Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[รีวิวสอบสัมภาษณ์] รับตรงคณะศิลปศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหิดล

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
รีวิวสอบสัมภาษณ์ ‘รับตรง คณะศิลปะศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหิดล’
*** กระทู้นี้เขียนขึ้นในปี 2560 จขกท.เป็น #dek60 นะคะ
ข้อมูลรับตรงของปีต่อๆ ไปอาจมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยค่ะ ***

 
สวัสดีค่ะทุกคน หลังจากที่มหิดลประกาศรับตรงไปเมื่อวันที่ 17 มีนา 2560 ที่ผ่านมา เราก็บอกกับตัวเองไว้ว่าถ้าผ่านสัมภาษณ์ เราจะเขียนรีวิวการสัมภาษณ์ให้เป็นแนวทางกับรุ่นน้องต่อๆ ไป เพราะก่อนที่เราจะไปสัมภาษณ์นั้น เราพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบสัมภาษณ์ที่นั่นรวมถึงข้อมูลติดต่อรุ่นพี่ที่คณะ แต่ก็หายากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมาเขียนรีวิว การสอบสัมภาษณ์ รวมถึงคำถามที่เราและเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เจอค่ะ (**การสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดค่ะ**)
 แต่ก่อนจะไปด่านสัมภาษณ์ แน่นอนว่าทุกคนก็ต้องผ่านรอบข้อเขียนมาก่อน ซึ่งรอบข้อเขียนที่ว่านั้นใช้คะแนน

1. GAT
2. 9 วิชาสามัญ (ไทย สังคม อังกฤษ)
3. เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 โดยเรียงตามลำดับคะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 และผู้สมัครต้องได้คะแนนภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 

ส่วนผู้มีสิทธ์พิจารณาให้ผ่านรอบสัมภาษณ์ได้นั้น นอกจากคะแนนผ่านเกณฑ์ตามที่มหาลัยได้กำหมดไว้แล้ว ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติเฉพาะเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ

1. เกรดเฉลี่ยไทย สังคม ไม่ต่ำกว่า 3.00
2. เป็นนักเรียน ม.6 ในปีการศึกษานั้นๆ
3. มีคะแนนเฉลี่ยสะสมวิชาภาษาอังกฤษ ตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
  • อ้างอิงจากเว็บไซต์ https://www.mahidol.ac.th/

พูดง่ายๆ ก็คือ

1. หากเกรดไม่ถึง 3.50 แต่อยู่ในช่วง 3.00-3.49 ให้แสดงรางวัลความสมารถทางภาษาอังกฤษ 2 รางวัล
2. ถ้าเกรดถึง 3.50 แสดงรางวัลความสมารถทางภาษาอังกฤษ 1 รางวัล
3. หรือต้องเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางราชการ

แล้วถ้าไม่มีรางวัลล่ะ?
จากการหาข้อมูลของเราตามเว็บบอร์ดต่างๆ ที่พอจะหาได้ และสอบถามเพื่อนๆ ที่มาในวันสัมภาษณ์ เราได้คำตอบมาว่าเค้าใช้รางวัลที่เป็นการเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่พอจะหาได้ค่ะ แนะนำว่าให้ลองส่งไปเลย หรือโทรไปถามทางมหาวิทยาลัยเลยค่ะ ส่วนพอส่งเอกสารเพื่อยืนยันการสอบสัมภาษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็เป็นขึ้นตอนการเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ค่ะ
 
 
 
วิธีที่เราเตรียมตัวไปสัมภาษณ์มีดังนี้ค่ะ

1.เตรียม Portfolio ***
เราว่าสำคัญมากค่ะ ถึงคณะจะไม่ได้ require ว่าต้องเตรียมมา แต่เตรียมไปจะได้เปรียบค่ะ เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ก็เตรียมไป มีทั้งพอร์ทไทย พอร์ทอังกฤษ เราทำพอร์ทภาษาอังกฤษค่ะ

