Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

Tria Nomina - ระบบตรีนามโรมัน - ตั้งชื่อยาวแต่กิ๊บเก๋สไตล์โรมัน โลกจริงใช้มาแล้ว นิยายก็ใช้ได้ดี

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ตลอดช่วงสิบสี่ศตวรรษ ชาวโรมันและชนกลุ่มอื่นๆ ในคาบสมุทรอิตาลีได้ใช้ระบบการตั้งชื่อที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมอื่นในยุโรปหรือแม้แต่ในแถบเมดิเตอเรเนียนแเอง ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการผสมผสานชื่อบุคคลและนามสกุลเข้าด้วยกัน

และระบบนี้ก็อาจจะยังไปถูกใช้ในเรื่องแต่งโดยเฉพาะเรื่องแฟนตาซี ซึ่งล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจนก็ Final Fantasy XV ที่ทำให้เกิดตัวละครชื่อยาวเหยียดอย่าง น็อคติส ลูซิส ไคลัม (Noctis Lucis Caelum)

ระบบนี้ถูกเรียกว่า Tria Nomina หรือตรีนาม การผสมผสานชื่อสามขั้นคือ

ปฐมนาม Praenomen - ชื่อบุคคล
นาม Nomen - นามสกุลหลัก
นามควบ Cognomen - แต่เดิมเป็นฉายา ต่อมาเป็นนามสกุลย่อย
 

ซึ่งเป็นระบบการตั้งชื่อโรมันที่พื้นฐานที่สุด และเป็นระบบการตั้งชื่อที่มีพัฒนาการอยู่ตลอดตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ไปจนถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 7
 

ชื่อที่ปรากฏในระบบการตั้งชื่อนี้ กลายเป็นลักษณะหนึ่งที่ปรากฏในอารยธรรมโรมัน และแม้ว่าระบบนี้จะหายไปในยุคกลางตอนต้น แต่ชื่อเหล่านี้ก็ยังทรงอิทธิพลในวิธีการตั้งชื่อของชาวยุโรป และชื่อพวกนี้ก็ยังอยู่รอดมาถึงภาษายุคใหม่
 

[ที่มาและพัฒนาการ]

เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่น กลุ่มชนแรกเริ่มในคาบสมุทรอิตาลี คาดว่าจะเป็นพวกที่ใช้ชื่อเดียว ซึ่งต่อมาชื่อพวกนี้จะกลายเป็นปฐมนามหรือ Praenomen โดยมาร์คัส เทอเรนทิอัส วาร์โร (Marcus Terentius Varro) บัณฑิตโรมันโบราณได้เขียนไว้ว่า ชาวอิตาเลียนยุคแรก ใช้ชื่อสามัญบ้านๆ
 

ชื่อเหล่านี้อาจจะเป็นการให้เกียรติ ความทะเยอทะยาน หรืออาจจะเอามาจากชื่อเทพ ความแปลกทางกายภาพ หรือพฤติการณ์ตอนเกิด โดยในสมัยต้นนี้ จำนวนชื่อบุคคลอาจจะมีมากมายก่ายกอง แต่พอมีการคิดค้นระบบชื่อเพิ่มเติม จำนวนชื่อบุคคลก็ค่อยๆ ลดลงไป
 

ในช่วงต้นสาธารณรัฐ ยังมีปฐมนาม Praenomina จำนวน 36 ชื่อยังหลงเหลืออยู่ บางชื่อก็หายากมากๆ โดย 18 ชื่อนั้นเป็นชื่อที่พวกขุนนาง Patrician ใช้งาน พอเข้าสู่สมัยจักรวรรดิ ก็เหลืออยู่แค่โหลกว่าๆ แม้ว่าตระกูลขุนนางบางพวกก็พยายามรื้อชื่อเดิมมา หรือสร้างชื่อใหม่ จากนามควบ Cognomina ของตน
 

การพัฒนา นาม Nomen ในฐานะชื่อที่สอง ของระบบชื่อชาวอิตาเลี่ยนโบราณนั้น ไม่อาจจะระบุได้แน่ชัดว่ามาจากยุคไหนหรือจากวัฒนธรรมใด โดยในช่วงยุคต้น ทั้งชาวอิตาลีโบราณและชาวอีทรัสคัน (Etruscan) ที่พูดภาษาตระกูลอินเดีย-ยุโรป (Indo-European) ระบบแบบนี้มันเป็นระบบที่ใช้กันเกลื่อนอยู่แล้ว

