Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

นิติศาสตร์ คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
คนในอยากออก ออกไม่ได้ เพราะถลำลึกแล้ว
คนนอกอยากเข้า เพราะยังไม่รู้ข้อมูลจริงๆ

ขออนุญาตเล่าตามประสบการณ์ที่เคยอยู่ในวงการยุติธรรมมาหลายสิบปี เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากเงินเดือนผู้พิพากษา อัยการไม่มาก เป็น เงินเดือนแสนกว่าบาท ก็เริ่มมีคนสนใจเรียนนิติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น

สมัยก่อนคนเรียนนิติศาสตร์ยังไม่มาก มี 3 - 4 สถาบันที่คนรู้จัก เช่น จุฬา ธรรมศาสตร์ รามฯ สุโขทัยฯ จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ สมัครวิสามัญสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา ก็เสียเงินเเลือกเป็นทนายชั่วคราว หรือตลอดชีพได้ ไม่ต้องอบรม ไม่ต้องสอบ เพราะช่วงนั้นยังไม่ได้มีการหาเงินเข้าสภาทนายมากเหมือนปัจจุบันนี้ ถ้ามีตั๋วทนายแล้ว ก็ต้องหาสำนักงานทนายความเข้าทำงานเพื่อได้ประสบการณ์ สำนักทนายจะรับคนเข้าใหม่เฉพาะลูก หลานคนในสำนัก หรือคนที่มีบุญคุณฝากมา ถึงจะรับ เพราะพวกทนายใหม่ พอทำงานมีประสบการณ์ 3-5 ปี ก็จะออกไปตั้งสำนักงานเอง ดึงลูกค้าบางส่วนไปด้วย เริ่มทำงานใหม่ๆ ทนายจะไม่มีเงินเดือน ค่าจ้างเลย แม้แต่บาทเดียว เพราะต้องการหาความรู้เอง เจอลูกพี่ใจดี ให้ไปยื่นคำร้อง คำแถลงที่ศาล ก็จะให้เงินค่ารถเมล์ 100 บาท ลูกพี่บางคนไม่ให้เงินเลยก็มี ทนายใหม่ และผู้จบนิติศาสตร์ส่วนใหญ่จะหาสอบงานราชการไว้ด้วย เพราะงานเอกชนมีน้อย และไม่มั่นคง เอาที่เด่นๆรับคนจำนวนมาก คือ
1.ปลัดอำเภอ
2.พัฒนากร
3.ตำรวจ
4.ทหาร
5. ก.พ.และส่วนราชการต่างๆ
6.รัฐวิสาหกิจ
7.ธนาคาร(เอกชน)

ส่วนพวกมีเงิน ฐานะทางบ้านดี ลูกพ่อค้า ลูก ส.ส. ลูกทนายความ ลูกข้าราชการ ลูกผู้พิพากษา/อัยการ ก็เรียนให้เรียนต่อจนจบเนติฯอาจจะ 1 ปี หรือ 2 ปี หรือ 3 ปี แล้วแต่คุณภาพของคนสอบ จบแล้วทำงานในวงการกฎหมาย 2 ปี รอสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา อัยการ สมัยนั้นสอบได้จำนวนเป็นร้อย มีบางปีปล่อยผีได้ประมาณ 500 คนก็มี บางคนสอบปีเดียวติดก็มี บางคน 2-3 ปีถึงติด

