Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวการเตรียมตัวสอบเข้าแพทย์แบบละเอียดยิบ! (ที่เรียนพิเศษ+หนังสือที่ใช้)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีครับทุกคน เราขอแนะนำตัวก่อนนะ เราเป็น #dek63  ตอนนี้สอบติดแพทย์ ได้คะแนนกสพทรวม 69.85 ครับ  วันนี้อยากจะมาแชร์ประสบการณ์การสอบ การเตรียมตัว หนังสือ ที่เรียนพิเศษของเราเอาไว้เป็นแนวทางให้น้อง ๆ รุ่นต่อไปครับ  

สัดส่วนคะแนน กสพท
คะแนน กสพท 100% จะมาจาก 2 ส่วนหลักคือ
0. O-NET 0% คะแนนรวมต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60  (300 คะแนน) (ถ้าซิ่วจะไม่ใช้คะแนน O-NET)
1. วิชาสามัญ 70% จัดสอบโดย สทศ.
- วิทยาศาสตร์  (ฟิสิกส์+เคมี+ชีวะ)   28%
- คณิตศาสตร์ 14%
- ภาษาอังกฤษ 14%
- ภาษาไทย 7%
- สังคมศึกษา 7%
***ต้องได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของคะแนนเต็มในแต่ละวิชา
2. วิชาเฉพาะ 30% จัดสอบโดย กสพท


วิชาสามัญ
- วิชาสามัญมีสัดส่วนคะแนนมากถึง 70% ยิ่งเริ่มเตรียมตัวเร็วยิ่งได้เปรียบครับ
- สำหรับการสอบจะมีเวลาสอบวิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ตอนสอบจะประกาศเวลา 2 ครั้ง คือเวลาผ่านไปแล้ว 30 นาที (ห้ามเข้าห้องสอบหลังจากนี้) กับเหลือเวลาอีก 5 นาทีสุดท้าย สำหรับ 30 นาทีแรก ถ้าเป็นไปได้ควรทำให้ได้แล้วครึ่งนึงแล้วนะ

คณิตศาสตร์ 1 (14%)
- เราเรียนคอร์ส TCAS Admission, Upskill ที่ ALevel เราเลือกเรียนที่นี่เพราะมันเรียนออนไลน์ที่บ้านได้ด้วย
- คณิตศาสตร์ 1 ไม่ออกสอบเรื่องเซต, ตรรกศาสตร์, ฟังก์ชัน (เจอนิดนึงในแคล), กำหนดการเชิงเส้น, trend line (แต่ทั้งหมดนี้มันออกใน PAT1 ถ้าอยากได้คะแนน PAT1 เยอะควรฝึกไปทุกบทนะ //หลักสูตรใหม่ตัดเนื้อหาบางส่วนออกไปนะครับ)
- เป็นวิชาที่เราไม่ชอบเลย แต่ก็ต้องทำใจเพราะคะแนนมันตั้ง 14% เรื่องไหนที่ไม่ออกสอบคือเราเทไปเลย เอาเวลาไปอ่านวิชาอื่นแทน การฝึกของเราคือเอาข้อสอบเก่ามาทำ พอทำไปหลายปีจะรู้เลยว่ามันออกแนวเดิม ๆ ครับ แล้วก็ทำโจทย์เพิ่มเติมจากคอร์ส TCAS Admission ของ Alevel ครับ

ฟิสิกส์ (9.33%)
- เราเรียนคอร์ส Entrance กับตะลุยโจทย์ที่ Applied Physics เรียนที่นี่เพราะมีเวลาให้นั่งทำโจทย์ในห้อง ทำเสร็จรู้เลยว่าคิดถูกหรือผิด ผิดยังไง จุดหลอกอยู่ตรงไหน แก้ให้ถูกต้องในห้องเรียนเลย
- แนะนำให้ฝึกทำโจทย์เยอะ ๆ ทำโจทย์ช่วงแรก ๆ อาจจะทำไม่ค่อยได้ก็ไม่ต้องตกใจ ทำไปเรื่อย ๆ แล้วจะรู้สึกว่าเราทำได้เยอะขึ้น ฟิสิกส์วิชาสามัญจะมีแนวของมันเอง อย่างปีที่เราสอบเจอข้อสอบที่ออกเหมือนเดิมเป๊ะกับปีก่อน ๆ ไป 4-5 ข้อ คือมองแล้วตอบเลย เพราะฉะนั้นควรเอาข้อสอบเก่ามาทำให้ครบทุกปี ข้อสอบโดยปกติแล้วจะมีข้อยากแค่ไม่กี่ข้อ (ยกเว้นของปี 62 ที่เอาสอวน.มาออก ข้อสอบปีนั้นจะยาก) บางข้อถ้ารู้สึกว่าทำไม่ได้ก็ให้ข้ามไปก่อน บางข้อแค่ดูเหมือนยากเพราะข้อสอบฟิสิกส์ 9 วิชา ช้อยส์ชอบติดตัวแปรมันเลยดูเยอะ ต้องมีสติตอนสอบ บางทีแค่ย้ายข้างสมการก็ได้คำตอบแล้ว