 

นักประวัติศาสตร์โรมัน ลีวี่ย (Livy) ได้พูดถึงการใช้นาม ซิลวิอัส (Slvius) เป็นนาม Nomen ของเหล่าพระราชาแห่งนครรัฐอัลบาลองกา (kings of Alba Longa ราชาในตำนานการสร้างโรม) ในฐานะเทิดเกียรติแก่บรรพบุรุษของพวกเขา ซิลวิอัส โดยคำอธิบายนี้ ไม่อาจจะคำนึงเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของตำนานการสร้างโรม (Rome's Foundation myth) แต่มันก็พอบ่งบอกได้ว่าระบบนามสกุลที่สืบผ่านสายโลหิต ที่ชาวโรมันใช้ ก็มีความเก่ากึกอยู่บ้าง
 

ในภาษาละติน นาม Nomen หรือ Nomina ส่วนใหญ่ จะมีการเติมท้ายคำด้วยสระ ซึ่งส่วนใหญ่จะลงท้ายด้วย -ius ตามท้ายคำหรือชื่อที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งระบบนี้ ต้องใช้สระในการสมาสสนธิ เช่น -e-, -id-, -il-, หรือ -on-
 

สำหรับนาม Nomen หรือ Nomina นามสกุลสามัญส่วนใหญ่จะมาจากชื่อของบิดา (Patronymic surname) เช่น นามสกุล มาร์ซิอัส (Marcius) จะมาจากปฐมนามของบิดา มาร์คัส (Marcus) โดยมาร์ซิอัส แต่เดิมจะมีความหมายจากคำว่า มาร์ซิ ฟิลิอัส (Marci filius) หรือบุตรแห่งมาร์คัส (son of Marcus)
 

เช่นเดียวกัน นามสกุล เซ็กทิอัส (Sextius), พุบบลิลิอัส (Publilius) และลูซิลิอัส (Lucilius) ก็มาจากปฐมนาม Praenomina เซ็กตัส (Sextus), พุบบลิอัส (Publius) และลูซิอัส (Lucius) ซึ่งการตั้งชื่อแบบนี้ ต่อมาในยุโรปจะเป็นที่แพร่หลาย (เช่นนามสกุลที่ลงท้ายด้วย สันหรือ son)
 

นาม Nomina ในยุคต้น ไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อที่สืบด้วยสายโลหิตเสมอไป สามารถนำมาใช้และละทิ้งได้ตลอดเวลา และเปลี่ยนในรุ่นต่อไปได้ ระบบการตั้งนามสกุลตามบิดาทำให้เกิดกระแสการตั้งชื่อระบุตัวตนตามพ่อแม่ (filiation) ซึ่งในยุคหลัง พอนาม Nomen เริ่มเจาะจงและคงที่ ทุกคนส่วนใหญ่ต่างก็ใช้นาม Nomen เดิมตั้งแต่เกิดจนตาย
 

ขณะเดียวกัน Nomen อื่นๆ ที่มาจากชื่อในกลุ่มนามควบหรือ Cognomina ในยุคต่อมา ก็ปรากฏอยู่ เช่น พลันชิอัส (Plancius) จาก แพลนคัส (Plancus) หรือ ฟลาวิอัส (Flavius) จากฟลาวัส (Flavus) หรือจากชื่อสถานที่ เช่น นอร์บานัส (Norbanus) จากนอร์บา (Norba)
 

ระบบตั้งชื่อสามนาม ที่มีปฐมนาม Praenomen และนาม Nomen เริ่มแพร่ขยายไปทั่วอิตาลี โดยมีชื่อ Nomina จากภาษาต่างๆ และภูมิภาคต่างๆ ที่มีลักษณะต่างออกไป
 

ชื่อละตินมักจะลงท้ายด้วย -ius, -us, -aius, -eius, -eus หรือ -aeus ขณะที่ชื่อออสกัน (Oscan) มักจะลงท้ายด้วย -is หรือ -iis ชื่อพวกอัมเบรียน (Umbrian) มักจะตามด้วย -as, -anas, -enas หรือ -inas และชื่ออีทรัสกันมาจะตามด้วย -arna, -erna, -ena, -enna, -ina หรือ -inna โดยรูปแบบออสกันกับอัมเบรียนจะปรากฏอยู่ในจารึก ส่วนในวรรณกรรมโรมัน ชื่อส่วนใหญ่ก็จะถูกแปลงเป็นละตินหมด
 

