Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวการเตรียมตัวสมัครทุนมง University Recommendation

ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีครับ (^_^)
กระทู้นี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นรายละเอียดและวิธีการเตรียมเรียงความสำหรับทุนมง ส่วนที่ 2 จะเป็นวิธีการสมัครมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นครับ
 
ขออนุญาตเริ่มกระทู้นี้ด้วยการแนะนำตัวเองก่อนนะครับ ผมชื่ออาร์ตครับ จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร ในช่วงที่กำลังจะจบการศึกษาปริญญาตรี ซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ผมเชื่อว่าหลายๆคนลังเลในการตัดสินใจว่าจะเลือกทำงานหรือเรียนต่อดี แต่สำหรับผมคือมีความตั้งใจที่จะเรียนต่ออยู่แล้วจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก ส่วนเพื่อนๆคนไหนที่ยังไม่มั่นใจ ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ(ง'̀-'́)ง
 
ส่วนมากแล้วมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นจะเปิดรับสมัครนักศึกษา 2 รอบด้วยกัน รอบแรก Spring Semester จะเปิดรับสมัครช่วง ตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งจะเริ่มเรียนช่วงเดือนเมษายน และรอบสอง Autumn Semester จะเปิดรับสมัครช่วง มีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเริ่มเรียนช่วงเดือนกันยายน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเช็คกับทางเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยโดยตรง เนื่องจากบางโปรแกรมของบางมหาวิทยาลัยจะไม่ได้เปิดตามช่วงที่ได้ระบุไว้ข้างบน
 
Part 1
MEXT Scholarship/ทุนมง คืออะไร?

 
Japanese Government (MEXT: Monbugakabusho) Scholarship หรือที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดีในชื่อ ทุนมง เป็นทุนศึกษาที่สนับสนุนโดย Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology ของญี่ปุ่น โดยมอบให้กับนักศึกษาต่างชาติ มี 7 ประเภทดังนี้ครับ
 
1. ทุนนักศึกษาปริญญาตรี (Undergraduate Students)
2. ทุนนักศึกษาวิจัย (Research Students)
3. ทุนญี่ปุ่นศึกษา (Japanese Studies Students)
4. ทุนฝึกอบรมวิชาชีพครู (Teacher Training Students)
5. ทุนนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิค (College of Technology Students)
6. ทุนนักศึกษาฝึกอบรมวิชาชีพ (Specialized Training College Students)
7. ทุนนักศึกษาประเภท Young Leaders’ Program (YLP)
 
สำหรับหลายๆคนที่ต้องการเรียนต่อญี่ปุ่น ทุนมง เป็นทุนหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ลองสมัครมากครับ เพราะว่าสิ่งที่เราจะได้รับตลอดระยะเวลาที่ระบุในแต่ละทุนคือ
 
1. การยกเว้นค่าใช้จ่ายในการสมัครและการเรียน
2. เงินเบี้ยเลี้ยงรายเดือน 146,000 Yen หรือ ประมาณ 42,000 บาท
3. ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ญี่ปุ่น 1 รอบ
 
การสมัครทุนมงก็จะมีหลักๆอยู่ 2 รอบครับ คือรอบสถานทูตญี่ปุ่น และรอบ University Recommendation ซึ่งความแตกต่างของ 2 รอบนี้จะอยู่ตรงที่   รอบสถานทูตญี่ปุ่น  เราจะต้องมีการสอบข้อเขียนซึ่งจะแบ่งตามสาขาวิชาที่เราเลือกที่จะไปเรียน จากนั้นก็จะมีการสอบสัมภาษณ์สาหรับผู้ผ่านข้อเขียนเท่านั้น แต่รอบUniversity Recommendation  จะเป็นรอบที่เราไม่ต้องสอบข้อเขียนแต่เราจะต้องเขียนเรียงความ และ แผนการเรียนการวิจัยของเรา (ผมจะพูดถึงในพาร์ทต่อไป) และอาจจะมีการสัมภาษณ์กับอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ เพื่อคัดเลือกชื่อนักศึกษาที่จะส่งให้รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาให้ทุน
เนื้อหาหลังจากนี้ผมขออนุญาตเน้นไปทางทุนระดับนักศึกษาวิจัยรอบ University Recommendation นะครับ เนื่องจากว่าเป็นทุนที่ผมได้ แต่ว่าเพื่อนๆสามารถเข้าไปดูข้อมูลทุนทั้ง 7 ประเภทแบบสรุปโดยย่อได้ผ่านทางลิงค์ (https://www.th.emb-japan.go.jp/files/000521283.pdf) ครับ (シ_ _)シ
 
สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการสมัครทุนมง University Recommendation
ในพาร์ทนี้ผมขอแนะนำวิธีการเตรียมตัวและวิธีการเขียนเรียงความสมัครทุนมงครับ ซึ่งผมขอยอมรับว่าตอนแรกที่ผมเห็นสิ่งที่เขาจะให้เขียน ผมนี่นั่งเครียดไปเลยครับ (ಥ﹏ಥ)
เมื่อเราสมัครเข้ามหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ทางมหาวิทยาลัยจะมีแบบฟอร์มการสมัครทุนมงแนบมาให้รวมกับเอกสารที่เราต้องกรอกในการสมัครเรียนอยู่แล้ว ซึ่งในแบบฟอร์มดังกล่าวจะให้เราเขียนเรียงความ 3 อย่าง
 
1. Present Field of Study
2. Your Research Topic in Japan: Describe articulately the research you wish to carry out in Japan
3. Study program in Japan: Describe in detail and with specifics -particularly concerning the ultimate goal(s) of your research in Japan
 
อย่างแรกที่ผมแนะนำสำหรับการเขียนตอบคำถามแบบนี้คือ ลองสมมุติว่าเราเป็นคนอ่านหรือเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาจะรับนักศึกษาเข้าเรียน เราต้องการจะเห็นอะไรจากนักศึกษาของเรา หรือง่ายๆคือ What do they expect from us? สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าหลายๆคนที่เลือกเรียนต่อล้วนมีศักยภาพ แรงบันดาลใจในการเรียนต่อ และ background ที่ค่อนข้างดี แต่เราจะทำอย่างไร    เลือกอะไรที่จะเอามาเขียนเพื่อให้โดดเด่นกว่าผู้สมัครอื่นๆ 
 
ก่อนจะเริ่มเขียนกัน ผมอยากบอกเพื่อนๆว่าฟอร์มนี้ค่อนข้างที่จะต้องให้เวลาเขียนนานพอสมควร เพราะว่าเราจะต้องทำการ research กับ revise บ่อยมาก ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาอังกฤษหรือญี่ปุ่นก็ได้ แต่จะต้องเขียนด้วยภาษาทางการ และอีกอย่างที่อยากจะฝากไว้คือ เขียนให้กระชับแต่ละเอียด    Be detailed but concise  (^__^)
 
Present Field of Study
ในส่วนของหัวข้อนี้ สิ่งที่เราควรจะใส่ไปคือ สาขา โปรเจค การฝึกงาน หรือ หัวข้อวิจัยที่เรากาลังทำอยู่หรือที่เคยทำมาครับ และก็อาจจะใส่รางวัลที่เคยได้รับมา หรือถ้ามีผลงานตีพิมพ์ได้ก็จะดีมากครับ อีกทั้งเราควรที่จะใส่แรงบันดาลใจและสิ่งที่คาดหวังว่าจะใช้ความรู้ที่เรียนมาไปต่อยอดอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าในประเทศของตนเองและในญี่ปุ่น สุดท้ายคือทำไมการเรียนในญี่ปุ่นถึงตอบโจทย์เราในการเรียนสาขานั้นๆ โดยที่ผมแนะนำว่าทุกอย่างที่ใส่ไปในหัวข้อนี้ควรที่จะเชื่อมโยงไปถึงงานวิจัยที่จะทำให้มากที่สุด  เพื่อที่จะเน้นให้ผู้อ่านเห็นถึงความตั้งใจของเราในการเรียน ความยาวของหัวข้อนี้ไม่ควรเกิน 2 ย่อหน้าครับ
 
Your Research Topic in Japan
ในพาร์ทนี้ก็จะเป็นพาร์ทที่เริ่มเข้าสู่การเขียนเกี่ยวกับงานวิจัยที่อยากจะทา ในพาร์ทนี้สิ่งที่ต้องเขียนคือ
 
1. ชื่อหัวข้อการวิจัย (Research Title/Subtitle) – ชื่อหัวข้อจะต้องบ่งบอกถึงสิ่งที่เราจะทำและจุดมุ่งหมายของการวิจัยนั้นๆ ซึ่งเราสามารถมีหัวเรื่องย่อยได้ แต่รวมกันแล้วไม่ควรเกิน 2 บรรทัด ชื่อหัวข้อที่ดี จากประสบการณ์แล้ว จะช่วยให้เราโฟกัสจุดสำคัญของการวิจัยได้ง่ายครับ (´∀`)
 

