Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เสรีภาพที่หายไปโดยระบบ SOTUS

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีครับผมเป็นนักศึกษาปี1 วันนี้ผมได้เรียนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมา อาจารย์สอนเรื่องการเขียนความเรียงเเสดงความคิดเห็นครับ เลยเลือกหัวข้อเกี่ยวกับ ระบบโซตัส ผมเลยเขียนส่งอาจารย์ไป พอกลับหอผมเลยมาลองพิมพ์งานก็เลยจะตั้งกะทู้ เพื่อนลองเข้ามาอ่านกันได้นะครับ ผมเขียนไม่ค่อยเก่ง เเต่อยากให้เพื่อนๆลองอ่านดูเเละลองเเสดงความคิดเห็นดูครับ ความเรียงนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผมล้วนๆนะครับ

                                                                       เสรีภาพที่หายไปโดยระบบ SOTUS

          ในปีการศึกษา 2561 เมื่อเราจบการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาแล้ว  สอบเข้ามหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว เมื่อเราเดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ภาพที่เรานึกขึ้นมาคือชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยจะมีอิสระมากขึ้นได้ทำในสิ่งที่เราต้องการ แต่ว่าสิ่งที่เราคิดไว้ว่าจะทำนั้นอาจถูกจำกัดเสรีภาพโดยระบบSOTUS จนกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงว่าระบบSOTUS ว่ามีประโยชน์หรือไม่

            ระบบSOTUS คือ ระบบที่รุ่นพี่ของบางคณะคิดขึ้นมาเพื่อบังคับรุ่นน้องให้ทำตามกฎ โดยกฎดังกล่าวเป็นกฎที่ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนดไว้ เราสามารถละเลยกฎของรุ่นพี่ได้ แต่การละเลยกฎของรุ่นพี่ก็จะถูกรุ่นพี่ตำหนิ ต่อว่า ตะคอกใส่ หรือถึงขั้นบีบบังคับให้ลาออก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การแต่งกาย รุ่นพี่จะกำหนดการแต่งกายขึ้นมาเองโดยใช้ชื่อว่า “ระเบียบคณะ” ซึ่งจริงๆแล้วอาจารย์ในคณะก็ไม่ได้กำหนดขึ้นมาแต่อย่างใด โดยระเบียบคณะที่ว่าจะให้เราผูกเนคไท ห้อยบัตรนักศึกษา หรือติดป้ายชื่อ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับให้เราใส่ในขณะที่นั่งเรียน แต่รุ่นพี่เป็นคนที่บังคับเรา

            นอกจากนี้ยังมีกฎอื่นๆที่รุ่นพี่ห้ามไม่ให้เราทำทั้งที่ไม่ได้ผิดกฎของมหาวิทยาลัย เช่น

ห้ามทำสีผม ห้ามทำสีเล็บ ห้ามเคลือบเล็บ เป็นต้น โดยรุ่นพี่อ้างว่าเวลาจบการศึกษาไปแล้วได้งานทำเขาก็บังคับให้ใส่อยู่ แต่ที่จริงเราทำงานแล้วใส่ชุดยูนิฟอร์มของสำนักงานแล้วเราได้เงินเดือนเราก็ยอมทำ แต่การใส่ระเบียบคณะเราไม่ได้เงินจากรุ่นพี่ รุ่นพี่ไม่ได้ให้เงินเรา พ่อแม่ต่างหากที่เป็นคนให้เงินเราทั้งที่ไม่ได้บังคับให้ใส่ชุดระเบียบคณะ

            ระบบSOTUS มีผลกระทบต่อนักศึกษาเนื่องจากเป็นการบีบบังคับให้ทำ การที่ถูกรุ่นพี่ตำหนิ การถูกตะคอกใส่ ส่งผลกระทบต่อจิตใจของนักศึกษา ทำให้เราไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ถูกปิดกั้น ไม่มีความมั่นใจในตนเอง โดยจะส่งผลกระทบในระยะยาวเมื่อเราถึงวัยทำงานแล้วนั่นเอง

            นักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์ที่จะต่อต้านระบบSOTUS มีสิทธิ์ที่จะละเลยกฎของรุ่นพี่ที่ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนด เราสามารถทำตามกฎของทางมหาวิทยาลัยเพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งที่ให้ความรู้กับเรา รุ่นพี่ควรดูแลน้องไม่ใช่บีบบังคับแบบเจ้านาย เรามีเสรีภาพที่จะแต่งกายโดยไม่ผิดต่อกฎของมหาวิทยาลัย ดังนั้นเราควรยกเลิกระบบSOTUS ออกจากระบบการศึกษา