แต่ละคนมันจะมีการเพิ่มนามสกุลย่อยหรือ นามควบ Cognomen เพื่อที่จะแยกย่อยสมาชิกของตระกูลใหญ่ๆ ซึ่งแต่เดิม Cognomen เป็นแค่ชื่อคนที่เป็นฉายามากกว่า มักจะมาจากลักษณะทางกายภาพ อุปนิสัย อาชีพ ภูมิลำเนา หรือแม้กระทั่งวัตถุที่คนนั้นเกี่ยวข้อง
 

Cognomina บางนามก็มาจากการอุปถัมป์คนคนนั้นเข้าสู่อีกตระกูล หรือไม่ก็มาจากชื่อต่างชาติ เช่นกรณีของคนที่ถูกปลดแอกจากสถานะทาส ก็จะได้ชื่อปฐมนาม Praenomen และนาม Nomen ตามแบบโรมัน
 

Cognomina อื่นๆ ก็มาจากการตั้งขึ้นเพื่อสดุดีคุณงามความดีหรือเหตุการณ์ยิ่งใหญ่บางอย่างของบุคคลนั้น เช่นศึกที่รบชนะ กรณีของออลัส พอสตูมิอัส อัลบัส เรกิลเลนซิส (Aulus Postumius Albus Regillensis) นามควบ เรกิลเลนซิส (Regillensis) มาจากชัยชนะเหนือพวกละตินในศึกทะเลสาปเรกิลลัส (Lake Regillus) ชื่อของเมืองที่ตีแตก เช่นกรณีของ ไกอัส มาร์ซิอัส คอริโอลานัส (Gaius Marcius Coriolanus) นามควบ คอริโอลานัส (Coriolanus) ก็มาจากชื่อเมืองคอริโอลี (Corioli) ที่เขาตีแตก หรือบางที Cognomina ก็มาจากเหตุอัศจรรย์ที่คนคนนั้นพบ เช่นกรณีของ มาร์คัส วาเลรีอัส คอร์วัส (Marcus Valerius Corvus) ซึ่งคอร์วัส (Corvus) ในภาษาละตินนั้นแปลว่า นกกา (Raven) มาจากศึกที่รบชนะพวกกอล (Gaul) ชนิดที่ว่าศพนอนเกลื่อนจนมีนกกาบินมาจิก
 

Cognomen แต่เดิมเป็นเหมือนชื่อบุคคลในฐานะฉายา แต่ต่อมา ชื่อเหล่านี้ก็กลายเป็นชื่อที่สืบทอดในสายตระกูล โดยเฉพาะตระกูลใหญ่หรือ gentes ซึ่ง Cognomen กลายเป็นชื่อในการระบุสายตระกูลย่อยลงมาหรือ stirpes โดยชาวโรมันบางคนอาจจะมี Cognomen มากกว่าชื่อเดียวด้วยกัน (ชื่อตามหลังอีกจะเรียกว่า Agnomen) และในตระกูลขุนนาง บางคนถ้าจะมี Cognomen สามชื่อ ก็ไม่ถือว่าแปลก เพราะว่าชื่อหนึ่ง อาจเป็นนามสกุลย่อยที่สืบทอดมา อีกชื่ออาจจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้น ซึ่งระบบนี้ แต่เดิมจะอยู่ในกลุ่มขุนนาง Patrician แต่ต่อมา Cognomen ก็จะถูกรับไปใช้โดยพวกไพร่ Plebeian แต่ทว่า ตระกูลใหญ่ของพวก Plebeian บางตระกูล เช่นพวก Antonii หรือ Marii ก็ไม่ได้แยกย่อยมากนัก จึงอาจไม่ต้องใช้ Cognomen
 

Cognomina ในช่วงต้นสาธารณะนั้นปรากฏอยู่แล้ว ถูกมองว่าเป็นชื่อไม่เป็นทางการมากกว่า และมักจะถูกมองข้ามในบันทึกราชการก่อนศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตศักราช มีบางส่วนถูกจารึกไว้ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงถึงความถูกต้องแม่นยำ แต่ทว่าในสมัยจักรวรรดิ Cognomen ก็กลายเป็นชื่อสำคัญและจำนวนชื่อที่ใช้ก็เพิ่มมากขึ้น
 

