Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แพทย์ TCAS 61 พบว่าถ้าได้คะแนนผลสอบเทียบกับปีก่อนๆและติดแพทย์โควตาแล้วจะเลือกแพทย์โควตาหรือไปต่อแพทย์ กสพท

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

          จากการที่ ทปอ ได้เปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบเดิมที่ใช้ก่อนหน้านี้มาเป็นระบบคัดแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบ TCAS ที่เริ่มใช้ในปี 2561 นี้เป็นปีแรกนั้น รายละเอียดต่างๆน่าจะได้ศึกษากันมาพอสมควรแล้ว ซึ่งระบบ TCAS แบบใหม่นี้จะขอสรุปคร่าวๆเพื่อให้เข้าใจตรงกันก็คือ มีการรับแบ่งออกเป็น 5 รอบ มีการเข้าระบบ Clearing House ให้จบกันไปรอบต่อรอบซึ่งเป็นข้อดีของระบบนี้ที่ช่วยแก้ปัญหาที่เด็กเก่งๆติดพร้อมกันหลายที่หลายคณะแล้วกันสิทธิ์คนอื่นเอาไว้ ซึ่งสร้างปัญหาในทั้งเรื่องการกันสิทธิ์คนอื่นที่ควรจะได้ที่เรียนที่ดีๆที่อยากจะได้แต่มาโดนคนเก่งๆนั่งทับที่นั่งเอาไว้หลายที่ในเวลาเดียวกันและได้สร้างปัญหาเรื่องการจัดการรับเข้าเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ผ่านๆมาตามที่ต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้ว  สำหรับรายละเอียดการรับแบบ TCAS แต่ละรอบก็ขอให้ไปหาข้อมูลเพื่อศึกษาและทบทวนเอาไว้ละกัน
            เป็นเรื่องที่น่าคิดเป็นอย่างมากสำหรับคนที่คิดอยากจะเรียนแพทย์และได้สอบในปีนี้ หากผลออกมาว่าได้คะแนนสูงพอที่จะติดแพทย์ตามโควตาภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เชียงใหม่ แพทย์แม่ฟ้าหลวง แพทย์พะเยา แพทย์นเรศวร แพทย์ขอนแก่น แพทย์อุบล แพทย์บูรพา แพทย์สงขลาและอีกหลายๆแพทย์ที่มีการรับรอบโควตาและใช้ผลคะแนนเดียวกันร่วมกับกลุ่มแพทย์ กสพท ผมก็ขออภัยหากว่าข้อมูลการรับตามที่กล่าวมาผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็ยินดีน้อมรับคำท้วงติงและจะแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป สำหรับแพทย์อื่นๆที่มีการรับแบบโควตานอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นหากท่านใดทราบข้อมูลก็ขอให้ช่วยนำเสนอมาด้วยครับ เพื่อจะได้แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนและจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้พบเห็นและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการรับกลุ่มแพทย์ PI ยอมรับตรงๆว่าผมหูหนวกและตาบอดเลยทีเดียวสำหรับรายละเอียดและข้อมูลระบบการรับแพทย์กลุ่มนี้
 
        ผมคิดว่ากระทู้นี้น่าสนใจน่าคิดและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะระบบการรับแพทย์ปีนี้หากไม่รวมการรับแพทย์ยืน Port รอบที่ 1 ที่ผ่านไปแล้วและผมคิดว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวของระบบการแย่งกันรับแพทย์แบบยื่น Port ต่อไปในอนาคตซึ่งผมได้ตั้งไว้ในอีกกระทู้หนึ่ง
 