เคมี (9.33%)
- เราเรียนเคมี อ.อุ๊ ทุกคอร์สเลย เวลาเรียนแล้วรู้สึกเข้าใจวิชาเคมีขึ้นมาก แต่ถ้าคนที่หัวไวอาจจะรู้สึกเบื่อนิดนึง เพราะ อ.อุ๊ ก็จะสอนค่อนข้างช้าเพื่อให้ทุกคนตามทัน ถ้ารู้สึกว่าช้าไปเราแนะนำให้เรียนในระบบ Aurum แล้วกด x2 เลยครับ
- ข้อสอบวิชาเคมีเป็นข้อสอบ speed test ไม่ได้ยากทุกข้อ เวลาเลือกทำให้ทำบทที่ตัวเองถนัดก่อนเพราะข้อสอบจะออกเรียงตามบทเลย อย่างเราถนัดอินทรีย์ก็เปิดไปทำอินทรีย์ก่อน ส่วนตอนฝึกทำต้องจับเวลาจริงทุกครั้งนะ เพราะส่วนใหญ่จะทำวิชาเคมีไม่ทันกัน เราจะฝึกโจทย์เพิ่มเติมจากคอร์สตะลุยโจทย์ของอ.อุ๊ เพราะได้ฝึกจับเวลาทำข้อสอบ โจทย์จะยากกว่าของจริงด้วย ข้อสอบมีจุดหลอกตรงไหนได้ อ.ขยี้ทุกจุดเลย ทำให้ไม่ผิดซ้ำในห้องสอบครับ

ชีววิทยา (9.33%)
- เราเรียนคอร์ส OPD, ICU Entrance, Coma ของ Bio BEAM เราแนะนำว่าคอร์ส OPD กับ ICU แทบจะเหมือนกันเลย ถ้าพอมีพื้นฐานชีวะไปเรียน ICU เลยก็ได้ ส่วนคอร์ส Coma ก็คือคอร์สตะลุยโจทย์ จะมีทบทวนเนื้อหาให้ และอีกที่ที่อยากจะแนะนำคือ Upskill ของ Ondemand จะได้ฝึกโจทย์จากข้อสอบจริง แต่จะไม่มีทบทวนเนื้อหานะ
- เนื้อหาชีวะจะมีเยอะมาก ๆ ต้องพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหา จะทำให้จำได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือต้องทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ไม่อย่างนั้นลืมหมดแน่นอน (เจอมากับตัว เก็บเนื้อหาจนครบแล้วไม่ยอมกลับมาทบทวน พอลองนั่งทำโจทย์ 9 วิชา ทำไม่ได้เลย มันรู้สึกคุ้น ๆ แบบว่าเรื่องนี้เคยเรียน แต่จำเนื้อหาอะไรไม่ได้เลย ต้องนั่งอ่านใหม่ตั้งแต่ต้น T_T) แล้วก็เอาข้อสอบย้อนหลังมาทำหลาย ๆ ปี จะพอรู้ว่าตัวเองยังไม่เข้าใจในส่วนไหน ก็ไปอ่านเพิ่มในส่วนที่ไม่เข้าใจ ที่สำคัญข้อสอบบางปีเอาข้อสอบเก่ามาออกซ้ำก็มี เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีเวลาจริง ๆ อย่างน้อยก็เปิดดูข้อสอบเก่าพร้อมเฉลยก่อนเข้าห้องสอบสักวันสองวันก็ยังดีครับ
- แนะนำหนังสือ
BIOLOGY ของ ดร.ศุภณัฐ (เล่มหมึก): ละเอียดมาก เราเอาไว้อ่านตอนที่เราไม่เข้าใจเนื้อหาแล้วต้องการคำอธิบายละเอียด ๆ
BIOLOGY for high school students ของพี่เต๊น (เล่มเต่าทอง): เป็นหนังสือสรุปที่ดีมาก อ่านง่าย มีแบบฝึกหัดให้ทำ มีเฉลยแบบละเอียดด้วยนะ >>>   https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tentaroro
 
