Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ชีวประวัติของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ + บทวิเคราะห์

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
“มารี อองตัวเน็ตต์” ราชินียอดแย่? หรือแค่แพะรับบาปของกระแสความเกลียดชัง!?
ขอกราบสวัสดีพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเด็กดีทุกท่าน วันนี้กระผมมีเรื่องราวของสตรีคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากความรู้เท่าที่ทุกท่านได้ยินเพียงผ่าน ๆ นั่นก็คือ “พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ราชินีคนสุดท้ายแห่งฝรั่งเศส”ในสายตาของหลายคนอาจจะคิดว่าพระนางเป็นราชินีนิสัยไม่ดี ผู้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายไม่เห็นแก่ประชาชนที่ยากจน ถึงขนาดเมื่อไม่มีขนมปังก็ไล่ให้พวกเขาไปกินเค้กแทน และยังมีข่าวอื้อฉาวอีกมากมาย บ้างก็ว่าพระนางเป็นเพียงหญิงโง่ที่ทำตัวไม่ถูกทั้งที่มีตำแหน่งหน้าที่อันยิ่งใหญ่ จะถูกประหารอย่างน่าสมเพชเช่นนั้นก็สมควรแล้ว แต่ก็มีอีกกระแสหนึ่งแย้งว่าพระนางเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองไม่รู้จะทำเช่นไร พระนางไม่สมควรจะพบจุดจบเช่นนั้นแต่แรกแล้ว
 
ว่าแต่ความจริงเป็นเช่นนั้นจริงหรือ พระนางเป็นผู้หญิงไม่ดีจริง ๆ หรือ? หรือทั้งหมดเป็นแค่การใส่ร้ายป้ายสีกระทำย่ำยีที่สะท้อนอะไรบางอย่างของสังคมโลกมนุษย์กันแน่
 
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับตัวพระนางกันก่อน

เนื่องจากประวัติของพระนางนั้นยาวมากและบางเวอร์ชั่นอาจจะเล่าแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ก็พอจะสรุปได้ดังนี้
- พระนางประสูติวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 ในฐานะธิดาของจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งทัสกานี (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระราชินีนาถแห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก) ง่าย ๆ คือพระนางเกิดในฐานะคนออสเตรีย มิใช่คนฝรั่งเศสอย่างที่บางคนเข้าใจ

- พระนามประสูติของพระนางคือ Maria Antonia Josepha Johanna
(ชื่อ Marie Antoinette คือชื่อในภาษาฝรั่งเศส)
 
- พอพระนางมีพระชนมายุได้ 14 ชันษา พระนางได้ถูกสู่ขอให้ไปอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส (พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในเวลาต่อมา)
ทว่าฝ่ายฝรั่งเศสที่เคร่งศาสนาและคัดค้านการอภิเษกสมรสครั้งนี้ได้ริเริ่มคำเรียกพระนางว่า “ผู้หญิงออสเตรีย” ในฐานะคำสบประสาท (เนื่องจากแต่เดิมฝรั่งเศสและออสเตรียเป็นปฏิปักษ์กัน การแต่งงานนี้จึงมีขึ้นหมายจะสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ)
 
-ทางฝรั่งเศส จัดขบวนต้อนรับเจ้าสาวโดยมี “คาร์ดินัล เดอ โรออง” (Louis René Édouard de Rohan known as Cardinal de Rohan)เป็นหัวหน้าคณะ ขณะกล่าวต้อนรับ โรอังได้ใช้ภาษาเยอรมัน (ภาษทางการของออสเตรีย) แต่เจ้าหญิงทรงตรัสตอบว่า
ใช้ภาษาฝรั่งเศสกับเราก็ได้ เพราะเราพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดีเท่าพวกท่าน
นั่นเป็นเสน่ห์แรกที่ทำให้ประชาชนฝรั่งเศสประทับใจในตัวเจ้าหญิง
 
- เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) มารี อองตัวเน็ตต์ ได้ประกาศสละสิทธิ์ในการเป็นอาร์ชดัชเชสของราชสำนักออสเตรียอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ที่พระราชวังแวร์ซาย
 
- หลังจากนั้นชีวิตของพระนางมิได้ราบรื่นเท่าที่ควร มีการปรับตัวหลายอย่างเนื่องจากความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมออสเตรียกับฝรั่งเศส พระนางต้องเผชิญปัญหาดราม่ามากมายนับต่อจากนี้ พระนางต้องทนทุกข์กับการปรับตัวเข้ากับพระราชพิธี และขนบประเพณีแบบฝรั่งเศส ทำให้พระนางทรงเกลียดการใช้ชีวิตกับผู้คนรอบข้าง ไหนจะพระสวามีอย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ถูกสอนให้รังเกียจออสเตรียเช่นกันก็ไม่แคล้วตีตนออกห่างจากพระนาง โดยการหนีไปออกป่าล่าสัตว์แต่เช้าตรู่ (ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาอย่างแท้จริง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2316)
 
นอกจากนี้ยังต้องเผชิญปัญหามากมายที่หญิงชนชั้นสูงคนนึงจะได้ประสบพบเจอ ไม่ว่าจะเรื่องข่าวลืออื้อฉาว การแบ่งพรรคแบ่งพวกและดึงตัวเข้ากลุ่ม
 
- หนึ่งในเรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ มาดามดู บาร์รี (Jeanne Bécu, comtesse du Barry) พระสนมเอกคนสุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่ว่ากันว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ว่ากันว่าต้นเหตุความบาดหมางมาจากการยุแยงตะแคงรั่วโดยพระขนิษฐาทั้งสามของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่ไม่ชอบหน้ามาดามดู บาร์รีเนื่องจากเป็นโสเภณีมาก่อน จึงยุยงให้พระนางมารี อองตัวเน็ตต์เกลียดพระสนมพระองค์นี้ไปด้วย จนถึงขั้นพระนางมาเรีย เทเรซ่า แห่งออสเตรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ต้องส่งสาล์นมาตำหนิให้พระธิดาทำดีกับมาดามดู บาร์รีบ้าง
 
- อย่างไรก็ตาม แม้พระนางจะได้ชื่อว่ารักสนุก รักอิสระ และวัน ๆ อยู่แต่กับเรื่องไร้สาระอย่างการเที่ยวใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ชอบเล่นการพนันขันต่อ แต่งตัวแฟชั่นใหม่ ๆ และจัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะพระนางต้องการระบายความเครียดจากเรื่องราวต่าง ๆ ในพระราชวัง ไม่ว่าจะเรื่องการที่พระสวามีไม่ค่อยสนใจตนเองเท่าที่ควร เรื่องอื้อฉาวในราชสำนัก และข่าวลือไม่มีมูลต่าง ๆ มากมาย หลายครั้งพระนางทรงเบื่อหน่ายจนถึงขั้นอยากเป็นสามัญชนมากกว่าชนชั้นสูงเสียอีก

ในภาพนี้ พระนางทรงแต่งกายแบบสามัญชนที่ยากจน จะเห็นได้ว่าพระนางทรงเทิดทูนดอกกุหลาบมากกว่าเครื่องเพชร พระรูปนี้พระนางมิได้ใส่ฉลองพระศอเลยแม้แต่เส้นเดียว ทรงฉลองเพียงพระมาลา(หมวก)เท่านั้น แต่ก็มิได้เป็นพระมาลาที่หรูหราเท่าใดเลยสำหรับตำแหน่งพระราชินี
อ้างอิงการตีความจาก https://board.postjung.com/677764.html และ https://en.wikipedia.org/wiki/Marie_Antoinette
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจ https://queensransom.wordpress.com/2009/06/17/la-reine-en-gaulle/


- เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2317 (ค.ศ. 1774) พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสเสด็จสวรรคต และพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ได้ทรงขึ้นเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศส แต่พฤติกรรมของพระนางก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปเลย  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2320 (ค.ศ. 1777) เป็นต้นมา กระแสต่อต้านพระนางเริ่มแพร่สะพัด พระนางถูกรายล้อมด้วยพระสหายสนิทจำนวนหนึ่ง (เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ บารอนแห่งเบอซองวาล ดยุกแห่งควงยี รวมถึงโยลองด์ เดอ โปลาสตรง กับเคาน์เตสแห่งโปลินยัก) ซึ่งสร้างความอิจฉาริษยาให้แก่นางสนมคนอื่น ๆ ด้วยการจัดหาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับจำนวนมาก จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย และจัดเกมการละเล่นที่มีเงินเดิมพันจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าพระนางได้สั่งแต่งตั้ง โยกย้าย และปลดขุนนางตามอำเภอใจเป็นว่าเล่น ทว่าในข้อมูลบางแหล่งกลับบอกว่า บทบาททางการเมืองของพระนางค่อนข้างจำกัดมาก และแทบไม่มีอำนาจจัดการใด ๆ เองเลย


- คดีเรื่องสร้อยพระศอ ถือเป็นเรื่องที่รู้กันมากที่สุดว่าทำลายชื่อเสียงของพระนางได้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวในคดีสร้อยพระศอของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ เมื่อนายโบห์แมร์ ช่างเพชรได้เรียกร้องเงินจำนวน 2,000,000 livres (ตีเป็นประมาณ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 แต่แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุจำนวนเงินไม่เท่ากัน) จากองค์ราชินี เป็นค่าสร้อยคอเพชรที่พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำขึ้นในนามของราชินี มารี อองตัวเน็ตต์ ทว่าพระนางมิได้ทรงรู้เรื่องมาก่อน และพระนางก็ปฏิเสธไม่ยอมซื้อมันเสียด้วย
 
เรื่องของเรื่องก็คือ แต่เดิมมาดามดู บาร์รี ได้อ้อนวอนขอ “เครื่องเพชรที่แพงที่สุด” ในโลกจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15  พระองค์จึงสั่งให้มีการรวบรวมเพชรเม็ดโต ๆ มาให้ช่างฝีมือด้านเพชรนาม “โบห์แมร์” เป็นคนทำสร้อยคอขึ้นมา ทว่าพอสร้อยคอเสร็จ พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก็ดันสวรรคตไปเสียก่อน แถมมาดามดู บาร์รี ก็ยังหายตัวไปจากราชสำนักเสียอีก (มาดามปรากฎตัวอีกทีก็ถูกตัดสินประหารด้วยกิโยตินในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1793 ด้วยข้อหาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ฝ่ายตรงข้ามกับพวกปฏิวัติ)
 
พอคนจ้างกับคนขอไม่อยู่แล้ว ทีนี้นายโบห์แมร์ก็เป็นหนี้ก้อนโตสิ เล่นลงทุนทำไปตั้งเยอะ เขาก็เลยคิดหาทางออกโดยการขายมันให้กับพระราชาและพระราชินีองค์ใหม่แทน แต่แม้จะถูกปฏิเสธ มันก็ดันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องที่แย่กว่านั้น
 
เนื่องจากมีคนต้องการสร้อยเส้นดังกล่าวมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ มาดาม ยีน เดอ ลาม็อตต์ (Jeanne de Valois-Saint-Rémy, comtesse de La Motte) ภรรยาของ Nicholas de la Motte (ทั้งสองคนแสดงตนเป็นชนชั้นสูง แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าพวกเขาเป็นนักต้มตุ๋นแฝงตัวมามากกว่า)
 
มาดามเดอ ลาม็อตต์รู้จุดอ่อนของพระคาร์ดินัล เดอ โรออง ว่าแอบหลงรักพระนางมารี อังตัวเน็ตต์มาตั้งแต่ตอนร่วมขบวนส่งตัวพระนางแล้ว แต่พระนางดันไม่เล่นด้วย (เนื่องจากพระคาร์ดินัลเคยพยายามจะขัดขวางการแต่งงานของพระนาง และยังเป็นที่รู้กันว่าพี่แกใช้ชีวิตไม่สมกับเป็นนักบวช) มาดามเดอ ลาม็อตต์จึงไปหลอกพระคาร์ดินัลว่า จริง ๆ พระนางมารี อังตัวเน็ตต์อยากได้สร้อยเส้นนั้นแต่ไม่กล้าซื้อเพราะมันแพง
 
ไม่ใช่แค่หลอกธรรมดา ๆ แต่มาดามเดอ ลาม็อตต์ยังถึงขั้นให้คนช่วยปลอมจดหมาย ปลอมลายเซ็นของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ หรือแม้กระทั่งหาผู้หญิงที่มีหน้าตาคล้ายองค์ราชินีมาหลอกนัดพบกับโรอองในตอนกลางคืนอีกด้วย (อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลเรื่องชุดมัสลินและดอกกุหลาบแบบเรียบง่าย ว่ากันว่า Nicole le Guay d'Oliva โสเภนีที่ปลอมตัวเป็นราชินีก็แต่งตัวแบบที่ว่าอีกตะหาก) และแล้วก็สำเร็จ พระคาร์ดินัลยอมจ่ายเงินซื้อสร้อยนั้นเต็มที่โดยกะว่าเดี๋ยวไปทวงกับพระนาง(ตัวจริง) ทีหลัง
 
พอถึงเวลา เรื่องก็แดงสิครับ เรื่องถึงขั้นการพิจารณาคดี โรอองเองก็ยังดีที่รอดตัวเพราะตกเป็นเหยื่อผู้เสียหายจากการหลอกลวงก็เลยยังได้ถูกปล่อยตัวแต่ก็อยู่แถววังต่อไปอีกไม่ได้ เนื่องจากทำให้พระนางโกรธแล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงเนรเทศเขาไปยังที่พักส่วนตัวทางตอนใต้ แต่ก็นับว่ายังโชคดี เช่นเดียวกับโสเภนีที่พ้นผิด แต่สามีของมาดามเดอ ลาม็อตต์นั้นถูกตัดสินว่าผิดจริงและถูกเนรเทศ ตัวนางเองก็ถูกตัดสินว่าผิดเต็มประตู ถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน ตีตราตัว V บนอก (มาจาก voleuse ที่แปลว่า “โจร” และถูกส่งตัวเข้าคุกตลอดชีวิต (แต่สุดท้ายนางก็ปลอมตัวเป็นเด็กหนุ่มหนีออกไปได้และไปอยู่ลอนดอน และเขียนบันทึกให้ร้ายพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ไม่เลิก จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพลัดตกจากหน้าต่างขณะหลบหน้าเจ้าหนี้)
 
กลับมาที่ตัวพระนางมารี อองตัวเน็ตต์เอง แน่นอนว่าความจริงพระนางต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และผู้เสียหายในคดีนี้ ซึ่งการดำเนินคดีและเปิดโปงความจริงทั้งหมดก็ชัดเจน แต่ทว่า….. ดันกลายเป็น “ประชาชนทั้งหลายของพระนางกลับไม่ยอมเชื่อ” เสียนี่ พวกเขายังคงหลงเชื่อว่าคู่สามีภรรยาเดอ ลาม็อตต์เป็นคนดีและบริสุทธิ์แต่ถูกพระนางกลั่นแกล้งเสียอย่างนั้น….
 