กลับมาที่กระทู้นี้กันเลยดีกว่า การรับแพทย์ปีนี้ต่างกับการรับแพทย์ในปีก่อนๆก็คือ
  1. กลุ่มแพทย์โควตาและกลุ่มแพทย์ กสพท ใช้คะแนนจากการสอบความถนัดทางแพทย์และคะแนน 7 วิชาสามัญตัวเดียวกันเป็นเกณฑ์ในการรับนักศึกษาแพทย์ทั้งสองรอบ
  2. รู้ผลคะแนนทั้งหมดก่อนการเลือกทั้งกลุ่มแพทย์โควตาและกลุ่มแพทย์ กสพท  สำหรับกลุ่มแพทย์โควตาได้เปรียบเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้เลือกก่อน หากคะแนนถึงยื่นติดแพทย์โควตาและประกาศผลรายชื่อออกมาแล้วก็อยู่ที่การตัดสินใจละว่าจะเลือกยืนยันสิทธิ์หรือเลือกสละสิทธ์เพื่อไปยื่นกลุ่มแพทย์ กสพท สถาบันใหญ่และมีชื่อเสียงกว่า ค่อยมาดูเหตุผลกันว่าจะเลือกยืนยันสิทธิ์แพทย์โควตาเลยหรือเลือกสละสิทธิ์เพื่อไปต่อ กลุ่มแพทย์ กสพท น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
  3. มีการนำโรงเรียนแพทย์หลายๆแห่ง ที่ไม่เคยเข้ามาอยู่ในกลุ่มการรับร่วมของกลุ่มแพทย์ กสพท ในปีนี้เป็นปีแรก เช่น แพทย์แม่ฟ้าหลวง แพทย์บูรพา แพทย์สุรนารี และกลุ่มทันตแพทย์บางที่เป็นต้น สถิติต่างๆย่อมไม่เคยมีให้เห็น
           เพื่อไม่ให้กระทู้ยาวเกินไปเรามาดูกันเลยดีกว่าว่าจะตัดสินใจเลือกอย่างไรดี เราลองมาดูข้อมูลสำคัญๆที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือก ความแตกต่างที่มีผลต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ก็คือ การรับแบบโควตารุ่นก่อนหน้านี้ใช้คะแนนคนละตัวกันกับกลุ่มแพทย์ กสพท สมัยก่อนคนที่สอบติดแพทย์โควตาที่ออกข้อสอบและจัดสอบโดยแต่ละมหาวิทยาลัยเองแล้ว หากจะไปต่อกลุ่มแพทย์ กสพท จะต้องไปสอบความถนัดทางแพทย์และต้องสอบ 7 วิชาสามัญแข่งกับกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธ์เลือกโควตากจากส่วนกลางอีกครั้งหนึ่งก่อน สำหรับคนที่พอใจกับการติดแพทย์โควตาไปแล้วก็เลือกที่จะไม่สอบให้เหนื่อยหรือสอบก็อ่านแบบไม่เต็มที่มากนักเพราะถึงอย่างไรก็ติดแพทย์โควตาอยู่แล้ว ก็เลือกที่จะมอบตัวกับแพทย์โควตาไป คนกลุ่มนี้ก็จะหายไปจากการเป็นคู่แข่งขันของกลุ่มแพทย์ กสพท ไปส่วนหนึ่ง แต่พอมาเป็นระบบ TCAS ที่แพทย์โควตาใช้คะแนนเดียวกันเด๊ะๆกับกลุ่มแพทย์ กสพท ด้วยแล้ว และยิ่งได้เห็นคะแนนก่อนยื่นทั้งรอบโควตาและรอบ กสพท คนที่ได้คะแนนสูงลิบของกลุ่มโควตาเดิมกลายมาเป็นคู่แข่งของคนสมัคร กลุ่ม กสพท ไปโดยปริยาย และด้วยความที่ปีนี้เป็นปีแรกของระบบการับแบบนี้ สถิติต่างๆจึงยังไม่มีให้เห็นและไม่มีให้ได้ศึกษาเปรียบเทียบถึงพฤติกรรมการเลือกและการตัดสินใจ จึงเป็นความยากอีกชั้นหนึ่งของการเลือกตัดสินใจในการเลือกยืนยันสิทธ์เข้าแพทย์ TCAS 61 นี้
….
 
                  อย่างที่บอกไว้ว่า กระทู้นี้น่าสนใจน่าคิดและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
ผมได้ติดตามดูคะแนนการรับแพทย์ กสพท มาหลายปีพอสมควร มีตัวเลขคะแนนทางสถิติที่เมื่อได้คะแนนสอบของกลุ่มแพทย์ กสพท ออกมาแล้ว ก็พอจะคำนวณและคาดเดาได้ว่าแพทย์แต่ละที่มีคะแนนต่ำสุดเท่าไร ช่วงปีสองปีมานี้คะแนนที่คำนวณออกมาก็ได้ใกล้เคียงพอสมควรพอที่จะบอกแนวโน้มของคะแนนได้ว่าจะขึ้นหรือลงแต่ละที่ต่ำสุดสักเท่าไร แต่ก็เป็นเพียงเอาไว้ลุ้นว่าจะติดหรือไม่ติดเท่านั้น เพราะในระบบก่อนปี 2561 นี้เป็นระบบการเลือกคณะก่อนรู้ผลคะแนนอย่างที่จะเป็นในปีนี้
แต่พอมาปี 2561 นี้มีการล้างไพ่ระบบวิธีการรับกันใหม่ มีเงื่อนไขใหม่ๆเข้ามาเป็นตัวแปรอีกหลายตัว สิ่งที่เคยทำไว้และเคยเอามาใช้ก็เปลี่ยนไป การคิดและการใช้ข้อมูลเดิมๆก็นำมาใช้ไม่ได้ทั้งหมด ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดกันใหม่พอสมควร
 
                  ลองมาดูกันต่อ หากติดตามกระทู้เกี่ยวกับการลุ้นผลการรับแพทย์ กสพท ในแต่ละปีที่ผ่านๆมา เราจะแบ่งกลุ่มแพทย์และกลุ่มคะแนนเอาไว้อยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแพทย์หัวแถวคือคะแนนสูง กลุ่มแพทย์กลางตาราง และกลุ่มแพทย์ท้ายตาราง ผลของคะแนนแต่ละที่เป็นตัวแบ่งโดยธรรมชาติของพฤติกรรมการเลือก กลุ่มที่ลุ้นหนักและเหนื่อยที่สุดก็คือกลุ่มที่ได้คะแนนกลุ่มท้ายตารางลุ้นว่าจะติดไม่ติด จะติดไม่ติด จะติดไม่ติด กลุ่มนี้นอนไม่หลับนอนสะดุ้งนอนผวากันเป็นเดือนๆ ลุ้นว่าคะแนนปีนี้จะขึ้นหรือลง ตัวเองจะหลุดหรือไม่หลุด ตลอดหนึ่งเดือนกว่าเฝ้าหน้าจอหาเหตุผลต่างๆให้ตัวเองได้เป็นหนึ่งผู้ที่มีรายชื่อติด กสพท ตัวจริง ประสาทจะกินกันเป็นแถวๆ
 