ความซับซ้อนของระบบการตั้งชื่อขุนนางมีมากขึ้น เมื่อต้องมาผสมกับชื่อเต็มของบรรพบุรุษฝ่ายบิดาและมารดา ทำให้คนหนึ่งอาจมีชื่อเต็มมากมายสองสามชื่อ และชื่อที่ซ้ำหรือไม่เหมาะกับทางการเมืองก็อาจมีการลบออกไปบางชื่อ บางครั้งก็มีการจัดลำดับชื่อเพื่อให้ลำดับวีรกรรมความสำเร็จ

หลังจากที่มีการประกาศใช้ Constitutio Antoniniana ใน ค.ศ. 212 ทำให้คนที่มีอิสรภาพภายในจักรวรรดิได้รับสถานะพลเมืองโรมันทั้งหมด ปฐมนาม Praenomen และ นาม Nomen ก็เริ่มหมดความเฉพาะเจาะจง เนื่องจากพลเมืองที่เพิ่งได้รับสิทธิ์ ต่างก็ตั้งชื่อเหมือนๆ กันหมดว่า มาร์คัส ออเรลิอัส (Marcus Aurelius) ทำให้ Praenomen และบางครั้ง Nomen เริ่มเลือนหายไป และในจารึกสมัยหลัง ก็ไม่ได้ระบุชื่อคนแบบเต็มๆ
 

ในช่วงปลายจักรวรรดิ ระบบการตั้งชื่อเดิม บางครั้งก็ถูกเปลี่ยนเป็นระบบการตั้งชื่อแบบใหม่ เรียกว่า Signa แต่พอจักรวรรดิล่ม ระบบการตั้งชื่อซับซ้อนก็ล่มไปด้วย ทำให้คนในอิตาลีและยุโรปตะวันตกกลับไปใช้ชื่อเดียวแบบโบราณ และระบบการตั้งชื่อสมัยใหม่ของยุโรปก็พัฒนาขึ้นเป็นเอกเทศจากโรมัน ระหว่างช่วยยุคกลางและเรอเนสซองส์ แต่ทว่า ชื่อสมัยใหม่หลายชื่อ ก็มาจากชื่อโรมัน
 

[ตัวอย่างการตั้งชื่อ Tria Nomina]

ไกอุส จูลีอัส ไคซาร์ - Gaius Julius Caesar

Praenomen - ไกอุส
Nomen - ตระกูลจูเลีย (gens Julia, เอกพจน์ Julius, พหูพจน์ Julii)
Cognomen - ตระกูลย่อยไคซาร์ (Caesar แต่เดิม น่าจะแปลว่า ขนดก เพราะ caesaries ในภาษาละตินแปลว่าผมหรือขน)

พุบบลิอัส คอร์เนลิอัส สคิปิโอ แอฟริกานัส - Publius Cornelius Scipio Africanus

Praenomen - พุบบลิอัส
Nomen - ตระกูลคอร์นีเลีย (gens Cornelia, เอกพจน์ Cornelius, พหูพจน์ Cornelii)
Cognomen - ตระกูลย่อยสคิปิโอ (Scipio)
Agnomen - แอฟฟริกานัส (Africanus, นามที่สภาซีเนทมอบให้ เนื่องด้วยวีรกรรมการเอาชนะฮันนิบาล แม่ทัพคาร์เธจที่ซาม่า แอฟริกาเหนือ แถวๆ ตูนิเซียในปัจจุบัน)

มาร์คัส จูนิอัส บรูตัส - Marcus Junius Brutus

Praenomen - มาร์คัส
Nomen - ตระกูลจูเนีย (gens Junia, เอกพจน์ Junius, พหูพจน์ Junii)
Cognomen - ตระกูลย่อยบรูเต (Brute, เอกพจน์ Brutus, พหูพจน์ Brutii)

https://en.wikipedia.org/wiki/Roman_naming_conventions



ปล. อ่านกระทู้เสร็จแล้ว กระผมขอโฆษณานิยายของข้าพเจ้าด้วยนะครับ

สายนทีแห่งโชคชะตา
หากชีวิตคือการเดินทาง สงครามก็คือการเดินทางครั้งหนึ่ง การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่
การเดินทางในสายนทีอันกว้างใหญ่ เมื่อออกไปแล้ว จะไม่มีวันหวนคืนกลับมา

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น