Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

"น้ำตากามเทพ" ความน้ำเน่าของสังคมไทย #ปรากฏการณ์ละคร

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


จบบริบูรณ์กันแบบหักอกคอละครสายฟินถ้วนทั่วสำหรับละครไท้ไทยอย่าง "น้ำตากามเทพ" โดยค่ายหนังอารมณ์ดี GTH ที่ได้หยิบยกพล็อตเรื่องละครแบบไทยๆที่ผู้ชมคาดหวังความสนุกจากการนำ"ค่านิยม" ที่เราคุ้นเคยมาล้อเลียน

ละครเริ่มต้นที่คฤหาสน์ กามเทพหลั่งน้ำตา และ"สมหญิง"ผู้เป็นประมุขของบ้านและเครือบริษัทอัมราภรณ์ที่กำลังจะวางมือจากกิจการไว้กับ"ชาวี" หลานชายคนโตโดยหมายมั่นปั้นมือให้แต่งงานกับ "อารยา"เด็กสาวที่ตนเก็บมาเลี้ยงด้วยความไม่เต็มใจของทุกคนในบ้านโดยเฉพาะ "สมหญิง"ผู้เป็นแม่และ "ดีดี้" ผู้เป็นคนรักของชาวี


หญิงย่าเลือกที่จะให้ชาวีเป็นผู้ดูแลกิจการ(ความมั่งคั่ง) ทั้งที่ชาวีไม่มีความสามารถและให้อารยาเป็นผู้ดูแลบ้าน(ครอบครัว)ทั้งที่อารยามีความขัดแย้งกับทุกคนในคอบครัวเพียงเพราะอยากรักษาทุกสิ่งที่ตนมีผ่านสายเลือดและความไว้ใจแต่หญิงย่าก็ละเลยความจริงข้อหนึ่งไปว่าทุกชีวิตก็ล้วนอยากรักษาสายเลือดและความไว้ใจในแบบของตนโดยเฉพาะหญิงแม่ลูกสะใภ้ชื่อพ้องที่มีความต้องการและนิสัยที่เหมือนกับตน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครอบครัวที่สมหญิงทั้งสองได้ก่อขึ้นโดยมีคนในบ้านเป็นเครื่องมือ

ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบ้านที่ถูกสร้างขึ้นโดย"คนรุ่นเก่า" สิ่งที่เป็นไปของเรื่องคือการแก้ปัญหาของ"คนรุ่นใหม่" ว่าเลือกที่จะทำให้เรื่องเป็นไปเช่นไร เราจึงเห็นการที่ชาวีเลือกที่จะเชื่อทุกอย่างที่ตนเห็นตามแบบฉบับพระเอกอารยาเลือกที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามบุญตามกรรมตามแบบฉบับนางเอก ดีดี้เลือกที่จะเป็นเครื่องมือของหญิงแม่ตามแบบฉบับของนางร้ายโดยมี “ชลลี่” น้องสาวของชาวีเลือกที่จะเป็นผู้ช่วยคนโง่ต่อสู้กับคนเลวในแบบฉบับของตัวประกอบและมี “ไพลิน” ทายาทของสายเลือดที่ถูกทำลายปลอมตัวมาเป็นคนสวนชื่อ“ไพโรจน์” เพื่อมาสืบหาความจริงและกระชากหน้ากากผู้ที่ทำลายครอบครัวของตน

ด้วยการวางคาแร็คเตอร์และพล็อตเรื่องด้วยสูตรสำเร็จของ “คนดี” และ “คนเลว” เหตุการณ์ของเรื่องจึงเป็นแบบที่ผู้ชมคาดเดาคือหญิงแม่ใช้วิธีการสารพัดเพื่อไล่อารยาออกจากบ้านและหญิงย่าใช้วิธีการสารพัดเพื่อให้ชาวีหลงรักอารยาโดยที่ทั้งสองไม่สนใจว่าสิ่งที่ตนทำจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างกับคนในครอบครัว

เรื่องนี้คงจะจบแบบไทยๆตรงที่ฝ่ายคนที่เราถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นคนดีเป็นผู้ชนะนั่นคือชาวีครองรักกับอารยา ดีดี้กับหญิงแม่ต้องได้รับผลกรรมอะไรสักอย่างโดยมีชมลีและหญิงย่าคอยช่วยเหลือและยินดีกับชีวิตรักของพระนางถ้าไม่ไปประทะกับพล็อตเรื่องน้ำเน่าอีกสองพล็อตนั่นคือพล็อตปลอมตัวเป็นชายเพื่อสืบและแฉความจริงของไพลิน และพล็อตตบจูบของ “พิศาล” ลูกชายคนเดียวของเจ้าของรีสอร์ตที่จับตัวชลลี่ไปกักขังเพราะเข้าใจว่าชลลี่คือดีดี้ที่ปอกลอกจนพ่อของตัวเองสิ้นเนื้อประดาตัว