สมัยนี้คนเรียนนิติศาสตร์ มีจำนวนเท่าใด ไม่รู้ รู้แต่ว่ามีจำนวนมาก มีสถาบันสอนนิติศาสตร์เยอะแยะไปหมด ทั้ง ม.รัฐ และ ม.เอกชน แข่งกันเปิด เพราะตลาดมีความต้องการมาก(ต้องการเรียน) การลงทุนถูก ค่าใช้จ่ายดำเนินการเปิดสอนนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยน้อยมากเมื่อเทียบกับคณะอื่นๆ พวกสายวิทยาศาสตร์ ขอยกตัวอย่าง ม.รัฐที่ผลิตนิติศาสตร์บัณฑิตเยอะๆ เช่น รามฯ ราชภัฏทั่วประเทศ สุโขทัย ส่วน ม.เอกชนทั่วประเทศ ก็รับไม่อั้น เพราะรายได้เข้ามหาลัยดีมาก จบปริญญาตรีนิติศาสตร์แล้ว ก็ยังเป็นทนายไม่ได้ ต้องเสียเงินค่าอบรม สอบให้ผ่านก่อน ถ้าสอบผ่านแล้ว เสียเงินสมัครวิสามัญสมาชิกเนติฯ เสียค่าจดทะเบียนเป็นทนาย 800 บาท เสียค่าตั๋วทนายชั่วคราว 2 ปี 800 บาท ตั๋วทนายตลอดชีพ 4,000 บาท(เสียเงินทั้งหมดให้สภาทนายไม่ใช่น้อย) เป็นทนายแล้ว ก็ยังหาสำนักลงไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่มีพรรคพวกเป็นเจ้าสำนัก จึงต้องไปสมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวตามส่วนราชการก่อน ถ้าลูกมีพ่อแม่เป็นผู้พิพากษา ก็อาจจะฝากเข้าเป็นลูกจ้างชั่่วคราว นิติกรตามศาลต่างๆได้ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา(ถ้าเส้นใหญ่ชอบศาลฎีกา) เพื่อให้ได้คุณสมบัติ รอสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา อัยการต่อไป แต่ก็ไม่รู้จะสอบติดอีกกี่ปี เพราะจะมีผู้สอบติดปีละไม่กี่คน น้อยมาก มีบางปีได้ 6 คนก็มี พวกสอบไม่ได้ ก็ต้องรอสอบไปเรื่อยๆ ทุกปีก็มีคนสะสมเพิ่มจำนวนคู่แข่งขันมากขึ้นไปเรื่อยๆ มีบางคนสอบ 3 ปี ก็ยังไม่ติดเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา อัยการ ถ้าคนไม่มีงานทำ ก็ถอดใจ ถูกทางบ้านด่าทุกวัน ก็ต้องไปหางานทำ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับสายงานก็ได้

สมัยก่อน ตำแหน่งนิติกรลูกจ้างชั่วคราวในศาลยุติธรรม เด็กนิติศาสตร์ จุฬา ธรรมศาสตร์ ไม่ค่อยสนใจมาสมัคร มีแต่เด็กนิติฯรามฯมาสมัครทั้งนั้น ต่อมาเด็กรามฯ ก็สอบเป็นผู้พิพากษา อัยการได้หลายคน

สมัยปัจจุบันนี้ มีเด็กนิติศาสตร์จุฬา ธรรมศาสตร์ รามฯ และอื่นๆ ทุกสถาบันมาสมัครสอบเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนิติกร ครั้งละจำนวนมากๆ แต่รับไม่กี่คนเอง เคยเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ ถามเด็กว่า ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีงานวิชาการอะไรทำ ส่วนมากจะเป็นงานช่วยขนของ โต๊ะ เก้าอี้ ถ่ายเอกสาร ค้นหาเอกสาร ส่งเอกสาร ฯลฯ ทำได้หรือไม่ ทุกคนบอกทำได้ ทุกคนต้องการทำงาน แม้เงินเดือนน้อย สวัสดิการไม่มีเหมือนข้าราชการ

ความจริงมีรายละเอียดมากกว่านี้ แต่ขออนุญาตเล่าประสบการณ์คร่าวๆ เพียงเท่านี้ แล้วพิจารณาเอาเอง