“The Contribution of ‘Outsider’ Expertise to Rural Revitalization Projects: An Exploration of the Yuzu Industry in Nomi City, Ishikawa Prefecture” - JAIST

2. กรอบและธีมการวิจัย (Research Theme) – ในส่วนของกรอบของการวิจัย ผมอยากจะให้เพื่อนๆลองตอบคำถาม   What are you trying to solve? Why is it important? How are you going to implement it? What are your goals? What is your expected result?  เรายังไม่จำเป็นที่จะต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยเราเยอะ แต่ว่าอย่างน้อยก็ควรที่จะตอบให้ครอบคลุมทั้ง 4 คำถามนี้ครับ ในกรอบการวิจัยความยาวควรประมาณครึ่งหน้าครับ

***ห้ามลืมเขียน Expected Result เด็ดขาด***

เนื่องจากพาร์ทนี้จะเป็นเหมือนกับบทนำของพาร์ทต่อไป ในการเขียนควรที่จะมีหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจ แปลกใหม่ แต่เข้ากับเทรนด์ปัจจุบัน เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจของกรรมการ ก็เหมือนกับ trailer หนังอะครับ ต้องทำให้มันดู “ว้าวววววว” เอาไว้ก่อน 55555
 

“This study will elucidate how specialist knowledge held by outsiders to rural revitalization projects can contribute to those projects, by examining the example of Yuzu farmers in Nomi City, Ishikawa Prefecture’s contributions to local efforts by way of surveys and interviews, in order to advance the effectiveness of rural revitalization projects across Japan.” - JAIST
 

Study program in Japan
มาถึงส่วนสุดท้ายของการเรียนเรียงความกันแล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่เขียนยากมากที่สุดสำหรับผม Σ( ̄ロ ̄lll)

หลังจากที่เราให้ภาพรวมของงานวิจัยไปแล้วในพาร์ทก่อนหน้านี้ ในพาร์ทนี้เราก็จะลงลึกถึงรายละเอียดของงานวิจัย  ซึ่งรวมถึงองค์ความรู้และแขนงวิชาแต่เราจะนำมาประยุกต์ใช้ในงาน และแผนงานวิจัยของเรา สิ่งที่จะต้องเขียนก็ตามนี้เลยครับ

1. Research Goal – ในส่วนนี้ควรแบ่งการเขียนเป็น 2 ย่อหน้า ย่อหน้าแรกควรระบุ    research question  ที่เราต้องการจะตอบ และวิธีการแก้ของเรา ในย่อหน้าที่ 2 ควรระบุประโยชน์ของการวิจัยนี้แวดวงวิชาการและสังคม ทั้งในประเทศของเราและญี่ปุ่น ผมแนะนำว่าไม่ควรใช้ หรือพยายามใช้ศัพท์เฉพาะให้น้อยที่สุด  เพื่อที่กรรมการจะได้เข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อได้ง่าย หรือไม่ก็เปิดย่อหน้าด้วยประโยคที่เข้าใจง่าย แล้วค่อยๆลงรายละเอียด
 
2. Previous Studies – ก่อนที่จะเขียนพาร์ทนี้ก็ควรที่จะต้องทำ   literature review  ในหัวข้อวิจัยมาก่อน โดยพาร์ทนี้จะระบุถึงงานที่มีมาก่อนหน้านี้ แล้วงานวิจัยของเราจะช่วยแก้ไขข้อบกพร่อง ศึกษาเพิ่มเติม หรือพัฒนางานวิจัยก่อนหน้านี้ได้อย่างไร
 
3. Research Methodology – พาร์ทนี้เราก็จะมาเขียนถึงวิธีการที่เราจะวิจัย โดยที่เราจะต้องบอกเขาว่าเราจะใช้วิธีการอะไร และเทคโนโลยีอะไรในการวิจัยและทำไม (Which method are you going to use and why?”) พาร์ทนี้เน้นให้ถามตัวเองเลยครับ ว่าทำไมถึงใช้แบบนี้ มีอะไรที่ดีกว่านี้ไหม ข้อดีข้อเสียของวิธีนี้เมื่อเทียบกับวิธีอื่น อย่างน้อยๆจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้
 
4. Research Plan – สุดท้ายแล้วนะครับ เราควรร่างคร่าวๆว่าจะแผนการวิจัยจะมีอะไรบ้าง   step-by-step  (literature review, experiment design, experiment approval, experiment, etc.) และทางที่ดีก็ควรจะใส่  timeline  โดยใช้ Gantt Chart เข้าไปด้วยครับ


