Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

50 เรื่องจริงจิตวิทยา ธรรมศาสตร์ (ปี 2562)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
1. ปีการศึกษา 2561 จิตวิทยา มธ.เปลี่ยนหลักสูตรจาก ศิลปศาสตร์บัณฑิต เป็น วิทยาศาสตร์บัณฑิต
2. แปลว่านักศึกษาจิตวิทยาจะต้องเรียนวิชาที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งตัดข้อเสียเปรียบของจิตวิทยา มธ.ไปโดยปริยาย
3. จิตวิทยา มธ. ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มข้นของวิชาจิตวิทยาสายพฤติกรรมนิยม เช่น จิตวิทยาการเรียนรู้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฯลฯ (มีวิชาที่ได้ฝึกหนูจำลองด้วยนะ)
4. ขณะนี้ จิตวิทยา มธ.มีสาขาหลักเพียงสองสาขาคือ จิตวิทยาคลินิก และจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ นอกเหนือจากนั้นจะเป็นวิชาทั่วๆ ไปมากกว่า (แต่จบมาก็ไม่มีสาขาติดใน transcript นะ 555)
5. ทางภาควิชาอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยน อาจารย์เก่าๆ ที่มีชื่อเสียงอย่างอาจารย์สิริอร อาจารย์นพมาศ อาจารย์ศรีเรือน เกษียณออกไปค่อนข้างเยอะ แทนที่ด้วยอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรง
6. อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปัจจุบันแต่ละท่านมีความสามารถเป็นเลิศในสาขาที่รับผิดชอบ บางท่านมีผลงานระดับประเทศ บางท่านมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง (ไม่เชื่อไปถามเด็กเอกดูสิ)
7. จิตวิทยา มธ. มีสาขาจิตวิทยาทั่วไป หรือ General Psy. ที่นักศึกษาสามารถเลือกลงเรียนวิชาจิตวิทยาแบบจับฉ่ายได้ คือไปไม่สุดสักสายแต่เรียนกว้างเพื่อให้รู้ทุกแง่มุมของจิตวิทยา
8. หากใครคิดว่าจิตวิทยาเรียนง่าย ขอให้คิดใหม่ เพราะสาขานี้เน้นเรื่องชีวะกับสแตทมาก เรียกได้ว่าเจอตั้งแต่ปี 1 ยันปี 4 
9. แต่วิชาที่ทำให้เด็กเอกขยาดจริงๆ คือ สถิติ เพราะต้องเรียน 3 ตัว (ไม่นับการเจอในวิชาอื่นๆ)
10. หากชอบชีวะและการทำแบบทดสอบ ให้ไปเรียนจิตคลินิก
11. หากชอบสถิติ ให้ไปเรียนจิตอุต
12. หากชอบการช่วยเหลือ ให้ไปเรียนจิตปรึก
13. วิชาแรกที่เด็กเอกต้องเจอคือ จิตวิทยาทั่วไป ซึ่งก็ทั่วไปจริงๆ เพราะเรียนทุกเนื้อหาของจิตวิทยาเลย 
14. เป็นที่เลื่องลือกันมานักต่อนักแล้วว่าเรียนจิตวิทยาต้องจำเก่ง เพราะเนื้อหามีแต่การจำ... ถึงขนาดมีการแซวกันว่า เรียนจิตวิทยาไปไม่เป็นอัลไซเมอร์แน่ เพราะจำกันขี้แตกขี้แตน
15. จิตวิทยาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นวิชาที่ฮิตที่สอนของภาควิชา เฉลี่ยนักศึกษาทั้งในเอกและนอกเอกที่ลงทะเบียนคือ 700-800 คน!! (ทุกเทอม)
16. มีนักศึกษานอกเอกหลายคนที่อยากเรียนจิตวิทยาเป็นวิชาโท แต่ก็ต้องตกม้าตายเมื่อเจอกับ จิตวิทยาการเรียนรู้ (และเจ้าหนู sniffy) 
17. การได้เกรด A วิชาจิตวิทยาเป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าเพราะอาจารย์ปล่อยเกรด แต่เพราะเนื้อหาค่อนข้างจะเป็นพื้นฐาน 
18. แต่ข้อที่แล้วจะเป็นโมฆะทันทีเมื่อเจอกับวิชาบังคับ เพราะส่วนใหญ่จะตัดเกรดที่ 10% แรกของนศ.ที่ลงทะเบียน (บางวิชาได้ A คนเดียวก็มี)