สรุป เรียนอะไรก็ได้ ขอให้จบมาแล้วมีงานทำ ไม่ตกงาน

แสดงความคิดเห็น

13 ความคิดเห็น

หวังดี 1 ก.ย. 59 เวลา 11:54 น. 1

เห็นด้วยครับเด็กม.6จำนวนมากคงคิดว่าอยากเป็นผู้พิพากษา อัยการ เห็นว่าเท่สวัสดิการดี เลยเเห่กันมาเรียน เด็กพวกนี้ยังไม่เคยสมัครงาน ยังไม่เคยรู้ว่าการสอบเข้างานในตำเเหน่งอัยการผูพิพากษามันเเข่งกันสูงขนาดไหน

ทุกวันนี้นิติศาสตร์เปิดสอนเกือบทุกมหาลัยเพราะต้นทุนการผลิตต่อหัวถูกมากน่าจะเป็นคณะเดียวด้วยซ้ำที่มหาลัยจะได้กำไรเมื่อคิดงบประมาณต่อหัวเทียบกับค่าเทอม น้องๆม.6ไม่เคยรู้กัน. บางคนไม่รู้เรียนอะไรก็ลงนิติศาสตร์เป็นไม้กันหมา เเล้วสุดท้ายก็จบออกมาสะสมเเต่ละปีมากมาย

งานสายตรงด้านกฎหมายการเเข่งขันสูงอย่างกับสอบจองหงวน
ตัวทนายรุ่นหลังๆผ่านเเค่ร้อยละ16 เเล้วอีก84%ที่เหลือจะไปไหน ทบไปแต่ละปี

เนติบัณฑิตผ่านรุ่นละ 15%โดยประมาณ เเล้วอีก85%ที่เหลือไปไหน ทบไปสิเเต่ละปี

เเละในบรรดาที่ผ่านตั๋วทนายเเล้วผ่านเนติบัณฑิตเเล้วคนที่ฝ่าฟันสอบผู้พิพากษาหรืออัยการได้ไม่เกิน5%ด้วยซ้ำ เเล้วอีก95%ไปไหน ก็ทบไปอีกเเต่ละปี


เเละไอจำนวนที่ทบๆเเต่ละก็ไปลงงานสายปกครองเช่น ตำรวจ ปลัด พวกนี้ซึ่งรับเยอะก็จริงเเต่คนสมัครก็เป็นหลักหมื่นทุกสนาม เพราะไม่มีทางไปกับเเล้วงานอะไรก็ได้ขอให้ได้งาน เหมือนที่จขกท.บอก

งานสายบริษัทพวกพาร์ทเนอร์นี่ยิ่งบริษัทดังๆเช่นเบเคอร์เเอนด์เเมกเเคนซี่คัดคุณสมบัติยิ่งกว่าคัดนางงามอีกครับเพราะผลประโยชน์เเละชื่อเสียงของบริษัทเขาอยู่ในมือคุณ ดังนั้นถ้าไม่ได้เกียรตินิยมอันดับ1จากจุฬา/ธรรมศาสตร์ อย่าหวังจะได้ทำครับ

บางทีพี่ออกมาพูดเเบบนี้อาจโดนน้องม.6บางคนด่าด้วยซ้ำหาว่าขัดความฝัน เเต่อยากให้น้องคิดดีดี หรือไม่ก็ลองเปิดเว็บสมัครงานดูเล่นๆก็ได้น้องจะเห็นเลยว่าเขารับน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนจบ หรือเว็บสภาทนายความ. หรือเนติบัณฑิตเเล้วน้องเข้าไปดูสถิติการสอบผ่าน เเล้วน้องจะเข้าใจ

#จากพี่คนนึงที่เลือกทางผิด

0
กัลย์ 1 ก.ย. 59 เวลา 21:41 น. 3

-อาชีพแพทย์/ทันตะ กำลังเรียน ม.6 สอบติดแพทย์/ทันตะ รู้เลยว่าอีก 6 ปีข้างหน้า จะต้องทำงานเป็นแพทย์/ทันตะ ตามสัญญาใช้ทุนที่ทำไว้(รู้อนาคต)
-อาชีพผู้พิพากษา/อัยการ จบ ม.6 สอบติดนิติศาสตร์ อีก 6 ปียังไม่รู้เลยว่า จะได้ทำงานเป็นผู้พิพากษา/อัยการ หรือไม่(ไม่รู้อนาคต)

