Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

อินโดระงับสัญญารถไฟจีน-ตกประเมินความปลอดภัย ด้านพี่ไทยไม่หวั่น-เพิ่มส่วนลงทุนให้จีนเป็น70%

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

อินโดนีเซียระงับสัญญาสร้างรถไฟความเร็วสูงจีนชั่วคราว ไม่ผ่านประเมินความปลอดภัย | ประชาไท

ในขณะที่ไทยกำลังเจรจาเรื่องสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟรางคู่มาตรฐานกับจีน และมีข่าวจะปรับเป็นรางเดี่ยว ล่าสุดชาติอื่นในอาเวียนที่ติดต่อสัญญากับจีนเช่นกันดูเหมือนจะเริ่มลังเลใจ อินโดนีเซียขณะนี้ สั่งให้ยับยั้งใบอนุญาตก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีนเส้นทางจาการ์ตา-บันดุง ระยะทาง 142 กม. เป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ทั้งเรื่องระยะห่างของรางรถไฟ การเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว และเรื่องอายุการใช้งาน

แผนการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงบนเกาะชวา ของอินโดนีเซีย โดยแบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกจาการ์ตา-บันดุง ระยะทาง 142 กม. และเฟสสองคือ บันดุง-สุราบายา ระยะทางประมาณ 600 กม. ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ ล่าสุดแผนการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเฟสแรกมีการระงับใบอนุญาตชั่วคราว เพื่อปรับแบบให้รองรับแผ่นดินไหว ระยะห่าระหว่างราง และอายุการใช้งาน

4 ก.พ. 2559 เว็บไซต์นิเคอิเอเชียนรีวิวรายงานว่ากระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียสั่งระงับการให้ใบอนุญาตก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่ทำสัญญาร่วมกับบริษัทจีนชั่วคราวจนกว่าจะมีจะมีการประเมินระยะเวลาใช้งานของโครงข่ายทางรถไฟรวมถึงการประเมินความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว

อินโดนีเซียมีแผนการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระยะทางรวม 142 กม.จากกรุงจาการ์ตาไปถึงเมืองบันดุง โดยถึงแม้ว่าโครงการรถไฟนี้จะผ่านการพิจารณาจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมมาได้ในด้านการวางแผนเส้นทาง แต่ทางกระทรวงคมนาคมก็ยังไม่ออกใบอนุญาตธุรกิจและใบอนุญาตก่อสร้างให้กับบริษัทของทั้งจีนและอินโดนีเซียที่เป็นหุ้นส่วนโครงการร่วมกันทำให้บริษัทเหล่านี้ยังกระทำการก่อสร้างไม่ได้

เฮอร์มานโต เดวียตโมโก อธิบดีกรมกิจการรถไฟสังกัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่าหุ้นส่วนโครงการนี้ต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดการออกแบบและแผนการพัฒนาหลายอย่างก่อนถึงจะให้ใบอนุญาตทั้งสองใบและมีการออกสัญญาสัมปทานได้

เดวียตโมโกกล่าวว่าพวกเขาอยากให้รางรถไฟมีอายุการใช้งานนานถึง 100 ปี แต่ในการออกแบบปัจจุบันมีอายุการใช้งานเพียง 60 ปีเท่านั้น โดยที่อินโดนีเซียมีแผนการให้สัมปทานแก่บริษัทเป็นเวลา 50 ปีแล้วหลังจากนั้นกิจการรถไฟนี้ก็จะตกเป็นของรัฐบาลทำให้มีการประเมินว่าอายุการใช้งานที่มากกว่านี้จะส่งผลดีต่อรัฐมากกว่า

นอกจากนี้เดวียตโมโกยังกล่าวถึงความกังวลเรื่องระยะห่างระหว่างรางกับประสิทธิภาพของรถไฟ โดยจากจาการ์ตาถึงบันดุงมีการออกแบบเป็นรถไฟรางคู่ที่มีระยะห่างระหว่างราง 4.6 เมตร และต้องการให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่การที่จะให้รถไฟวิ่งได้ความเร็วเท่านี้ควรจะมีระยะห่างระหว่างรางอยู่ที่ 5 เมตร เนื่องจากระยะห่าง 4.6 เมตรทำให้วิ่งได้ด้วยความเร็ว 250 กม.ต่อชม.เท่านั้น เพราะระยะห่างที่ใกล้เกินไปทำให้มีความเป็นห่วงด้านความปลอดภัยว่าจะมีการชนกันได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความทนทานต่อแผ่นดินไหว ซึ่งในบางพื้นที่ของบันดุงมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวทำให้ต้องมีการพิจารณาเรื่องความแข็งแกร่งของโครงสร้างโดยอ้างอิงจากข้อมูลของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย

หุ้นส่วนของโครงการจีนและอินโดนีเซียยังเรียกร้องให้ทำสัญญาห้ามไม่ให้มีการดำเนินการวิ่งรถไฟคู่ขนานกับโครงการนี้ด้วย ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้เช่นกัน โดยเดวียตโมโกเปิดเผยว่าควรจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจากสถานีอื่นอย่างจาการ์ตา-สุราบายา และมีการเชื่อมต่อสายจาการ์ตา-บันดุง กับสายอื่นๆ อย่างจาการ์ตา-การาวัง ด้วย






ไทยไม่หวั่น เดินหน้าเพิ่ม-ส่วนลงทุนให้จีนอีกเป็น 70% เหลือสร้างเป็นทางเดี่ยว | มติชน



ในส่วนของประเทศไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้ารถไฟไทย-จีน ว่า ฝ่ายไทยได้เสนอรูปแบบการลงทุนใหม่ โดยขอปรับ-ส่วนการลงทุนให้จีนลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมไทยมี-ส่วนการลงทุน 40% จีน 60% เป็นไทย 30% จีน 70% และขอให้การลงทุนครอบคลุมถึงการก่อสร้างด้วย จากเดิมครอบคลุมเฉพาะเรื่องการเดินรถ ทั้งนี้ ฝ่ายจีนได้มีข้อเสนอเช่นกัน คือให้ปรับช่วงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพื่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินการก่อสร้าง โดยระยะแรกจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย

ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างในช่วงที่ 2 คือนครราชสีมา-หนองคาย โดยจะมีการหารือกับจีนให้ปรับการก่อสร้างเป็นทางเดี่ยว ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรไปก่อน จากแผนเดิมจะเป็นทางคู่ เพื่อศึกษาถึงจำนวนปริมาณของผู้โดยสารว่ามีมากเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ จีนยังได้เร่งรัดให้ไทยสรุปรูปแบบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับจีนภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถลงนามบันทึกข้อตกลงได้ในการประชุมร่วมกันปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งรูปแบบการร่วมทุนนั้นก็คงเป็นแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจ

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจน ในการให้ความร่วมมือกับ มิตรประเทศ ในการสร้างทางรถไฟ ไทย-จีน และ การลงทุนทางรถไฟของประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง รัฐบาลมั่นใจว่า โครงการต่างๆ จะช่วยอำนวยความสะดวก ในการเดินทางและเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้


แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น