BioMap ของพี่วิเวียน Ondemand: บางทีเราทวบทวนเนื้อหาชีวะด้วยเล่มนี้ อ่านง่ายดีครับ

อังกฤษ (14%)
- เราเรียนคอร์ส Ultimate Grammar, Pre Admission, TCAS Admission, 9 วิชาสามัญ ของ Enconcept สอนดีครับ ชอบที่สุดคือ Memolody ตามไปหลอนในห้องสอบเลย555 เราเรียนที่ Enconcept ตั้งแต่ ม.4 เรียนมาเรื่อย ๆ มีโจทย์ให้ทำเยอะมากและยากกว่าข้อสอบจริง เรารู้สึกว่ามันค่อนเพียงพอแล้ว เลยไม่ได้หาโจทย์มาทำเพิ่มอีก
- พาร์ทที่ปราบเซียนที่สุดคือ reading ยาวมากกกกก ควรเก็บไว้ทำท้ายสุดครับ พาร์ทอื่นจะง่ายกว่าโดยเฉพาะ conversation ดังนั้นควรจะรีบทำพาร์ทอื่นให้เสร็จ แล้วค่อยเอาเวลาที่เหลือมาทำ reading สำหรับเทคนิคพาร์ทนี้คือให้อ่านคำถามก่อน แล้วค่อยไปอ่าน passage จะทำให้เรามีจุดมุ่งหมายว่าเราต้องการอะไรจาก passage นี้ ไม่อ่านมั่วครับ
- เราฝึก Grammar เพิ่มจากหนังสือครับ
ตะลุยโจทย์ Basic Grammar อ.ศุภวัฒน์: ง่ายสำหรับคนที่พอมีพื้นฐาน
ตะลุยโจทย์ Grammar 1,500 ข้อ    อ.ศุภวัฒน์: ยากขึ้นมาจากเล่มแรกครับ โจทย์เยอะดีครับ
Gramm-AX: AX Grammar Series: เฉลยละเอียดมากกก เหมือนมีครูพี่แนนมาอธิบายให้เราฟังเลย ชอบเล่มนี้ที่สุดครับ
- คำศัพท์ 4 หน้าของครูสมศรีเอาไว้ท่องเวลาว่างครับ   >>>   http://www.kru-somsri.ac.th/download/vocab4.pdf

ไทย (7%) + สังคม (7%)
- เราเรียนคอร์ส Intensive ของ Da’vance อ.ปิงสอนได้สนุกมากกก เรื่องเล่าเยอะดี มันทำให้จำง่ายขึ้นอ่ะ แล้วได้ความรู้ด้วย (แนะนำคอร์ส Turbo สำหรับคนที่มีเวลาไม่มาก เพราะเนื้อหาจะรวบรัดกว่า เวลาเรียนน้อยกว่า และมีโจทย์ให้ทำด้วย)
- ภาษาไทยเรารู้สึกว่ามันไม่ยาก ลองหาข้อสอบเก่ามาทำก็น่าจะเพียงพอแล้วเพราะโจทย์จะถามแนวเดิมทุกปีเลย โดยเฉพาะการอ่านจับใจความจะออกเยอะมาก และไม่ออกหลักภาษาเยอะเท่า O-NET ตอนเราเรียนคอร์ส Intensive รู้สึกว่ามันเวิ่นเว้อไปสำหรับข้อสอบ 9 วิชา (แต่สำหรับคนที่อยากได้คะแนนภาษาไทย O-NET เยอะก็แนะนำนะ)
- สังคมออกครอบจักรวาลมากกก แต่ก็จะมีพาร์ทที่เก็บคะแนนง่ายอยู่คือเศรษฐศาสตร์เพราะจะออกแนวเดิมทุกปี เราไม่ค่อยได้อ่านหนังสือวิชานี้สักเท่าไหร่ แต่จะเน้นทบทวนจากคอร์ส Intensive เพราะ อ.ปิง สอนละเอียดพอสมควร แต่เวลาอ่านสรุปเราชอบยืมหนังสือของเพื่อนที่เรียนคอร์ส Turbo เพราะมันจะอ่านง่ายกว่าอ่ะ ส่วนการฝึกทำข้อสอบเราไม่ค่อยได้ทำย้อนหลังเลย รู้สึกว่าทำแล้วไม่ค่อยเห็นผลเหมือนวิชาอื่น ๆ
-   แนะนำหนังสือ
หัวใจสังคมของ อ.ชัย: เนื้อหาละเอียดดี เหมาะกับคนที่มีเวลาอ่านนะ มีแบบฝึกหัดให้ทำท้ายบทด้วย เราเอาไว้อ่านตอนที่เราลืมรายละเอียดบางจุดไป