เส้นทางเดินก่อนเป็นผู้พิพากษา
-ผู้ที่มีสิทธิสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาต้องอายุ 25 – 60 ปี(อาจจะมีการแก้ไขเพิ่มอายุจาก 25 ปีเป็น 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในอนาคต)
-จะต้องเรียนจบปริญญาตรีกฎหมาย นิติศาสตร์บัณฑิต และจบเนติบัณฑิตด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีประสบการณ์ทำงาน รับราชการที่เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่ต่ำกว่า 2 ปี
หรือไม่ก็ต้องมีอายุงานเก็บคดีทางกฎหมาย เช่น ทนายความ ไม่ต่ำกว่า 2 ปี เก็บคดีได้ 20 คดี(คดีแพ่ง 5 คดี) เป็นต้น

จึงเห็นได้ว่า กว่าที่จะผ่านด่านต่างๆมาได้ จนมีคุณสมบัติครบมีสิทธิเข้าสอบผู้ช่วยผู้พิพากษานั้น ก็ไม่ใช่ได้ง่ายๆเลย และแม้ว่าโอกาสสมหวัง อาจมีไม่ถึง 1% (0.25%) แต่ก็ยังมีคนสนใจเข้าสอบกันมากมายทุกปี บางคนสอบครั้งเดียวติด(ส่วนใหญ่พวกปริญญาตรีเกียรตินิยม) บางคนต้องสอบหลายครั้ง มีบางคนอดทน รอสอบทุกปีไม่ไหว ต้องเบนเข็มไปทำอาชีพอื่น ไม่เอาแล้วผู้พิพากษา อัยการ อุตส่าห์เรียนปริญญาตรี 4 ปีจบ เรียนเนติฯ ไม่รู้ 1 ปีหรือกี่ปีจบ มีประสบการณ์งานกฎหมาย 2 ปี
สรุปจบปริญญาตรีมาแล้ว 4-5 ปี ยังไม่รู้จะสอบติดผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือไม่ หรือจบ ม.6 มาแล้ว 8-9 ปี ยังไม่รู้จะสอบติดเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือไม่

คุณสมบัติ คุณวุฒิ เงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพ สำหรับผู้สมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา
๑) สนามใหญ่ อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป+ เนติบัณฑิต + อายุงาน ๒ ปี + หากเป็นทนาย อายุตั๋ว ๒ ปี + ๒๐ คดี
๒) สนามเล็ก อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป + เนติบัณฑิต + ปริญญาโทในประเทศหรือต่างประเทศ + อายุงาน ๑ ปี + หากเป็นทนาย อายุตั๋ว ๑ ปี + ๑๐ คดี
๓) สนามจิ๋ว อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป+ เนติบัณฑิต + ปริญญาตรีกฎหมาย ๓ ปี จากต่างประเทศ หรือปริญญาเอกกฎหมายในประเทศ (ไม่ต้องใช้อายุงาน) หากเป็นปริญญาตรีกฎหมาย ๒ ปี หรือ ปริญญาโทกฎหมาย ๒ ปีจากต่างประเทศ ต้องใช้อายุงาน ๑ ปี + ๒๐ คดี

