Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

การเอาจริงเอาจังกับการเรียนและการสอบเข้ามหาลัยในเกาหลี

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ขอบคุณหนังสือพิมพ์ข่าวสด

https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_1831291

สอบเอนทรานซ์แบบเกาหลี : เตรียมตัวแต่อนุบาล ประกาศวันหยุด กักตัวครูออกข้อสอบ “SKY” คือเป้าหมาย
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 - 05:22 น.



สอบเอนทรานซ์แบบเกาหลี : เตรียมตัวแต่อนุบาล ประกาศวันหยุด กักตัวครูออกข้อสอบ “SKY” คือเป้าหมาย
สอบเอนทรานซ์แบบเกาหลี – เช้าวันที่ 15 พ.ย. ความเงียบเข้าปกคลุมทั่วเกาหลีใต้ นี่เป็นวันสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนกว่าครึ่งล้านที่เตรียมตัวมาทั้งชีวิตเพื่อการนี้

“ซู่นึง” เป็นชื่อย่อภาษาเกาหลีของการทดสอบความสามารถด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือ College Scholastic Ability Test (CSAT) การสอบที่ใช้เวลานาน 8 ชั่วโมงนี้ไม่เพียงกำหนดว่านักเรียนจะได้เข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่ แต่ยังจะส่งผลต่ออาชีพการงาน รายได้ วิถีชีวิต หรือกระทั่งสัมพันธภาพของพวกเขาในอนาคตอีกด้วย

“สำหรับพวกเรา ซู่นึงเป็นทางผ่านที่สำคัญสู่อนาคต ในเกาหลีใต้ การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสำคัญมาก เพราะฉะนั้นฉันถึงได้ใช้เวลา 12 ปีในการเตรียมตัวสำหรับวันนี้ บางคนต้องสอบถึง 5 ครั้งด้วยกัน” ขู อึน-ซอ ในวัย 18 ปี พูดถึงการสอบครั้งแรกของเธอ


ในเดือน พ.ย. ของทุกปี ทุกสิ่งในเกาหลีใต้แทบหยุดนิ่ง ธนาคารและร้านรวงต่าง ๆ ปิด งานก่อสร้างส่วนใหญ่หยุดดำเนินการ มีการสั่งหยุดเที่ยวบินในช่วงที่นักเรียนทดสอบทักษะการฟัง และให้หยุดการฝึกทางการทหารอีกด้วย

ความเงียบงันถูกทำลายเป็นช่วง ๆ เมื่อมอเตอไซค์ตำรวจเปิดสัญญาณฉุกเฉินพานักเรียนที่ไปสอบไม่ทันเวลาเริ่มไปส่งให้ถึงที่

พ่อแม่หลายคนที่ลุ้นใจจดใจจ่อกับการสอบของลูกไปใช้เวลาอยู่ที่วัดพุทธหรือโบสถ์คริสต์ สวดของพรให้ลูก ๆ

อี ฉิน-ยอง ในวัย 20 ปี ต้องเข้าสอบถึง 2 ครั้งกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยสำเร็จ เธอเล่าว่า “ทั้งสัปดาห์ก่อนวันสอบ ฉันซ้อมตื่น 6 โมงเพื่อให้สมองได้ปรับสภาพให้พร้อมที่สุด ฉันบอกกับตัวเองว่า เตรียมพร้อมมาหนักมาก ตอนนี้เหลือแค่แสดงให้พวกเขาเห็นเท่านั้น”

ก่อนเข้าห้องสอบ นักเรียนต้องถูกเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องตรวจจับโลหะอย่างละเอียด ถูกห้ามนำนาฬิกาข้อมือดิจิทัล โทรศัพท์ กระเป๋า และหนังสือ เข้าห้อง

ฉิน-ยอง เล่าว่าบรรยากาศเงียบมาก ครูผู้คุมสอบต้องใส่รองเท้ากีฬาให้ไม่มีเสียงรบกวน

กระบวนการออกข้อสอบถูกเก็บเป็นความลับ ทุกเดือน ก.ย. ครู 500 คนจากทั่วเกาหลีใต้ได้รับการคัดเลือกและเดินทางไปร่วมออกข้อสอบในสถานที่ลับในจังหวัดคังวัน เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มที่ครูเหล่านี้ต้องถูกยึดโทรศัพท์มือถือและห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก



ห้องนอนของ อึน-ซอ เป็นทั้งที่พักผ่อนและที่ทบทวนหนังสือด้วย
อึน-ซอ เล่าถึงอดีตครูสอนภาษาจีนของเธอคนหนึ่งที่ได้รับเลือกให้ไปช่วยออกข้อสอบ

“ในตอนนั้น ครูบอกเพื่อนร่วมงานว่าจะไปเที่ยว เพื่อนครูบางคนคิดว่าเขาลาออกจากงานด้วยซ้ำ แต่จริง ๆ แล้วเขาถูกนำตัวไปสถานที่ลับเป็นเวลา 1 เดือน ที่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ และก็ไม่สามารถติดต่อครอบครัวตัวเองได้”

แต่ทำไมกระบวนการการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกาหลีใต้ถึงต้องเคร่งเครียดขนาดนี้?

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมีการศึกษาดีที่สุดในโลก 1 ใน 3 ของผู้ตกงานในประเทศก็เป็นผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ขณะนี้ เกาหลีใต้มีอัตราการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาวสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ทว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลับยากเย็นขึ้นมาก

เช่นเดียวกับหนุ่มสาวอื่น ๆ อึน-ซอ ไม่ได้อยากเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ เท่านั้น แต่อยากเข้า “SKY” (ซึ่งเป็นการนำอักษรตัวแรกของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สุดของประเทศ 3 แห่งมารวมกัน) คือ มหาวิทยาลัยโซล มหาวิทยาลัยเกาหลี หรือ มหาวิทยาลัยยอนเซ


ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนมัธยมได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนมัธยมปีสุดท้ายที่สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย 3 แห่งนี้ได้

“ถ้าอยากได้รับการนับหน้าถือตา อยากไปให้ถึงฝัน คุณต้องสอบติด 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยนี้ให้ได้” อึน-ซอ กล่าว “ทุกคนตัดสินคุณจากปริญญาและมหาวิทยาลัยที่คุณเรียน”

การเรียนจบมหาวิทยาลัยสามแห่งนี้ยังเป็นหนทางที่ดีที่สุดหนทางหนึ่งที่คุณจะสามารถเข้าทำงานในบริษัทขนาดใหญ่อย่าง แอลจี ฮุนได เอสเค ล็อตเต้ และ ซัมซุง


อี ทู-หุ่น ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยยอนเซ บอกว่า ทุกปี หนังสือพิมพ์ระดับชาติจะตีพิมพ์ว่ามีจำนวนทนายความ ผู้พิพากษา และซีอีโอ กี่คนที่ทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ และจบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้ เขาบอกว่านี่ทำให้พ่อแม่และนักเรียนคิดว่าจะได้งานดี ๆ หากได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า การจบมหาวิทยาลัยที่ดีก็ไม่ได้รับประกันว่าจะได้งานเสมอไปเพราะการแข่งขันสูงมาก นั่นหมายความว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยจะได้งานที่ดี

อึน-ซอ เตรียมตัวสำหรับการสอบในครั้งนี้มาตั้งแต่อายุ 4 ขวบแล้ว

“ฉันไปโรงเรียนตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่งเพื่อไปเตรียมบทเรียน ครูเริ่มสอนตั้งแต่เก้าโมงไปจนถึงห้าโมง หลังโรงเรียนเลิก ฉันกินข้าวเย็น แล้วไปเรียนพิเศษต่อ และกลับบ้านมาราวเที่ยงคืน”

มีโรงเรียนสอนพิเศษกว่าหนึ่งแสนแห่งในเกาหลีใต้ และมีเด็กเกาหลีใต้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าเรียน และครูชื่อดังก็ทำเงินมหาศาลจากการสอนทุก ๆ ปี

ตัวเลือกหลอกในข้อสอบปรนัยทำให้ความจำนักเรียนแย่ลง
เกิดมาฉลาดเพราะพันธุกรรมดี ยังเรียนเก่งสู้ “เกิดมารวย” ไม่ได้
อึน-ซอไปเรียนพิเศษ 6 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเรียนคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษเพิ่ม และในช่วงสุดสัปดาห์เธอก็ไปนั่งอ่านหนังสือในห้อง “dokseosil” หรือห้องส่วนตัวที่มีม่านปิดรอบด้านเพื่อการทบทวนบทเรียน