                                                                                                                                  MR.LOSER


ลองอ่านเเล้วเป็นอย่างไรบ้างครับเเสดงความคิดเห็นได้เลยนะครับ อยากรู้เหมือนกันว่าทางรุ่นพี่ที่ใช้ระบบนี้จะคิดยังไง

 

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น

ค้างนก 2 ต.ค. 61 เวลา 21:50 น. 1

"โซตัส ดำรงอยู่ได้ด้วยความเต็มใจ"


ระบบ โซตัส นำมาซึ่งความขาดเสรีภาพ จำกัดสิทธิ และเพิ่มภาระให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองโดยไม่จำเป็น เมื่อมองผิวเผิน ใครๆก็บอกได้ว่า โซตัส คือ ระบบอำนาจนิยมดีๆนี่เอง ที่บังคับให้ใครต่อใครก้มหัวลง ทั้งๆที่เขาไม่ได้ยินยอม แต่ถูกบังคับให้จำยอม ...


แต่กระนั้น โซตัสก็ยังถูกสืบสานต่อมารุ่นสู่รุ่น และดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้นเลยในบางสถาบัน มันอาจจะเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความหมายที่แท้จริงของโซตัสนั้น ไม่ใช่อำนาจนิยม ... แต่คือ ความใจ ... คงฟังดูน่าขันสำหรับคนที่เคยผ่านเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ก็มิใช่สำหรับทุกคน ความจริงของข้อความนี้ถูกยืนยันได้ด้วยการที่ทุกวันนี้ยังมีคนสืบสานระบบโซตัสอยู่ .. เพราะเมื่อเรายอมอยู่ภายใต้ระบบแล้ว มิใช่เพียงปีแรกปีเดียว แต่มันคือ ตลอดไป ทุกวันหลังจากนี้ รุ่นพี่ จะเป็นรุ่นพี่สำหรับเรา (เว้นแต่มีเรื่องให้บาดหมางใจเสียใหญ่โตต่อกัน) นั่นคือ สิ่งที่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เรียกว่า ความใจ หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ มิตรภาพ ที่ก่อกำเนิดขึ้นอย่างแน่นแฟ้นจากระบบนั้น


มิตรภาพที่ว่า มันก่อตัวจากการที่รุ่นพี่มองรุ่นน้องว่าเป็นน้อง ยินดีช่วย ยินดีเอ็นดู ยินดีผูกพัน ส่วนรุ่นน้อง จำยอม ต่อรุ่นพี่ โดยเหตุผลเดียวคือ พี่เป็นพี่ เมื่อสองแนวคิดนี้เข้ามาเจอกันในกิจกรรมที่เรียกว่า "รับน้อง" กิจกรรมที่พี่ต้องดูแลน้องด้วยชีวิต และน้องได้ต้องยินยอมเข้ากิจกรรมด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ในช่วงกิจกรรมนั่นเองที่แนวคิดนั้นได้รับการพิสูจน์ ... น้องย่อมสัมผัสได้ถึงความจริงใจของพี่จริงๆ ส่วนพี่ย่อมสัมผัสได้ถึงความน่าเอ็นดูของน้องที่ยินยอม ... ตรรกะนี้ช่างน่าขัน และดูไร้เดียงสา แต่ทว่า ก่อกำเนินเป็นความสัมพันธ์ต่อกันได้จริง


แต่แน่นอนว่า เรื่องนี้มีช่องโหว่ และเป็นช่องโหว่ที่ใหญ่มากๆ ด้วยว่า จุดเริ่มต้นของกิจกรรมนั้น เป็นการบังคับ .. และแค่คำว่า "บังคับ" ก็เพียงพอที่จะใช้กล่าวหาแล้ว ไม่ต้องมีคำใดๆมาบรรยายเพิ่มเติมอีก อีกทั้ง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมานั่งซาบซึ้งสัมผัสความรู้สึกจริงใจของกันและกัน และที่สำคัญมากๆคือ ไม่ใช่พี่ทุกคนที่รู้จักใช้อำนาจนั้นในทางที่ถูกต้อง หรือใช้ด้วยความเข้าใจ


นอกจากความผูกพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องแล้ว โซตัสยังก่อให้เกิดความกดดันภายในรุ่นเดียวกัน หรือที่ทางชีวภาพเรียกว่า ความเครียดจากภายนอก ระบบโซตัสเป็นความเครียดที่กระตุ้นให้คนภายในรุ่นเดียวกัน เร่งรีบ ที่จะผูกกันแน่น แต่อาจไม่ใช่ในฐานะมิตร บางทีเป็นเพียงในฐานะผู้ร่วมงาน หรือผู้เกรงใจกัน ผลจากความเครียดที่พอเหมาะอาจชักนำสิ่งมีชีวิตให้ตอบสนองได้ดีอย่างไร ผลจากความกดดันของโซตัสก็อาจชักนำให้คนในรุ่นนั้นช่วยกันทำบางสิ่งให้สำเร็จออกมาได้อย่างนั้น ผลที่ได้จากความเหนียวแน่นที่จำเป็นต้องมีต่อกัน เพื่อแสดงออกมาใช้ปกป้อง หรือ ร่วมแบกภาระกัน กลายเป็นสิ่งมีค่า หรือ ความสำเร็จบางอย่างที่น่าภาคภูมิใจในความทรงจำ ก่อให้เกิด ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในรุ่นเดียวกัน


และเมื่อมีคุณค่า มีความสำเร็จ มีความทรงจำ จึงมีแรงผลักดันให้มีโซตัสต่อไป


แน่นอนว่า มีช่องที่เป็นปัญหา เป็นช่องโหว่ที่จะใช้โจมตีระบบโซตัสได้อย่างเมามัน ...


ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จากที่ผู้เขียนได้เสนอประเด็นในตอนต้นที่ว่า "โซตัส ดำรงอยู่ได้ด้วยความเต็มใจ" จึงไม่น่าจะใช่เรื่องที่ไกลเกินความเป็นจริงไป(ตามทัศนคติของผู้เขียนเอง) ผู้เขียนมิได้เห็นด้วยในความรุนแรง หรือการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องมาบังคับควบคุม จำกัดสิทธิ จำกัดเสรีภาพ ไม่ได้เห็นด้วยเรื่องอำนาจนิยม ไม่ได้ชอบการว๊าก การเข้าห้องเชียร์ แต่ผู้เขียนก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกัน ว่าครั้งหนึ่งนั้น หัวใจของผู้เขียนตกหลุมรัก ความทุ่มเทของรุ่นพี่ทุกคนอย่างหมดทั้งหัวใจ ..


กระผมคิดว่า โซตัสอาจจะดำรงอยู่ต่อไป จนกว่าจะมีการประกาศเป็นกฎหมายบังคับให้เลิกใช้ หรือ จนกว่าจะมีใครเสนอระบบปกครองที่ดีกว่า และกินใจเท่า โซตัส ...


(ความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่สามารถใช้อ้างอิงในชั้นศาล และไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลวร้ายเท่าเทียมกันทุกที่)

0
55555 3 ต.ค. 61 เวลา 12:16 น. 2

ระบบ sotus ก็เป็นเช่นเรื่องอื่นๆ คือ เป็น ดาบ 2 คม

ผู้ใช้ และ ผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็นการฝึกฝนวินัย

เป็นการควบคุมตนเอง รู้จักตนเอง รวมทั้งสังคมภายในมหาวิทยาลัย

ซึ่งนักศึกษาที่มีความคิดอิสระมากมายไม่เข้าร่วม หรือบางคนเข้ามาทดลอง

มีทั้งประโยชน์ และปัญหามากมาย เพียงแต่หลายแห่งบ้ามากเกินไป

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้เสียหายทั้งระบบ ซึ่งก็เป็นนักศึกษารุ่นพี่นั่นเอง

ซึ่งเริ่มต้นจริง ๆ แล้ว ค่อนข้างดีทีเดียว ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การเข้าร่วมกิจกรรมคณะ

ควรต้องเปิดเสรี ให้นักศึกษา เข้าร่วม หรือ ไม่เข้าร่วม โดยสมัครใจ

โดยคณะต้องทำให้ช้ดเจน ไม่ให้เกิดความรู้สึกถูกกดดันได้ จะเป็นประโยชน์จริง

0