Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิว บุพเพสันนิวาส-รอมแพง งดสปอย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

รีวิว บุพเพสันนิวาส ของ รอมแพง จากเฟสบุค 'เมื่อนิยายกลายเป็นละคร'
งดสปอย งดดราม่า เป็นผู้ดูและผู้อ่านอย่างรู้คุณค่านะคะ 

       
           เรียกว่าเป็นกระแสจริงๆ สำหรับละครอันเกิดจากนวนิยายชื่อเดียวกันเรื่องนี้ 'บุพเพสันนิวาส' ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพฤษภาคมปี 2556 เอาจริงๆ สำหรับชื่อเรื่องแล้ว มีหลายคนจะคิดว่าเป็นละครดราม่าพีเรียดเข้มข้น แต่ใครเลยจะคิดว่าเมืองไทยจะสร้างละคร พีเรียดคอมเมดี้ขึ้นมาได้
          บุพเพสันนิวาส ว่าด้วยเรื่องของ หญฺิงสาวที่ย้อนกลับไปในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคทองยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย 'รอมแพง' ใช้เวลาค้นคว้าถึง 3 ปีก่อนจะกลั่นกรองตัวอักษรออกมาเป็นนวนิยายหนึ่งเล่มนี้ได้ ในคำนำนักเขียนรอมแพรงกล่าวว่านิยายของเธอเกิดจากความคิดเล็กๆ ที่ว่า 'การกินเหล้าเมายาคือกลอุบายที่ทำให้คนรอบข้างตายใจ' และเธอยังบอกอีกว่า เธอเป็นหนี้ลาลูแบร์ ราชทูตที่เดินทางเข้ามาในช่วงสมัยนั้น ต้องยอมรับว่านิสัยของฝรั่งที่ช่างจดบันทึกทำให้คนไทยเราได้มองเห็นประวัติศาสตร์ของชนชาติเรากันเองพอสมควร ถึงแม้จะมีนักประัติศาสตร์หลายท่านที่บอกว่ามองซิเออร์ผู้นี้บันทึกทุกอย่างคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง แต่จะบอกได้หรือเปล่าล่ะว่าที่นักประวัติศาสตร์เราเชื่อนั้นเป็นความจริงกว่าของลาลูแบร์
          -- แอดเคยอ่าน 'จดหมายเหตุของลาลูแบร์' บอกเลยว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก เชื่อไหมว่าแผนที่อยุธยาโบราณที่เราเห็นน่ะ มาจากหนังสือเล่มนี้