ความสนุกของละครจึงกลับมา (หลังจากที่กร่อยไปช่วงกลางตามแบบฉบับของละครไทย) โดยชวนให้ผู้ชมคอยจับตาดูว่าการเอาคืนเพื่อทวงความยุติธรรมของคนสายเลือดอื่นที่เข้ามาในจังหวะที่สัมพันธ์ของคนในครอบครัวอัมราภรณ์กำลังอ่อนแอจะทำให้พล็อตเรื่องน้ำเน่าคูณสามของเรื่องนี้คลี่คลายอย่างไรให้สมเหตุสมผล

ความเป็น GTH จึงทำให้เรื่องกลับมาที่จุดประสงค์ของละครที่ต้องการ“ล้อเลียน” พล็อตเรื่องแบบไทยๆนั่นก็เพราะทีมผู้จัดทำละครเห็นว่า“มันไม่ดี” (ถ้ามันดีจะล้อเลียนทำไม)นั่นคือการนำเสนอ “ความจริง” และ “สิ่งที่ควรจะเป็น” ให้แก่สังคมไทย


ดีดี้ถูกชลลี่เปิดโปงว่าเคยไปปอกลอกพิศาลจนหมดตัว หญิงแม่เป็นอัมพาตหลังจากที่ใช้กำลังทำร้ายร่างกายไพลินที่เปิดโปงความจริงว่าตนคือลูกของนาฏยาสะใภ้คนเก่าที่ถูกทั้งสองสมหญิงร่วมมือกันกำจัดออกไปจากบ้านเหมือนที่หญิงแม่ร่วมมือกับดีดี้วางแผนกำจัดอารยาให้ผู้ชมได้เข้าใจว่าความดีต้องเอาชนะความชั่วด้วย “ความพยายาม”ไม่ใช่ปล่อยให้ “กรรมตามสนอง”





แต่ความจริงยิ่งกว่าของไพลินคือตนมาทวงความยุติธรรมผิดครอบครัวเพราะครอบครัวที่ตนมาคือครอบครัว “อมราภรณ์” ไม่ใช่ “อัมราภรณ์” ทำให้ไพลินต้องจากบ้านหลังนี้และเลือกที่จะสร้างปัจจุบันสร้างครอบครัวใหม่กับ “หมอแมะ” หมอประจำตระกูลอัมราภรณ์แทนที่จะกลับไปทวงครอบครัวใน“อดีต” ครอบครัวที่ไม่ต้องการตนเองและความพยายามยิ่งกว่าของชลลี่คือการแจ้งความกับตำรวจให้จับพิศาล คนรักของตนด้วยข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกายตน แม้หัวใจอาจอ่อนแอเพราะคำอ่อนหวานที่พิศาลอ้างว่าตนถูกชลลี่กักขังหัวใจเพื่อให้ดูเท่าเทียมกับที่ตนกักขังร่างกายชลลี่แต่ก็สายเกินกว่าจะหลบหนีกฎหมายของบ้านเมืองและชลลี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเก่งและฉลาดของตนด้วยการกลับไปดูแลแม่ของตนและฟื้นฟูกิจการของพ่อพิศาลเพื่อรอวันที่จะได้เริ่มต้นชีวิต เริ่มต้นครอบครัวที่มีความสุขกับคนรักของตน


สงครามทุกครั้งได้สร้างทั้ง “ความคลี่คลาย”และ “ความเสียหาย” ไปพร้อมๆกันหญิงย่าถูกเปิดโปงด้วยแผนของดีดี้ว่าเหตุที่รับอารยามาเลี้ยงเพราะตนเคยไปทำลายกิจการ(ความมั่งคั่ง)และบ้าน(ครอบครัว)ของอารยาจนพังทลาย และชาวีก็สืบหาความจริงจนรู้ว่าตนไม่ใช่ทายาทที่แท้จริงแต่เป็นลูกติดของหญิงแม่ที่หญิงย่าเลือกมาแทนที่นาฏยา แม้จะต้องทำร้ายคนรักของลูกชายตัวเองเพียงเพราะนาฏยาเป็นลูกของศัตรูชาวีจึงเป็นผลของการที่หญิงย่าทำลายครอบครัวตัวเองและอารยาก็เป็นผลของการที่หญิงย่าทำลายครอบครัวคนอื่น


ละครลงเอยที่อารยากับชาวีออกไปจากบ้านเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ทิ้งให้หญิงย่าผู้ชนะสงครามทั้งหลายทั้งปวงเป็นผู้อยู่รอดเพียงคนเดียว กามเทพหยุดหลั่งน้ำตาและจบด้วยภาพของคฤหาสน์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง



ว่ากันว่าละครคือสิ่งที่สะท้อนถึง “รสนิยม”ของสังคมไทย พอสิ่งนี้ถูกล้อเลียนและตัดจบในแบบทำร้ายความรู้สึกของผู้ชมละครสายฟินก็ชวนให้คิดว่าตกลงพล็อตเรื่องแบบนี้ยังคงเป็นที่ต้องการของคนไทยหรือไม่สังคมไทยถูกขีดเขียนจากคนรุ่นเก่าจนน้ำเน่าเหมือนในละครหรือเปล่า และคนรุ่นใหม่จะเลือกทำอย่างไรระหว่างสร้างสังคมใหม่(ชลลี่ ไพลิน) รอรับชะตากรรม (ชาวี อารยา) หรือเขียนซ้ำ (ดีดี้)


เพิ่มเติม

บทบาทความพยายามในฐานะประธานของชาวีไม่ได้ถูกนำเสนอเท่าที่ควรตีความได้หลายแบบคือ ละครไทยมักไม่ค่อยทำงานทำการ,หญิงย่าเก่งมากขนาดที่คนในบริษัทเกรงกลัว(ดูจากตอนแรกของเรื่องและสิ่งที่หญิงย่าทำ)หรือไม่ก็ทางทีมงานลืมทำ

ละครยังไม่ก้าวข้ามพ้น “กฎแห่งกรรม”ที่ตัวละครที่ถูกนำเสนอว่าดี (ชาวี อารยา)ได้รับสิ่งที่ดีเพียงเพราะทั้งสองคนไม่ต้องทำอะไรเลย

ในบรรดาตัวละครทุกตัว “ดีดี้” เป็นตัวละครตัวเดียวที่ตรงไปตรงมา ซื่อตรงกับความรู้สึกและไม่ฉลาดพอจนถูกหญิงแม่ใช้เป็นเครื่องมือ กลับถูกสังคมไทยมองว่าเป็น “ตัวร้าย” ก็พอจะตีความได้ว่าคนไทยชอบคนพูดจาดีเรียบร้อย แต่ลึกลับซับซ้อนคดเคี้ยวไม่ซื่อตรงอย่าง “อารยา”

เรื่องที่ดีดี้ปอกลอกก็คลุมเครือว่าดีดี้ผิด เพราะถ้าสังเกตดูแล้วจะเห็นว่าพ่อของพิศาลก็ชอบปนเปรอคนรักด้วยเงินมากกว่าจิตใจของตนเองแล้วจะให้ดีดี้รักพ่อของพิศาลที่ตรงไหนอีกทั้งวิธีการของดีดี้ก็ไม่ได้ร้ายลึกอะไรเลย ออกจะตรงไปตรงมาด้วยซ้ำ



ชาวีเป็นตัวละครที่โง่ กลวง ใจโลเลและชอบผู้อื่นจากรูปลักษณ์ภายนอกล้วนๆผู้หญิงที่จะทำให้ชาวีชอบได้ต้องสวย ต้องเล่นตัวไว้ท่าที ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกชอบก็ไม่บอกว่าชอบเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ตัวละครนิสัยอย่างนี้เป็นพระเอกของละครไทย


ให้คะแนน 9/10 หัก 0.5 ที่ช่วงกลางไม่ค่อยสนุก (แม้จะเหมือนละครไทยหลายๆเรื่อง) และหักอีก 0.5 ที่ชาวี, ดีดี้, อารยาไม่ได้ถูกตีความเท่าที่ควร




ค้นหาภาพจากกูเกิล เครดิตจากจีทีเอช

*****************************************************************************************
ผู้เขียนบทความ ปฐวี
ติดตามบทความอื่นๆ (ที่กำลังจะตามมา) ของผมทาง
 
 GodPNR

แสดงความคิดเห็น

>

8 ความคิดเห็น

อย่าขวางทางคนเฟี้ยว 21 มิ.ย. 58 เวลา 04:03 น. 2

สารภาพตามตรงไม่เคยดูจบซักตอนเดียว -..- ดูแค่ชลลี่
ไม่ใช่แนวเราด้วยแหล่ะ แต่ชอบเจ๊โฉมมากกกกกกกกกกกกก 5555+

0
อย่าขวางทางคนเฟี้ยว 21 มิ.ย. 58 เวลา 04:11 น. 3

สารภาพตามตรงไม่เคยดูจบซักตอนเดียว -..- ดูแค่ชลลี่
ไม่ใช่แนวเราด้วยแหล่ะ แต่ชอบเจ๊โฉมมากกกกกกกกกกกกก 5555+

0
ภูตสวรรค์น้อย 23 มิ.ย. 58 เวลา 06:51 น. 8

ดีดี๊ตรงไปตรงมา ถูกคุณหญิงแม่ใช้เป็นเครื่องมือ นี่ถามหน่อยว่าเข้าถึงตัวละครและดูจากต้นจบจบโดยไม่ข้ามไหม 

0