19. เด็กนอกเอกที่หลงเข้ามาเรียนวิชาบังคับของเอกจิต (โดยเฉพาะรหัส 3xx และ 4xx) มักจะอ้วกแตกกับความยากของเนื้อหาที่เปลี่ยนไปคนละขั้วกับรหัส 2
20. ภาควิชาจิตวิทยาซีเรียสเรื่องการคัดลอกผลงานทางวิชาการเป็นอย่างมาก!!!!!! ใครที่คัดลอกผลงานผู้อื่นโดยไม่ใส่อ้างอิงตามหลัก APA จะถูกปรับ F ทันที อย่างน้อยที่สุดก็ได้ 0 คะแนนของงานชิ้นนั้น (ซึ่งส่งผลให้เด็กเอกจะเซ็งทันทีที่เพื่อนต่างคณะอ้างอิงมั่วซั่ว)
21. จิตวิทยาเป็นพื้นฐานของสาขาอื่นๆ ไม่ว่าน้องๆ จะเรียนคณะอะไรก็จะเจอจิตวิทยาสอดแทรกในเนื้อหาเสมอ เช่น บริหาร สังคมสงเคราะห์ รัฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือแม้แต่ภาษาศาสตร์
22. อาจารย์จะชอบแซวนักศึกษาว่าเนื้อหานี้เรียนมาแล้วไม่ใช่หรอ ทำไมจำไม่ได้ (แล้วนักศึกษาก็จะหัวเราะแห้งๆ) 
23. หากน้องๆ รู้จักอาจารย์เกียรติศักดิ์ น้องๆจะเกลียดข้อสอบกาทันที และจะถวิลหาข้อสอบเขียนจากอาจารย์
24. ข้อสอบของภาควิชาจิตวิทยาขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลาย น้องจะเจอตั้งแต่ข้อกา จับคู่ เขียนสั้น เขียนยาว take home และ open book 
25. แต่ทางที่ดี อย่าขออาจารย์สอบ open book เลย เชื่อพี่เถอะ
26. “ข้อใดผิด” คือสิ่งที่น้องจะเจอบ่อยมากถึงที่สุดเมื่อน้องเรียนจิตอุตสาหกรรม
27. pseudostratified ciliated columnar epithelium tissue หากใครรู้จักคำนี้ แสดงว่าเป็นรหัส 60 ลงมา
28. หากน้องเครียดกับ t-test น้องจะเจอนรก ANOVA และ Regression
29. คำสองคำที่น้องจะเจอบ่อยเวลาเรียนจิตอุตกับจิตคลิคือ validity และ reliability 
30. วิชาจิตวิทยาอปกติ มีอาจารย์จิตแพทย์มาสอนด้วยนะ!
31. หากน้องๆ สนใจสาขาที่ใกล้เคียงจิตแพทย์มากที่สุด น้องควรเรียนจิตวิทยาคลินิก
30. แต่จิตวิทยาคลินิกไม่ได้ทำงานเหมือนแพทย์ เพราะจิตคลินิกวินิจฉัยและจ่ายยาไม่ได้ แต่ทำแบบทดสอบจิตวิทยาเพื่อประกอบการวินิจฉัยแพทย์ได้
31. แบบทดสอบจิตวิทยาตามเน็ตจะไร้สาระทันที เมื่อน้องมาเจอกับแบบทดสอบจิตวิทยาของจริง
32. จิตคลินิกขึ้นชื่อว่าเรียนหนักที่สุด เพราะน้องต้องเก็บเคสสำหรับฝึกฝนการใช้แบบทดสอบ และต้องมีฝึกงานตามโรงพยาบาลด้วย 
32. แต่ก็คุ้มค่าที่สุดเพราะน้องมีสิทธิ์สอบใบประกอบโรคศิลป์ได้ ซึ่งถือเป็นวิชาชีพของสาขานี้โดยเฉพาะ
33. หากน้องเรียนจิตวิทยาคลินิก น้องจะประกอบอาชีพได้มากมาย เช่น นักนิติจิตวิทยา นักจิตวิทยาการบิน นักจิตวิทยาทหาร พนักงานออกแบบทดสอบเพื่อคัดเลือกพนักงาน พนักงานราชการ ฯลฯ
34. แต่จิตอื่นๆ ก็ประกอบอาชีพได้ไม่แพ้กัน เช่น นักการตลาด นักโฆษณา HR นักวางแผนการเงิน ธุรกิจส่วนตัว 
35. จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่อาจารย์คณะบริหารว้าวมาก เพราะเป็นศาสตร์ที่เข้าใจคนได้ในเชิงลึกถึงพริกถึงขิง ดังนั้นนักศึกษาจิตวิทยาย่อมเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้มากกว่าเด็กบริหาร เพราะเราเรียนมาเข้มข้นมาก
36. ค่ายจับจิต ปัจจุบันจัดขึ้นเป็นปีที่ 8 แล้ว และยังได้รับความนิยมอยู่อย่างสม่ำเสมอ
37. จิตวิทยาการทดลอง หรือตัววิจัย เป็นวิชาที่หินที่สุด เพราะต้องเอาความรู้ทุกอย่างที่เรียนมา มาสกัดเป็นงานวิจัยของตนเอง 
38. แต่ก่อนหน้านั้น น้องจะต้องผ่านสแตท 3 ก่อน ซึ่งเป็นวิชาระเบียบวิธีวิจัย (ซึ่งง่ายกว่าสแตท 2)
