ามันสามารถลดทอนลงได้บ้าง อย่างเช่นคำพื้นๆ แบบ "ไวร์เลส" ซึ่งก็พอจะมีคำไทยอยู่แล้วว่า "ไร้สาย" เพียงแต่คำไทยที่ว่าเราอาจจะไม่ใช้ในชีวิตประจำวันสักเท่าไร (ถ้าพูดออกมาอาจทำให้คู่สนทนามองหน้าได้) แต่คำว่า "ไร้สาย" สามารถสื่อสารได้เวลาที่อยู่ในรูปแบบภาษาเขียน ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะสนับสนุนให้คนเขียนใช้คำว่า "ไร้สาย" มากกว่า เป็นต้น

ส่วนคำอื่นที่เป็นคำเฉพาะก็แล้วแต่วิจารณญาณของผู้เขียนไปแหละขอรับ ถ้ามันเลยเถิดไปเดี๋ยวคนอ่านคงจะท้วงเอง (หรือถ้าส่งไปให้สำนักพิมพ์ กองบรรณาธิการและฝ่ายพิสูจน์อักษรก็คงจัดการกันต่อไป)

0
MirrorMirage 21 ธ.ค. 57 เวลา 15:42 น. 19

ปัญหาในเรื่องนี้ต้องมาดูความหมายของคำว่าไทยคำอังกฤษคำเสียก่อนจึงจะพูดเป็นส่วนๆได้ เขียนเท่าไหนจึงเป็นไทยคำอังกฤษคำ? พ่อแม่มักconsiderลูกว่าลูกยังเป็นเด็กอยู่เสมอไม่ว่าลูกจะgrew upเเล้วก็ตาม/ พ่อแม่มักconsiderลูกว่าลูกยังเป็นเด็กอยู่เสมอไม่ว่าลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่เเล้วก็ตาม/ พ่อแม่มักมองลูกว่าลูกยังเป็นเด็กอยู่เสมอไม่ว่าลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่เเล้วก็ตาม จะเห็นว่าประโยคหลังสุดดูจะเป็นประโยคที่เป็นไทยที่สุดเพราะไม่ใช้ภาษาอังกฤษเลย ส่วนสองประโยคก่อนหน้ามีคำภาษาอังกฤษปนอยู่ ประโยคไหนเป็นการใช้ไทยคำอังกฤษคำ? อันนี้เราเองก็ตอบไม่ได้แต่คงต้องฝากคำถามไว้ (นี่ยังไม่ลงไปในพวกคำว่าไอเดีย แพลน ที่เริ่มมีการใช้พูดแทนคำไทยอย่างแพร่หลาย) ถ้าเป็นคำใหญ่ๆอย่างที่ยกตัวอย่างมาของเจ้าของกระทู้มันย่อมอ่านติดขัดอยู่เเล้ว ส่วนตัวมองว่าการใช้คำภาษาอังกฤษในงานเขียนจะดีหรือไม่นั้นต้องดูว่าใช้มันตรงไหน หากใช้ในบทสนทนาที่ต้องการให้แง่มุมว่าผู้พูดนั้นไม่สันทัดภาษาไทยก็คงจะไม่ผิดนัก แต่ปัญหาจะกลับมาตรงที่เเล้ว Hello ควรพิมพ์เป็น Hello หรือสวัสดี หรือเฮลโล่(ไม่แน่ใจการสะกด) ซึ่งเราเองก็ไม่มีคำตอบให้กับเรื่องนี้ และในคำภาษาอังกฤษหลายๆคำที่นำมาแปลเป็นไทยแต่หาคำไทยมาแปลให้ตรงไม่ได้ก็มี หรือหาคำแปลไทยได้แต่มาใช้เเล้วคนกลับไม่เข้าใจก็มี ดังนั้นตัวชี้วัดอาจต้องมาดูเรื่องความจำเป็นและความหมาย และราชบัณฑิตเองนั้นไม่ค่อยอัพเดต(ทำให้บางอย่างให้ทันสมัยขึ้น)ในเรื่องของคำยืม หรือคำจากภาษาต่างประเทศซึ่งขัดแย้งกับโลกปัจจุบัน ปัญหาเรื่องนี้จึงนับว่าเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างหนึ่งเพราะในบางครั้งในแต่ละสถานการณ์มันต่างกันไปจนเราพูดไม่ได้ว่า เห้ยต้องเขียนแบบนี้สิทุกกรณี นอกจากเรื่องนี้เเล้วยังมีเรื่องของนิยายใส่อีโม กับเรื่องของคำเขียนและคำอ่านออกเสียงไม่ตรงกันซึ่งเกิดจากการพูดในชีวิตจริงที่เปลี่ยนไป(ไม่ใช่ภาษาวิบัติ) ตัวอย่างที่ชัดๆก็มี ฉัน แต่พูดว่าชั้น อย่างไร แต่พูดยังไง เรามักจะได้รับการสอนที่โรงเรียนเสมอว่าให้ยึดกับแบบการเขียน เข้าใจว่าน่าจะจำกัดในเรื่องของการเขียนเชิงวิชาการ การเขียนงานส่งอาจารย์ การเขียนจดหมาย งานราชการเป็นต้น ส่วนในงานวรรณกรรมไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร(ยังไง) แต่เรามองว่าหากเป็นการให้น้ำเสียงการพูดของใครก็ตามในเรื่องก็น่าจะเป็นเรื่องที่รับได้อาจรวมไปถึงตัวผู้บรรยายในเรื่องที่อาจนับเป็นผู้พูดเช่นกัน จะเห็นว่าในเรื่องของการเขียนภาษาไทยของเราเองยังมีปัญหาอีกมาก เห็นอาจารย์หลายท่านเคยพูดว่าเด็กนักเรียนนักศึกษาเขียนภาษาเพื่อให้อาจารย์อ่านไม่ถูก และอื่นๆ หลายครั้งก็ไปโทษการแชท(หรือควรใช้คำว่าการพูดคุย/การสนทนาออนไลน์)ที่ทำให้ภาษาวิบัติ(ซึ่งจริงๆยังต้องดูว่ามันเรียกว่าวิบัติได้ไหม) วงการวรรณกรรม/หนังสือของไทยอาจจำเป็นต้องมีการสังคายนาสักครั้งเพื่อให้เกิดรูปแบบที่ยึดเอาเป็นแบบได้จริงๆ เพราะจากอายุของการเกิดวรรณกรรมของไทยเเล้วมันอาจจะถึงเวลาที่เราต้องตั้งเสาหลักบางอย่างเพื่อให้งานไม่เลื่อนลอย (หรือหากมีเสาหลักอยู่เเล้วเราต้องขอโทษด้วยเพราะเราไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของเสาหลักนั้นเลย)

0
Hanagika Alantasia 21 ธ.ค. 57 เวลา 19:44 น. 20

ที่ท่านให้อ่าน ตัวอักษรสีฟ้าครั้งแรกนั่นแหละค่ะ... เราไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่างเลยอ่ะ เสียใจเล็กแฮะ...

0