จากเรื่องนี้ พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ได้ทราบถึงชื่อเสียงที่เสื่อมเสียของตนเองในที่สุด จึงได้พยายามตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าปรับปรุงพระตำหนักของพระนาง ทว่านั่นกลับก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวระลอกใหม่ขึ้นในพระราชวัง เมื่อพระสหายโปรดเห็นว่าพวกเขาไม่มีภาระหน้าที่อีกต่อไป พระนางทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ พระนางยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป และได้รับการขนานพระนามว่า "มาดามหนี้ท่วมหัว" (Madame Deficit) ทั้งพระนางยังคงถูกกล่าวหาอีกหลายเรื่องไม่รู้จบ จริงไม่จริงบ้างก็สุดจะรู้
 
- พอการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้น มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย พระนางได้พยายามเต็มที่ที่จะปกป้องครอบครัวของพระนางและสถาบันกษัตริย์ สังเกตว่าพระนางในช่วงนี้มีความคิดอ่านเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เข้าใจปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ใช้เงินฟุ่มเฟือยน้อยลง ข้อมูลเพิ่มเติมทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ระบุว่า พระนางได้เก็บเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้อุทิศให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ และยังคอยรับอุปการะเด็กกำพร้ามากมาย(ซึ่งจริง ๆ พระนางเริ่มทำตั้งแต่ก่อนมีพระธิดาองค์แรกแล้วด้วยซ้ำ และยังคงทำต่อไป) และยังใช้เงินท้องพระคลังช่วยเหลือเหล่าผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ที่เหยียบกันตายสมัยพระนางเปิดตัวใหม่ ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย
 
- แต่น่าเสียดายไม่ว่าจะพยายามทำดียังไง ก็มิอาจสู้กระแสความเกลียดชังที่พวกปฏิวัติพยายามกรอกหูประชาชนทุกวี่ทุกวันได้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เองก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ชาววังจำนวนมากหลบหนี แต่พระนางและพระสวามีรวมถึงลูก ๆ ทั้งสองหนีช้ากว่าที่ควร ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดและถูกคณะปฏิวัติจับตัวได้ในที่สุด
 
- เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม สภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสได้ลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ได้เรียกร้องกับสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ให้จัดการกับราชินีอีกพระองค์ด้วย
 
วันที่ 13 กรกฎาคม องค์มกุฎราชกุมาร (พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 ในอนาคตแต่ก็เป็นเพียงแค่ในนาม)ก็ถูกลักพาตัวไปจากพระมารดาและถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของอองตวน ซิมง ช่างทำรองเท้า และในวันที่ 2 สิงหาคม ก็ถึงคราวที่พระนางมารี อ็องตัวแน็ตถูกพรากจากเหล่าเจ้าหญิงและนำตัวไปยังทัณฑสถานกรุงปารีส การไต่สวนพระนางจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น
ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า พระนางพยายามขอร้องไม่ให้พรากบุตรชายของพระนาง  จนสาเหตุที่ทำให้พระนางยอมปล่อยมือก็คือ พวกปฏิวัติขู่ว่าจะฆ่าพระธิดาองค์โตของพระนางอีกคนถ้าไม่ยอม
 
- ในระหว่างการไต่สวน มีข้อมูลหลายแหล่งบันทึกไว้มากมาย แต่ส่วนมากหลัก ๆ คือข้อหากบฏ เนื้อหาที่อดไม่ได้ที่จะพูดถึงคือ ก่อนหน้านั้น เหล่าคณะปฏิวัติพยายามใส่ร้ายพระนางว่ามีอะไรกับพระราชโอรสของพระนางเอง แถมยังใช้การทรมานบังคับให้ราชโอรสกล่าวหาพระนางเช่นนั้นอีกด้วย
แต่แน่นอนพระนางให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา กระนั้นก็ไม่ช่วยอะไร เพราะระบบการตัดสินของคณะลูกขุนปฏิวัติพวกนั้นมีอยู่อย่างเดียวนั่นคือ “ตามแต่ใจพวกเขา” ไม่มีแม้แต่การให้เบิกที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (บ้างก็ว่ามีแต่ทว่าทนายของพระนางเป็นพวกอ่อนด้อยประสบการณ์ทำอะไรไม่เป็น) ถ้าไม่ปล่อยตัวไปก็ถูกประหารชีวิตซะแค่นั้น และพวกเขาเองก็กะจะกำจัดพระนางอยู่แล้วด้วย
 
ไม่ว่าจะจริงเท็จมากน้อยก็ตาม แต่มีสิ่งหนึ่งได้ถูกบันทึกเอาไว้ ในวาระสุดท้ายที่พระนางกำลังเดินขึ้นสู่แท่นประหาร พระนางเผลอสะดุดเท้าของเพชฌฆาต (เฮนรี แซนสัน บุตรชายของเพชฌฆาตชื่อก้องอย่างชาร์ล-เฮนรี แซนสัน ผู้ที่เป็นคนลงดาบพระเจ้าหลุยส์และรอแบ็สปีแยร์กับพวกคณะปฏิวัติในภายหลัง) และนั่น้คือคำพูดสุดท้ายของพระนางที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า
“"Pardon me, sir, I meant not to do it",” (ขอโทษด้วย ฉันไม่ได้ตั้งใจ)
พระนางเสด็จขึ้นแท่นประหาร พระนางปฏิเสธที่จะสารภาพบาปกับบาทหลวงที่ทางคณะปฏิวัติจัดหาให้ และทรงน้อมรับวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างมิเกรงกลัว
 
- พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ สวรรคตด้วยเครื่องประหารกิโยติน ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793 ในข้อกล่าวหาว่ากบฏต่อประเทศชาติ ทรงมีพระชมน์มายุได้เพียง 38 ชันษาเท่านั้น
ก่อนหน้านั้น พระนางได้เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงพระขนิษฐภคินี(น้องสะใภ้)คือ พระนางเอลิซาเบธแห่งฝรั่งเศส ใจความสรุปโดยย่อคือพระนางให้อภัยทุกคนที่กระทำเรื่องเลวร้ายต่อพระองค์ และไม่ต้องการให้ลูก ๆ ของพระนางแก้แค้นให้ตนเองหรือพระสวามีแต่อย่างใด และฝากถึงเหล่ามิตรสหายว่าจะระลึกถึงพวกเขาเสมอแม้ในวินาทีสุดท้าย
(ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า เขาจับพระนางมัดกับกระดาน เสร็จแล้วกระดกให้นอนหงายขึ้นมองมีดกิโยตินตัดพระศอพระนางเอง อันเป็นท่าที่น่าเจ็บ ทารุณมากที่สุด
เล่ากันว่าเมื่อตัดพระเศียรแล้วทุกคนมองเห็นว่า พระเศียรนั้นมีการขยับพระเนตร น้ำพระเนตรไหล)
(ผู้เขียนบทความพบข้อมูลนี้แต่เพียงภาษาไทย ยังไม่พบจากแหล่งที่เป็นภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสเลย ก็ไม่ทราบเหมือนกันต้องขออภัย แต่ถ้าเป็นจริงถือว่าโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมมาก)
ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีอย่างสะใจของประชาชนและพวกปฏิวัติ หารู้ไม่ว่าพวกเขาได้เริ่มต้นช่วงเวลาแห่งประชาธิปไตยได้ “ผิดพลาด” และ “แย่ที่สุด” ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดลงไปแล้ว
 