ส่วนสนามเล็กสำหรับผู้ที่เป็นอาชีพพิเศษ
๑) แพทย์ เภสัช ฯลฯ + เนติบัณฑิต + จบโทหรือเอกสาขาแพทย์ (ในหรือต่างประเทศก็ได้) + ประกอบวิชาชีพในสาขาที่เรียนมา ๓ ปี หรือ ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ๓ ปี (อย่างหนึ่งอย่างใด) + หากประกอบวิชาชีพกฎหมายประเภททนายความ ฯลฯ ต้องเก็บคดี ๓๐ คดี
๒) แพทย์ เภสัช ฯลฯ + เนติบัณฑิต + ประกอบวิชาชีพในสาขาที่เรียนมา ๑๐ ปี (ไม่ต้องเก็บคดีหรือมีอายุงานกฎหมาย)
อาชีพพิเศษได้แก่
แพทย์ ทันตะ เภสัช สัตวแพทย์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล วิศวะ สถาปัตย์ หรือการบัญชีและได้
ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การสัตวแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ การพยาบาล
วิศวกรรม สถาปัตยกรรม หรือเป็นผู้สอบบัญชี รับอนุญาตแล้วแต่กรณี

ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่เป็นผู้พิพากษาที่มีฐานะดี หรือเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ จะใช้ช่องทางพิเศษ ส่งลูกไปเรียนที่ต่างประเทศ เมื่อจบกลับมาไทย ก็จะสอบสนามเล็ก สนามจิ๋ว ซึ่งมีโอกาสติดง่ายกว่าสนามใหญ่มาก

อยากรู้รายละเอียดลองอ่านบทความตามลิงค์นี้ http://prachatai.com/journal/2012/08/41970
บทความนี้ลงเมื่อปี 55 ปัจจุบันนี้การแข่งขันยิ่งเข้มข้นสูงมากกว่าเดิม ติดยากกว่าเดิม

เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

0
กัลย์ 3 ก.ย. 59 เวลา 11:42 น. 4

หลายคนคงได้อ่านบทความที่ลิงค์ไว้แล้ว มีบางส่วนข้อมูลอาจจะเปลี่ยนแปลงแล้ว เช่น อำนาจ หน้าที่ บารมี ของเจ้าหน้าที่อื่นๆ(จบนิติศาสตร์) ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา การสอบแข่งขันเป็นผู้พิพากษาเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม ยากมากกว่าเดิม และมีข้อมูลบางส่วนถูกต้อง ใกล้เคียงกับความจริงมาก สงสัยคงได้รับข้อมูลจากผู้พิพากษา เช่น ผู้พิพากษที่ฐานะดี ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ วางแผนให้ลูกเป็นผู้พิพากษาทางลัด นิยมส่งลูกที่จบ ป.ตรี นิติศาสตร์ไทยแล้ว ไปเรียนต่อต่างประเทศใช้เงินประมาณ 4-5 ล้านบาท จบง่ายกว่าปริญญาโทกฎหมายในไทย(ม.ธรรมศาสตร์) ให้ได้คุณวุฒิตามที่ กต.กำหนด เพื่อสอบสนามเล็ก สนามจิ๋ว ง่ายกว่า ไม่อยากสอบสนามใหญ่แข่งกับลูกชาวบ้าน ประชาชนทั่วไปที่เก่งๆ

สมัยนี้ การสอบแข่งขันเป็นผู้พิพากษายิ่งเข้มข้นมากขึ้น ลูกชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป ถ้าจบนิติศาสตร์ ได้เกรด 3 ขึ้นไป หรือจบเกียรตินิยม หรือจบเนติฯ อันดับ 1-500 คิดว่าน่าจะมีโอกาสลุ้นสอบติดผู้ช่วยผู้พิพากษามาก ถ้าน้อยกว่า ต่ำกว่านี้ ก็อาจจะมีลุ้นสอบในตำแหน่งข้าราชการอื่นๆ ได้ ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา

เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

0
กัลย์ 4 ก.ย. 59 เวลา 09:40 น. 5

เอาเงินหลวง จ้างลูกผู้พิพากษา เตรียมตัวสอบผู้พิพากษา

ที่บอกว่า ถ้าลูกมีพ่อแม่เป็นผู้พิพากษา ก็อาจจะฝากเข้าเป็นลูกจ้างชั่่วคราว นิติกรตามศาลต่างๆได้ เช่น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา(ถ้าเส้นใหญ่ชอบศาลฎีกา)

