Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

8 พระมหากษัตริย์ไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "มหาราช"

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
      เคยสังเกตไหมว่า หลังชื่อพระนามของกษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยพระสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ มีเพียงบางพระองค์เท่านั้นมีลงท้ายว่า "มหาราช" ทำไมบางพระองค์ถึงลงท้ายเช่นนั้น?
      คำว่า "มหาราช" เป็นคำที่ประชาชนถวายแด่พระมหากษัตรย์ผู้ทรงประกอบด้วยทศพิธราชธรรมและมีพระราชกรณียกิจนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติ และประชาชนอย่างใหญ่หลวงในทุกๆ ด้าน ซึ่งในประเทศไทยมีกษัตริย์ที่พระนามลงท้ายด้วย "มหาราช" จำนวน 8 พระองค์ (ในบางตำรามี 10 พระองค์ อีก 2 พระองค์ที่ไม่ได้กล่าวไว้คือ พระเจ้าพรหมมหาราช แห่งอาณาจักรโยนกนากนคร และพ่อขุนเม็งรายมหาราช แห่งอาณาจักรล้านนา)

1. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช


 
    พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อยู่ในราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุขโทัย ทรงขยายและรวบรวมอาณาจักรอย่างกว้างขวาง ปกครองประชาราษฎร์ในระบบปิตุราชาธิปไตย หรือ "พ่อปกครองลูก" อีกทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย ทำให้ชาติไทยมีอักษรใช้เป็นของตนเอง มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงถือเป็นยุคที่เมืองสุโขทัยเฟืองฟูและเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก

2. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช



 
    เราคุ้นเคยพระนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในด้านของการกอบกู้เอกราชของชาติไทย หลังจากที่เสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 1 พระนามเดิมของพระองค์คือ "พระองค์ดำ" เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 19 แห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีพระปรีชาสามารถในการรบเป็นอย่างมาก ทรงทำการศึกสงครามและชนะข้าศึกหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือ พระองค์ทรงชนช้างกระทำยุทธหัตถี และทรงฟันพระมหาอุปราชสิ้นบนคอช้าง ตั้งแต่นั้นมา พม่าก็เลิกยกทัพมารุกรานประเทศไทย

3. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช



 
    สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรืองและความยิ่งใหญ่แก่กรุงศรีอยุธยาอย่างมาก ทั้งในด้านการรบ การต่างประเทศ และในด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม จนทำให้มีกวีที่มีชื่อเสียงหลายคนในยุคนี้ เช่น พระโหราธิบดี, ศรีปราชญ์ เป็นต้น นับเป็นยุคทองแห่งวรรณคดีก็ว่าได้

4. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
 


 
    สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่า หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และทรงทำการรบตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินที่แตกเป็นก๊กเป็นเหล่าให้เป็นปึกแผ่น และทรงสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ของประเทศไทย นอกจากนี้พระองค์ยังฟื้นฟูประเทศด้านต่างๆ หลังสงคราม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ศาสนา การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม

5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช



 
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือ รัชกาลที่ 1 เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาอยู่ฝั่งนครและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ
    ในการด้านรบ พระองค์เป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับทั้งพม่า เขมร และลาว ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามทั้งหมด 7 ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา และสิ่งที่สำคัญที่สุด พระองค์ได้พระราชทานนามแก่กรุงรัตนโกสินทร์อันเป็นชื่อที่รู้จักกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์"

6. สมเด็จพระปิยมหาราช (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)



 
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดในประวัติศาสตร์พระองค์หนึ่ง ผู้ทรงพระปรีชาสามารถและเป็นที่รักของพสกนิกร มีพระราชกรณียกิจที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติมากมาย เช่น ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญ การสร้างรถไฟ การสื่อสาร ไฟฟ้า การคมนาคม ทรงดูแลการศาสนาและการศึกษา แต่พระราชกรณียกิจที่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ก็คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ใมีการเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย
    สำหรับพระราชสมัญญานามว่า "ปิยมหาราช" แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก

7. สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)



 
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจหลายสาขา ทั้งการเมือง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ รวมทั้งด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร ประวัติศาสตร์ สารคดี และอื่นๆ อีกหลายประเภท และยังทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือ วชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นด้วย
    เนื่องจากพระองค์มีพระอัจฉริยภาพในด้านอักษรศาสตร์ ประกอบกับพระราชกรณียกิจอื่นๆ ที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชน จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" ซึ่งหมายถึง มหาราชผู้เป็นจอมปราชญ์
หมายเหตุ สำหรับรัชกาลที่ 6 มีข้อมูลแบ่งเป็น 2 แหล่งใหญ่ๆ นะคะ คือ แหล่งแรกพระองค์ไม่นับว่าเป็น "มหาราช" เช่น ในวิกิพีเดีย แต่อีกแหล่ง จะมีพูดถึงว่าท่านเป็น "มหาราช" ค่ะ เช่น หนังสือ 10 มหาราชพระมหากษัตริย์ไทย (`ข้อมูลหนังสือคลิก https://goo.gl/1Sg6u1) จึงขอลงข้อมูลของรัชกาลที่ 6 รวมไว้ด้วยค่ะ

8. สมเด็จพระภัทรมหาราช (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)



 
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระปรีชาสามารถในทุกแขนง ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ มีโครงการพระราชดำริ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำเพื่อพสกนิกรของท่านให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การชลประทาน การสาธารณสุข นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก และครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกถึง 70 ปี
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลก ที่ได้รับการถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ในการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนาเทคโนโลยีของไทยมาใช้เอง
    พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระภัทรมหาราช" มีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง"
 

ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก
https://th.wikipedia.org/wiki/,
http://www.ku.ac.th/e-magazine/may51/agri/turbine.htm,
https://khunatham.wordpress.com/2015/01/31/king8/
 

แสดงความคิดเห็น

>

8 ความคิดเห็น

5555 23 ต.ค. 59 เวลา 08:34 น. 3

เคยได้ยินมานานแล้วคำว่า ''พระมหาธีรราชเจ้า'' แต่พึงทราบว่าเป็นรัชกาลที่ 6. อยากให้พระราชประวัติ สำคัญของกษัตริย์ อยู่ในแบบเรียน แบบสมบูรณ์เยี่ยม

0
วิชิต 24 ต.ค. 59 เวลา 07:59 น. 6-1

-นี่มั่วไปใหญ่แระ พระนั่งเกล้าไม่ใช่มหาราช มหาราชในราชวงศ์จักรีมีแค่ รัชกาลที่ 1,5,9

0