2. เตรียมบทพูดเกี่ยวกับกิจกรรมใน Portfolio
แน่นอนว่าถ้ายื่นพอร์ทให้อาจารย์ไปแล้ว เค้าต้องถามเกี่ยวกับพอร์ทเราแน่ๆ ค่ะ วิธีเตรียมตัวก็คือไล่ดูกิจกรรมที่เราใส่เข้าไปในพอร์ท แล้วอาจจะเขียน short note เป็นภาษาอังกฤษว่ากิจกรรมนี้เราทำอะไรไปบ้าง สั้นๆ คร่าวๆ ค่ะไม่ต้องถึงกับเขียนเรียงความ (แต่ตอนเราเตรียมตัวนี่เตรียมไป 4 หน้ากระดาษค่ะ เพราะไปแลกเปลี่ยนมาเลยมีเรื่องให้พูดเยอะ ปรากฏว่าเค้าถามนิดเดียว แถมตอนไปสอบลืมบทที่จะพูดค่ะ 55555555 ***ข้อแนะนำที่สำคัญคือ เป็นตัวของตัวเองค่ะ ไม่ใช่ท่องจำตาม script อาจารย์เค้ามองออกค่ะ เขียนแล้วจำตาม script ได้แต่ต้องสั้น กระชับ และตรงประเด็นค่ะ ไม่ใช่เวิ่นเว้อ***)

3.คาดคะเนคำถามอาจารย์ล่วงหน้า + ฝึกตอบให้ต่าง
แน่นอนค่ะว่าคำถามประเภทให้แนะนำตัว มีพี่น้องกี่คน ที่บ้านทำอะไร คำถามที่เกี่ยวกับตัวเราแบบนี้ต้องมาค่ะ เพราะฉะนั้นฝึกพูดฝึกตอบกันเอาไว้เลย และแน่นอนว่า ต้องไม่เวิ่นเว้อค่ะ ไม่ต้องบอกชื่อพี่น้อง ชื่อพ่อแม่ อายุพี่น้องหรืออายุพ่อแม่ถ้าเค้าไม่ได้ถาม ลองคิดดูนะคะว่าในแต่ละปีมีผู้มีสิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์ประมาณ 300 กว่าคน มาสอบสัมภาษณ์ซะ 200 กว่าคน ในกำหนดการรับ 15 คน รับกันจริงๆ 30 คน ในห้องสำภาษณ์มีอาจารย์โต๊ะละ 2-3 ท่าน มีประมาณ 7-10 โต๊ะ รวมกรรมการประมาณ 14-20 คน หรือน้อยกว่านั้น แสดงว่าในแต่ละโต๊ะจะต้องสัมภาษณ์นักเรียนไม่ต่ำกว่า 25 คน แน่นอนว่าการสอบสัมภาษณ์แบบคัดออกแบบนี้ เราต้องคิดว่าจะตอบคำถามยังไงให้อาจารย์จำเราได้ ถ้าเราแนะนำตัวเองว่า “Hello, my name is ……. You can call me …….. I’m 18 years old. I’ve 2 brothers, my older brother’s name is ….. My hobbies are………. I want to be in this university because……………….” กับ “Hi! It’s nice to be here. I’m trying not to be too nervous despite I really am. Anyway, my name is ……. I’m 18 years old.  I’ve 2 brothers and they’re both younger than me. Currently, I’m studying at………….. I’ve passion about writing.  I’ve written a lot. Most of them are …… type. That’s why I want to be accepted into this faculty, so that I could be……………………..   ” ตัวอย่างทั้งสองข้างต้น เราคิดว่าถ้าเราเป็นอาจารย์เราจะจำคนไหนได้มากกว่ากัน? และถ้าให้เลือกระหว่างนักเรียนทั้งสองคน คนไหนที่คิดว่าอาจารย์จะเลือก? แน่นอนว่าตัวอย่างแบบแรกนั้นร้อยทั้งร้อยต้องมีคนใช้ pattern แรกแน่นอน  เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความตากแต่งค่ะ
**อย่าลืมนะคะ จำ script ให้น้อยที่สุด เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุดจะดีค่ะ เพราะเข้าไปจริงๆ ตาต่อตา จำอะไรได้ไม่มากนักหรอกค่ะ 5555 และอย่าลืมพูดด้วยท่าทีสุภาพ ยิ้มแย้มเยอะๆ นะคะ**
 