 
เท่านี้ก็ครบแล้วนะครับในส่วนของการเตรียมเรียงความที่จะต้องส่งยื่นสมัครทุน
 
Part 2
ในส่วนของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ผมขอแบ่งเป็นขั้นตอนตามนี้ครับ

เลือกหัวข้อวิจัย มหาวิทยาลัย/แล็บ
แน่นอนครับ การเรียนในเรียน ป.โท หรือ เอก จะแตกต่างจากการเรียนป.ตรี นอกการเรียนเจาะจงลึกลงไปในสาขาที่เราสนใจแล้ว การเรียนจะไม่เน้นไปที่การสอนในห้องเรียนอีกต่อไป แต่จะเป็นการเน้นเอาความรู้ที่มีไปประยุกต์และต่อยอดผ่านการวิจัย ทั้งนี้ครับ การเลือกสาขาและหัวข้อวิจัยที่เราชอบจะส่งผลต่อการเรียนของเราเป็นอย่างมาก แต่การจะเลือกสาขามันไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างการ “ปลอกกล้วยเข้าปาก” (-_-) zzz

แต่ผมมีวิธีการช่วยเลือกสาขาที่จะเรียนครับ ในการเลือกสาขาเราล้วนจะถูกดึงดูดจากหลายตัวเลือก แต่ว่าหลักๆแล้วผมอยากให้เพื่อนๆลองค้นหาตัวเองดูผ่านตามนี้ครับ
1. ทักษะและความถนัดที่เราเก่งที่สุด ถ้าเรารู้ว่าเราถนัดหรือไม่ถนัดอะไรก็คงจะตัดตัวเลือกออกไปได้เยอะใช่ไหมครับ อีกทั้งเราคงไม่ต้องใช้เวลานั่งเรียนเพื่อเข้าใจอะไรใหม่ๆเยอะเกินความจำเป็น (แต่ผมเป็นคนนึงที่ไม่ชอบเรียนชีวะเลย แต่ว่าเลือกเรียน วิศวกรรมชีวการแพทย์ งงๆใช่ไหมครับ5555)
 
2. ความชอบส่วนตัว คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถหาเงินกับสิ่งที่เราชอบ ชีวิตการเรียนและการทำงานก็คงจะดูไม่น่าเครียดมาก แต่ผมอยากให้ระวังมากๆคือ ต่างกับทักษะที่จะอยู่ติดตัวเราไปตลอด ความชอบส่วนตัวเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ฉะนั้นหากชอบอะไรต้องถามตัวเองว่าชอบจริงๆใช่ไหม
 
3. ความต้องการของตลาด/รายได้ตอบแทน ผมเชื่อว่าหลายๆคนอาจจะเคยได้รับคำแนะนำว่า “เรียนอะไรที่อยากเรียน” “ชอบอะไรก็เรียนแบบนั้น” แต่ในโลกความเป็นจริงเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารายได้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมจึงอยากให้เพื่อนๆลองคิดดูว่าการเรียนในสาขานั้นๆมันคุ้มกับเวลาและเงินที่เราลงทุนไปไหม
 
4. ความยั่งยืนของอาชีพ ในปัจจุบันที่ปัญญาประดิษฐ์มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรามากเรื่อยๆ บางอาชีพก็จะถูกแทนที่ไปด้วยหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการจบออกมาในบางสาขาก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด
 
หลังจากที่เพื่อนๆค้นหาสาขาและหัวข้อวิจัยเจอแล้ว ก็ถึงเวลาหามหาวิทยาลัยครับ โดยส่วนตัวผมก็ไม่มีคำแนะนำจะให้มากครับ นอกจากว่าเราชอบสภาพการเป็นอยู่ของเมืองไหนก็ไปเมืองนั้นครับ เพราะผมคิดว่าในปัจจุบันเราตามบริษัทใหญ่ๆค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของคนมากกว่าเกรดหรือมหาวิทยาลัยที่จบครับ ฉะนั้น คิดว่าเราอยู่ที่ไหนแล้วชอบ แล้วมีความสุขที่สุดก็ลุยเลยครับ ~ヾ(^∇^)
 
