Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เปิดตำนาน "การเรียนแบบไทยๆ" เมื่อครั้งโบราณ ถึงปัจจุบัน

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
        สวัสดีเพื่อนๆ คิดว่าช่วงนี้ทุกคนคงได้เห็นภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในทุกๆ วัน เราได้ดูสารคดีของพระองค์ท่านที่เกี่ยวกับการศึกษา แล้วรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากจริงๆ ที่ได้เกิดในรัชกาลที่ 9 เกิดมาในยุคที่ทุกอย่างพ่อเตรียมไว้พร้อมหมดแล้ว อยากจะหาความรู้ใส่ตัวเมื่อไหร่ ก็ทำได้ทันที

        เลยเกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า แล้วที่ผ่านมาบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ท่านเรียนหนังสือกันมายังไง? ลำบากมากมั้ย? ค้นไปค้นมาก็ไปเจอเอกสารอยู่ 3 ฉบับ อยากให้ทุกคนได้ลองอ่านดู อ่านจบอาจจะมีพลัง อยากจะตั้งใจเรียนขึ้นมามากกว่าเดิมเหมือนเราก็ได้จ้า T[]T

สุโขทัย ---> ชายเรียนที่วัด หญิงเรียนที่บ้าน

        ถ้าเป็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แน่นอนว่ากษัตริย์ รวมถึงพระราชวงศ์ ต้องได้รับการศึกษาในรั้ววัง คือเรียนในพระราชสำนักอยู่แล้ว เนื้อหาที่เรียนก็เกี่ยวกับการปกครอง ตำราพิชัยสงคราม ฯลฯ มีพราหมณ์หรือราชบัณฑิตเป็นครูผู้สอน ส่วนชนชั้นขุนนางก็เรียนกับสำนักราชบัณฑิต ฝึกเพื่อเป็นทหาร ตามตำราพิชัยยุทธ์เหมือนกัน (เราแอบคิดว่าสมัยสุโขทัย "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ไง บ้านเมืองอื่นอาจจะมารุกราน เมืองที่อุดมสมบูรณ์นี้เมื่อไหร่ก็ได้ เลยต้องฝึกไว้ เผื่อเกิดศึกสงครามจะได้พร้อมลุย!) 

      
                                             
ขอบคุณภาพจาก lifestyle.socialgiver

        แต่สำหรับปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆ แล้ว วัดคือสถานที่เล่าเรียนชั้นหนึ่งเลย :D (สำหรับเด็กปู้จาย) พระสงฆ์ท่านจะอบรมสั่งสอนจริยธรรมและการศึกษาตามภูมิปัญญาของวัดแต่ละแห่ง ที่สำคัญเด็กชายก็จะได้เล่าเรียนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา สำหรับเตรียมที่จะบวชด้วย (แต่เมื่อกลับบ้านมา ใครอยากเรียนก่อสร้างบ้านเรือน เรียนศิลปะการป้องกันตัวก็ได้เรียนนะ) ส่วนเด็กหญิงก็แน่นอนว่าเรียนที่บ้าน เย็บปักถักร้อย เข้าครัวทำอาหาร อบรมกิริยามารยาท เตรียมเป็นแม่ศรีเรือนที่ดีไปตามเรื่อง (หากใครอยากเรียนหนังสือให้พออ่านออกเขียนได้ ก็มีผู้ใหญ่ในบ้านคอยอบรมสั่งสอน)

อยุธยา ---> เกิดโรงเรียนแห่งแรกในสยาม *O*

      
                                 ขอบคุณภาพจาก
Don Mueang International Airport

        มาถึงอยุธยา ช่วงเริ่มแรกวัดมีบทบาทสำคัญมากๆ สำคัญกว่าสำนักราชบัณฑิตซะอีก! ลูกผู้ชายไทยจะต้องเข้าอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ส่วนการศึกษาของผู้หญิง ก็ยังคงเป็นการเรียนวิชาชีพ เรียนการครัว ทอผ้า และอบรมกิริยามารยาทเหมือนเดิม แต่! จุดเปลี่ยนอยู่ตรงนี้ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว มีศาลาโรงเรียนที่วิชาความรู้ การเรียนการสอน ใกล้เคียงกับวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยปารีสเลยทีเดียว! การเรียนการสอนในวิชาสามัญ ก็เป็นการเรียนวิชาการอ่าน เขียน เลข ใช้ "จินดามณี" มาประกอบการเรียน (คุ้นๆ มั้ย? แบบเรียนเล่มแรกของไทยไง) ส่วนการเรียนวิชาชีพชั้นสูง จะเป็นวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ ตำรายา ตำราอาหาร ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษา จริยศึกษา เทวศาสตร์ และปรัชญา ฯลฯ วิชาเรียนเยอะมากกก ถ้าเราเกิดในยุคนั้น ก็คงตะลึงตั้งแต่เห็นชื่อวิชา น่าเรียนทั้งนั้นจ้าาา 

กรุงธนบุรี ---> รวบรวมตำราเรียนที่รอดพ้นจากสงคราม

      
                                      ขอบคุณภาพจาก
Youtube ประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี

        พออ่านมาจนถึงกรุงธนบุรี เราก็ต้องพบกับความจริงที่ว่า ยุคนี้บ้านเมืองเราเกิดศึกสงครามกับพม่า การศึกษาที่กำลังเจริญก้าวหน้า ก็ต้องหยุดชะงักไปก่อน แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ได้ทรงรวบรวมสรรพตำราจากแหล่งต่างๆ ที่รอดพ้นจากการกว้านทำลายนั้นกลับคืนมา เราจึงได้เริ่มต้นการศึกษาใหม่ที่เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างยิ่งยวดในสมัยรัตนโกสินทร์ อาศัยตำรับตำราจากสมัยกรุงธนบุรีมาวางรากฐานนั่นเอง 