เอาล่ะค่ะ จะขอรีวิวหนังสือและละครไปพร้อมกันนะคะ
1. ธีมนิยาย
          ก่อนที่ 'รอมแพง' จะเขียนเรื่องนี้เธอมีความหมายมั่นปั้นมือจะเขียนนวนิยายย้อนยุคสักเรื่อง เชื่อไหมคะว่านี้เป็นความฝันของนักเขียนหลายๆ คนเลยทีเดียว เพราะกลิ่นอายของประวติศาสตร์นั้นยั่วยวนจินตนาการของนักเขียนหลายคนมาก ดังจะเห็นได้จากนวนิยายที่กลายเป็นละครหลายเรื่องเช่น 'หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ของวรรณวรรธน์' ‘ทวิภพ ของ ทมยนตี’ ‘สายโลหิต ของ โสภาค สุวรรณ’ นักเขียนรุ่นใหญ่เหล่านี้ก็หลงใหลและศึกษารวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเขียนไม่ต่างกัน ใช่ว่าอยากเขียน มีพระเอกนางเอกมีฉากกุ๊กกิ๊กก็จะเขียนได้เลื่อนเปื้อน การเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยิ่งใกล้ตัวมากเท่าไหร่ต้องยิ่งใส่ใจรายละเอียดและเคารพประวติศาสตร์มากเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การเขียนนวนิยายที่อิงถึงเชื้อพระวงศ์นั่นหมายถึงเราต้องระมัดระวังอย่างมาก ซึ่งตรงนี้รอมแพงทำได้ดีค่ะ ในหนังสือของเธอกลายถึงกษัตริย์และต้นเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์มาก เธอเล่าเรื่องผ่านนางเอกได้อย่างเคารพและทำให้ผู้อ่านไม่ตะขิดตะขวงใจว่าเธอได้ลบหลู่พระองค์ท่านเหล่านั้นหรือไม่ โดยเฉพาะการที่ประวัติศาสตร์หลายจุดมีการโยงประเด็นที่เป็นทั้งแง่ดีแง่ร้ายในตัวบุคคลๆ หนึ่ง เธอก็คัดเลือกและวางเรื่องไว้ได้เป็นอย่างดี
          การถ่ายทอดเป็นละคร; เรียกได้ว่านี่คืองานหินของค่ายละคร การทำละครย้อนประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากการทำละครที่เป็นแนวแฟนตาซี โชคดีอยู่บ้างที่ประวัติศาสตร์มีความจริงและมองเห็นอยู่บ้าง ไม่ต้องจินตนาการใส่ใหม่ แต่เพราะมีอยู่แล้วทำให้รายละเอียดผิดเพี้ยนผิดยุคไม่ได้ ต้องยอมรับว่าโปรดักชั่นของละครทำได้ดีมาก เก็บเกี่ยวข้อมูลทั้งฉาก เสื้อผ้า ขนบธรรมเนียม ศิลปวัตถุ ถึงจะขาดตกไปบ้างก็เนียนสวยข จะขัดใจก็ CG บางฉากที่ใช้ซ้ำไปซ้ำมา แต่ก็ให้อภัยได้ เพราะละครเก็บรายละเอียดที่หนังสือกล่าวไว้มาสร้างฉากได้น่าดูชม จนทำให้คนไม่ชอบประวัติศาสตร์หลายคนหลงใหลไปด้วย
  2. ธีมการเล่าเรื่อง
          นิยายเล่าเรื่องผ่านนางเอกผู้เป็นอาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ ตรงนี้แตกต่างจากในละครเล็กน้อยแต่ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรส รอมแพงต้องการให้ผู้อ่านมองเห็นเรื่องราวเช่นคนยุคปัจจุบันมองอดีต คืออยากรู้อยากเห็น ตรงนี้คือจุดขายของนิยายของเธอที่ทำให้ผู้อ่านอินไปด้วย เพราะคนอ่านเองคงไม่ได้รู้เรื่องราวในอดีตมากนัก การที่ทำให้นางเอกอยากรู้อยากเห็นนั้นกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่านราวกับเดินเข้าไปเป็นนางเอกนิยายไปด้วย
          การถ่ายทอดเป็นละคร; ละครเองก็เล่าเรื่องด้วยรูปแบบของนิยายเฉกเดียวกัน ซึ่งนั่นถูกใจคอนิยายเป็นอย่างมาก การที่ดึงเอาตัวเอกนิยายมาเป็นตัวเอกในละคร โดยพยายามคงบุคลิกของตัวละครไว้เป็นสิ่งที่นักอ่านหลายคนถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เป็นการเคารพหนังสือ เคารพคนเขียน และเคารพเนื้อเรื่องดั้งเดิมที่ผู้เขียนตั้งใจจะให้เป็นไป
         --ไม่ใช่ว่าการนอกเรื่องจะไม่ดี แต่ในฐานะคนอ่าน เรามักจะคาดหวังจะได้เห็นจินตนาการของเราโลดแล่นอย่างสวยงาม หากนอกเรื่องแล้วดีงามก็ถือว่าได้กำไร แต่ถ้านอกเรื่องแล้ว พัง! พัง! พัง! อย่างละครหลายเรื่องที่ทำให้อรรถรสหนังสือพัง นักอ่านก็มักจะสวดยับเลยทีเดียว (อย่างที่ละครหลายเรื่องได้ืำลงไป)