4.*** หาข้อมูลหลักสูตรที่จะเรียน ***
หาไว้เลยค่ะว่าวิชาไหนในหลักสูตรนี้เราสนใจมากที่สุด เลือกมาสัก 2-3 วิชาเพื่อแสดงว่าเราสนใจที่จะเข้าคณะนี้จริงๆ อาจารย์จะได้ปลื้มค่ะ
 
 
ทีนี้เราจะเล่าเกี่ยวกับในวันสอบสัมภาษณ์นะคะ


ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด  รร.เราผ่านสอบข้อเขียนแค่ 2 คน เพื่อนอีกคนของเรานางไม่ไป เราเลยลุยเดี่ยวไปสัมภาษณ์คนเดียวเลยค่ะ กำหนดการเริ่มสอบตอน 13.00 เราได้สอบจริงๆ ตอน 15.40 ระหว่างนั้นเค้าจะแบ่งให้เข้าไปนั่งในห้องประชุมเป็นแถวๆ แล้วจะมีพี่ๆ ทั้งภาคไทย และอังกฤษมาสันทนาการค่ะ พอถึงคิวเราเข้าไปในห้องสอบสัมภาษณ์ ในห้องสัมภาษณ์นั้นก็จะเป็นห้องประชุมขนาดให้ มีอาจารย์ประจำอยู่เป็นโต๊ะๆ เฉลี่ยโต๊ะละ 2 ท่านค่ะ มีทั้งอาจารย์ไทยและฝรั่ง เราได้อาจารย์ผู้หญิง 2 คนเป็นคนไทยเริ่มแรกก็ให้เราแนะนำตัวและเค้าก็เอา portfolio เราไปดู จากนั้นก็ถามเกี่ยวกับกิจกรรมในพอร์ท (เราไปแลกเปลี่ยนมา เลยเล่าเกี่ยวกับชีวิตที่นั่นเล็กน้อย) ที่เราสังเกตเห็นคืออาจารย์ทั้งสองท่านจะมีใบกระดาษคำถามอยู่กับตัวค่ะ ในใบนั้นเห็นลางๆ ก็เป็นคำถามต่างๆ แล้วแต่อาจารย์จะเลือกถาม ที่เราเจอก็จะมี

(*ทั้งหมดนี้ถาม-ตอบเป็นภาษาอังกฤษ*)

Q: ไปแลกเปลี่ยนมาเป็นยังไง ดีไหม?

Q: ที่บอกว่ามีปัญหาตอนไปแรกๆ แก้ไขยังไง?


Q: มีวิชาที่สนใจอยากจะเรียนในคณะนี้ไหม
อันนี้เราตอบไปว่าอยากเรียน College Writing ค่ะ และพอดีอาจารย์ที่สัมภาษณ์เราเค้าสอนวิชานั้นอยู่พอดี อาจารย์เค้าก็หัวเราะ แล้วถามว่าทำไม เราก็บอกว่าแกรมม่าเราไม่ได้เลย แถมยังชอบสะกดคำผิดๆ ถูกๆ และอยากเขียนหนังสือ หรือนิยายเป็นภาษาอังกฤษให้ได้

Q: จบไปอยากจะทำงานอะไร?
ข้อนี้เราตอบไปเลยว่าตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะได้เจอ คนที่จะได้เจอ โอกาสที่จะได้รับในตลอด 4 ปีที่เรียนมา แล้วศิลปะศาสตร์เองก็ไม่ใช่วิชาชีพ แต่เป็นวิชาทักษะ เพราะฉะนั้นมันสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง

Q: ได้ดูข่าวบ้างไหม?
เราตอบตรงๆ ไปเลยว่าไม่ค่อยได้ดู แต่ทุกวันนี้เราได้รับข่าวสารต่างๆ จาก twitter ซึ่งเป็นแอพที่เราใช้อยู่เป็นประจำ แล้วแอพนี้ก็เป็นแอพที่บรีฟข่าวอยู่แล้ว

Q: ลองบอกข่าวนอกประเทศที่รู้มาให้ฟังหน่อยสิ
อันนั้นเราอยากจะกราบตัวเองมากๆ ที่เมื่อเช้าเล่นทวิตฯ อยู่แล้วบังเอิญไปเจอข่าวที่ Prime minister ของแคนนาดาเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัย (refugee) เราเลยบอกไป แต่คำถามต่อมาทำให้เราใบ้ไปแป๊ปนึง

Q: แล้วที่เขาทำแบบนี้ดีหรือไม่ดี ส่งผลต่อประเทศยังไง?
เราเงียบไปนิด จากนั้นเราก็ใช้ skill การแถแบบฉับพลัน อะไรที่อยู่ในหัวตอนนั้นนี่พูดออกไปหมดเลย เราตอบไปประมาณว่า มันขึ้นอยู่กับมุมมอง (ตอนนั้นคิดศัพท์ไม่ออก เอ๋ อะไร per per น้า อาจารย์เลยช่วยพูดว่า perspective 555555) ของแต่ละคน ตัวอย่างเช่น การที่ Donald Trump ห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยเข้าประเทศตัวเอง มองอีกแง่ก็เหมือนทรัมป์เป็นพ่อที่ overprotective ต่อลูกๆ หรือก็คือประชาชนชาวอเมริกัน แน่นอนว่าแบบนั้นมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ ถ้าสมมติว่าคุณเป็นบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศสองประเทศนี้ ถ้าให้คุณเลือกคุณจะเข้าไปลงทุนในประเทศไหน ระหว่างประเทศที่ประกาศว่าจะยกเลิกวีซ่าคนบางสัญชาติ กับประเทศที่เปิดรับแม้กระทั่งผู้ลี้ภัย เราตอบไปแบบนี้ค่ะ ไม่รู้อะไรเข้าสิงตอนนี้คือรัวใส่ไปเลย แกรมมงแกรมม่านี่ไม่สนใจแล้ว 5555555
 
จากนั้นอาจารย์ทั้งก็บอกว่าหมดคำถามแล้ว ขอให้โชคดี แล้วก็เชิญเราให้ลุกออกไปได้ เราก็ลุกแบบสติหลุดลอย เดินไปเกือบกลางห้องก็หันมาบอกอาจารย์ทั้งสองว่า Have a nice day อาจารย์แกก็ตอบกับมาพร้อมกันว่า You too. น่ารักมากๆ
 


สิ่งที่เราได้เรียนรู้รวมถึงเคล็ด(ไม่)ลับจากการสอบสำภาษณ์ในครั้งนี้ก็คือ

1. ตอบตรงๆ เป็นตัวของตัวเอง และถ้าจะให้ดีต้องมีเหตุผลสนับสนุนคำตอบของเรา เสมอ เช่น 
- No. I don’t usually watch news, but …………………
- No. I think I can’t answer that question right now, ‘casue………..
- I’ve always wanted to be an author, therefor…………………

2. อย่าไปสนใจแกรมม่า พูดไปเลยค่ะ ผิดถูกช่างมัน ถ้าไม่ถึงขั้น he have, I has ก็ไม่น่าเป็นห่วงค่ะ

3. สร้างความแตกต่าง ถ้าคิดว่าคนอื่นจะตอบแบบนี้ เราต้องตอบอีกแบบค่ะ ไม่งั้นเราจะเป็น ‘เหมือนคนอื่น’ และเราจะไม่ติด ‘เหมือนคนอื่น’ ค่ะ ต้องกล้าที่จะแตกต่าง