ติดต่อแล็บ
เมื่อเราได้หัวข้อวิจัยและมหาวิทยาลัยในฝันแล้ว เราก็จะต้องหาแล็บที่จะเข้าไปทำการวิจัย ระบบการสมัครมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจะค่อนข้างต่างกับที่อื่น ตรงที่เราจะต้องทำการติดต่อแล็บก่อนเพื่อยืนยันกับทางอาจารย์หัวหน้าแล็บว่าเขาพร้อมรับเราเข้าเป็นนักศึกษาภายใต้การดูแล หากไม่ได้รับการยืนยันจากหัวหน้าแล็บเราก็ไม่สามารถเข้าศึกษาได้ครับ
 
เราสามารถหารายชื่อแล็บผ่านทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัยได้ โดยแล็บที่เราจะเข้าจะต้องมีหัวข้อวิจัยคล้ายๆกับของเรา ทริคที่ผมใช้คือ ลิสต์รายชื่อแล็บที่มีหัวข้อวิจัยคล้ายกับเรา จากนั้นเข้าไปหาชื่ออาจารย์หัวหน้าแล็บและเข้าไปอ่านงานวิจัย (แบบผ่านๆนะครับ) ของแต่ละท่าน แล้วดูว่าของท่านไหนที่มันตรงกับเรามากที่สุด จากนั้นก็จะต้องส่ง email ไปหาอาจารย์ท่านนั้นโดยระบุว่าเราสนใจเป็นนักศึกษาในแล็บนี้ ภายใต้โครงการนี้ เอกสารที่ควรแนบไปด้วยก็จะมี transcript cv/resume และ cover letter
 
เมื่ออาจารย์สนใจเรา ท่านอาจจะรับเราเลยทันที หรือในกรณีของผมอาจารย์นัดสัมภาษณ์ออนไลน์
 
เอกสารที่ต้องเตรียม (บางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่เหมือนกัน)

1. แบบฟอร์มการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย (Application of Admission)
2. จดหมายแนะนำ 2 ฉบับจากอาจารย์ 2 ท่าน (Recommendation Letter)*
3. แบบฟอร์มการสมัครทุนมง (Japanese Government (MEXT) Scholarship Application)
4. Field of Study and Research Plan
5. จดหมายแนะนำ จาก คณบดีหรือเทียบเท่า (Official Recommendation Letter from Dean)*
6. รายงานผลการศึกษา (Official Academic Transcript)**
7. หนังสือรับรองการจบการศึกษาหรือกำลังรออนุมัติปริญญา (Certificate of Graduation or Expecting Date of Graduation)**
8. สำเนาคะแนนภาษาอังกฤษ (Copy of English Proficiency Test Score)
9. สำเนาหนังสือเดินทาง (Copy of Passport)
10. รูปถ่าย 3 ใบ (ID photos (4x3cm))
 
*เน้นย้าให้อาจารย์ใส่ซองจดหมาย ปิดผนึก และเซ็นลายเซ็นทับรอยผนึก มิฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นอาจไม่รับ
** ต้องเป็นเอกสารรับรองที่ออกอย่างเป็นทางการโดยมหาวิทยาลัย
 
โดยปกติเราจะต้องส่งเอกสารทั้งหมดผ่านไปรษณีย์ จึงต้องตรวจสอบวันที่เอกสารจะเดินทางไปถึงปลายทาง ไม่งั้นหากว่าเอกสารไปถึงช้าว่าวันกำหนดส่ง ก็จะถือว่าโดนตัดสิทธิไปเลย ผมเลยอยากให้ลงทุนนิดนึงในการส่งเอกสารกับบริษัทที่มีการการันตีวันส่งถึงปลายทางและระบบการติดตามของ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงตรงนี้ลงไปได้ (^0^)
 
กระทู้นี้เป็นกระทู้แรกที่ผมเขียน หากมีข้อบกพร่องประการใด ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ (_/\_)
 
อาร์ตหวังว่ากระทู้นี้จะมีประโยชน์สำหรับการเตรียมพร้อมและช่วยตัดสินใจกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่คาดว่าจะเรียนต่อญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นหรือคนที่กำลังลังเลอยู่ครับ สุดท้ายนี้อาร์ตขอบคุณเพื่อนๆทุกท่านมากครับที่ทนอ่านมาจนจบ ถ้าหากว่ามีข้อมูลผิดพลาดหรือคำถาม สามารถมาพูดคุยกันได้ในช่อง comment ข้างล่างครับ

จบแล้วครับ น้ำตาจะไหล (T^T)

