Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รู้จักกับ Major ward ในชั้นคลินิก ตอนที่ 1

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ในการเรียนแพทย์ วอร์ดต่างๆที่เรียนในชั้นคลินิก อาจารย์ที่สอนจะเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขานั้นๆ
Ward ในชั้นคลินิกอาจแบ่งออกเป็น major ward และ minor ward
วันนี้พี่จะมาแนะนำรู้จักกับ Major ward (วอร์ดหลัก) ได้แก่ “สู(ติ) ศัลย์ เมด เด็ก” นะครับ


อายุรศาสตร์ (Internal medicine) หรือ “เมด”

อายุรแพทย์ คือแพทย์ที่วินิจฉัย และรักษาโรคด้วยยา หรือทำหัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด ส่วนใหญ่เวลาไม่สบาย เป็นหวัด ปวดหัว ปวดท้อง ไข้ขึ้น ไปโรงพยาบาลก็จะได้เจอกับหมอสาขานี้ครับ รวมถึงโรคพวกเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง หรือแม้กระทั่งโรคยากๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) เป็นต้น ในการเรียนชั้นคลินิก วอร์ดอายุรกรรมเป็นเหมือนพื้นฐานหลักของการเป็นแพทย์ครับ เพราะจะได้เรียนรู้การซักประวัติ ตรวจร่างกาย การแปรผล lab การอ่านภาพ x-ray, CT scan ต่างๆ

การเรียนชั้นคลินิกในวอร์ดนี้ ส่วนใหญ่จะเรียนรู้บนหอผู้ป่วย กิจกรรมหลักๆ จะมีการราวน์วอร์ด (ward round) คือการติดตามดูผู้ป่วยในแต่ละวันว่ามีอาการเป็นอย่างไร ตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ และวางแผนรักษาอย่างไรต่อไป โดยดูทีละเตียง จนครบทุกเตียงในวอร์ด การเรียนรู้ก็เรียนกับผู้ป่วยจริงๆเลย วันหนึ่งจะมี ward round 2 ครั้ง คือ ตอนเช้า (เริ่ม 7 โมง) กับเย็น (เวลาเลิกไม่แน่นอนอาจตั้งแต่ 4 โมง หรือดึกถึง 2-3 ทุ่มก็เป็นไปได้) หลังจากนั้นก็จะมีการอยู่เวรต่อ (ถึงเที่ยงคืน หรือเวรข้ามคืน) เพื่อดูแลในกรณีผู้ป่วยมีอาการแย่ลงในช่วงกลางคืน จะเห็นได้ว่าวอร์ดนี้มีการเรียนที่เข้มข้น  ดังนั้นวอร์ดเมดนี้ สำหรับหลายๆคนวอร์ดนี้เป็นวอร์ดที่หนักที่สุดของการเรียนชั้นคลินิกเลยก็ว่าได้ แต่เป็นวอร์ดที่สำคัญที่สุดที่จะเรียนรู้ พัฒนาทักษะต่างๆ ถือเป็นก้าวสำคัญของการเป็นแพทย์เลยครับ

ในปัจจุบันอายุรแพทย์มีการแบ่งสาขาย่อยลงไปอีก ตามระบบของร่างกาย เช่น Cardiology (อายุรกรรมโรคหัวใจ) Nephrology (อายุรกรรมโรคไต) Pulmonary (อายุรกรรมโรคปอด) Neurology (อายุรกรรมระบบประสาท) Infectious disease (อายุรกรรมโรคติดเชื้อ) Gastroenterology (อายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร) Rheumatology (อายุรกรรมโรคข้อและรูมาติซั่ม) เป็นต้น

ศัลยศาสตร์ (Surgery) หรือ “ศัลย์”

ศัลยแพทย์ หรือ หมอผ่าตัด คือแพทย์ที่รักษาโรคด้วยการผ่าตัด เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น (แต่ก็ยังมีใช้ยาครับ เพื่อร่วมกับการรักษาหลักคือการผ่าตัด) หลายคนอาจเคยได้ยินสโลแกนประจำของศัลยแพทย์ คือ “Eagle eye, Lady hand, Lion heart” หมายถึง มีสายตาเฉียบคมเหมือนกับเหยี่ยว มีมือที่เบาประณีตแบบผู้หญิง แต่มีใจเด็ดเดี่ยวกล้าตัดสินใจดังสิงโต

ในวอร์ดนี้นักเรียนแพทย์จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคที่รักษาด้วยการผ่าตัด และได้เรียนรู้ทักษะการทำหัตถการ การเย็บแผล รู้จักเครื่องมือผ่าตัดต่างๆ และจะได้มีโอกาสเข้า field ผ่าตัดจริง เป็นผู้ช่วยผ่าตัด (ในวงการเรียกเป็น “มือ” เช่น มือ 2 หรือ มือ 3 คือผู้ช่วยผ่าตัดลำดับที่ 2 หรือ 3 เป็นต้น) และในชั้นปี 6 นักเรียนแพทย์บางคนอาจมีโอกาสได้เป็นมือ 1 ก็คือเป็นแพทย์ผู้ผ่าตัดหลัก ในเคสที่ไม่ซับซ้อนมาก ภายใต้การดูแลของอาจารย์ 

ในปัจจุบันศัลยแพทย์แบ่งเป็นสาขาย่อยๆ ได้หลายสาขา ตามอวัยวะระบบต่างๆ เช่น General surgery (ศัลยกรรมทั่วไป ผ่าตัดทั่วไป และอวัยวะภายในช่องท้อง รวมถึง minimally invasive surgery หรือการผ่าตัดแผลเล็กซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้อง)  Urosurgery (ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธ์ุชาย เช่น โรคต่อมลูกหมากโต โรคนิ่วในไต เป็นต้น) Vascular surgeon (ศัลยกรรมหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคเล้นเลือดขอด) Pediatric surgery (ศัลยกรรมเด็ก ผ่าตัดโรคต่างๆในผู้ป่วยเด็ก) Cardiothoracic surgery (ศัลยกรรมหัวใจทรวงอก ผ่าตัดอวัยวะในช่องอก หัวใจ และปอด เช่น ผ่าตัดแก้ลิ้นหัวใจรั่ว มะเร็งปอด) Neurosurgery (ศัลยกรรมระบบประสาท ผ่าตัดสมอง และไขสันหลัง เช่น เนื้องอกในสมอง หมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลัง) Plastic surgery (ศัลยกรรมตกแต่ง เช่น ผ่าตัดแก้ไขโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ รวมถึงการผ่าตัดเสริมความงาม (cosmetic surgery) และการผ่าตัดละเอียด เช่น ต่อเส้นประสาทใน microsurgery)

อ่านเวอร์ชั่นละเอียดได้ที่ https://mhorstory.com/blog/

และฝากกด like กด follow เรื่องราวดีๆแบบนี้ได้ที่

FB page: https://www.facebook.com/mhorstory/ Ig : @mhorstory

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

LadyPimnara02 18 เม.ย. 63 เวลา 03:05 น. 1

ขอบคุณที่มาแบ่งปันข้อมูลนะคะ ลงลึกกว่าปกติที่คนพูดกันเยอะมากๆ ปกติจะพูดแค่หมอเมด แล้วหมอเมดคืออะไร แต่วันนี้ได้รู้แล้วค่าว่าเมดทำอะไรบ้าง

0