วิชาเฉพาะแพทย์ (ความถนัดแพทย์)
-   http://www9.si.mahidol.ac.th/
- เราเรียนที่ออนดีมานด์ แนะนำครับ สอนดี
- ข้อสอบความถนัดแพทย์จะมีทั้งหมด 3 ฉบับครับ ใช้เวลาสอบฉบับละ 75 นาที ตอนสอบแต่ละฉบับจะประกาศเวลาทั้งหมด 2 ครั้ง คือเวลาสอบผ่านไปแล้ว 15 นาที (ห้ามเข้าห้องสอบ) กับเหลือเวลาอีก 15 นาที
- การไปสอบวิชาเฉพาะแพทย์ เราไม่ต้องเตรียมเครื่องเขียนอะไรไปเลยนะ เพราะเราจะต้องใช้ดินสอกับยางลบที่สนามสอบเตรียมไว้ให้ ถ้าดินสอทู่สามารถยกมือเปลี่ยนแท่งใหม่กับกรรมการคุมสอบได้เลย (แต่พูดตรง ๆ ว่าคุณภาพดินสออาจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ส่วนยางลบถ้าลบแรงแล้วเป็นปื้นดำ)

ฉบับที่ 1 เชาว์ปัญญา (10%)
- พาร์ทนี้จะสอบเป็นฉบับแรกเลย มีทั้งหมด 45 ข้อ (เฉลี่ยข้อละ 1 นาที 40 วินาที) เป็นข้อสอบ speed test มีทั้งโจทย์ที่เป็นเชาว์เลขและเชาว์ภาษาไทย อย่างเราไม่ค่อยเก่งเลขก็ข้ามไปทำพาร์ทที่เป็นภาษาไทยก่อนครับ การฝึกทำข้อสอบเชาว์บ่อยก็ช่วยให้เราทำข้อสอบได้เร็วขึ้นในระดับนึงครับ

ฉบับที่ 2 จริยธรรม (10%)
- ไม่รู้จะแนะนำอะไร เราไร้จริยธรรม55555 เอาเป็นว่าพี่วิเวียน Ondemand สอนดี (ความจริงพาร์ทนี้ไม่ต้องเรียนพิเศษก็ได้นะ ตอบตามความคิดของเราไปเลย)

ฉบับที่ 3 เชื่อมโยง (10%)
- พาร์ทนี้จะคล้าย ๆ GAT เชื่อมโยง แต่จะมีบทความเดียวและยากกว่า GAT เพราะมีคำเชื่อม 20 คำ และไม่มีตัวหนาให้ มีเวลาทำข้อสอบแค่ 75 นาทีจึงควรแบ่งเวลาให้ดีครับ อย่างเพจความถนัดแพทย์ ออนดีมานด์  แนะนำการแบ่งเวลาตามนี้ครับ
- ตอนฝึกอาจจะเริ่มจากฝึกแกทเชื่อมให้คล่องก่อนก็ได้ แล้วค่อยฝึกเชื่อมโยงแพทย์ครับ และที่สำคัญที่สุดของฉบับนี้คือเป็นฉบับที่ควรได้ 100 เต็มนะ เพราะง่ายที่สุดแล้ว อาศัยความรอบคอบ ซึ่งสำคัญมาก ๆ อย่างเราแค่พลาดจากโยง A เป็น D คะแนนเราหายไป 5% เลยครับ T_T


O-NET
คะแนนรวม O-NET ต้องมากกว่า 60% (300 คะแนน) ซึ่งไม่ยากเลยถ้าเราเตรียมตัวกับวิชาสามัญมาดี เราใช้เวลาเตรียมตัว 1-2 วันก่อนสอบเอง ขอแนะนำตามนี้ครับบบ
วิทยาศาสตร์
- เคมี สำหรับคนที่อยากทบทวนเนื้อหาเคมี O-NET เราแนะนำให้ดูคลิปนี้ครับ จากเคมี อ.อุ๊ มีทั้งหมด 5 ตอนครับ