ครั้งหนึ่ง การสอบซู่นึง เคยถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการเลื่อนชั้นทางสังคม เป็นหนทางที่นักเรียนที่ยากจนจะสามารถได้การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้ อย่างไรก็ตาม การต้องเสียเงินเพิ่มในแต่ละเดือนเป็นค่าเรียนพิเศษก็ทำให้ครอบครัวที่ยากจนกว่าเสียเปรียบ


ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศ.อี มองว่า ค่าเรียนพิเศษสูงลิ่วเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อัตราการเกิดในเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลก

ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายชุดพยายามที่จะจัดการกับธุรกิจสอนพิเศษ เพื่อช่วยเหลือทั้งค่าใช้จ่ายของพ่อแม่และสุขภาพจิตของเด็กด้วย ขณะนี้กฎหมายห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนพิเศษเกินสี่ทุ่ม มีการกำหนดเพดานค่าเรียน และห้ามไม่ให้สอนล่วงหน้ากว่าเนื้อหาในโรงเรียน

ดร. ขิม เท-ฮยอง จิตแพทย์ในกรุงโซลบอกว่า การที่เด็กถูกบังคับให้เรียนคนเดียวและแข่งขันกับเพื่อนทำให้พวกเขาเติบโตอย่างโดดเดี่ยว นั่งเรียนทบทวนหนังสือคนเดียว ความแปลกแยกทำให้พวกเขากลายเป็นโรคซึมเศร้า และก็เป็นปัจจัยหลักของการฆ่าตัวตายด้วย

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ?
องค์การอนามัยโลกชี้ 1 ใน 3 ของ น.ศ. ใหม่ในประเทศอุตสาหกรรม ‘มีอาการผิดปกติทางจิต’
ในเกาหลีใต้ การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของคนในช่วงอายุระหว่าง 11-15 ปี องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี ยังจัดให้เด็กเกาหลีใต้ช่วงอายุ 11-15 ปี เป็นกลุ่มเด็กที่มีระดับความเครียดที่สุดในโลกด้วยเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ศ.อี บอกว่า อัตราการฆ่าตัวตายสูงถูกขับเคลื่อนโดยช่องว่างระหว่างโอกาสการได้รับการจ้างงานกับความคาดหวังเรื่องความประสบความสำเร็จของนักเรียนเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าอีกสาเหตุหนึ่งคือ การเจริญเติบโตของสังคมเมืองอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ความสัมพันธ์แบบครอบครัวใหญ่แบบเดิมจางหายไป ทำให้คนรู้สึกโดดเดียวและซึมเศร้ามากขึ้น


กว่าทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามจะจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของประชากรในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์โฆษณา จัดตั้งสายด่วนช่วยเหลือ และขยายพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยแผนกจิตเวชมากขึ้น แต่อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศก็ยังเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้คิดเปลี่ยนแปลงการสอบซู่นึง ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้เก็บคะแนนการสอบด้วยวิธีอื่น เช่น กิจกรรมอาสาสมัคร การติวหนังสือให้ผู้อื่น และการสอบประเภทอื่นในโรงเรียน

ภายในสุดสัปดาห์นี้ อึน-ซอจะได้รู้ผลสอบในครั้งนี้ ว่าเธอจะได้เข้ามหาวิทยาลัยในฝันหรือไม่

“ทุกครั้งที่ฉันดูคะแนนตัวเองเวลาทำการสอบแบบจำลอง ฉันก็จะรู้สึกเศร้าขึ้นมา ฉันถามตัวเองว่า นี่เราจะเข้ามหาวิทยาลัยที่อยากเข้าได้ไหม ฉันอาจจะพอใจกับคะแนนตัวเองเมื่อเทียบกับระดับคะแนนเพื่อนในโรงเรียน แต่พอเทียบกับนักเรียนทั้งประเทศ ฉันรู้สึกกลัว กลัวเกินกว่าจะบอกแม่ด้วยซ้ำ”

แสดงความคิดเห็น

>