                ที่กล่าวมาทั้งหมดก็แค่อยากจะให้เห็นข้อมูลต่างๆที่ผ่านมา สำหรับในปีนี้การที่เราเห็นคะแนนของตัวเองและค่าเฉลี่ยต่างๆก่อนยื่นทั้งแพทย์โควตาและแพทย์ กสพท กลุ่มที่ต้องคิดหนักที่สุดก็คือ กลุ่มที่เห็นคะแนนตัวเองแล้วอยู่ในกลุ่มท้ายหรือสูงกว่ากลุ่มท้ายนิดหน่อย กลุ่มนี้หากติดแพทย์กลุ่มโควตาแล้ว ผมขอแนะนำให้ยืนยันสิทธิ์ไปเลย ส่วนกลุ่มที่ได้คะแนนสูงขึ้นไปหากติดแพทย์โควตาแล้วและเลือกสละสิทธิ์เพื่อไปต่อในรอบ กสพท เพื่อจะยื่นในคณะดีมหาวิทยาลัยดังๆหากคะแนนไม่สูงมากจริงๆผมก็ขอสะกิดเตือนว่ามีความเสี่ยงพอสมควรทีเดียว ความเสี่ยงที่มองเห็นชัดๆก็คือสำหรับกลุ่มที่ได้คะแนนสูงมากๆทั้งหมดจะแย่งกันยื่นแพทย์จุฬาศิริราชและรามาอย่างไม่ต้องสงสัย หากพวกนี้หลุดจากทั้งสามที่นี้ลำดับถัดไปที่พวกนี้เลือก คะแนนของที่นั้นๆก็จะสูงไปด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการรับแพทย์ กสพท 2560 ก็คือ คนเก่งต่างแย่งกันเลือกสมัครแพทย์จุฬาเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าเลือกศิริราชเป็นอันดับหนึ่งเป็นอย่างมากแล้วมาเลือกรามาเป็นอันดับสอง ( ปกติก่อนปี 2560 เด็กเก่งๆจะแบ่งเป็น 2 พวกที่เลือกแพทย์จุฬาและแพทย์ศิราชเป็นอันดับหนึ่งน่าจะพอๆกัน สังเกตจากคะแนนสูงสุดและต่ำสุดของทั้งสองที่นี้จะใกล้เคียงกัน อันดับสามเป็นของแพทย์รามา ) ผลก็คือ กสพท ปี 2560 คะแนนต่ำสุดของแพทย์จุฬาเพิ่มขึ้นสูงมากๆ คนที่หลุดจากแพทย์จุฬาและส่วนใหญ่จะเลือกเลือกแพทย์รามาเป็นอันดับสองก็เป็นผลทำให้คะแนนต่ำสุดของแพทย์รามาขึ้นมาสูงกว่าคะแนนต่ำสุดของแพทย์ศิริราชเสียอีก ทั้งๆที่ปกติคะแนนต่ำสุดของแพทย์รามาจะต่ำกว่าของแพทย์ศิราช หลายๆคนที่ฝันหวานว่าปี2560 นี้ติดแพทย์รามาแน่ๆ อกหักกันเป็นแถว ลองไปหาข้อมูลดูว่าเป็นเช่นนี้จริงหรือไม่ พฤติกรรมการเลือกลักษณะนี้ในปีนี้ที่จะเห็นคะแนนก่อนเลือกลำดับแพทย์ อาจจะทำให้คนที่วางแผนเลือกไม่ดีมีโอกาสผิดพลาดได้ โดยเฉพาะคนที่ติดแพทย์โควตาไปแล้วแต่คะแนนไม่สูงมากพอจนปลอดภัยและเลือกสละสิทธิ์เพื่อที่จะไปต่อ ก็ขอให้คิดให้รอบคอบคิดไตร่ตรองให้ครบถ้วนแล้วจึงตัดสินใจ ( อันที่จริงการรู้คะแนนก่อนเลือกคณะเลือกลำดับแพทย์เคยมีใช้มาก่อนหน้านี้แล้วช่วงหนึ่งแต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นเลือกคณะก่อนรู้คะแนน การรู้คะแนนก่อนเลือกคณะน่าจะสร้างปัญหาเรื่องเด็กเก่งจะไปกระจุกตัวอยู่ในมหาลัยดีคณะดัง มหาลัยกลางๆท้ายๆได้เด็กกลุ่มหลังแท้จริงสักช่วงหนึ่ง ก็ลองติดตามดูกันต่อไปสักระยะครับ )
 