3. ธีมตัวละคร
          นี่คงเป็นสิ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้กลายเป็นฟีเวอร์ ในนิยายนางเอกของเราเป็นคนโผงผาง มองโลกในแง่ดี ไม่ยอมคน ซึ่งก็คือบุคลิกของผู้หญิงยุคปัจจุบัน ในขณะที่คุณพี่หมื่นเป็นบุคลิกชวนฝันของคอนิยายสาวอ่อนสาวแก่ทุกตัวตน คือนิ่ง สงบ สยบใจสาว พูดน้อยคำ แต่พูดทีแสดงสายตากิริยาทีนางเอกหรือแม้แต่คนอ่านที่คิดว่าตัวเองเป็นนางเอกก็ระทดระทวย เพราะคนอ่านนิยายแนวนี้เป็นผู้หญิง การที่บุคลิกของนางเอกเป็นเช่นนี้ก็ตรงใจกับใครหลายคนว่าถ้าฉันย้อนไปแบบนางเอกก็คงจะมีสภาพเป็นม้าดีดกะโหลก ให้คุณป้าเขกหัวได้วันละสามเวลาหลังอาหาร มาเจอพ่อพระเอกพูดน้อยแต่ต่อยหนัก บอกรักผ่านลูกตาวิบวับ ไม่หลงก็ไม่รู้จะว่ายังไง ธีมตัวละครแบบนี้พบได้อีกในเรื่อง ‘ทวิภพ ของ ทมยนตี’ ซึ่งคอนิยายจะรู้ว่าพระเอกได้ฉายาว่า ‘ลูกตาพูดได้’ สองตัวละครหลักที่กลายเป็นส่วนผสมที่มีเสน่ห์ทำให้ยิ่งพิ่มอรรถรส ยิ่งฉากหวานซึ้งตรึงใจฤทัยหวนยิ่งไม่ต้องพูดถึง นักอ่านหลายคนระทวยราวกับถูกจ้องตา
          การถ่ายทอดเป็นละคร; ต้องบอกเลยว่าถูกฝาถูกตัว เบลลาเล่นได้ดี ถ่ายทอดความเป็นนางเอกของเรื่องได้น่ารักและมีเสน่ห์เช่นนางเอกในนิยาย แต่อย่าให้บทมันล้นไปมากกว่านี้จนเกินเลยกาลเทศะ เพราะไม่อยากนั้นธีมละครจะผิดแผกออกจากนิยายไปมาก (เหมือนะครเรื่อง...เอ่อ...ยังไม่พูดดีกว่า) ส่วนตัวพระเอก โป๊บ ธนวรรธน์ เรียกได้ว่าถอดคุณพี่หมื่นออกมาได้อย่างมีเสน่ห์ โดยเฉพาะดวงตาที่แอดก็เผลอยิ้มตามเวลาตาของพี่หมื่นท่านวิบวับแข่งกับแสงเดือนแสงดาว
          ตัวละครตัวอื่นอย่าน้อยใจ ถ่ายทอดและถอดแบบได้อย่างสมบูรณ์เลยค่ะ ที่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพราะการชูเรื่องอรรถรสในละครมักจะต้องมองธีมผ่านพระเอกนางเอก แต่ก็ต้องคอยจับตาดูว่าค่ายละครจะกรองบุคลิกของบุคคลสำคัญให้เป็นอย่างไร เพราะนวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงบุคคลสำคัญไว้มาก รอมแพงกล่าวถึงอย่างระมัดระวัง ในฐานะที่เป็นคอหนังสือ คอละคร และอ่านประวัติศาสตร์มาแต่เล็กแต่น้อย บอกเลยว่ากำลังจับตาดูเนื้อหาและตัวละครในส่วนนี้อยู่มากทีเดียว

          ความเห็นส่วนตัวที่รอดูคือ อรรถรสนิยายและละครทำได้มากมาย แต่ไม่ควรลบหลู่หรือทำลายบุคคลหรือประวัติศาสตร์ให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักฐานเท่าที่มีปรากฏ 

         แต่ก็นั่นล่ะ แอดหลงพี่หมื่นรุนแรงมากจริงๆ อยากจิเป็นแม่เกตุสุรางค์ในร่างการะเกดเสียเหลือเกิน

***อยากให้รีวิวเรื่องไหนอีกบอกได้นะคะ อ่านมาเยอะ ดูมามาก***
รอบหน้าจะรีวิวของวันพุธที่จะถึงว่าดีไม่ดีอย่างไรหลังละครจบที่เพจ facebook 'เมื่อนิยายกลายเป็นละคร'

แสดงความคิดเห็น

>