- กล่าวกันว่าทั้งศีรษะและพระศพของพระนางถูกนำไปทิ้งไว้ในป่าอย่างน่าสังเวชทั้งอย่างนั้น จนกระทั่งมีชาวบ้านคนนึงที่ใจดีมองพระนางเป็น “เหยื่อ” ของทุกสิ่งทุกอย่างจึงได้ทำหลุมฝังให้ ต่อมาเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ผู้เป็นพระญาติของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ ได้ค้นหาหลุมศพของพระนางและพระสวามีจนพบและย้ายไปฝังในวิหารเซนต์เดนิส
 
(มีต่อในความเห็นที่ 1) 

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

Ryuune_chan 7 ก.พ. 61 เวลา 08:10 น. 1

มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ Maximilien François Marie Isidore de Robespierre เขาได้เข้าร่วมและเป็นแกนนำของพวกคณะปฏิวัติในการทลายคุกบาสติลล์ และเป็นผู้เรียกร้องให้ประหารพระราชาและพระราชินี หลังจากนั้นเขาได้ฉวยโอกาสที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปประณามฝรั่งเศสในการกระทำดังกล่าว อาศัยจังหวะความวุ่นวายเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม ทว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของ “ยุคสมัยที่น่ากลัวที่สุดของฝรั่งเศส” เขาได้กลายเป็นจอมเผด็จการอย่างแท้จริง เอะอะก็สั่งประหารหมดแม้แต่คดีเล็กน้อย ว่ากันว่าพลเมืองที่ถูกศาลปฏิวัติตัดสินประหารมีจำนวนกว่า 1,600 คน ในจำนวนนั้นมีสตรีถูกข่มขืนอย่างทารุณจำนวนมาก เขาเชื่อว่าความสงบสุขอยู่เคียงคู่กับความกลัว และนั่นคือความถูกต้อง ฝรั่งเศสตกอยู่ในยุคที่มืดมนเลวร้ายยิ่งกว่าสมัยมีกษัตริย์ปกครองเสียอีก จนกระทั่งวีรบุรุษคือ “นโปเลียน” ได้ปรากฏตัวขึ้นมากอบกู้สถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือการจับกุมพวกคณะปฏิวัติรวมถึงรอแบ็สปิแยร์ด้วย จอมเผด็จการคิดจะชิงฆ่าตัวตายหนีความผิดแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดเขาได้ถูกคุมขังในคุกเดียวกับที่เคยใช้ขังพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ และคนที่ประหารเขาก็คือ ชาร์ล-เฮนรี แซนสัน คนเดียวกับที่ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั่นเอง เครื่องประหารก็หนีไม่พ้น “กิโยติน” ที่เขาใช้ประหารคนจำนวนมาก


หรือว่าพวกเขาต้องชดใช้กรรมในสิ่งที่ทำลงไป…..


นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวอีกมากกว่าฝรั่งเศสจะได้เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ แต่ขอละไว้เนื่องจากไม่เกี่ยวกับหัวข้อหลัก

**ว่าด้วยเรื่องประโยค “Let them eat cake” ซึ่งเป็นเหตุให้หลายคนเกลียดชังพระนาง แต่ทว่าจริง ๆ แล้ว มีข้อมูลขัดแย้งมากมาย ได้แก่

1. ความจริงประโยคนี้แปลผิด ต้นทางจริง ๆ ในภาษาฝรั่งเศสคือ “Qu'ils mangent de la brioche” ซึ่ง- Brioche เนี่ยคือขนมปังอีกแบบนึง ไม่ใช่เค้กด้วยซ้ำไป

2. สำคัญที่สุดคือ “ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนเลยว่าพระนางเคยตรัสประโยคนี้ออกมา”(อาจจะมีก็คงไม่แคล้วในหนังสือของพวกปฏิวัติที่พยายามให้ร้าย ซึ่งนัก ปวศ. มองว่าไม่น่าเชื่อถือ) อย่าไงรก็ตาม มีบันทึกที่มาของประโยคนี้จากหนังสือของ Jean-Jacques Rousseau นักเขียนแห่งยุคที่เขียนบันทึกกล่าวถึง “เจ้าหญิงผู้ยิ่งใหญ่”(great princess) ที่กล่าวประโยคนี้ ประเด็นคือ Rousseau เนี่ยพูดถึงราชวงศ์ฝรั่งเศส และบันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1765 ซึ่งพระนางมาเรีย แอนโทเนีย(พระนามเดิม) ยังพระชนมายุเพียง 9 ขวบ และยังอยู่ออสเตรีย ยังไม่เคยไปเหยียบฝรั่งเศสเลย มันจะเป็นคำพูดของพระนางไปได้อย่างไร

(เชื่อกันว่า great princess คนที่ว่าน่าจะหมายถึง พระนาง Marie-Thérèse แห่งสเปน มเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (คนละคนกับแม่ของพระนางมารีนะครับ สมัยนั้นชื่อซ้ำกันจนเป็นเรื่องปกติ) แถมบันทึกว่าพูดไว้ 100 ปีก่อนสมัยพระนางมารี อังตัวเน็ตต์แล้วอีกต่างหาก ขณะเดียวกันข้อมูลบางแหล่งก็ว่ามันอาจจะ “ไม่จริง” ทั้งคู่แต่แรกแล้วก็ได้)

(ปล.พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นคนริเริ่มการก่อสร้างพระราชวังแวร์ซาย และใช้เงินฟุ่มเฟือยไม่เห็นหัวประชาชนขนานแท้ในสมัยของพระองค์นั่นแหละ จึงอาจจะบอกได้ว่าปัญหาความยากจนของประชาชนน่าจะเริ่มต้นมาจากตรงนี้แล้วมากกว่า แต่น่าแปลกไม่เห็นจะมีใครกล่าวโทษพี่แกเลยตั้งแต่ต้นยันจบ ในขณะที่พระนางมารีเป็นเพียงเจ้าสาวแต่งเข้าบ้านไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำแต่โดนซะเละเทะ)

อย่างไรก็ตาม มีบันทึกสิ่งที่พระนางได้ตรัสเอาไว้จริง ๆ ในวันที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชย์ หลังจากที่พระนางได้ทรงทราบปัญหาการขาดแคลนขนมปังของราษฎร พระนางตรัสว่า

“ยิ่งได้เห็นเหล่าประชาชนที่ล้วนกำลังลำบากทำเพื่อพวกเรามากเท่าไหร่ พวกเรายิ่งรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณและต้องตอบแทนด้วยการทำงานหนักเพื่อความสุขของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น พระราชาเองย่อมรู้เรื่องนี้ดี และสำหรับชั่วชีวิตของฉันจะไม่มีวันลืมวันนี้”

(“It is quite certain that in seeing the people who treat us so well despite their own misfortune, we are more obliged than ever to work hard for their happiness. The king seems to understand this truth; as for myself, I know that in my whole life (even if I live for a hundred years) I shall never forget the day of the coronation.”)