              สำหรับกลุ่มที่ได้สิทธิ์เลือกเฉพาะกลุ่มแพทย์ กสพท หรือการรับรอบที่ 3 ก็ขอให้กระจายการเลือกเป็นลำดับอย่างที่ควรจะเป็น การที่มีคะแนนสูงพอที่จะติดกลุ่มท้ายได้ หากตัดสินใจเลือกไม่ดีก็มีสิทธิ์หลุดได้เช่นกัน อย่างที่บอกไว้ ปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้การรับระบบนี้ ไม่มีตัวอย่างให้เห็นมาก่อนอะไรก็เกิดขึ้นได้ ผมยังคิดอยู่ว่าแพทย์ที่ลำดับเคยอยู่รั้งท้ายๆปีก่อนๆมาปีนี้อาจจะกลายเป็นที่ห้อยท้ายของคนเก่ง และกลับกลายเป็นว่าคะแนนกลุ่มนี้จะสูงขึ้นอย่างที่คะแนนต่ำสุดของแพทย์รามาสูงกว่าคะแนนต่ำสุดของแพทย์ศิราชในรอบการรับปี 2560 และแพทย์กลุ่มกลุ่มกลางตารางปีนี้อาจจะมีคะแนนต่ำลงก็เป็นได้ ส่วนแพทย์กลุ่มใหม่ที่เข้ามาก็เป็นเหมือนกล่องดำที่คาดเดายากจริงๆ ตัวอย่างก็อย่างเช่นแพทย์รามาจุฬาภรณ์ที่เข้ามาปีแรกก็ก็อันดับใกล้เคียงกับแพทย์รามาเลย มาปีนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร ท่านใดมีความคิดเห็นอย่างไรก็เอามาถกกัน เพื่อจะได้เป็นข้อมูลให้นักเรียนและผู้ปกครองหลายๆท่านที่มีลูกหลานจะต้องสอบเข้าในปีนี้ได้ศึกษาและพิจารณานำไปใช้ในการตัดสินใจ
 
ขอให้โชคดีและสมหวังตามที่ปรารถนาทุกคนครับ
 

แสดงความคิดเห็น

14 ความคิดเห็น

Tanin 5 มี.ค. 61 เวลา 20:57 น. 2

ปี 60 แพทย์รามา รับน้อยลงประมาณ 48 คน ครับ

โดยเปิดรับแพทย์ รามา - จุฬาภรณ์ ประมาณ 50 คนแทน

ซึ่งคะแนนต่ำสุดของ รามา-จุฬาภรณ์ ก็น้อยกว่าศิริราช

ซึ่งปีนี้ก็คาดว่าน่าจะรับจำนวนประมาณเดียวกัน ทำให้คะแนน

ของแพทย์รามาสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนรับน้อยลงครับ

แต่ปี 61 การคาดเดาจะยากขึ้นมาก ต้องดู 9 วิชาสามัญ ว่าเด็กบ่นว่ายากขึ้น

หรือง่ายกว่าเดิม แล้วก็ต้องเสี่ยงประมาณการกันเอง

ซึ่งตรงนี้เด็กซิ่วน่าจะได้เปรียบในการตัดสินใจ เพราะได้ทำข้อสอบทั้ง 2 ปี

ในกลุ่มเด็กเก่งไม่น่ามีปัญหาการเลือกมากนัก เพราะรู้คะแนนก่อน ส่วนใหญ่ก็จะเลือกไล่คะแนน

ช่วงละ 1-2 คะแนนอยู่แล้ว ปัญหาคือเด็กเก่งกลางๆ แล้วประเมินตนเองในการสอบไม่ชัด

แต่ที่ดีทีสุด ถ้าไม่ใช่เทพของ 2-3 สถาบัน ก็ควรเลือกแพทย์ท้ายตารางปิดท้าย ตามลำด้ับคะแนน

ที่ได้รู้ก่อนแล้ว ก็น่าจะไม่ผิดหวัง สำหรับเด็กเก่งทุกระดับ

แต่สำหรับเด็กที่มาจากสถาบันที่ไม่เด่นมากนัก อย่าลืมเลือกอันดับรองลงไปปิดท้ายด้วยเสมอ

สำหรับการกระจุกตัว ปกติ จุฬา รามา ศิริราช ก็เป็นการกระจุกตัวขั้นสูงอยู่แล้วครับ

ไม่น่่าจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ

ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเก่งท้่ายตารางครับ ตัดสินใจกันให้ดี ๆ ถ้าพลาด ต้องรออีกปีครับ

0
ไอสไตล์ 6 มี.ค. 61 เวลา 00:32 น. 3

อ้างถึง คห.#2 คุณ Tanin


จากตัวเลขจำนวนรับแพทย์รามาและรามาจุฬาภรณ์ของคุณ Tanin ตาม คห.#2 รู้สึกว่าจะคลาดเคลื่อนจากตัวเลขที่ผมเคยรวบรวมเอาไว้นะครับ ผมเคยรวบรวมจำนวนการรับแพทย์ของ กสพท ตั้งแต่ปี 2556 - 2560 เอาไว้ในอีกกระทู้หนึ่งโดยรวบรวมและเปรียบเทียบตัวเลขการรับจากการที่ กสพท ได้ประกาศจำนวนรับเอาไว้เทียบกับตัวเลขการรับจริงหลังจากที่ได้ประกาศผลสอบตัวจริง(รอบแรก)ออกมาแล้ว ตามลิงค์ที่ผมแปะเอาไว้นี้ ลองไล่หาดูครับ รู้สึกว่าจะอยู่ใน คห.#93 (สถิติจำนวนตามที่ประกาศรับกับจำนวนรับจริง ปี2556-ปี2559) และ คห.#193 ( ของปี2560)


ตามลิงค์นี้ครับ https://www.dek-d.com/board/view/3724103/ ลองตรวจสอบตัวเลขการรับดูครับ


เป็นกระทู้ที่คำนวณคะแนนออกมาและคาดเดาคะแนนต่ำสุดของแต่ละที่ของปี 2560 รอบที่เพิ่งผ่านมา กระทู้ค่อนข้างจะยาวสักหน่อยลองไล่อ่านบรรยากาศการลุ้นคะแนนของปี 2560 กันดูครับ