39. ทันทีที่น้องได้สัมผัสกับ cognitive psychology น้องจะพูดกับตัวเองว่า “ห้ะ...”
40. ถ้าใครที่รู้จักคำว่า -2 แสดงว่าเคยเรียนกับอ.ฝ้ายมาแล้ว
41. อ่า เอิ่ม นะฮับ คือคำประจำของอ.ต้น
42. อาจารย์นิฉาที่สอนสแตท 2 แม้ตอนเรียนแรกๆ หลายคนจะไม่ชอบ แต่พอเรียนจบแล้ว กลับรักอ.ซะงั้น
43. จิตสังคมเป็นวิชาที่ศึกษาอิทธิพลของสังคมที่มีต่อตัวบุคคล ดังนั้นวิชานี้จึงสนุกเพราะเราจะได้เห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของมนุษย์เมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่างๆ 
44. จิตพัฒนาการเป็นวิชาที่ศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งทางด้านร่างกาย การรู้คิด และอารมณ์สังคม
45. biopsychosocial model คือแนวคิดที่สำคัญแทบจะที่สุดของจิตวิทยา
46. ยิ่งน้องเรียนสูงขึ้นเท่าไหร่ น้องจะยิ่งเข้าใจว่าทำไมถึงต้องเรียนพื้นฐานกว้างๆ
47. ต่อให้น้องเรียนจบมาแล้วไม่ได้ทำงานจิตวิทยาโดยตรง แต่ก็อย่าลืมว่าจิตวิทยาเป็นศาสตร์เกี่ยวกับคน ดังนั้นตราบใดที่เรายังทำงานเกี่ยวกับคน จิตวิทยาจะยังสำคัญเสมอ (แม้แต่ในแวดวงเทคโนโลยีก็ตาม)
48. จากมุมมองของอาจารย์คณะบริหาร ในอนาคตบัณฑิตจิตวิทยาจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก เพราะองค์กรจะต้องจ้างนักจิตเข้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าที่นับวันจะซับซ้อน หรือออกแบบโปรแกรมการพัฒนาบุคลากร หรือสร้างแบบทดสอบที่คัดกรองพนักงานให้ดีขึ้น หรือออกแบบเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของคนได้ตรงจุดมากขึ้น จะเห็นได้ว่าจิตวิทยาแทรกซึมอยู่ในทุกอาชีพจริงๆ แต่ก็อยู่ที่ว่าบัณฑิตคนนั้นจะมีความรู้ความสามารถขนาดไหน
49. ในส่วนของมุมมองเอกจิตวิทยา ในอนาคตประชากรโลกจะทวีความรุนแรงเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ (เห็นได้จากข่าว) แต่ในขณะเดียวกันก็มีการตื่นตัวต่อการเข้ารับบริการทางจิตวิทยามากขึ้น ดังนั้น นักจิตวิทยาในสาขาคลินิกและปรึกษา ยังคงมีบทบาทต่อเนื่องในการร่วมมือแก้ไขปัญหาที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น (แน่นอนว่าอัตราการจ้างงานก็จะมากขึ้น)
49. จิตวิทยาไม่ได้สอนให้เราขี้โกง ไม่ได้สอนให้เราเป็น life coach แต่สอนให้เราเข้าใจบุคคล สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเขาถึงแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา ทำนายพฤติกรรมหรือปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และคอยกำกับดูแลพฤติกรรมของเขาให้เหมาะสม
50. สุดท้ายนี้ พี่ๆ เอกจิตวิทยาทุกคนพร้อมและยินดีจะช่วยเหลือน้องๆ ที่สนใจศาสตร์จิตวิทยา หวังว่าเราจะมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวจิตวิทยา มธ. กันนะครับ

แสดงความคิดเห็น

>

10 ความคิดเห็น

ammm 21 ก.ย. 63 เวลา 20:31 น. 9

สอบเข้ายากไหมคะตอนนี้หนูอยู่ม.6 อยากเรียนจิตวิทยา มธ.ค่ะ เกรด4เทอมได้เเค่2.71อยู่เลยแอบๆเครียด

1
Kinkankankakankaka 31 พ.ค. 65 เวลา 16:10 น. 10

จิตวิทยาคลีนิกมธ. ปกติปี4 ฝึกงานที่โรงบาลใส่ชุดนักศึกษาฝึกหรือมอมีชุดให้ใส่ฝึกเหมือนมออื่นครับ

0