(จากหนังสือ Marie Antoinette: The Journey (2001) โดย Antonia Fraser , หน้า 135)

แต่น่าเศร้าที่คุณคิดว่ามีกี่คนเคยรู้เรื่องนี้?

*** พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ มีบุตรและธิดาร่วมกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทั้งหมดสี่พระองค์ ได้แก่

· Marie-Thérèse-Charlotte หรือ Madame Royale (19 December 1778 – 19 October 1851) เป็นราชธิดาพระองค์แรก และเป็นเพียงพระองค์เดียวที่รอดชีวิตได้ในยุคปฏิวัติ ไม่ว่าสังคมจะเล่าอย่างไร พระนางยืนยันว่าพระมารดาทรงเป็นแม่ที่ดี สอนให้พระนางรู้จักเห็นแก่ความทุกข์ยากของผู้อื่น ถึงขนาดเชิญให้เด็กสามัญชนที่ยากจนเข้ามาร่วมโต๊ะอาหารกับพระนางอย่างไม่รังเกียจ ทั้งยังขอให้พระนางแบ่งของเล่นให้พวกเขาอีกด้วย ในวันที่พระนางรู้ว่าพระมารดาสิ้นพระชนม์ ถึงกับเศร้าโศกและอธิษฐานต่อพระเจ้าให้เมตตาวิญญาณของพ่อกับแม่ และให้อภัยแก่ทุกคนที่ทำร้ายและฆ่าพวกเขา

· Louis-Joseph-Xavier-François (22 October 1781 – 4 June 1789) พระบุตรองค์แรกสิ้นพระชมน์ด้วยวัณโรค (tuberculosis)

· Louis-Charles (27 March 1785 – 8 June 1795),พระบุตรองค์ที่สอง ถูกพรากจากอกพระมารดาและถูกบังคับให้ใส่ร้ายพระนางในช่วงพิจารณาคดี ต่อมาได้ขึ้นเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แต่ก็เป็นเพียงในนามเท่านั้น การสิ้นพระชมน์เพียงช่วงอายุ 10 ชันษานั้นถูกอ้างว่าเพราะวัณโรค แต่จากการตรวจพระศพพบว่ามีบาดแผลมากมายจากการถูกทารุณในช่วงที่ถูกพรากจากผู้เป็นแม่

· Sophie-Hélène-Béatrix, พระธิดาองค์สุดท้ายตายตั้งแต่ยังเป็นทารก (9 July 1786 – 19 June 1787)

แม้จะมีเสียงอื้อฉาวขึ้นมาอีกว่าจริง ๆ บุตรและธิดาของพระนางอาจจะไม่ได้ประสูติกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระสวามี แต่มาจากผู้ที่ถูกเล่าลือว่าเป็นชู้รักอย่างท่านเคาท์แอคเซล ฟอน เฟอเซน แทน เป็นหนึ่งในเรื่องอื้อฉาวที่หลายคนเคยได้ยิน แต่สุดท้ายใครจะรู้ได้

แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้แน่คือ พระนางเป็นผู้หญิงที่รักพวกเด็ก ๆ มาก มีหลายบทบาทที่แสดงถึงความเป็นแม่ของพระนางที่มีมาก ไม่เพียงแต่การที่ทั้งที่หนีเอาตัวรอดได้แต่ไม่ยอมหนีหากไม่มีลูก ๆ ทั้งสองไปด้วยแล้ว พระนางยังอุปการะเด็กอีกมากมาย ถึงขั้นเก็บเงินใช้จ่ายบางส่วนไว้เพื่อดูแลและให้การศึกษาแก่พวกเขา มีบันทึกไว้ถึงสี่คนได้แก่

- "Armand" Francois-Michel Gagné (1771-1792) ในปี ค.ศ. 1776 ขณะที่พระนางทรงม้าล่าสัตว์ ม้าเกือบได้เหยียบเด็กกำพร้าตนนี้ แต่พอทราบว่าเขาเป็นเด็กกำพร้า พระนางก็ได้ตัดสินใจอุปการะเขาเอาไว้ ทว่าด้วยความเป็นเด็กหัวดื้อ ซุกซนไม่ฟังใคร และดันชื่นชอบแนวคิดของพวกปฏิวัติ เขาได้ทรยศแม่บุญธรรมของตนเองโดยเข้าร่วมกับกลุ่มปฏิวัติ และเสียชีวิตเยี่ยงวีรบุรุษท่ามกลางความวุ่นวาย

- Jean Amilcar (1781-1793) ใครสักกี่คนจะรู้ว่า ฝรั่งเศสในยุคของพระนาง “ไม่มีระบบทาส”(อย่างน้อยก็ในตัวประเทศ แต่ถ้าเมืองขึ้นก็ไม่แน่) แต่เด็กคนนี้เป็นทาสจากประเทศ Senegal ในแอฟริกาตะวันตก ที่ถูก Chevalier de Boufflers นำมาถวายให้พระนางในฐานะข้ารับใช้ที่ต่ำต้อย แต่พระนางมารี อังตัวเน็ตต์กลับให้เขาเป็นอิสระจากการเป็นทาส แถมยังรับเข้ามาดูแล และให้เขาได้รับบัพติศมาพร้อมชื่อใหม่ Jean Amilcar และให้อาศัยอยู่ในเพนชั่น พระนางคอยส่งเงินให้เด็กชาย จนกระทั่งพอเกิดการปฏิวัติขึ้น เป็นที่รู้ ๆ กันเกิดอะไรขึ้นกับตัวพระนาง นั่นทำให้ไม่มีใครส่งเงินมาให้อีก เด็กชายจึงถูกขับไล่และหิวตายบนท้องถนน

- Ernestine Lambriquet (1778-1813) บุตรสาวของข้ารับใช้ในวัง และเป็นเพื่อนเล่นกับพระธิดาองค์โต (Madame Royale) หลังจากสูญเสียมารดา พระนางได้อุปการะเด็กหญิงเอาไว้อีกคน

- "Zoe" Jeanne Louise Victoire (เกิดในปี ค.ศ. 1787) ในปีค.ศ.1970 พระนางได้รับอุปการะเอาไว้หลังจากที่เด็กหญิงเสียพ่อแม่ไป


****แม้ชื่อเสียงของพระนางจะถูกบดขยี้ให้เป็นนางมารร้าย เป็นผู้หญิงเลวทรามที่สมควรตาย แต่จริง ๆ คนสมัยก่อนคิดแบบนี้กันจริง ๆ แน่หรือ? มีข้อความบางส่วนที่น่าสนใจจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ทิ้งเหลือไว้ ลองมาดูกันครับ

“ความเลวร้ายอย่างแรกทีพวกคณะปฏิวัติได้ทำลงไปคือการประหารกษัตริย์ แต่น่าสะพรึงกลัวที่สุดคือการประหารพระราชินี”

("The first crime of the Revolution was the death of the King, but the most frightful was the death of the Queen,") กล่าวโดย Chateaubriand นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