0
ผปค.ครับ 6 มี.ค. 61 เวลา 15:10 น. 4

ปีก่อนเด็กติดโค้วต้าแล้วยืนยันสิทธิแล้ว แต่พอคะแนน กสพท.ออกมาสูงก็ลาออก ยอมถูกริบเงิน สละสิทธิไปหา กสพท.เกือบหมดหละครับ ยังไงก็ลงไปแย่งในรอบ กสพท.อยุ่ดี


แถมปีก่อนๆ คนที่มีฐานะการเงินไม่เดือดร้อน วิ่งรอกสอบได้หลายที่ได้เปรียบ ประเภทนั่งเครื่องตระเวนสอบในขณะเด็กครอบครัวธรรมดาๆ อย่างมากไปสอบได้ไม่กี่ที่ งบก็ไม่พอแล้ว


ปีนี้คะแนนออกก่อนเลือก น่าจะทำให้ประเมินตัวเองได้ถูกว่ามีสิทธิมั๊ย ควรเลือกลำดับยังไง

0
Worawansmile New 6 มี.ค. 61 เวลา 21:30 น. 6

น่าคิดมากๆ ครับแนวคิดนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตอนนี้อ่านแทบบ้าแล้วครับ ขอ 64-65 ยังหวาดๆ เลยครับ

1
Annulus 7 มี.ค. 61 เวลา 17:21 น. 7

...........ได้ข่าวเเว่วมาว่า รร.ดังสักโรง จะเลือกอันดับ 1 เป็นคณะ X เพิ่มข้ึนจากปีก่อน อาจทำให้คะเเนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอีก.................................................. ถ้าความยากเท่าเดิม......................


ปล1 เเค่ได้ยินมา

ปล2 ปีนี้......มี KVIS อีก........

0
ไอสไตล์ 9 มี.ค. 61 เวลา 08:26 น. 8


ตารางคะแนนต่ำสุด กสพท ปี 2557 - 2560https://image.dek-d.com/27/0580/1176/126240820

ตารางนี้ดูง่ายและทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ลองดูพฤติกรรมการเลือกลำดับคณะจริง ที่แปรผลมาจากสถิติคะแนนของปีที่ผ่านๆมานะครับ

ซึ่งเป็นการเลือกลำดับคณะก่อนที่จะรู้ผลคะแนน น่าสนใจมาก


มาปี 2561 นี้ กสพท ให้รู้ผลคะแนนก่อนการเลือกลำดับคณะ

ถ้าดูแบบผิวเผินแล้วก็เป็นอะไรที่ง่าย แต่ถ้าดูให้ลึกลงไปอีก ดูเหมือนว่าจะไม่ง่ายเสียทีเดียว

โดยให้ดูพฤติกรรมการเลือกของปี 2560 เป็นตัวอย่าง

แล้วค่อยมาขยายความกันต่อครับ



0
ไอสไตล์ 13 มี.ค. 61 เวลา 10:13 น. 9


พฤติกรรมการเลือกลำดับของกลุ่มเด็กเก่งขั้นเทพเป็นอย่างไร...ลองมาดูกันครับ

กสพท ก่อนปี 2561 ใช้ระบบการเลือกลำดับก่อนรู้ผลคะแนน

( ปี 2561 รู้ผลคะแนนก่อนเลือกลำดับ )


เราลองมาดูกันว่าเก่งขั้นเทพเขามีวิธีเลือกอันดับคณะกันอย่างไร ถ้าไม่นับที่เลือกแบบลูกโดดที่เลือกเฉพาะจุฬาหรือศิริราชแบบโดดๆที่ใดที่หนึ่งอันดับเดียวเท่านั้นแล้ว เด็กเก่งกลุ่มนี้ที่มี Passion หรือมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นหมอ


โรงเรียนแพทย์ที่เหล่าเด็กเก่งขั้นเทพจริงๆอยากจะเข้าเรียนมีอยู่ 2 แห่ง ( ที่จริง3แห่งรวมรามาด้วย) ในแต่ละปีจะมีจะมีเด็กเก่งขั้นเทพแท้จริงอยู่ประมาณ 600 คน และได้แบ่งกันเลือกแพทย์จุฬาและศิริราชเป็นอันดับที่ 1 (และส่วนหนึ่งเลือกรามาเป็นอันดับ 1) ในจำนวนที่เกือบจะเท่าๆกัน แต่จะมีน้ำหนักเทไปเลือกแพทย์จุฬาเป็นอันดับ 1 จำนวนจะมากกว่าแพทย์ศิริราชสักนิดหนึ่งซึ่งเป็นผลให้คะแนนต่ำสุด กสพท ของแพทย์ศิริราชจะน้อยกว่าของแพทย์จุฬาตลอดมาแต่ก็แทบจะไม่ห่างกันเลย และทั้งกลุ่มที่เลือกจุฬาหรือศริราชเป็นอันดับที่ 1ต่างก็เลือกรามาเป็นอันดับที่ 2 ในการเลือกอันดับคณะ และมักเลือก วชิระ มช หรือ มธ เป็นอันดับที่ 3 ก่อนหน้านี้แพ็คเทพจะเลือกจุฬาศิริราชและรามาเรียงเป็น 3 ลำดับ แต่ช่วงหลังมานี้ หลังจากเห็นคะแนนต่ำสุดของศิริราชแทบจะเท่ากับจุฬา หากหลุดจุฬาก็หมายความว่าหลุดศิริราชไปด้วย วิธีการเลือกเรียงจากจุฬาศิริราชรามาก็ค่อยๆหายไป ช่วงปีหลังๆมานี้กลุ่มเก่งขั้นเทพจะใช้วิธีการเลือกจุฬาหรือศิริราชที่ใดที่หนึ่งเป็นอันดับที่ 1 แทนแบ่งเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน แล้วทั้ง 2 กลุ่มนี้ต่างก็เลือกรามาเป็นอันดับที่ 2 เราจึงเห็นคะแนนต่ำสุดของจุฬาศิริราชและรามาเรียงเป็นอันดับหนึ่งสองสามเรื่อยมาและเกาะกลุ่มเป็นกลุ่มแพทย์คะแนนสูงอย่างเหนียวแน่น


แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคะแนนต่ำสุดของรามาและศิริราชใน กสพท ปี 2560 ที่มีการสลับลำดับที่ของรามาขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 แทนศริราชล่ะ ( จริงๆแล้วถ้าไปดูคะแนนให้ละเอียด จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยของศิริราชก็ยังคงสูงกว่าของรามาเหมือนอย่างที่เคยๆเป็นมาเหมือนเดิม ) เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในการเลือกอันดับ กสพท ช่วงปีสองปีมานี้โดยเฉพาะปี 2560 เด็กกลุ่มขั้นเทพ 600 คนนี้เริ่มมีการเทน้ำหนักไปเลือกไปแพทย์จุฬาเป็นอันดับที่ 1 มากกว่าที่จะเลือกแพทย์ศิริราชเป็นอันดับที่ 1 มากกว่ามาก มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะรอบรับปี 2560 เด็กเก่งขั้นเทพเทไปเลือกแพทย์จุฬาเป็นอันดับหนึ่งอย่างถล่มทลาย ซึ่งก็เป็นผลทำคะแนนต่ำสุดของจุฬาปี 2560 กระโดดหนีอันดับที่ 2 ไปถึงประมาณ 4 เปอร์เซ็น มีช่องว่างห่างกันมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อเก่งขั้นเทพเต็มจำนวนรับของจุฬาจึงหลุดมาอันดับ 2 ที่กลุ่มนี้เลือกก็คือรามาและก็กลายมาเป็นผลให้รามาแซงอันดับคะแนนต่ำสุดขึ้นมาเหนือกว่าศิริราชอย่างที่เห็นๆกัน สรุปก็คือปี 2560 กลุ่มเด็กเก่งขั้นเทพเลือกจุฬาเป็นอันดับ 1 มากกว่าศิริราชเป็นอย่างมาก และเลือกรามาเป็นอันดับที่ 2 พฤติกรรมการเลือกอันดับ 1 ที่เทเอียงไปจุฬามากว่าศิริราชในลักษณะนี้จะทำให้ลำดับที่ของคณะที่เด็กกลุ่มนี้เลือกคะแนนจะสูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอันดับที่3 และอันดับที่ 4 ซึ่งถ้าเด็กกลุ่มนี้เลือกเทไปอันดับที่ 3 หรือ 4 ที่ใดก็จะทำให้อันดับที่ 3 และ4 ของที่นั้นมีคะแนนสูงขึ้น และนี่ก็คือที่มาที่ว่าแพทย์กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 อันดับภายในกลุ่มจะสลับกันอยู่เสมอๆในแต่ละปี แต่ขอประทานโทษครับคะแนนต่างกันแค่จุดทศนิยมเท่านั้นครับ


ดังนั้นในการเลือกอันดับ กสพท ในรอบการรับปี 2561 นี้ เป็นการรับที่เห็นผลคะแนน กสพท จริงก่อนที่จะเลือกอันดับที่ดูเหมือนว่าจะง่าย แต่มีแต่นะครับ...แต่ถ้าหากดูให้ลึกจริงๆแล้วจะไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียทีเดียว ขอให้ระวังขั้นเทพเอฟเฟคอย่างที่เคยเกิดอันเนื่องมาจากจากการเลือกอันดับ 1 ว่าเทไปข้างใดข้างหนึ่งมากจนเกินไประหว่างศิริราชกับจุฬา ที่ผลที่ตามมาจะไปกระทบกับคะแนน อันดับ 2 อันดับ 3 และอันดับ 4 ที่กลุ่มนี้เลือกเป็นลำดับไป...ลองค่อยๆคิดตามที่กล่าวมาดูนะครับ แล้วจะทำให้มองเห็นภาพและเข้าใจผลของ “ ขั้นเทพเอฟเฟค ” ที่จะเกิดขึ้นในรอบการรับปี 2561 ที่เห็นคะแนนก่อนการเลือกลำดับครับ ต้องเดาใจว่าคนเก่งๆจะเลือกอันดับกันอย่างไร หากเราได้คะแนนอยู่ในกลุ่มท้าย และพิจารณาเลือกอันดับอย่างรอบคอบและบังเอิญเลือกถูก เลือกที่จะไม่แข่งกับกลุ่มขั้นเทพ โอกาสงามๆก็ยังพอมีให้เห็น เราอาจได้ขึ้นสวรรค์แทนขั้นเทพบางส่วนที่ทำคะแนนพลาดเป้าที่แข่งกันเองและเบียดกันตกสวรรค์ไปเองครับ