4. ถามอาจารย์กลับค่ะ ถามไปเลยค่ะ อาจารย์ไม่กัด ยิ่งเราถามอาจารย์ยิ่งจำเราได้ อาจจะถามว่าอาจารย์ที่สัมภาษณ์เราสอนวิชาอะไรอยู่ แล้วเราก็แบบว่า ‘ว้าว หนูนี่ looking forward ที่จะเรียนกับอาจารย์เลยค่ะ’ 55555

5. นักเรียนแลกเปลี่ยน? โรงเรียนสองภาษา? อย่าไปกลัวค่ะ!! ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝน  ถ้ารักภาษาอังกฤษจริงและอยากอยู่คณะนี้จริงๆ เราต้องทุ่มเทสุดตัวค่ะ ไม่กล้าพูดสำเนียงฝรั่งก็ไม่มีวันพูดสำเนียงฝรั่งได้ ไม่กล้าพูดประโยคยาวๆ ก็ไม่มีวันที่จะพูดประโยคยาวๆ ได้ ไม่กล้าที่จะอ่านนิยายเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่มีวันที่จะอ่านได้ ทุกอย่างไม่มีคำว่า One night miracle ค่ะ อยู่ที่การฝึกฝนล้วนๆ เราเองที่เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนก็ต้องยอมรับว่าได้เปรียบคนอื่นอยู่บ้าง แต่อย่าลืมนะคะ ถ้าคุณสามารถผ่านมารอบสัมภาษณ์ได้ แสดงว่าคุณมีคุณสมบัติที่จะอยู่ที่คณะนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าแค่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนก็สามารถเข้าได้เลย อาจารย์เค้าจะดูค่ะว่าคุณมีความมุ่งมั่น และสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้มากน้อยแค่ไหน และขอย้ำอีกครั้งนะคะ

 ****ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอค่ะ*****  

สุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ก็คือ ถ้าปีหน้า (61’) ยังเหมือนกับปี 60’ อยู่ ก็แสดงว่ามีสองรอบ ถ้าอกหักรอบรับตรงก็ยังมีรอบแอดนะคะ เกณฑ์ GPA 20% O-net 30% GAT 50% ค่ะ ต้องทำแกทไว้เยอะๆ


 
***ขอบคุณทุกๆ คนที่อ่านมาจนถึงตอนนี้นะคะ ขอให้ขอมูลที่เรามีเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนนะคะ โชคดีค่า***
 



 

แสดงความคิดเห็น

>

6 ความคิดเห็น

vaew moo 30 ก.ค. 60 เวลา 16:11 น. 2

สุดยอดกระทู้ ขอบคุณจขกท.ที่มาเล่าประสบการณ์นะคะ ช่วยบอกอีกนอดได้มั้ยว่า จขกท.เตรียมคำถาม-คำตอบแนวไหนไว้บ้าง เอาแบบภาษาอังกฤษเลยค้า และอีกอย่าง #Dek61 ปีนี้รับรอบโควต้ากับแอดมินชั่น ตายๆๆ อยากจะร้องไห้

0
มากมาย 11 ก.พ. 61 เวลา 19:40 น. 3

หนูเป็นเด็ก61นะคะจะถามว่าแล้วถ้าเกรดรวมหนูไม่ถึง3.00 ก็คือหมดสิทธิ์แล้วใช่ไหมคะ รอบรับตรง

0
cuutiee10 20 ก.พ. 61 เวลา 09:30 น. 4

พี่ค่ะ หนูอยากรู้ว่าถ้าเกรดภาษาไทยภาคเรียนะครั้งหนึ่งตอนม.5 ได้แค่ 2.5 แต่ภาคอื่นๆได้ 3 ขึ้นไป จะมีผลต่อการไปสมัครไหมค่ะ (ขอบคุณมากๆสำหรับกระทู้นี้นะคะ)

0

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น