« Si ce n'est pas un sujet de remords, ce doit être au moins un bien grand sujet de regret pour tous les cœurs français que le crime commis dans la personne de cette malheureuse reine. Il y a une grande différence entre cette mort et celle de Louis XVI, quoique, certes, il ne méritât pas son malheur. Telle est la condition des rois, leur vie appartient à tout le monde ; il n'y a qu'eux seuls qui ne peuvent pas en disposer ; un assassinat, une conspiration, un coup de canon, ce sont là leurs chances; César et Henry IV ont été assassinés, l'Alexandre des Grecs l'eût été s'il eût vécu plus longtemps. Mais une femme qui n'avait rien que des honneurs sans pouvoir, une princesse étrangère, le plus sacré des otages, la trainer d'un trône à l'échafaud à travers tous les genres d'outrages! Il y a là quelque chose de pis encore que le régicide ! »

"If it is not a subject of remorse, it must be at least a very great cause of regret for all French hearts that the crime committed in the person of this unfortunate queen. There is a great difference between this death and that of Louis XVI., Although, certainly, he did not deserve his misfortune. This is the condition of kings, their life belongs to everyone; only they can not dispose of it; an assassination, a conspiracy, a cannon-shot, these are their chances; Caesar and Henry IV were assassinated, the Alexander of the Greeks would have been if he had lived longer. But a woman who had nothing but honors without power, a foreign princess, the most sacred of hostages, dragged her from a throne to the scaffold through all sorts of outrages! There is something worse than the regicide! "45 (แปลภาษาโดยกูเกิ้ลจากวิกิฝรั่งเศส)

“ไม่ใช่แค่เรื่องน่าสงสารหรือไม่ แต่ยังเป็นเรื่องน่าเสียใจสำหรับหัวใจชาวฝรั่งเศสทุกท่านในฐานะมนุษย์กับสิ่งที่ทำลงไปต่อพระราชินีผู้โชคร้าย นี่ไม่เหมือนพระสวามีของพระนาง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แม้แต่เขาก็ยังไม่สมควรจะได้รับสิ่งนี้ ผู้ที่เป็นกษัตริย์นั้น เท่ากับชีวิตของพวกเขาขึ้นกับพวกเราทุกคน โดยที่พวกเขามิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ การถูกลอบสังหาร ถูกทรยศหักหลัง หรือถูกยิงด้วยปืน ทั้งหมดล้วนเป็นไปได้ที่จะพบเจอ แม้แต่ซีซาร์และพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 ยังถูกลอบสังหาร ต่อให้เป็นอเลกซานเดอร์มหาราชแห่งกรีกก็มิเว้นหากเขาอยู่นานพอ แต่ผู้หญิงคนนี้มิใช่ พระนางเป็นเพียงเจ้าหญิงต่างแดนที่มีศักดิ์ศรีแต่ไร้ซึ่งพลังอำนาจ เป็นเพียงตัวประกันอันศักดิ์สิทธิ์ การดึงตัวพระนางลงจากบัลลังก์สู่แท่นประหารเพียงเพื่อนสนองต่อความบ้าคลั่ง นี่มันเลวร้ายกว่าการลอบสังหารเสียอีก” (ผู้เขียนแปลไทยต่ออีกครั้งจากข้างบน)

ประโยคยาว ๆ ข้างบนนั้นเป็นของนโปเลียน วีรบุรุษชื่อก้องโลกที่พวกเรารู้จักกันดี บันทึกโดย Comte de Mollien คนสนิทของเขา ในหนังสือ Mémoires d'un Ministre du trésor public, 1780-1815

นอกจากนี้นโปเลียนยังยืนยันว่าพระนางบริสุทธิ์ในคดีสร้อยพระศออีกด้วย (อ้างอิงจาก https://www.smithsonianmag.com/history/marie-antoinette-134629573/)

M. de la Rocheterie นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเกียวกับพระนาง กล่าวถึงพระนางว่า

"She was not a guilty woman, neither was she a saint; she was an upright, charming woman, a little frivolous, somewhat impulsive, but always pure; she was a queen, at times ardent in her fancies for her favourites and thoughtless in her policy, but proud and full of energy; a thorough woman in her winsome ways and tenderness of heart, until she became a martyr."

(พระนางอาจจะไม่ได้ดีถึงขั้นนักบุญ แต่ก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่ชั่วร้าย พระนางเป็นเพียงสตรีผู้มีสเน่ห์และมีนิสัยตรงไปตรงมา อาจจะมีเหลาะแหละ หรือหุนหันพลันแล่นไปบ้าง แต่พระนางก็บริสุทธิ์ใจอยู่เสมอ พระนางเป็นราชินีผู้ทุ่มเทในสิ่งที่ชอบจนอาจจะเผลอลืมตัวไปบ้าง แต่ก็สง่างามและดูมีพลังอยู่เสมอ พระนางพยายามอย่างเต็มที่ในแบบของตัวเอง และมีจิตใจที่เข้มแข็ง จนกระทั่งพระนางได้กลายเป็นผู้เสียสละ)

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ศึกษาได้จาก reference ข้างล่าง

จากเรื่องราวของพระนางที่ว่าไว้ ผมพอจะวิเคราะห์ได้ว่า

- พระนางเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาคนนึงที่เผอิญเกิดในตระกูลกษัตริย์ แล้วถูกส่งให้ไปแต่งงานเข้าบ้านประเทศอริเพื่อสานสัมพันธ์

- ตอนนั้นพระนางยังเป็นแค่วัยรุ่นเหมือนเด็กสาวทั่วไป ต่อให้จะดีไม่ดี เมื่อย้ายสังคมที่ตัวเองเคยอยู่มาอีกสังคมที่แตกต่าง มันคงเป็นเรื่องเกินกำลังที่จะไปหวังให้พระนางทำตัวเยี่ยงนักบุญและเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่าย ๆ

- ชีวิตของพระนางหลังเข้าบ้านสามีไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงเท่าไหร่ เพราะสภาพสังคมชนชั้นสูงของฝรั่งเศสเป็นอย่างนั้น วัน ๆ เอาแต่ซุบซิบนินทา แบ่งพรรคแบ่งพวก หาเรื่องใส่ร้ายป้ายสี (คุ้น ๆ นะว่ามั้ย)

จุดนี้ผมคิดว่าพระนางสู้ได้ดีที่สุดในฐานะผู้หญิงคนนึงแล้วชั่วชีวิต แม้ตอนวัยรุ่นจะทำตัวเหมือนเหลวแหลกแต่คงเป็นไปเพื่อรักษาสภาพจิตใจ(อย่าลืมว่าพระนางเป็นเจ้าหญิงต่างชาติ แถมยังอยู่ในสังคมที่มีแต่คนอคติเรื่องเชื้อชาติ อย่าว่าแต่มีอำนาจอะไรเลย แค่อยู่ให้เป็นก็น่าจะยากแล้ว) พอโตขึ้นมาเริ่มรู้ตัวถึงสถานการณ์ที่ไม่สู้ดี (บางอย่างเชื่อว่าคนรอบข้างก็พยายามปกปิดไม่ให้พระนางรู้มาโดยตลอด) พอโตเป็นผู้ใหญ่ พระนางทำหน้าที่ในฐานะแม่ของทั้งลูกในไส้และเด็กที่รับอุปการะเท่าที่จะทำได้ และดำเนินงานบางส่วนแทนพระสวามีเท่าที่ควรจะทำแม้จะทำอะไรไม่ได้มาก และส่วนตัวเชื่อว่า พระนางจริง ๆ คงจะทำอะไรดี ๆ ไว้อีกมากมาย แต่ทั้งหมดก็ป่วยการเมื่ออยู่ต่อหน้ากระแสความเกลียดชังที่พวกปฏิวัติต้องการสุมให้มันใหญ่ขึ้นเข้าไว้

- อาจจะจริงที่พอทางเป็นไปได้ถ้ามีความคะนองสมัยวัยรุ่น แต่สำหรับผมกลับคิดว่าเชื่อยากมากหลังจากที่ได้อ่านด้านดีของพระนาง เพราะดูแล้วไม่เหมือนคนที่ไม่ใส่ใจประชาชนของตัวเองถึงขนาดจะพูดประโยคนั้นออกมาได้เลย และเอาจริง ๆ คนรอบข้างหลายคนน่าตำหนิกว่าหลายเท่า แต่มีใครแม้แต่จะจำชื่อพวกเขาได้บ้างนะ?