ขอให้โชคดีทุกคนครับ



( มีความเห็นเดียวกันนี้ที่กระทู้นี้ด้วยครับ แต่มีสรุปเสริมรายละเอียดบางส่วนของปี 2560

https://www.dek-d.com/board/view/3724103/ )


0
MOOZA 22 มี.ค. 61 เวลา 15:57 น. 10

รอติดตามนะคะ คุณน่าจะวิเคราะห์แนวโน้มได้ใกล้เคียงพอสมควร

ยังไงถ้าคะแนน ความถนัดแพทย์ และ9วิชาสามัญออก อยากให้ลองวิเคราะห์สูง ต่ำ อีกที จะมารอติดตามค่ะ ประกอบการเลือกคณะ

0
คนดู 23 มี.ค. 61 เวลา 21:49 น. 11

ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา สาเหตุหลักที่มีการรับจริงมากกว่าจำนวนที่ประกาศก็น่าจะเป็นเพราะมีการสละสิทธิ์ครับ ถ้ายังจำกันได้ ตอนปี 2555 และก่อนหน้านั้นมีการสละสิทธิ์กันพอสมควร แม้กระทั่งแพทย์จุฬาหรือศิริราชก็เถอะ เพราะจะมีมหาเทพจำนวนหนึ่งที่ใจจริงแล้วอยากเรียนคณะอื่นมากกว่า เช่น วิศวะ มาสอบแพทย์ติด แต่ไม่เอา


ส่วนที่สละสิทธิ์นี้เองทำให้เกิดการต้องเปิดรับรอบสองและสามในบางแห่ง ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ ทำให้เด็กบางคนที่คะแนนไม่สูงและหลุดจากรอบปกติ (รอบแรก) กลับได้เรียนสถาบันที่คะแนนรอบแรกสูงกว่าเพื่อนที่หลุดมาติดสถาบันท้ายๆ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เบาๆ ขึ้น (ไม่ออกสื่อมากนัก)


ตัวอย่างเช่นปี 55 คะแนนต่ำสุดในรอบแรกของแพทย์ มช. คือ 58.xxxx ส่วนคะแนนสูงรอบแรกของแพทย์ มน. คือ 57.xxxx (อาจจะเป็นคนที่หลุด มช. - ใช่หรือไม่ก็ขออภัยนะครับ)

พอ มช.เรียกรอบสอง กลายเป็นว่าคนที่ได้ 56.xxxx ได้ไปเรียน มช. เฉยเลย


เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นหลายๆ ปี สถาบันต่างๆ จึงรับเกินจำนวนที่ประกาศไปเล็กน้อยเผื่อสละสิทธิ์ครับ ดังนั้นตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมา จึงมีการเรียกรอบสองน้อยลง

0
ไอสไตล์ 8 เม.ย. 61 เวลา 22:39 น. 12

หลังจากคะแนน 7 วิชาสามัญและวิชาเฉพาะ ของกลุ่มแพทย์รอบโควตาและ กสพท 2561 ออกมาแล้ว เมื่อนำมาคำนวณแล้ว และนำไปเทียบกับช่วงคะแนนกลุ่มแพทย์ กสพท ปี 2560 พบว่าปีนี้คะแนนมีแนวโน้มลดลงพอสมควรทีเดียว โดยที่คะแนนหลักโดยรวมของ 7 วิชาสามัญจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2560 แต่คะแนนวิชาเฉพาะลดลงเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากว่า กลุ่มแพทย์โควตาถ้าประกาสผลตัวจริงออกมาแล้วจะตัดสินใจว่าจะยืนยันสิทธิ์รอบโควตาเลยหรือเลือกจะไปต่อรอบที่ 3 รอบ กสพท มีคำแนะนำดังนี้ครับ แนวโน้มคะแนน จะมีอยู่สองช่วงนะครับ คือคนที่จะนำไปใช้ตัดสินใจว่าถ้าติดแพทย์กลุ่มโควตาแล้ว คนที่คิดว่ามีคะแนนเยอะ จะตัดสินใจไปต่อรอบ 3 รอบ กสพท หรือจะเลือกยืนยันสิทธิ์เลย สำหรับกลุ่มนี้ ตอนนี้ หากได้คะแนนไม่เกิน 69 ขอแนะนำว่า ให้ยืนยันสิทธิ์โควตาไปเลยครับ เพราะถ้าคะแนนต่ำกว่านั้นก็อาจหลุดแพทย์ TOP 3 และต้องไปแข่งกับกลุ่ม กสพท ก็ไม่รู้ว่าจะได้ไปติดที่ไหน ก็ลองพิจารณาดูนะครับ


5
Toppot 10 เม.ย. 61 เวลา 08:50 น. 12-1

ได้70.1ค่ะ น่าจะติดแพทย์ฬโควต้าจ.ชลบุรี แต่ใจอยากเรียนรามา ถ้าสละสิทธิ์จะเสี่ยงไหมค่ะ