ศาลชั้นต้น มีประชาชนติดต่องานมาก งานหนักกว่าศาลสูง มีเวลาอ่านหนังสือน้อยกว่า
ศาลสูง ไม่ค่อยมีประชาชนติดต่องาน งานสบาย (เอาเงินไปฝากธนาคาร ซื้ออาหาร) มีเวลาอ่านหนังสือมาก

ศาลพิเศษต่างๆ ก็มี เช่น มีข่าวลูกตุลาการไปเรียนต่างประเทศแล้ว ยังรับเงินค่าจ้างอีกเป็นปีๆ ต่อมาเรื่องแดง ค่อยคืนเงิน
เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

0
กัลย์ 4 ก.ย. 59 เวลา 21:56 น. 6

เคยเห็นนิติกร ข้าราชการศาลยุติธรรม ระดับ 5 คนหนึ่ง สอบผู้พิพากษาหลายครั้งแล้ว ยังไม่ติด
เห็นรุ่นน้องนิติกร ข้าราชการศาลยุติธรรม ระดับ 4 สอบผู้พิพากษาครั้งที่ 3 ติด เลยตัดสินใจทุบหม้อข้าวตัวเอง ขอลาออกจากราชการ เลิกกับแฟน เพื่อไปเตรียมตัวสอบผู้พิพากษาอีก อ่านหนังสืออย่างเดียว

เคยเตือนไปว่า อย่าออกเลย อย่าเสี่ยงมากเกินไป สอบไม่ได้จะไม่คุ้มกับการลงทุน เป็นข้าราชการระดับ 5 แล้วทำงานอีก 1 ปี ก็ครบ 6 ปี มีสิทธิ์สอบสนามเล็กแล้ว เสี่ยงเกินไป คนจะเป็นผู้พิพากษาได้ มันอาจจะต้องมีดวงช่วยด้วย ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้สำเร็จเสมอไป เตือนตามประสบการณ์ที่เห็นมา ผลปรากฏว่า สอบอีกหลายครั้ง ก็ยังไม่ติด ได้ข่าวว่าพอสอบไม่ติดอีก ต่อมาไปเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนิติกร สำนักงานอัยการที่ต่างจังหวัดบ้านเกิด ปัจจุบันก็ยังสอบผู้พิพากษาไม่ติด แต่สอบได้เป็นข้าราชการ ระดับ 3 ตำแหน่งนิติกร อยู่ที่ศาลต่างจังหวัด

สรุป คนที่สอบติดผู้พิพากษา ต้องทั้งเก่ง และมีดวงด้วย

เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

0
Nook 5 ก.ย. 59 เวลา 01:28 น. 8

เข้ามาเห็นด้วยครับ สายกฎหมายปัจจุบันต้องเรียนให้เก่ง เก่งมาก เท่านั้นถึงจะมีอนาคต
อย่างไรก็ดี การเรียนกฎหมาย ก็ทำให้เรามีความรู้เป็นเกราะป้องกันจากการถูกเอาเปรียบ ถึงแม้เมื่อเรียนจบจะไม่ได้ทำงานด้านกฎหมายก็ตาม


เรื่องนี้คนในทราบกันดี วิชาชีพนี้การแข่งขันสูงจนแทบจะกลายเป็นคนบ้า อ่านหนังสือกันเยอะมาก

