Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รู้ยัง การแสดงมหรสพสมโภช งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดข้ามคืนถึงเช้า มีอะไรบ้าง?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
     วันที่ 26 ตุลาคม 2560 จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญ อย่างงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีตค่ะ
 

 
ประวัติการแสดงมหรสพสมโภช
     งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นงานใหญ่ จะมีการจัดมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิซึ่งเป็นแบบแผนประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้ประชาชนได้ชมและถือว่าเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน และยังเป็นเหมือนการแสดงพระกฤดาธิการ (บารมีอันยิ่งใหญ่) ของพระมหากษัตริย์อีกด้วย
     สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการจัดมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ ตามประเพณีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ในงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก แต่เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)  ได้มีประกาศงดการแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ
     ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรี หรือการประโคมย่ำยามและการมหรสพ เพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเหงา และเป็นการรักษาโบราณราชประเพณีไว้ด้วย
 
การแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
 
     การแสดงจะมีขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยขณะที่มีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ ทุกเวทีจะหยุดทำการแสดง
 

การแสดงมหรสพสมโภช ประกอบด้วย
1. การแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) ที่เรียกกันว่า โขนหน้าไฟ
     จัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ-รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้แสดงคือ นาฏศิลปิน สำนักการสังคีตนักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้แสดง ผู้พากย์-เจรจา ผู้บรรเลง ขับร้องและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 คน
 
2. การแสดงมหรสพ ณ เวทีกลางแจ้งบริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ
เวทีที่ 1
     เวทีการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระและโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยนาฏศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมด้วยครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวน 1,020 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 1,120 คน นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ประมาณ 200 – 300 คน
 
     การแสดงมี  3 ส่วน ได้แก่
     -  การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ผู้แสดงเป็นครูอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับครูอาวุโสสถาบัน บัณฑิตพัฒนศิลป์
     -  การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร เป็นการแสดงของกรมศิลปากร
     - การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดรามาวตารทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทาน (มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ)
 

เวทีที่ 2
     เวทีการแสดงละครหุ่นหลวงและหุ่นกระบอก ประกอบด้วย ละครเรื่องพระมหาชนก การแสดงหุ่นหลวงตอนหนุมานเข้าห้องนางวานริน การแสดงหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาคร จนถึงพระฤาษีช่วยสุดสาคร รำกิ่งไม้เงินทอง ละครในเรื่องอิเหนาตอนบุษบาชมศาล-อิเหนาตัดดอกไม้-ฉายกริช-ท้าวดาหาบวงสรวง และละครเรื่องมโนห์รา ผู้แสดงบรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 422 คน
 
เวทีที่ 3
     เวทีการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัยและบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ 7 องก์ ได้แก่
     องก์ที่ 1 ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า
     องก์ที่ 2 ใต้ฟ้าร่มเย็น เพราะพระบารมี
     องก์ที่ 3 ทวยราษฎร์น้อมสดุดี
     องก์ที่ 4 ถวายภักดีองค์ราชัน
     องก์ที่ 5 สถิตนิรันดร์ในใจราษฎร์
     องก์ที่ 6 ปวงข้าบาทบังคมถวาย
     องก์ที่ 7 สู่สวรรคาลัยในทิพย์วิมาน
 
     และการแสดงบัลเล่ต์ เรื่องมโนห์รา ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Royal Bangkok Symphony Orchestra ซึ่งใช้ผู้บรรเลง ขับร้อง ผู้แสดง และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 942 คน
 
ย้ำอีกครั้ง การแสดงมหรสพสมโภช จะมีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เวลา 18.00 น. จนถึงเวลา 6.00 น. ของวันถัดไปนะคะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก 
คู่มือสื่อมวลชนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช

แสดงความคิดเห็น

>