0
ไอสไตล์ 10 เม.ย. 61 เวลา 10:26 น. 12-2

เป็นคำถามแทนความคิดคนกลุ่มที่ได้คะแนนระดับนี้ได้ดีมากครับ ผมจะตอบตามสมมติฐานที่อิงจากตัวเลขจริงที่ประมวลมาจากสถิติที่ผมรวบรวมมาและคิดว่าค่อนข้างจะใกล้เคียงกับตัวเลขจริงของปีนี้ ดังนี้ครับ ปีนี้เท่าทีผมคำนวณมาน่าจะมีคนที่ได้คะแนน 70 ขึ้นไปทั่วประเทศแบบเจ้าของคำถามอยู่ประมาณอย่างน้อยที่สุด 1000 คน ถ้าสมมติฐานที่แปรมาจากตัวเลขที่ผมมีอยู่ไม่ผิดนะครับ แต่คิดว่าน่าจะใกล้เคียง


ลองคิดง่ายๆ คนที่ได้เกิน 70 นี้ คิดอะไรกันอยู่


1. ถ้าได้คะแนนเกิน 70 มาก ไม่ลังเลที่จะไปต่อรอบ 3 และหมายตา TOP3 แต่จะมีส่วนหนึ่งที่จะอยู่ที่เดิม หลักๆเช่น มช มอ มข มน มศว เป็นต้น


2. ถ้าเกิด 1000 คนนี้ ตัดสินใจไปต่อรอบ 3 สัก 900 คน อย่าลืมว่า 70 คือฐานล่างสุดของกลุ่มคนที่ได้ 70 - 80 คะแนน หมายความว่า ยังมีคนที่ได้มากกว่า 70 อยู่อีกมาก


3. คน 900 ที่ได้มากกว่า 70 เลือกอะไรกัน ปีนี้ จำนวนรับ จุฬา 182 คน ศิริราช 270 คน รามา 154 คน ผิดพลาดก็ขออภัย ถ้า คนที่ได้ เกิน 71 คะแนน( ซึ่งชนะเรา) เทไปเลือกจุฬาเป็นอันดับ 1 สัก 400 คน และแน่นอนเลือกรามาเป็นอันดับ 2 แน่ๆ รวม 2 ที่นี้ 336 ที่นั่ง เท่ากับว่าคนที่ได้ 70 คะแนนปีนี้หลุดรามาไปแล้ว และอันดับ 3 ที่กลุ่มนี้เลือกล่ะ ไปตกที่ไหนก็ไปเบียดคนที่ได้คะแนนน้อยกว่าตกไปอีกยังไม่รวมกลุ่มที่ได้เกิน 71 ที่หลุดมาจากศิริราชอีก จะเห็นว่า ได้ 70 คะแนนไม่ใช่ว่าเลือกง่ายนะครับ ติดแน่ แต่จะไปติดที่ไหน โอกาสที่จะหลุดรามาสูงมาก ก็เป็นความเห็นให้พิจารณาตัดสินใจว่า หากไม่ติดรามาแล้ว ม บูรพากับโรงเรียนแพทย์ที่คาดว่าจะติดเทียบกันแล้วเราโอเคไหม ลองตัดสินใจดูครับ ถ้าเป็นผมสำหรับปีนี้ก็อาจยืนยันสิทธิ์ ม บูรพาครับ


คำถามที่ว่า ถ้าสละสิทธิ์จะเสี่ยงไหมคะ

คำตอบคือมีความเสี่ยงที่จะหลุดรามาไปติดที่อื่นครับ


ผมลืมไปโควตาชลบุรีไม่ใช่มีเฉพาะ ม บูรพา ถ้าเป็นโควตาจุฬา ก็โอเคยืนยันเลยครับ


0
888888 10 เม.ย. 61 เวลา 10:35 น. 12-3

โควต้าชลบุรี น่าจะคือ Cpird จุฬา ปีนี้บอกไม่ได้เลยว่าคะแนน ทอป 3 จะพลิกล็อคขนาดไหน ได้ตรงนี้แล้วน่าจะรับเลยนะคะ

0
Toppot 10 เม.ย. 61 เวลา 11:11 น. 12-4

ขอบคุณค่ะ โควต้าของจุฬาค่ะ แต่ใจอยากเรียนรามามาก

แต่ก็กลัวพลาดมากๆเหมือนกัน

0
88888 10 เม.ย. 61 เวลา 11:19 น. 12-5

ถ้าจะเสี่ยง ต้องรัได้ว่าหากพลาด รามา จริงๆ อันดับต่อไป รับได้ไหม เช่น วชิระ มธ จภ

0
Team41_60 10 เม.ย. 61 เวลา 10:35 น. 13

K.Toppot ได้โควต้า ฬ Cprid ชลบุรี ขอให้ความเห็นว่ารับสิทธิ์เถอะค่ะ สบายใจไทยแลนด์ เที่ยวเล่น หาของอร่อยกิน ไปทำกิจกรรมอื่นๆแทนการมารอลุ้นนะคะ


4
888888 10 เม.ย. 61 เวลา 10:39 น. 13-1

K.Team41_60 ชื่อบอกว่า ตอบ 41 ปีที่แล้ว ทีมพลาดเหมือนกัน ขอถามว่า ซิ่วใหม่หรือเรียนไปแล้วค่ะ

0
88888 10 เม.ย. 61 เวลา 10:53 น. 13-3

เก่งมาก ยินดีย้อนหลัง ปีนี้เข้ามาอ่น ลุ้นใครหรือเปล่าคะ

0
คิดคิด 12 เม.ย. 61 เวลา 18:48 น. 14-1

มีคนจำนวณมากไม่กล้าทำครับ


เกิดจะลุ้นติดแล้วผลออกมาคนแห่เลือก อดติด จบเลย

0