รัตนโกสินทร์ --->  พัฒนาระบบการศึกษาไทยไม่มีที่สิ้นสุด

        เริ่มตั้งแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น (ช่วงรัชกาลที่ 1-4) บ้านและวัดยังเป็นศูนย์กลางความรู้เหมือนสมัยอยุธยาเลยจ้า 

        สมัยรัชกาลที่ 1 งานด้านอักษรศาสตร์เริ่มฟื้นฟู 
        สมัยรัชกาลที่ 2 มีการส่งเสริมการศึกษาวิชาสามัญ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และจริยศาสตร์ 
        สมัยรัชกาลที่ 3 การศึกษาด้านศาสนา จะได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษ มีการจารึกความรู้ต่างๆ ลงแผ่นศิลาประดับริมระเบียงวัดโพธิ์ ว่ากันว่าเป็น "มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย"
        สมัยรัชกาลที่ 4 จัดการศึกษาทั้งในส่วนวิชาชีพและสามัญที่วัดและบ้านเหมือนเดิมเป๊ะ! แต่ ร.4 ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษามาก ใครที่มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ จะได้รับการยกย่องและได้รับราชการ            

      
                                     ขอขอบคุณภาพจาก โครงการพิทักษ์มรดกสยาม

        ในที่สุด! การศึกษาไทยก็ได้รับการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงในสมัยรัชกาลที่ 5 จ้า

        สมัยรัชกาลที่ 5 การศึกษาตามระบบโรงเรียนได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก! เพราะตะวันตกเริ่มรุกรานบ้านเรา (โกรธมาก! แต่ก็ขอบคุณที่ทำให้แกร่งขึ้น ^^) ร.5 ทรงขยายการศึกษาไปทั่วกรุงเทพฯ และหัวเมือง พลเมืองทุกคนจะได้มีความรู้ นำความสามารถมาใช้ปกป้องและพัฒนาบ้านเมืองได้ 
        สมัยรัชกาลที่ 6 การศึกษาได้รับการขยายไปในวงกว้าง โดยเฉพาะการศึกษาด้านวิชาชีพและการศึกษาในระดับสูง "มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา" นั่นเอง!
        สมัยรัชกาลที่ 7 มีนโยบายจัดการศึกษาและปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ร.7 ทรงเล็งเห็นว่า "การศึกษาควรถือเอาคุณภาพ ไม่ใช่จำนวน" งานนี้เริ่มพัฒนาตั้งแต่น้องๆ เด็กเล็กระดับประถมศึกษาเลยจ้า 
        สมัยรัชกาลที่ 8 ประชาชนต้องได้รับการศึกษาอย่างเต็มขั้น ร.8 จึงทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ ทั้งกิจการของหอสมุดแห่งชาติ การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง 
        สมัยรัชกาลที่ 9 จวบจนปัจจุบัน ระบบการศึกษาไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการด้านการศึกษา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแก่ประชาชนคนไทย พระองค์ท่านมีพระบรมราโชบายส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ เพื่อราษฎรทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ มีความรู้ความคิดที่กว้างขวาง ตลอดจนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

         สุดท้ายนี้ ก็อยากฝากเพื่อนๆ ไว้ เรามองตากันก็รู้ใจว่า หลักสูตรการศึกษาของบ้านเรา ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงอยู่...บ้าง เราเข้าใจนะ แต่ละยุคสมัย พระเจ้าแผ่นดินของเราทรงงานหนัก ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่สำคัญ รับผิดชอบด้านการศึกษาของประเทศ ก็ทำงานหนักเพื่อสนองพระบรมราโชบายของพระองค์ท่านอยู่เช่นกัน 

         การพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ก็คงต้องทำกันอย่างจริงจัง และค่อยเป็นค่อยไปตามสภาพสังคม ตามปัจจัยหลายๆ อย่าง หน้าที่ของเราคือเรียน เรียน และเรียน พอเรียนจบจะได้นำความรู้มาตอบแทนคุณแผ่นดินต่อไปไง ความคิดดีมั้ยล่ะ? แต่ทำยากเหลือเกิน ร้องไห้หนักมากกก TTOTT แต่มาสู้ไปด้วยกันนะ!  
  
         ใครอยากอ่านแบบเต็มๆ ตามไปอ่านได้ที่ด้านล่างเลยจ้าาา (หนูขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี สำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วยนะคะ -/\-) 

วิวัฒนาการหลักสูตรทางการศึกษาของไทยเราจากอดีตถึงปจจุบัน
http://wachum.org/dewey/300/edthai2.pdf

ความเป็นมาและระบบการจัดการศึกษาไทย
http://www.kruinter.com/file/70720140903220606-[kruinter.com].pdf  
ตำนานการศึกษาในสยาม
http://allknowledges.tripod.com/historyofthaieducation.html

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

เนื้อหาซ้ำ เคยโพสท์ไปแล้ว เพื่อความเป็นระเบียบกรุณาโพสท์กระทู้เพียงครั้งเดียว

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

เนื้อหาซ้ำ เคยโพสท์ไปแล้ว เพื่อความเป็นระเบียบกรุณาโพสท์กระทู้เพียงครั้งเดียว