แสดงความคิดเห็น

>

8 ความคิดเห็น

Art163 3 ก.ค. 63 เวลา 18:46 น. 1-1

ขอบคุณสำหรับกำลังใจมากครับ ไว้ถ้ามีโอกาสเขียนอีก ฝากติดตามด้วยครับ

0
Nene 5 ก.ค. 63 เวลา 13:43 น. 2

ขอบคุณมากค่า เคยอ่านแบบที่ยื่นผ่านสถานทูตคือถึงจะได้ทุนแล้วก็เป็นแค่นักศึกษาวิจัย จะต้องสอบข้อเขียนของมหาลัยให้ผ่านเพื่อเข้าเป็นนักศึกษาป.โทอีกที แต่ถ้ายื่นผ่านมหาลัยมีแค่สัมภาษณ์แล้วเข้าเป็นนักศึกษาป.โทได้เลยหรอคะ หรือว่าต้องไปรอสอบเข้าอีกครั้งเหมือนกัน

2
Art163 7 ก.ค. 63 เวลา 20:16 น. 2-1

สำหรับโครงการเรียนที่ผมสมัครไปนักศึกษาป.โท ไม่มีการสอบข้อเขียนครับ หลังจากที่ผมได้รับการตอบรับจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว คณะกรรมการ อาจารย์ของโครงการเรียนนั้นก็สัมภาษณ์ผมอย่างเดียว แต่สำหรับโครงการเรียนอื่นก็อาจจะมีสอบข้อเขียน ต้องลองหาข้อมูลเองครับ


ขอบคุณสำหรับคำถามมากๆครับhttps://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/bb-06.png

0
Nene 8 ก.ค. 63 เวลา 13:38 น. 2-2

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ เป็นประโยชน์มากๆเลย ขอให้โชคดีกับการเรียนต่อค่า

0
Mpich 7 ก.ค. 63 เวลา 20:43 น. 3

ทุนนี้ยื่นกับมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นเองโดยตรงเลยเหรอคะ หรือต้องผ่านสถานทูตเหมือนกันคะ

1
Art163 8 ก.ค. 63 เวลา 06:30 น. 3-1

รอบนี้จะยื่นผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรงครับ


0
Fiasaruta 2 ต.ค. 63 เวลา 17:58 น. 6

ขอสอบถามค่ะ ทุนนี้ต้องให้มหาลัยที่ไทยเป็นคน recommend มั้ยคะ หรือเราสามารถสมัครได้เองเลย

1
Art163 12 ต.ค. 63 เวลา 21:25 น. 6-1

ขออภัยที่ตอบช้านะครับ ทุนนี้จะสมัครได้ผ่านทางมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นครับ โดยปกติแล้วแบบฟอร์มการสมัครขอทุนจะแทบให้มาพร้อมกับฟอร์มสมัครเข้าเรียนมหาวิทายาลัยอยู่แล้วครับ ซึ่งในส่วนของการคัดเลือก ทางมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจะทำการคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมก่อน จากนั้นก็จะส่งเรื่องต่อให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาให้ทุนอีกที

0
Jayyzz 4 ส.ค. 64 เวลา 20:11 น. 7

รบกวนสอบถามเพิ่มเติมครับ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทUniversity Recommendation การสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโทจำเป็นต้องเป็นสาขาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับสาขาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือป่าวครับ กรณีที่ผมจบสายสังคมศาสตร์ สามารถสมัครเรียนต่อ MBA ได้ไหมครับ


1
Art163 25 ส.ค. 64 เวลา 19:53 น. 7-1

- ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นประเภท University Recommendation การสมัครเรียนต่อระดับปริญญาโทจำเป็นต้องเป็นสาขาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับสาขาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือป่าวครับ

* ไม่จำเป็นครับ (แต่ผมคิดว่า คนที่จบตรงสายจะค่อนข้างได้เปรียบกว่า)

* เมื่อเรายื่นสมัครเข้าเรียนกับขอทุน ก่อนอื่นทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้พิจารณาให้เข้าศึกษาหรือไม่

* ถ้าได้รับการตอบรับเข้าศึกษา ทางมหาวิทยาลัยก็จะคัดเลือกคนที่มีีสิทธิเข้าศึกษา เป็นcandidate รับทุนแล้วส่งชื่อไปให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่น

* สุดท้ายก็คือรอทางรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติครับ



0
เfay 29 มี.ค. 67 เวลา 19:18 น. 8

อยากทราบว่าคะแนนผลวัดระดับภาษามีผลต่อการตัดสินใจเข้าเรียนมากไหมคะ

0