- ว่าด้วยเศรษฐกิจของฝรั่งเศส การจับจ่ายของพระนางตอนวัยรุ่นอาจจะมีส่วน แต่จะว่าไปแล้วมันเป็นแค่ส่วนเดียวและอาจเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ อย่างที่บอก มันเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนพระนางประสูติด้วยซ้ำ(ตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แล้ว) และชนชั้นสูงในฝรั่งเศสที่ฟุ่มเฟือยไม่ได้มีแค่พระนางคนเดียว แต่เป็นเรื่องทั่วไปของชนชั้นสูงทั้งหลาย (-เรื่องเปลี่ยนรองเท้ากับเสื้อผ้าเป็นว่าเล่น ต่อให้พระนางไม่มา ก็เป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติอยู่ก่อนแล้วในสังคมนั้น) การบริหารที่ผิดพลาดของตัวพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระสวามีก็อีกส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากภัยแล้งทางธรรมชาติที่ไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้นหรอกครับ

และตลกร้ายยิ่งกว่าคือ แม้จะประหารพระนางคนที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุแล้ว แต่เศรษฐกิจของฝรั่งเศสไม่ได้ดีขึ้นเลยจริง ๆ จนกระทั่งสมัยของนโปเลียน (ซึ่งเป็นเพราะพี่แกเอาระบบทาสกลับมาใช้ และตลกร้ายสุด ๆ คือ มันดันได้ผล แต่ผมพอเข้าใจว่าทำไมพระนางถึงไม่ยอมใช้วิธีนั้นแต่แรก(ไม่เช่นนั้นพระนางจะช่วย Jean Amilcar ให้พ้นจากสถานะนั้นทำไม)

และหลังจากนั้นฝรั่งเศสต้องใช้เวลาอีกสี่สิบกว่าปีกว่าจะเลิกทาสได้อีกรอบ

- หลายคนมองว่าเรื่องราวมันคงแย่ ประชาชนคงทนไม่ไหวจริง ๆ ถึงได้ทำขนาดนั้น แต่ผมว่าประชาชนเองน่าจะเกลียดพระนางเพราะเห็นเป็น “ผู้หญิงออสเตรีย” แต่แรกแล้วมากกว่า (สังเกตจากคดีสร้อยพระศอ) อคติที่รุนแรงและรวมเป็นกลุ่มจะน่ากลัวเสมอ ทั้งที่จริง ๆ ต่อให้แย่แค่ไหน พวกเขาก็ไม่ควรจะฆ่าคน และให้ร้ายพระนางเป็นหลายร้อยปีแบบนี้

ยังไม่นับถึงเจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ สหายสนิทของพระนางที่ถูกฆ่าข่มขืนแล้วก็ตัดหัวเสียบประจานให้พระนางเห็นจากทางหน้าต่าง จนทำให้พระนางเครียดจนผมกลายเป็นสีขาวอีกด้วย

- ไม่ว่าผมจะค้นคว้าเรื่องพระนางสักกี่ครั้ง สิ่งที่ช่วยแก้ต่างให้พระนางมีเพียงบทความอิงประวัติศาสตร์ที่มีสาระแต่น้อยคนนักจะสนใจ แต่ในสื่อบันเทิงส่วนใหญ่ หรือข้อมูลย่อ ๆ ที่เข้าถึงคนทั่วไปได้มากกว่า ส่วนมากยังคง “ผลิตซ้ำ” ภาพลักษณ์ของพระนางแต่แง่ลบเพียงอย่างเดียว (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม) ราวกับว่าโลกนี้ยังไม่สาแก่ใจพอที่จะย่ำยีพระนางซ้ำแล้วซ้ำเล่ายังไงยังงั้น (แม้จะเทียบกับข้อกล่าวหาที่พระนางได้รับแล้วก็ตาม ผมก็รู้สึกว่ามากเกินไปอยู่ดี)

- ชีวิตของพระนาง ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลจากที่พวกเราเห็นในทุกวันนี้เลย ทุกวันนี้แม้แต่ในโรงเรียน หรือที่ทำงาน ก็มีคนที่ถูก “แบน” จากกลุ่มเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานด้วยเหตุผลงี่เง่าหลากหลาย หรือจากข่าวลือที่ไม่มีมูล บางคนอาจจะคิดว่าถ้าไม่สนใจ ปล่อยผ่านไปมันก็ทำอะไรเราไม่ได้ แต่พอเห็นวาระสุดท้ายของพระนางแล้ว ผมอดคิดไม่ได้ว่า แน่ใจเหรอแค่คำนินทาว่าร้ายไม่ทำให้ใครตายได้จริง ๆ ? (บางคนก็ฆ่าตัวตายเองด้วยซ้ำเพราะเรื่องพวกนี้)

แล้วสุดท้าย…. เราได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์กันแน่ล่ะ? เราอ่านประวัติศาสตร์เพื่อเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต หรือว่าเพียงเพื่อแค่แบ่งแยกคนดี คนเลว มิตร ศัตรู ผู้ชนะ ผู้แพ้ ตามแต่ใจคนบันทึกที่ใช่ว่าจะเป็นกลาง เท่านั้นหรือเปล่า?

ท่ามกลางสังคมที่วัน ๆ เอาแต่หาเรื่องซุบซิบ นินทา ใส่ความ ว่าร้ายคนอื่น และแนวคิดทางการเมืองแบบเราถูก เขาผิด ที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากสมัยก่อนเลยสักนิด เหมือนไม่ว่าผ่านไปเท่าไหร่ มนุษย์ชาติก็ไม่เคยเรียนรู้อะไร ไม่แม้แต่จะเริ่มต้นที่ตัวเอง

แล้วใครล่ะ จะถูกเลือกให้เป็น “พระนางมารี อังตัวเน็ตต์” คนต่อไป…?