0
Fah1147 5 ก.ย. 59 เวลา 02:53 น. 9
เราเป็นคนนึงที่ไม่อยากออก  น้องๆ ม.6 ที่ใฝ่ฝันจะมาด้านนี้ เอาที่"รัก"จริงๆนะคะ ไม่ใช่ว่าเลือกอะไรไม่ได้แล้วมาเลือกนิติ ถึงจะรู้ว่าทางข้างหน้ามันไม่ได้ง่าย แต่ถ้าฝันแล้วก็ให้พยายามให้เต็มที่เถอะ อย่าไปคิดว่ามันยากเกินไป ยังไงยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกก็ยังอยู่ใต้เท้าคนที่ไม่ละความพยายามนะคะ เรายังอยู่แค่ปี.2  ยังไม่ค่อยรู้จักทางสายนี้เท่าไหร่ แต่ทัศนคติที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ขอให้มีทัศนคติที่ดีต่อกฎหมายเสมอ พร้อมรับใช้สังคม คณะนี้ก็รับคนได้เรื่อยๆค่ะ ชีวิตของคุณคุณคือนักแสดงนำ เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ  ทำมันให้ดีที่สุด ใกล้สอบกันแล้วนี่ ไปอ่านหนังสือ(อันนี้บอกตัวเอง5555) สู้ๆนะ
0
กัลย์ 5 ก.ย. 59 เวลา 18:35 น. 10

มีเพืื่อนเป็นทนายความ ผ่านเนติฯตั้งแต่หนุ่มๆ สอบผู้พิพากษาตั้งแต่มีคุณสมบัติครบ จนถึงอายุ 56 ปี เปิดสอบผู้พิพากษาทุกครั้ง จะสมัครสอบทุกครั้ง แต่สมัครจำนวนกี่ครั้งแล้ว นับครั้งไม่ได้ จำไม่ได้ รู้แต่ว่าได้บริจาคเงินให้สำนักงานศาลยุติธรรม หลายหมื่นบาทแล้ว ยังสอบไม่ติดเลย ปัจจุบันนี้อายุน่าจะใกล้ 60 ปี อายุมากแล้ว คงจะถอดใจไม่สมัครอีกแล้ว

มีหลานเพื่อนคนหนึ่ง เป็นลูก ส.ส.และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ เห็นตั้งแต่เด็กๆ เรียนสาธิตประสานมิตร วางแผนการเรียนอย่างดี จบนิติศาสตร์ มธ.จบเนติฯ ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวสำนักงานศาลยุติธรรม จนมีคุณสมบัติครบ ไปเรียนปริญญาโทต่างประเทศ 2 ใบ สอบสนามเล็ก สนามใหญ่ พอสอบไม่ติดหลายครั้ง ก็ท้อใจ ไม่ยอมสอบผู้พิพากษาอีกเลย พ่อแม่อ้อนวอนให้สู้ต่ออย่างไร ก็ไม่เอา ปัจจุบันนี้ ก็ไปเป็นข้าราชการหน่วยงานอื่น ไม่เกี่ยวกับศาลยุติธรรม และไม่สมัครสอบผู้พิพากษาอีกเลย

เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

1

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

เนื้อหาซ้ำ เคยโพสท์ไปแล้ว เพื่อความเป็นระเบียบกรุณาโพสท์กระทู้เพียงครั้งเดียว

กัลย์ 28 พ.ย. 59 เวลา 09:08 น. 12

ในเว็บเด็กดี มีผู้ปกครองที่เป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นักกฎหมายหลายคน เข้ามาอ่านกันเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นจริง เข้าใจผิดไปเอง หรือคิดไปเอง ยินดีรับชี้แจง แก้ไขให้ถูกต้อง แต่คิดว่าไม่น่าจะมีคนโต้แย้งด้วยเหตุผลดีๆ ข้อมูลดีๆ นะ

เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

0
พาวารี 6 มี.ค. 61 เวลา 08:04 น. 13

อย่ามาเรียนเลยค่ะ

คณะนิติศาสตร์ที่เมืองไทย


ความคิดที่ว่า สายงานในกระบวนการยุติธรรม จะยุติธรรมสมชื่อ นั้นไม่มี


งานวิชาการก็เหมือนไฟไหม้ฟาง ทำไปหาหนวดเต่า เขากระต่าย



0