 
- ดาราศาสตร์ เราดูคลิปนี้ก่อนสอบ สอนโดยพี่เฟรนด์ Ondemand  มี 3 ตอนครับ

 
ไทย ข้อสอบจะเหมือนกับปีก่อน ๆ ถ้ามีเวลาลองทำข้อสอบย้อนหลังครับ
สังคม ทำบุญ
อังกฤษ ทบทวน grammar เพราะออกมากกว่าวิชาสามัญ
คณิตศาสตร์  ออกเรื่องลำดับอนุกรมกับสถิติเยอะมาก เรื่องอื่นที่ออกสอบจะมีเซต, จำนวนจริง, ฟังก์ชัน, ตรีโกณ, ความน่าจะเป็น ซึ่งแต่ละเรื่องที่ออกสอบจะไม่ยากนะ จะเน้นแค่พื้นฐาน แล้วก็แนะนำให้อ่านพวกทฤษฎีไปด้วยครับ


Timeline ม.ปลายของเรา
- ม.4-ม.5 เก็บเนื้อหาวิทย์-คณิต ม.ปลาย
- ม.5 เทอม 2 เนื้อหา ม.6 ใกล้จบหมดแล้ว
- ปิดเทอมขึ้น ม.6 เรียนคอร์ส Entrance ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ
- ม.6 เทอม 1 เรียนคอร์ส Entrance คณิต ไทย-สังคม ฟิสิกส์(ที่เหลือ)
- ปิดเทอมเล็ก ม.6 เริ่มเอาข้อสอบเก่ามาทำ, เรียนค.ถนัดแพทย์, เรียนคอร์สตะลุยโจทย์ เคมี ชีวะ
- ม.6 เทอม 2 เรียนคอร์สตะลุยโจทย์คณิต ฟิสิกส์, ลองจับเวลาทำข้อสอบจริง
- ระหว่างนี้เราเรียนอังกฤษเรื่อย ๆ
***แนะนำว่าไม่ต้องรีบเรียนชีวะนะ เรียนเร็วก็ลืมเร็วถ้าไม่ทบทวนอ่ะ ควรเรียนวิชาคำนวณก่อนเพราะเป็นวิชาทักษะ อย่างใครจะทำตาม timeline เรา แนะนำให้เรียนชีวะก่อนคณิตกับฟิสิกส์ครับ


แนะนำเพิ่มเติม
- พกนาฬิกาข้อมือแบบเข็มเข้าห้องสอบด้วยนะ ไม่ว่าจะสอบสนามไหน จำเป็นมาก ๆ ปกติเราไม่ใส่นาฬิกาข้อมือยังต้องไปหาซื้อ ราคาไม่ต้องแพงก็ได้ เราซื้อมาไม่ถึงร้อยบาท ตอนเข้าห้องสอบก็เอานาฬิกาข้อมือมาตั้งไว้บนโต๊ะ ไม่จำเป็นต้องใส่ไว้บนข้อมือนะ
- พวก Pre-ad, Mock Exam แนะนำให้สอบให้หมด เวลาสอบจริงจะได้ไม่ตื่นสนาม
- ตอนฝึกทำข้อสอบ แนะนำให้ใช้กระดาษคำตอบของสศท.ด้วยครับ  (กระดาษคำตอบวิชาสามัญ)
- คะแนนกสพทปีเรา (#dek63) มันเฟ้อมากกกกกเพราะข้อสอบค่อนข้างง่าย เลยอยากฝากน้อง ๆ #dek64 ว่าอาจจะต้องเจอข้อสอบที่ยากขึ้นจากปีของเรานะ
 

สุดท้ายนี้เราหวังว่ารีวิวของเราจะพอเป็นแนวทางให้น้อง ๆ รุ่นต่อไปได้นะครับ ไม่ต้องเชื่อเราทั้งหมดก็ได้ ลองหาวิธีการอ่านหนังสือให้เหมาะกับตัวเองที่สุด พยายามให้เต็มที่ แล้วก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเองด้วยนะครับ  เป็นกำลังใจให้ทุกคนประสบความสำเร็จตามที่หวังครับ สู้ๆ!!!

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น