Reference อ้างอิงที่น่าสนใจ หากมีข้อผิดพลาดหรือตกหล่นประการใด ทางผู้เขียนก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

https://fr.wikipedia.org/wiki/Marie-Antoinette_d%27Autriche ภาษาฝรั่งเศส กรุณาอ่าน eng กับไทยประกอบ หรือแปลจากหน้าฝรั่งเศสเป็นอังกฤษด้วยบราวเซอร์ เพื่อข้อมูลที่ละเอียดขึ้น

https://www.smithsonianmag.com/history/marie-antoinette-134629573/ ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจ

https://en.wikipedia.org/wiki/Let_them_eat_cake ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประโยคก้องโลกที่เข้าใจผิดมาโดยตลอด

http://www.independent.co.uk/news/world/europe/the-big-question-does-marie-antoinette-deserve-her-infamous-reputation-419639.html

https://board.postjung.com/677764.html ชีวิตที่เปรียบดังกุหลาบแวร์ซายส์

http://www.marie-antoinette.org/ เว็บบอร์ดฝรั่งที่ตอนนี้น่าจะร้างไปแล้ว แต่มีข้อมูลและประเด็นต่าง ๆ สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาในเบื้องลึก

https://queensransom.wordpress.com/2009/06/17/la-reine-en-gaulle/ ว่าด้วยชุดมัสลินสุดโปรดของพระนางที่แสดงถึงความเรียบง่าย

https://www.biography.com/news/king-louis-xvi-and-marie-antoinette-execution-anniversary เรื่องราวอีกด้านของพระนางและพระสวามีที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

http://historyandotherthoughts.blogspot.com/2015/01/marie-antoinettes-adopted-children.html

http://cultureandstuff.com/2010/02/22/marie-antoinette-and-her-children-the-queens-adopted-family/

https://curiousrambler.com/2015/12/05/marie-antoinettes-adopted-children/

เรื่องราวที่ทำให้พระนางมารี อังตัวเนตต์ เนื้อแท้แล้วอาจจะเป็น “ยอดคุณแม่”

https://en.wikipedia.org/wiki/Marie_Th%C3%A9r%C3%A8se_of_France เรื่องราวของบุตรสาวคนโตของพระนาง

https://en.wikipedia.org/wiki/Louis_XVII_of_France บุตรชายผู้ตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือทางการเมือง

https://en.wikipedia.org/wiki/Maximilien_Robespierre

http://www.soccersuck.com/boards/topic/1208346

เรื่องราวขอมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์งจอมเผด็จการตัวจริงที่เหล่าผู้รักในพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ในทุกวันนี้ล้วนเกลียดชัง

https://en.wikipedia.org/wiki/Cardinal_de_Rohan ชายผู้ตกเป็นเหยื่อของเรื่องคดีสร้อยพระศอเช่นเดียวกับพระนางมารี อองตัวเน็ตต์

https://en.wikipedia.org/wiki/Jeanne_de_Valois-Saint-R%C3%A9my ว่าด้วยมาดามยีน เดอ ลาม็อตต์ ต้นตอการทำลายชื่อเสียงของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์

http://thisisversaillesmadame.blogspot.com/2016/11/a-queens-cleanliness-marie-antoinettes.html อ้างอิงว่าแม้แต่การอาบน้ำก็ยังถูกใช้ครหาได้

http://www.nobility.org/2011/10/13/last-letter-of-marie-antoinette/ จดหมายฉบับสุดท้ายของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ เขียนถึงพระนางเอลิซาเบธแห่งฟรานซ์ผู้เป็นน้องสะใภ้ แสดงถึงจิตใจที่เปี่ยมด้วยการให้อภัยแม้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

และอื่น ๆ และสุดท้ายก็ขอขอบคุณที่อ่านจนจบ สวัสดีครับ

0
หนังหีควยตกเบ็ด 8 ก.พ. 61 เวลา 11:34 น. 2

น่าแปลกนะคะ ตอนที่พระเจ้าหลุยส์15 เสด็จสวรรคตแล้วทำไมไม่เสด็จกลับไปภูมิลำเนาเดิมคะ รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองไม่ใช่คนฝรั่งเศสด้วยแต่กลับขึ้นมาเป็นราชินีอีกเพราะอะไรคะไม่เข้าใจ ทำไมไม่ให้คนจากชาติฝรั่งเศสด้วยกันขึ้นมาเป็นประมุขแทนแถมมีตั้งเยอะแยะ พระนางทรงทราบรึเปล่าว่าฝรั่งเศสช่วงนั้นกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับราษฏร ถ้าทราบแล้วยังขึ้นมามีอำนาจอีกนี่ส่อให้เห็นถึงความทะเยอทะยานนะคะ

3
No one was to know 8 ก.พ. 61 เวลา 12:13 น. 2-1

คนทุกคนคนล้วนมีความทะเยอทะยานในตัวเอง มันติดตรงที่ว่า ความทะเยอทะยานนี้มันจะส่งผลเสียกับส่วนรวมมากแค่ไหนและคหสต. พระองค์เสด็จกลับไม่ได้หรอก พระองค์เป็นถึงเจ้าสาวของพระเจ้าหลุยส์ จะให้ไปไหนมาไหนง่ายๆพวกเขาคงไม่ยอมแน่ๆ

0
นางฟ้า.천사 8 ก.พ. 61 เวลา 18:35 น. 2-2

พระนางไม่ใช่แต่งเข้ามาเพื่อเชื่อมสัมพันธ์เหรอคะ เหมือนตัวประกันนั่นแหละ คงเสด็จกลับไม่ได้หรอกค่ะ

0
Ryuune_chan 9 ก.พ. 61 เวลา 05:56 น. 2-3

เอาจริง ๆ ผมว่ามันทำไม่ได้ง่าย ๆ หรอกครับ

เพราะธรรมเนียมสมัยนั้นอิงกับคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก การแต่งงานเป็นเรื่องใหญ่มาก และภรรยาที่ทิ้งสามีนี่เป็นเรื่องร้ายแรงทีเดียว ในชนชั้นกษัตริย์ยิ่งซ้ำร้ายเลย

ไหนจะมีเรื่องการเป็นเสมือนตัวประกันทางการเมืองอย่างที่บางท่านได้ว่าเอาไว้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แล้วก็ถ้าพระนางเกิดเลือกที่จะหนี บางทีพระนางอาจจะถูกครหามากกว่านี้อีกก็ได้

ที่สำคัญ พระมารดาของพระนางเป็นถึงสมเด็จพระจักรพรรดินีผู้ยิ่งใหญ่อย่างมาเรีย เทเรซา แห่งออสเตรีย ได้ชื่อว่าเป็นพระมารดาที่เข้มงวด คงไม่ยอมให้พระนางละทิ้งหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองง่าย ๆ แน่ เพราะเหมือนแบกความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไว้บนบ่า (พอพระนางถูกประหาร ทั่วทั้งยุโรปก็พากันคว่ำบาตรและประณามฝรั่งเศส ถึงขั้นเป็นสงคราม ออสเตรียนี่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าไม่มีนโปเลียน ฝรั่งเศสก็อาจจะสิ้นชาติไปแล้วก็ได้)

ที่พระนางหนีตอนท้ายก็คงเพราะพยายามทำเท่าที่ทำได้แล้วมันไม่ไหวจริง ๆ (พระสวามีก็เป็นซะอย่างงั้น) แม้ว่ามันจะสายเกินไป แต่อย่างน้อยต้องถือว่าพระนางเป็นผู้หญิงมีสปิริตพอตัวจนวาระสุดท้ายทีเดียว

0
Sunthon Tummarat 19 ก.ค. 62 เวลา 07:52 น. 3

น่าจะเทียบเคียงกับประเทศไทยได้บ้างว่า คนที่ไม่ได้ทำผิดแต่ถูกใส่ร้ายโดยผู้ไต่สวนเป็นสัตรูคู่อาฆาตกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งนั้น จึงเป็นยุคประชาธิปไตยเริ่มเสื่อม ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศษเมื่อ200กว่าปียังสะท้อนมาถึงไทยได้อย่างไม่ตกยุค

0